ThaiPublica > Events > Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยเรื้อรัง – โรคแทรกซ้อน แถมให้ยาผิดมาตลอด หวั่นเป็นบอนไซ(ตอนที่2 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ )

Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: ป่วยเรื้อรัง – โรคแทรกซ้อน แถมให้ยาผิดมาตลอด หวั่นเป็นบอนไซ(ตอนที่2 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ )

5 เมษายน 2015


 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรดังนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ ณ อาคาร UBC II KTC POP

ในตอนที่ 1 ได้นำเสนอ Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการแก่ก่อนรวย หย่อนสมรรถภาพ สายตาสั้น – อนาคตกับภาวะแก่ จน ที่ไม่มีใครดูแล โดย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ส่วนในตอนที่ 2 นี้ พบกับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ภิญโญ: อาการแก่ จน ไร้คนเหลียวแล เป็นโรคที่น่าหดหู่ และดูจะสิ้นหวังที่ไม่มีใครอยากเป็น อาจารย์เศรษฐพุฒิคิดว่าตอนนี้อาการสังคมไทยเป็นอย่างไร คิดว่ามีโรคอะไรที่น่าสิ้นหวังมากกว่านี้

เศรษฐพุฒิ: ตามหัวข้องานเสวนา “ประเทศไทย เป็นคนป่วยของเอเชียหรือเปล่า” ถ้าให้ผมตอบก็บอกว่า “ป่วย” และป่วยมานานแล้ว เหตุผลที่กระแสคนป่วยเอเชียกลับมา เป็นเพราะตัวเลขเศรษฐกิจของไทยโตไม่ค่อยดีในช่วงที่ผ่านมา ปีที่แล้ว 0.7% ปีนี้ 3% กว่าๆ 2 ปี ถัวเฉลี่ยแค่ 2% แผ่วมาก จริงๆ การเติบโตเป็นแค่สัญญาณอาการระยะสั้นที่มันเพิ่งผุดขึ้นมา จริงๆ มันป่วยมานานแล้วและป่วยสะสม

sick man

ถ้าเราถอยกลับไป 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตไปเรื่อยๆ โตประมาณแค่ 30% ในขณะที่มาเลเซียโต 50% อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ 60% และเวียดนาม 70% มันโชว์ว่าเราตามหลังคนอื่น ที่ผมอยากย้ำ ไม่ใช่เพิ่งเห็นในช่วงหลัง แต่เป็นมานานแล้วเป็น 10 ปี ส่วนอาการอื่นก็เริ่มฟ้องออกมา

“ถ้าเราถอยไป 20 ปี สัดส่วนการแบ่งตลาดของการส่งออกก็ลดลง สัดส่วนสัมพันธ์ในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงก็ลดลงไป และก็เห็นอาการ เราวิ่งแข่งกับชาวบ้านเขาไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติจีดีพี แต่เป็นวิกฤติอื่นๆ ตัวอย่างที่ชัดคือเวียดนามที่เราไล่ฉีกห่างเขาไม่ค่อยได้ ถ้าถอยกลับไป 10-20 ปีที่แล้ว เวียดนามแทบจะไม่อยู่ในจอเรดาร์ของนักลงทุนต่างชาติเลย น้อยมากๆ เลย การลงทุนโดยตรงที่เข้ามาในไทยถ้าเทียบกับเวียดนาม เราห่างจากเขา 14 เท่า แต่ล่าสุดเราห่างจากเขาประมาณ 1.5 เท่า มีบางปีที่เขาวิ่งเฉียดเรามากเลย ถึงแม้เศรษฐกิจเขาเล็กกว่าเราเยอะ อันนี้สะท้อนแล้วว่าคนที่ไล่เรามา ค่อนข้างใกล้เข้ามา แถมเราวิ่งแข่งกับคนที่เหมือนจะเหนือเรา เราก็วิ่งไม่ค่อยทัน เช่น มาเลเซีย หรือการเทียบในมิติอื่น ความสามารถในเรื่องวิจัยและพัฒนาเราก็ด้อยกว่ามาเลเซีย”

“ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าป่วยจริงๆ เป็นมานานมากๆ วันนี้เราคุยเรื่องเศรษฐกิจ แต่อาการป่วยจริงๆ มันหลายด้าน เศรษฐกิจโดยรวมยังพอกระท่อนกระแท่น แต่ป่วยด้านอื่นๆ จะว่าไปแล้วร้ายแรงกว่าด้านเศรษฐกิจเสียอีก เช่น วิกฤติด้านสังคม ปัญหาสังคมถูกละเลยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ยาเสพติด เราเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องจำนวนคนติดเชื้อเอดส์ จำนวนคุณแม่วัยใสเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นปัญหาสังคมค่อนข้างแรง จึงไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจ”

อีกด้านคือสิ่งแวดล้อม ที่มีปัญหาที่แย่กว่าด้านสังคม เราเป็นประเทศที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่ำมาก (energy security) ต้องพึ่งการนำเข้าพลังงาน การปรับปรุงเรื่องนี้ก็ค่อนข้างล้าหลังอยู่ สะท้อนว่าโรคที่กำลังพูดถึง เราป่วย และป่วยมานานแล้วและป่วยหลายโรคด้วยกันทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม เป็นต้น

“นักวิเคราะห์ก็เหมือนหมอ ก็เรียกคนไข้มาหา ถ้ามีหลายอาการ อยากจะดูว่าโรคที่เป็นจริงๆ คือโรคอะไร โรคต้นตอคืออะไร ก็วิเคราะห์ไปว่า อ๋อ เหตุผลที่เศรษฐกิจที่โตช้าเพราะประสิทธิภาพแรงงานโตช้า การที่ประสิทธิภาพโตช้าเพราะการลงทุนก็โตช้า ก็ไล่ไปอย่างนี้เรื่อยๆ สารพัดจะไล่ แต่ว่าไล่ไปแล้ว so what ถ้าในที่สุดต้นเหตุมันแก้ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ จริงๆ ที่ผมอยากย้ำคือว่าด้วยอาการที่เราเห็น มันหลากหลาย เป็นไปไม่ได้หรอก และมันไม่ใช่หรอก ว่าประเทศไทยมีโรคที่เป็นต้นตอโรคเดียว ไม่ใช่ เป็นหลายโรคเลย”

sick man_2

แต่ดั้งเดิมอาจจะมีแค่ต้นตอโรคเดียว แต่ตอนนี้มีโรคแทรกซ้อนเข้ามา การแก้ต้องแก้หลายๆ ทาง แต่ปัญหาอย่างหนึ่งที่เราเป็นกันอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าที่ผ่านมา ไม่ว่าหมอในยุคไหนจากโรงพยาบาลไหนให้ยาผิดมาโดยตลอด คือ ไม่ให้ยารักษาโรค แต่ให้ยากระตุ้น ที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ขอย้ำ…ทุกยุคทุกสมัย 10 ปีที่ผ่านมา ลองนึกภาพว่า 10 กว่าปีที่ผ่านมา นโยบายที่ออกมาจริงๆ ที่เป็นเชิงการรักษาสุขภาพเศรษฐกิจจริงๆ มีอะไรบ้าง น้อยมากๆ นโยบายที่ออกมาหลักๆ ไม่ว่าทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องประชานิยมส่วนใหญ่ ลด แลก แจก แถม ทุกรัฐบาล

“เหมือนคนไข้ไม่สบาย รู้สึกไม่ค่อยมีแรงเหรอ คนไข้อ้วน ไม่ออกกำลัง อ้าว ให้กินเครื่องดื่มชูกำลัง ไม่ว่าจะเป็น นโยบายเช็คช่วยชาติ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์คันแรก ไม่ว่าจะเป็นจำนำข้าว ไม่ว่าเป็นอะไร ก็เป็นเรื่อง ลด แลก แจก แถม โดยสิ้นเชิง ซึ่งมันก็ไม่รักษาโรค อาการป่วยมันก็ไม่ไป”

“สิ่งที่เราเห็นตอนนี้ มันเป็นแค่จุดสะท้อนเรื่องที่สะสม และปล่อยคาราคาซังนาน กลายเป็นโรคเรื้อรัง คือปล่อยมานาน มันไม่ใช่เป็นโรคที่อยู่ดีๆ คุณจะล้มตาย ไม่ใช่ บ้านเรามันมีข้อดีข้อเสีย ภูมิต่างๆ มันพอมีอยู่ โอกาสที่เราจะเจอวิกฤติ ไม่ว่าจะเจอวิกฤติสถาบันการเงิน วิกฤติการคลัง วิกฤติค่าเงินที่เคยเจอในอดีต โอกาสที่จะเกิดนั้นต่ำมาก คนไข้ที่ป่วยจะล้มตาย ไม่ใช่ แต่ปัญหาคือเป็นโรคเรื้อรังมันทำให้อ่อนแอ”

ภิญโญ: อาจารย์เศรษฐพุฒิจะรักษายังไง

เศรษฐพุฒิ: ไปเวทีไหน ทุกคนก็ถามว่าจะให้ทำอะไร ผมไม่เถียงสังคมชราภาพ เป็นเรื่องหลักที่สะท้อนออกมาหลายอย่าง ลองนึกภาพ เวลาไปหาหมอ บอกว่า โอ้ย…หมอผมเป็นนั่นเป็นนี่ หมอตรวจเช็คสารพัด หมอบอกว่าปัญหาคือแก่… แล้วจะทำอย่างไร มันไม่มียาที่จะทำให้คุณไม่แก่ได้ แล้วมันจะทำอย่างไร

เวลาที่เราไปดูตรงนี้ มันต้องกลับมาถามว่าแล้วมันทำอะไรได้ คือบางโรคหากวินิจฉัยไปแล้ว มันทำอะไรไม่ได้ ก็ too bad

ตอนนี้ถ้าถามผม ตัวที่พอจะมีช่องทางอยู่คือการลงทุน โดยเฉพาะภาคเอกชน หากดูปัจจัยต่างๆ เหมือนเป็นพื้นที่ที่มีลูกกระสุนที่ยังใช้ได้อยู่ ถ้าคนมองจากข้างนอกเข้ามา ว่า เฮ้ย…ดูประเทศนี้เป็นอย่างไร งบดุลของบริษัทเอกชนค่อนข้างแข็งแรง ธนาคารพาณิชย์สภาพคล่องเยอะ ดอกเบี้ยก็ต่ำ หลายสัญญาณมันบอกว่าได้ ประเทศมีการลงทุน แต่ปัญหาคืออะไร การลงทุนไม่เกิด เพราะปัญหาความเชื่อมั่น ตรงนี้มันเป็นพื้นที่หนึ่งที่ยังมีกระสุนเหลืออยู่ที่พอจะยิงได้

ภิญโญ: อาจารย์บอกว่าประเทศไทยป่วย เป็นโรคร้าย เรื้อรัง รุมเร้า มายาวนาน อาการก็ต้องทรุดหนัก ร่างกายคนก็ไม่ค่อยแข็งแรง หากไม่ให้ยาอ่อนๆ ไปบ้าง เช่น ประชานิยมดังเช่นที่พรรคการเมืองจำเป็นต้องทำ เพื่อที่จะกระจายรายได้ไปสู่คนจน ดังนั้น สำหรับคนที่ป่วยมา 10 ปี หากไม่ใส่อะไรไปบ้างจะอยู่ไหวหรือ

 ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา

เศรษฐพุฒิ: ในโลกความเป็นจริง มันต้องให้ของพวกนี้บ้าง แต่ต้องให้ควบคู่กับอย่างอื่น ถ้าเป็นคนป่วยก็ต้องให้ยาบรรเทาอาการ แต่มันต้องดูต้นตอโรคด้วย ถ้าคนไข้มา อ้วนเผละ ไม่ออกกำลัง ก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้ออกกำลังกายบ้าง เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาเรื่องสัดส่วนการให้ยา คือยาที่เราให้ หมอที่รักษา ออกไปทางประชานิยมเกือบโดยสิ้นเชิง

5 ปี ที่ผ่านมาเราใช้งบประมาณประชานิยม เกือบๆ 2 ล้านล้านบาท ทั้งจำนำข้าว อุดหนุนพลังงาน รถยนต์คันแรก 3 อย่างนี้ใช้เงินประมาณ 1.5 ล้านล้าน เทียบกับของจริงที่ต้องทำ ยกตัวอย่าง งบลงทุนแค่ 1 ล้านกว่าๆ อันนี้สะท้อนว่าการให้ยามันไปคนละทาง ซึ่งผมเข้าใจ จะไปโทษหมออย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษคนไข้ด้วย หมออาจจะบอกว่าคนไข้ไม่ทำตาม แต่หมอก็ไม่ได้จ่ายยาตามที่คนไข้ต้องการ นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง

“มีโควตอันหนึ่งชอบมาก ของนายกรัฐมนตรีของลักเซมเบิร์ก ชื่อ “ฌอง-โคลด ยุงเกอร์” เขาน่าสนใจเพราะเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ตำแหน่งยาวนานที่สุด พูดง่ายๆ เป็นนักการเมืองระดับเซียน เขาบอกว่า “เรารู้ว่าเราต้องทำอะไร แต่ปัญหาคือ ถ้าเราทำไปแล้ว เราไม่รู้เลยว่าได้เลือกตั้งกลับมาอย่างไร” นี่คือประเด็น มันอยู่ตรงนี้ นักการเมืองจริงๆ คือหมอ รู้ว่าคนไข้มันต้องการอะไร แต่ถ้าหากให้ยาแบบนี้ไป คนไข้หนีไป ไม่กลับมาหาหมอ ไม่เลือกหมอ อันนี้จะทำอย่างไรจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ และให้การรักษามันกลับมาในทางที่ถูก”

ถ้าดูเป็นรายเซกเตอร์ หลายธุรกิจอยู่ในภาวะ wait and see หมด เช่น ภาคธุรกิจก่อสร้างก็คอยนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือในกลุ่มพลังงานก็บอกว่าคอยการปฏิรูปพลังงานจะเป็นอย่างไร ก็มีสารพัดเหตุผล

คำถามว่าจะทำอย่างไรที่จะให้บริษัทเลิกที่จะ wait and see และกล้าที่จะลงทุน เหตุผลที่เน้นการลงทุน ผมว่าเป็นตัวที่จะตอบโจทย์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คือที่ผ่านมาเราใช้ยากระตุ้นการบริโภค ก็เห็นว่าทำแล้ว กระตุ้นได้ขึ้นมานิดหนึ่ง แล้วก็จางหายไป แต่การลงทุนหากลงไป มันช่วยเรื่องประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

คำถามคือ จะทำอย่างไรให้การลงทุนเกิดขึ้น ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายพอสมควร อาทิ จะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการปฏิรูปปรับปรุงบีโอไอ เป็นต้น รวมทั้งเรื่องการเบิกจ่ายภาครัฐที่มันล่าช้า

“แต่อีกอันที่มันช่วยได้ ซึ่งเป็นยาที่เหมาะสมสำหรับเวลานี้ คือเรื่องการทำ investment tax allowance ชั่วคราว คือให้ค่าลดหย่อนทางด้านภาษีการลงทุนเพิ่มเติม แต่ให้แบบชั่วคราว มีระยะเวลากำหนด หากทำตัวนี้ออกมา เอกชนหลายคนที่คอยก่อน ก็คิดว่าทำก่อนดีกว่า เพราะได้สิทธิพิเศษภาษี…แทนที่จะรอ พอทุกคนทำแบบนี้ โอกาสก็มีแรงกระตุ้นระยะสั้นมันก็จะมี ซึ่งมาตรการภาษีทำได้เร็วกว่า และเป็นอะไรที่เราเคยมาแล้ว ภาครัฐมักจะทำได้ดี มาตรการนี้เคยทำตอนน้ำท่วม แต่เรามาดัดแปลงได้ ทำให้มีตัวอย่างที่ทำให้เป็นรูปธรรมได้ ที่จะช่วยการกระตุ้นระยะสั้น และช่วยรักษาอาการต่างๆ ในระยะยาวด้วย เพราะประเทศไทยเป็นโรคเยอะสารพัด แต่ถ้าให้ผมเลือก ณ เวลานี้ ยาหนึ่งประเภทที่รักษาได้ ผมจะเลือกตัวนี้”

sick man_3

ภิญโญ: ดร.เศรษฐพุฒิจะทิ้งท้ายอะไรสักหน่อยไหมครับ

เศรษฐพุฒิ: ปัญหาความเชื่อมั่น เป็นแบบนี้มานานแล้ว ปัญหาการลงทุนในบ้านเราก็เป็นมานานแล้ว ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ระดับการลงทุนในภาครัฐและเอกชนยังต่ำกว่าก่อนวิกฤติปี 2540 เสียอีก อยู่ในระดับ 85% ขณะที่ประเทศอื่นฟื้นกลับมา 100% ซึ่งการลงทุนของไทยยังเป็นปัญหาที่คาราคาซัง ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการโครงการขนาดใหญ่ไม่เกิดเสียที มันจึงเป็นปัญหาความเชื่อมั่น

“ถามว่ามาตรการที่พูดมาข้างต้น โดยตัวของมันเองจะแก้ปัญหาหรือไม่ แต่มันต้องเป็นส่วนหนึ่งของทางออก และมันควรจะแพคเกจไปกับการลงทุนจากต่างชาติ แผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเอกชนร่วมกัน และเขตเศรษฐกิจพิเศษ บีโอไอ และการมีมาตรการที่เป็นอีเวนท์ต่างๆ เป็นยาเสริมเข้ามาที่จะช่วยผลักดันให้มันไปได้ ถามว่ามันจะแก้ปัญหาได้หมดไหม…ไม่หรอก แต่ด้วยสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือช่องทางที่จะทำมันเหลือไม่ค่อยเยอะแล้ว ตัวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจมันค่อนข้างแผ่ว หากดูตัวเลขต่างๆ มีท่องเที่ยวที่ออกมาดูดีหน่อย แต่ก็ต้องมีข้อจำกัดของมัน ที่ท่องเที่ยวดูดีเป็นเรื่องของจีน ส่วนตัวขับเคลื่อนอื่นๆ ก็มีข้อจำกัด ข้อติดขัดคือการลงทุนเอกชน”

ดังนั้น ในเรื่องความเชื่อมั่น สิ่งที่จะช่วยได้คืออะไร ผมว่าการที่คนจะเห็นและทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากทางการประกาศว่าจะมีแผนที่เป็นรูปธรรมมากๆ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลทำหลายเรื่องมากจนไม่รู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง หากทุกคนเห็นภาพว่าแผนใน 1 ปีข้างหน้าจะทำอะไรบ้าง เช่น 3 เดือน เราจะเห็นอย่างนี้, 6 เดือน เราจะเห็นอย่างนี้, 9 เดือน จะเห็นอย่างนี้ แล้วทำให้ได้ตามแผนจริงๆ ตัวนั้นจะช่วยความเชื่อมั่นกลับมา คือเคลียร์ว่าจะเห็นภาพอะไร เออ เห็นจริง ตามนั้น แล้วการสื่อสารก็ต้องเป็นไปตามนั้นเหมือนกัน ที่ผ่านมาข้อมูลที่ออกไปตามสื่อค่อนข้างหลากหลาย ประเด็นโน่น ประเด็นนี้ ผมมองว่าการที่มี noise (สิ่งรบกวน) อย่างอื่นออกมาเยอะ มันทำให้ความเชื่อมั่นของเอกชนมันหายไป”

“ผมไม่เถียงเลยนะว่า จะให้ของเหล่านี้เกิดขึ้นมันไม่ใช่ง่าย จะลงทุนอย่างไร แค่นี้ยังเอาตัวรอดไม่ไหวแล้ว แต่หากมีความเชื่อมั่น บวกกับของที่จะเอื้อให้เขาอย่าคอยนาน มาลงทุน ก็มีโอกาสช่วยได้”

อ่านต่อ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

New Sick Man of Asia_TFF by thaipublica

ป้ายคำ :