ThaiPublica > Events > “พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล” เปิดกลยุทธ์ retail-detail ใช้ Big Data ขับเคลื่อน Thailand 4.0

“พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล” เปิดกลยุทธ์ retail-detail ใช้ Big Data ขับเคลื่อน Thailand 4.0

22 กรกฎาคม 2016


เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2559 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดเสวนาหัวข้อ “Big Data @ Life: ชีวิตผูกติดข้อมูล สู่อนาคตประเทศไทย 4.0” มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นางสาวสุมล กานตกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานวิเคราะห์และวางแผนการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย, นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ คอลัมนิสต์ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นักศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และนักวิจัยประจำสถาบันความเปลี่ยนแปลงของโลก มหาวิทยาลัยมินนิโซตา และนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการ

(จากซ้ายไปขวา) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นางสาวสุมล กานตกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานวิเคราะห์และวางแผนการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย, นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และนักวิจัยประจำสถาบันความเปลี่ยนแปลงของโลก มหาวิทยาลัยมินนิโซตา และนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
(จากซ้ายไปขวา) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ, นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), นางสาวสุมล กานตกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานวิเคราะห์และวางแผนการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย, นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ และนักวิจัยประจำสถาบันความเปลี่ยนแปลงของโลก มหาวิทยาลัยมินนิโซตา และนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา

ประเทศไทยเริ่มก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างช้าๆ แต่โลกไปเร็วด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มนุษย์โลกแชร์ข้อมูล เรื่องราวในโซเชียลมีเดีย มีการส่งอีเมล มีการซื้อขายสินค้าออนไลน์มากมาย ข้อมูลระบุว่าปี 2012 มนุษย์มีการผลิตข้อมูลมากถึงวันละ 2.5 quintillion ไบท์ หรือเท่ากับ 2,500,000,000,000,000,000 ไบท์ การกำเนิดของข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและพฤติกรรมของมนุษย์ทุกนาทีในระดับที่เราไม่เคยคิดว่าเป็นไปได้มาก่อน นี่คือ Big Data ที่ทุกวันนี้บริษัทเล็กใหญ่ต่างใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้เพื่อการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อการสร้างผลกำไร ขณะเดียวกัน ภาครัฐก็สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในด้านต่างๆ ได้เช่นกัน คำถามคือ เราจะใช้ประโยชน์จาก Big Data อย่างไรในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ศักยภาพของประเทศ การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ท่ามกลางการแข่งขันและทรัพยากรที่นับวันจะหมดไป

ในตอนที่แล้วนางสาวสุมล กานตกุล ได้กล่าวว่า“Big Data ไม่ใช่ถังขยะที่จับทุกอย่างโยนลงไป ภาครัฐ-เอกชนต้องแชร์ข้อมูล ต่อยอดสู่ Thailand 4.0” ส่วนนายธีรนันท์ ศรีหงส์ ได้เสนอ แนะให้ตั้ง National Data Pool-ปลุกจิตสำนึกการใช้ข้อมูล รับสังคม Big Data @ life และนางสาวสฤณี อาชวานันทกุล ได้กล่าวถึงพลังของ Big Data-ความย้อนแย้ง-สิทธิที่จะถูกลืม ส่วนในส่วนตอนแรก นายณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวถึง ไม่แข่งก็ยิ่งแพ้ยุค Big Data ว่าชีวิตเราจะมาผูกติดกับข้อมูล ไม่ได้ผูกติดแค่ว่าข้อมูลทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้น แต่ว่าผูกในอีกแง่หนึ่งด้วย คือ ในการเอาตัวรอดในเศรษฐกิจสมัยใหม่ เราจะขาดข้อมูลไม่ได้ด้วยซ้ำ

ธุรกิจค้าปลีกจะช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0 ได้อย่างไร

ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย ได้กล่าวว่า สิ่งที่จะเล่าในวันนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีกที่จะช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0 ได้อย่างไร

หลายๆ ท่านรู้จักคำว่าอีคอมเมิร์ซ การช็อปปิ้งออนไลน์คือสิ่งที่พลิกประวัติศาสตร์ของธุรกิจค้าปลีก จากที่คนไทยมักคุ้นกับคำว่าโชห่วย คือซื้อของที่หน้าร้าน เมื่อมีอีคอมเมิร์ซขึ้นมา เราช็อปปิ้งออนไลน์ได้แล้ว ดังนั้น ยุคของไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นยุคคู่ขนานของยุคค้าปลีก 4.0 การช็อปปิ้งเปลี่ยนแปลงไป คนหนึ่งคนสามารถช็อปปิ้งได้ในหลายๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน เป็นออนไลน์ และมากไปกว่านั้นคือเป็นยุคที่ใช้ข้อมูลของผู้บริโภคมาสร้างผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น เป็นยุคที่เกิดกระแสต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Omni Channel หรือ Internet of Things

วันนี้หากสังเกตจะเห็นว่า เราสามารถบันทึกข้อมูลทางด้านสุขภาพผ่านสายรัดข้อมือ ส่งไปที่โรงพยาบาล ก็จะบอกว่าเราสุขภาพดีหรือแย่ และสินค้าที่ดูแลสุขภาพเราก็ไปอยู่ที่ค้าปลีก มันเป็นยุคที่เรียกว่า Symplex Retail สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นวิวัฒนาการของค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่สิ่งหนึ่ง ไม่ว่าค้าปลีกจะอยู่ยุคไหน ประเทศไทยจะอยู่ยุคไหน มันมีคำๆ หนึ่งที่ไม่เคยตาย คือ ลูกค้า ลูกค้าคือบุคคลที่สร้างข้อมูลให้เกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีกและในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สิ่งที่น่าสนใจ ข้อมูลเหล่านั้นบริหารจัดการยังไง ประเด็นหนึ่งที่ฟังจากคุณณภัทรเล่า ทำให้เห็นภาพว่า วันนี้ประเทศไทยเรากับคำว่า Big Data นั้นห่างไกลกันแค่ไหน แต่จะห่างไกลหรือไม่ไกล ประเด็นแรกสุดเลยคือ การมีข้อมูลแล้วนำไปใช้หรือเปล่า

การที่ Big Data เป็นเทรนด์หรือคีย์เวิร์ดที่เกิดขึ้นมา คนจะรู้สึกว่าเป็นคำทางด้านเทคนิค เป็นวิชาการ แต่แก่นแท้สาระของ Big Data คือ การแปลงข้อมูลให้เป็นมูลค่าหรือคุณค่า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับเล็ก ระดับใหญ่ และประเทศ นี่คือคีย์เวิร์ดของ Big Data

ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย
ดร.พงส์ศักดิ์ โหลิมชยโชติกุล ที่ปรึกษาด้านการใช้ข้อมูลสารสนเทศ ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศไทย

สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมยกตัวอย่างธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะเป็นเซเว่นฯ ลอว์สัน แฟมิลี่มาร์ท เซ็นทรัล วันนี้คนที่เดินเข้าร้านของเขาไม่จำกัดเชื้อชาติ ข้อมูลต่างๆ ไม่จำกัดพรหมแดน เราสามารถรู้ข้อมูลของลูกค้าที่มาจากทางรัสเซีย จีน และสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น พฤติกรรมการบริโภคของเขา ทุกอย่าง เขาเป็น Source of Data (แหล่งกำเนิดข้อมูล) ที่สร้างข้อมูล

ท่านลองคิดไปพร้อมๆ กับผม ถ้าเราตื่นเช้าขึ้นมาเราเดินไปช็อปปิ้งที่ซูเปอร์มาเก็ตแห่งหนึ่ง เราหยิบบัตรสมาชิกเราตอนจ่ายเงิน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ข้อมูลของเราถูกบันทึกเป็นเรื่องของธุรกรรมการค้า ถูกบันทึกผ่านบัตรเครดิต แต่สิ่งเหล่านี้ มีกี่คนในประเทศไทยที่นำมาใช้เพื่อสร้างเศรษฐกิจ

วันนี้สิ่งที่ผมพูด ข้อมูลในค้าปลีก ผมเรียกว่า Close Data คือข้อมูลที่อยู่ในธุรกิจทั้งหมด แต่อีกข้อมูลหนึ่งที่สำคัญที่จะผนวกให้เกิดประโยชน์ คือ Open Data ลักษณะของ Open Data คือข้อมูลที่คุณณภัทรพูด

สมมติเรารู้ว่าวันนี้ลูกค้าหรือว่าคนต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทย อะไรคือจุดหลักในการช็อปปิ้งของเขา เขาต้องการสินค้าอะไรของคนไทย จาก Open Data ข้อมูลเหล่านี้กลับไปให้ผู้ผลิตที่เป็น SMEs พัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ และค้าปลีกเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ นี่คือสิ่งที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

เราบอกว่า Big Data สำคัญ ถ้าเราสามารถผนวกองค์ความรู้ Big Data คือ Know-how องค์ความรู้ที่ทำให้รู้ว่า เกิดอะไรเปลี่ยนแปลงขึ้นในระบบของสังคมและลูกค้า

แต่สิ่งที่สำคัญคือ Know-why เราจะเทคแอคชั่นอย่างไรให้ทั้งหมดนี้มีคุณค่าขึ้นมา นี่คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ที่ผมอยากจะย้ำว่า ถ้าเราวิเคราะห์ออกมาแล้วทุกอย่างเสร็จเป็นผลลัพธ์หมดแต่เราไม่สามารถทำอะไรได้ เราจะกลับไปที่กฎของศูนย์

Sharing Economy หัวใจขับเคลื่อน Big Data

ผมมีตัวอย่างของค้าปลีกแห่งหนึ่งที่ออสเตรเลีย ค้าปลีกเหล่านี้เป็นธุรกิจของคนออสเตรเลียที่สร้างผลิตภัณฑ์จากสินค้าและบริการดอกกุหลาบ เป็นสินค้าและบริการเกี่ยวกับการดูแลผิวพรรณ คำว่า Touchable Big Retail Data Analytic Drive Global Niche Business ธุรกิจแห่งนี้เขาใช้ Big Data ในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่สิ่งที่เขาใช้นั้นไม่ใช้เทคนิคอะไรเลย มันคือเครื่องคิดเงินที่เก็บข้อมูลการใช้จ่ายของลูกค้า วันนี้ลูกค้ามาใช้จ่ายอะไรบ้าง ซื้อของเวลาไหน ลูกค้าชอบสินค้าแบบไหน เขาเอาสินค้าของเขามาตีเป็นมุมมองด้านคุณลักษณะ เช่น กลิ่น สี รส ที่ลูกค้าชอบ

ธุรกิจนี้มีสาขาที่ออสเตรเลียเยอะมาก หน้าตา Big Data ของเขา ทุกคนอาจจะรู้สึกว่ามันเหมือนไอแพดเลย มันคือระบบเครื่องคิดเงินที่อยู่บนไอแพด ที่เขาสามารถประมวลผลธุรกิจของเขาได้รายนาที เห็นว่าลูกค้าซื้ออะไร สินค้าของเขา สมมติเขามีกลยุทธ์ที่จะช่วยท้องถิ่นว่า เขาจะออกผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพที่เป็นด้านสุขภาพเกี่ยวกับดอกกุหลาบในท้องถิ่นของเขา เขาออกมาแล้วลูกค้าให้การตอบรับดีไหม Big Data ตัวนี้จะวิเคราะห์ว่าลูกค้าซื้อเพิ่มมากไหม และคนกลุ่มไหนที่ซื้อ มาเวลาไหน เมื่อลูกค้าซื้อเสร็จแล้ว ข้อมูลก็จะถูกส่งที่ซัพพลายเออร์ว่าลูกค้าซื้อสินค้ากลุ่มนี้เยอะ และคุณจะต้องพัฒนาสินค้าใหม่ ถูกส่งไปที่ซัพพลายเชนเพื่อสร้างมูลค่า

Big Data จะเกิดประโยชน์ไม่มากเลย ถ้าเราไม่ใช้มุมมองในเรื่องของ Collaborative Economy อันนี้เป็นแพลตฟอร์มของชาวต่างชาติที่เขาเขียน แต่ละรังผึ้งเป็นแต่ละภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ค้าปลีก โรงพยาบาล การเงิน

วันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยคืออะไร ข้อมูลของโรงพยาบาล มีข้อมูลว่าลูกค้ามาใช้บริการอะไร โรงแรมก็มีว่าเป็นลูกค้ากลุ่มไหน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่เคยเอามาแลกเปลี่ยน จับเข่าคุยกันว่า เราจะสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่น สังคม ประเทศ ได้ยังไง แพลตฟอร์มในเรื่องของการทำ Collaborative Economy หรือเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ว่า Sharing Economy เป็นหัวใจหนึ่งในการขับเคลื่อน Big Data

ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ถ้าหลายๆ ท่านมาจากภาคธุรกิจค้าปลีก เวลานำเสนอสินค้าและบริการ เราจะต้องไปผ่านขั้นตอนที่เรียกว่า Product Selection เราก็จะเตรียมสินค้าหรือบริการของเราแบบจัดเต็ม สินค้าท้องถิ่นเราไป ไปถึงแล้วทางผู้ขายเขาบอกว่า สินค้าคุณน่าจะตอบโจทย์นะ ก็ไปวางขาย ทดลองขาย ปรากฏว่ายอดบางตัวดี บางตัวไม่ดี นี่คือวิธีการคิดแบบดั้งเดิม ไม่ใช่ข้อมูล

พงส์ศักดิ์3

แต่กลับกัน ในเรื่องของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในวันนี้ เขาทำการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าตามข้อมูลเชิงลึก ตัวอย่างเช่น ลูกค้าทางภาคเหนือชอบสินค้าดูแลสุขภาพที่กลิ่นไม่หนักมาก เช่น กลิ่นมะลิ เขาจะตอบซัพพลายเออร์ทันทีว่า คุณลองพัฒนาสินค้าตัวนี้สิ นั่นคือข้อมูลที่เกิด ข้อมูลเชิงลึกของ Big Data ในภาคค้าปลีก ซึ่งภาคค้าปลีกอาจจะไม่ได้ใช้ แต่มีประโยชน์มากสำหรับคนทำธุรกิจซัพพลายเออร์ เขาจะได้พัฒนาสินค้าตรงตามความต้องการ

สิ่งที่ตามมาคือกระบวนการพัฒนาสินค้ามีความแม่นยำเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนต่างๆ แข่งขันอย่างเหมาะสม เกิดกำไร นี่คือการลดความเทอะทะ (lean) ของกระบวนการพัฒนาสินค้า เพื่อส่งมอบให้กับผู้บริโภค

ในขณะเดียวกัน ค้าปลีกก็ลดความเทอะทะของข้อมูล ดังนั้น สิ่งที่ใช้ Big Data เข้ามาช่วย คือ การแชร์ริง (sharing) แชร์ริงคือหัวใจของ Big Data ตัวหนึ่ง

ผมมีเคสตัวอย่างหนึ่ง แนวคิดของ Big Data เวลาเราจะแอคชั่น เราจะทำยังไง ผมยกตัวอย่าง POS ย่อมาจาก Point of Sale คือเครื่องคิดเงิน เวลาเข้าไปร้านค้าปลีกโชห่วย เราจะเห็นเครื่องคิดเงิน ผมเจาะเฉพาะแค่กระบวนการขายสินค้าสำหรับลูกค้าที่เป็นออฟไลน์และออนไลน์

ยกตัวอย่างว่า Big Data ในธุรกิจค้าปลีก เป็นยังไงให้เห็นภาพ ถ้าผมมีสองหมื่นสาขาทั่วประเทศไทย แล้วในหนึ่งวัน ในแต่ละสาขามีลูกค้า 1,500 คน แล้วลูกค้าทั้ง 1,500 คน ซื้อสินค้าเฉลี่ย 4 ชิ้น ธุรกิจของผมเปิดมา 1 ปี ข้อมูลที่เกิดขึ้น 43,800 ล้านเรคคอร์ด ซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นเรียลไทม์ อันนี้เฉพาะส่วนการขาย

ถ้าเรามาดูในส่วนของการพยากรณ์สินค้า การสั่งสินค้า การจัดเรียงสินค้าภาคโลจิสติกส์ นี่คือส่วนของข้อมูลที่เกิดขึ้น แต่การเกิดขึ้นของข้อมูลอย่างมหาศาลไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญที่สุดคือ การแปลงข้อมูลเป็นมูลค่า เป็นคุณค่าให้แก่ประเทศชาติและสังคม

ในแง่ของมุมธุรกิจค้าปลีก ถ้าค้าปลีกไม่ได้แชร์กับสังคมมันจะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าทำการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจค้าปลีกมหาศาลเหล่านั้น หากเปรียบเทียบข้อมูลเป็นลักษณะของกองภูเขาข้อมูลขนาดใหญ่มาก ผมเป็นนายเหมืองทอง ไปเจาะเอาข้อมูลที่สำคัญเป็น ข้อมูลข่าวสารที่ใช้ค้าขายได้ แล้วมีข้อมูลเหล่านี้ออกมา กลุ่มลูกค้าของผม ถ้าเป็นภาคเหนือจะเป็นกลุ่มลูกค้าวีไอพี ที่เป็นคนรัสเซีย จีนเป็น เป็นเจ็นวาย และชอบซื้อสินค้าสปาที่เป็นกลิ่นดอกมะลิ ถ้าเขาหยิบสปา เดินเข้าร้านปั๊บ Big Data จะวิเคราะห์ทันทีว่าประมาณ 85% เขาจะหยิบสินค้ากลุ่มนี้ ถ้าเขาหยิบทันที มีโอกาส 95% ที่เขาจะซื้อน้ำมะตูมกับน้ำอัญชันต่อ

สิ่งนี้เกิดขึ้นจากคนชาวต่างชาติที่มาใช้ชีวิตท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกฝึกให้เป็น Trended Customer เวลาทัวร์มาก็จะพาไปโรงแรม ไปสปาต่างๆ นี่คือสิ่งที่เขาถูกฝึก

แต่ข้อมูลเหล่านี้ ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์สปาไม่เคยทราบมาก่อน ถ้าผมเอาข้อมูลตรงนี้จากภาคค้าปลีกคืนกลับให้กับสังคม SMEs ในแต่ละจังหวัด สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และสามารถนำไปวางขายไม่ว่าจะเป็นที่เซเว่น ลอว์สัน แฟมิลี่มาร์ท ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต เราจะทำการแข่งขันในลักษณะที่เป็น Global Niche Market อย่างยั่งยืน นี่คือทุนของประเทศไทย เรามีความหลากหลายทางธรรมชาติ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ข้อที่สาม ถ้าผมสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ต่อ ว่าลูกค้ามักจะสั่งซื้อจากเมืองจีนผ่านเว็บท่องเที่ยว แล้วจ่ายเงินผ่านอีเพย์เมนต์ แล้วก็ชอบไปรับของตามร้านสะดวกซื้อ ชอบที่จะไม่รอคิว และจะหยิบดูของใหม่ๆ ข้อมูลบรรทัดท่อนเท่านี้ ถ้าผมบอกได้ว่าลูกค้ากลุ่มนั้นเขาใช้ธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มธนาคารไหนบ้าง ช่องทางไหนบ้าง จะทำให้ประเทศเราสามารถที่จะสร้างช่องทางในการใช้จ่ายของคนต่างประเทศ พัฒนาช่องทางทางการเงินได้อีก นี่คือสิ่งที่อยู่ในข้อมูลเชิงลึกของค้าปลีก

อันต่อมา ลูกค้าชอบซื้อของตอน 3-5 โมงเย็น และหยิบสินค้าขนาดกลาง การที่ซื้อของ 3-5 โมงเย็น เป็นการบอกเลยว่าลูกค่าซื้อเยอะที่ภูมิภาคไหนของประเทศ ที่โซนไหน ข้อมูลเหล่านี้ฟีดแบ็คกลับไปให้ทางภาครัฐได้ ในการจัดการจราจร ในการสร้างภาพลักาณ์ของประเทศไทย ว่าเป็นประเทศที่มีการช็อปปิ้งได้สะดวก

และสุดท้าย ลูกค้าส่วนใหญ่มักหยิบของขนาดกลาง อันนี้ช่วย SMEs ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ดีมาก เวลาเราพัฒนาของแบบเดิม เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าของเรากล่องเล็กกล่องใหญ่ขายดีหรือขายไม่ดี แต่ถ้าเราได้ข้อมูลตรงนี้ เราพัฒนาขนาดที่เหมาะกับการบริโภคของลูกค้า ทำให้กระบวนการผลิตประหยัดลงไป เรื่องของสิ่งแวดล้อมดีมากยิ่งขึ้น หรือลูกค้าชอบสินค้าที่แพ็กเกจแบบธรรมชาติอันนี้เกิดเรื่องของการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ทั้งหมดเหล่านี้คือข้อมูลเชิงลึกที่ค้าปลีกสามารถที่จะสร้างให้ SMEs หยิบเอาคุณค่าต่างๆ มาสร้างมูลค่าทางธุรกิจ

ผู้เข้าร่วมฟังเสวนา Big Data
ผู้เข้าร่วมฟังเสวนา Big Data

Retail-Detail

ผมมีภาพที่พอจะเป็นภาพสรุปให้ทุกๆ ท่าน ภาพนี้เป็นคอนเซปต์ที่ Big Data ทางธุรกิจค้าปลีกเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าจากยุคของค้าปลีก 4.0 กับข้อมูลลูกค้าใช้ Know-how ไม่ว่าจะเป็น Data Mining หรือ Data Analytic มาวิเคราะห์ข้อมูล คนเหล่านี้เรียกว่า Retail Data Scientist

เรารู้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดเราจะต้องมี Retail Data Artisan คือคนที่เอาองค์ความรู้ไปแปรเป็นภาคปฏิบัติ ไปแปลงเป็นสินค้าบริการ เป็นนวัตกรรม เพื่อที่จะให้ลูกค้าสามารถเสพได้

ธุรกิจค้าปลีกมีคนเคยกล่าวว่า Retail-Detail ทุกอย่างในค้าปลีกมีรายละเอียดหมด เพราะฉะนั้น ค้าปลีกไม่ได้เป็นเรื่องของข้อมูลอย่างเดียว เป็นเรื่องของการทำเซอร์วิสมายด์ เรื่องของแบรนด์ดิ้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนกลับมาซื้อซ้ำ

และถ้าเรามองในมุมมองของไทยแลนด์ 4.0 เรื่องของความหลากหลายของสินค้า (Natural Diversify) เราสามารถเอามาสร้างได้ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เชียงใหม่ โรงพยาบาลต่างๆ เริ่มมีลูกค้าเป็นคนจีน คนเกาหลี และญี่ปุ่นมากขึ้น สิ่งที่คนญี่ปุ่นชอบมากคือหมอนที่ทอจากผ้าฝ้าย ซึ่งต้องเป็นผ้าฝ้ายทางภาคเหนือ เนื่องจากนอนนุ่มและไรฝุ่นน้อย เขาบอกว่าที่บ้านเขาไม่มี สิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงพยาบาลที่เชียงใหม่ไปบอกธุรกิจชุมชนค้าปลีกว่าลองพัฒนาสินค้าตัวนี้ดูสิ คนญี่ปุ่นไม่คิดที่จะแข่งขัน คนญี่ปุ่นบอกว่า อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นธรรมชาติของไทย

และสิ่งที่ตามมา คนญี่ปุ่นเรียนรู้จากผลิตภัณฑ์ของคนไทยว่ามีประโยชน์อย่างไร เขาเกิดในเรื่องของ Thai Identity Embed เมื่อเราทำให้ลูกค้าในธุรกิจค้าปลีกเสพสุนทรียภาพผ่านบริการ ผ่านแบรนด์อิมเมจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเสร็จแล้ว ข้อมูลเป็นเหมือนภาพแทนของประเทศไทย บอกอัตลักษณ์ของสินค้าไทย ซึ่งสามารถกระจายผ่านธุรกิจค้าปลีกได้

สุดท้าย เขาถูกฝึกให้บริโภคบนพื้นฐานสิ่งที่เขายอมรับได้ นี่คือสิ่งที่เป็นฟันเฟืองที่จะช่วยขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 และข้อมูลเหล่านี้ถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ให้เขาได้รับข้อมูลเพิ่มเติม

แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง การนำเทคโนโลยีมาใช้ในจุดที่จำเป็นเป็นการเข้าถึงศักยภาพด้านโลจิสติกส์ของธุรกิจไทย ค้าปลีกไทย นี่คือสิ่งที่สำคัญ

วันนี้ธุรกิจค้าปลีกของไทยแข่งขันกับต่างชาติด้วยต้นทุนหลักสามตัว แพ้ชนะกันอยู่แค่สามตัว คือ ต้นทุนเรื่องคน โลจิสติกส์ และไอที ถ้าเราใช้ความได้เปรียบของประเทศไทย เราจะแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมอยากจะแชร์ว่า Big Data ในค้าปลีกเป็นฟันเฟืองหนึ่ง เป็นสะพานที่จะช่วยแชร์มูลค่าจากภาคเอกชนกลับไปที่ภาครัฐ กลับไปที่ SMEs ในการขับเคลื่อนประเทศไทย ซึ่งตัวนี้เป็นมุมมองที่สำคัญที่สุด

การแปลงข้อมูลเป็นเงิน ผ่านการแชร์ริง สมมติผมเป็นค้าปลีก ผมมีข้อมูลมีความรู้เรื่องข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า ผมแชร์กลับให้ผู้ผลิต แชร์กลับให้ลูกค้า ซึ่งเขามีทรัพยากรอยู่แล้ว และนี่คือคีย์เวิร์ดของไทยแลนด์ 4.0

การสร้างวัฒนธรรมให้ขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล

พงส์ศักดิ์4

ดร.พงส์ศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมตอนท้ายว่า “ถ้าที่ฟังมาทั้งหมด ผมอาจจะให้คำนิยามใหม่ของธุรกิจค้าปลีกว่าคือ Subscription Economy การที่คุณจะเริ่มต้นธุรกิจค้าปลีก หรือธุรกิจอะไรก็ตาม คุณต้องจะมีการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองเพื่อจะเริ่มต้นค้าขาย เพื่อบอกตัวเองว่าอัตลักษณ์เป็นอย่างไร สินค้าเป็นอย่างไร และสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณได้ข้อมูลกลับคืนมา ซึ่งรูปแบบตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลง ที่เราจะหนีคำว่า Open Data, Open Innovation ไม่พ้นแล้ว เพราะว่าคุณโพสต์ข้อมูลคุณแค่ไหนมันจะถูกเปิดเผยแค่นั้น

ดังนั้น ข้อมูลที่ถูกเปิดเผย คำถามคือ ทำอย่างไรให้สามารถสร้างมูลค่าในเส้นทางที่แตกต่างจากคนอื่น ความหมายคือ ถ้าผมยังขายของแบบเดิมในระบบเศรษฐกิจต่างๆ สินค้าก็จะแข่งขันในตลาดที่มีผู้เล่นกลุ่มเดิม โอกาสเติบโตยาก เพราะอะไร…

เพราะวันนี้ผมมีตัวอย่างค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอย่างมหาศาล เมื่อก่อนจะผลิตสินค้าสักตัว จะต้องส่งต้นแบบจากต่างประเทศข้ามน้ำข้ามทะเลมา ค่าโลจิสติกส์สูงมาก วันนี้ธุรกิจค้าปลีกเจอเทคโนโลยีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า 3D Printing ส่งแบบข้ามประเทศมา ต้นทุนโลจิสติกส์หายไปทีเดียว 20% นี่คือสิ่งที่จะบอกว่าเราต้องหาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าจากพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อที่จะสร้างบริการใหม่

ดังนั้น สิ่งที่ผมฟังมาจากหลายๆ ท่าน สิ่งที่ผมอยากจะบอกทุกท่านคือ นวัตกรรมการใช้งานข้อมูล เป็นกลไกหนึ่งในไทยแลนด์ 4.0 แต่สำคัญมากกว่านั้นคือการสร้างวัฒนธรรมของประเทศไทยให้ขับเคลื่อนประเทศด้วยข้อมูล คือสิ่งที่คุณณภัทรที่พูดมาตอนแรก คือสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่สุด การให้ความสำคัญผ่านการศึกษาในทุกระดับเป็นการเรียนรู้ระยะยาวของคนไทยว่าเราสามารถสร้างธุรกิจจากข้อมูลได้ จากข้อมูลที่เป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทย ซื้อสินค้าไทย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมมองว่าต้องใช้เวลา แต่การใช้เวลา ต้องมีการเริ่มต้น ซึ่งก็มองว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เรามีคำว่าไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นมา เป็นสิ่งที่สะกิดใจผมว่า ตอนนี้ประเทศไทยเราเข้าไปสู่จุดที่เปลี่ยนแปลง แล้ววันนี้ที่เพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง การมี FinTech เทคโนโลยีเข้ามา พร้อมเพย์เข้ามา เป็นการขยายตลาดธุรกิจค้าปลีกอย่างก้าวกระโดด

ก้าวกระโดดยังไง ผมยกตัวอย่างประเทศที่เคยใช้ธุรกิจเทคโนโลยีอย่างนี้ อย่างคนจีน ยอดอัตราการเติบโตของการใช้ยูเนี่ยนเพย์ก้าวกระโดดมาก สิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มยอดขายกับธุรกิจของเรา มีกรณีหนึ่ง Active Customer ที่อยู่ในมือคนไทยถูกโอนย้ายตลาด ในเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ข้อมูลจะเป็นตัวบอกสัญญาณว่าเราจะเปลี่ยนแปลงยังไง พฤติกรรมเขาเปลี่ยนแปลง เราออกแบบบริการให้เขา

แต่จุดแข็งที่น่าภูมิในของประเทศไทย ประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ในโลกที่มี POS ทางด้านค้าปลีกเยอะเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ของโลก เรามีช่องทางที่จะสร้างรายได้ขึ้นมา

เมื่อก่อนคนมักจะบอกว่า จะทำรายได้จากช่องทางไหน เอาสินค้าไปวางขายที่ไหน แต่วันนี้มันเปลี่ยน ลูกศรมันสวนทาง มันสวนทางตรงที่ช่องทางเป็นตัวสร้างรายได้ สิ่งเหล่านี้ก็เลยมองว่าการใช้ข้อมูล อยากให้เป็นวัฒนธรรมของประเทศไทยที่ปลูกฝังในทุกระดับการศึกษา ก็จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป

แล้ววันนี้ในการแชร์ข้อมูลระหว่างแต่ละภาคอุตสาหกรรม ผมมองในเชิงของค้าปลีก บรรยากาศเริ่มอยู่ในจุดที่เริ่มอบอุ่นเริ่มแชร์ริงกันมากยิ่งขึ้นแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังขาดในสังคมไทยคือ ยังมีคนที่ยกมือว่า ฉันอยากจะใช้ข้อมูลตัวนี้ ซึ่งภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะแชร์กลับ เพราะวันนี้สินค้าของคนไทยเราพัฒนาแทบจะไม่ทันลูกค้าอยู่แล้ว ถ้าเรามา R&D ในบริษัทภาคเอกชนเอง ต้องบอกว่าไม่ทันกับต่างชาติที่เอาของมาขายในบ้านเรา ต่างชาติเขามีความไวในการใช้ข้อมูล เขาเซิร์ชข้อมูลลูกค้าของเขาที่เคลมภาษีคืนว่าซื้ออะไรในบ้านเรา เสร็จแล้วเขากลับมาออกแบบ R&D แล้วมาลงทุนในประเทศไทย

แต่ถ้าวันนี้คนไทยเราเปลี่ยน เรามานั่งคุยกันว่าข้อมูลที่ออกมาจากลูกค้าแต่ละค้าปลีก แต่ละโมเดิร์นเทรด สินค้ากลุ่มไหนที่ต่างชาติซื้อ และเรากลับไปให้กับตลาดผู้ผลิต ตลาดผู้ผลิตเองก็จะมีสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้กลับไปที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเราในเรื่องของแบงก์กิ้งต่างๆ เขาก็จะขอเครดิตเทอมได้ง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้น ข้อมูลเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนของไทยแลนด์ 4.0 ก็อย่างที่ทุกท่านว่ามา ต้องมีการตระหนักรู้ก่อน แต่ความตระหนักที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมการใช้ในการขับเคลื่อนประเทศไทย

ในมุมของผม ถึงแม้ว่า Big Data แม้จะเป็นศาสตร์ของด้านตะวันตก แต่หากมองในมุมปรัชญาของการใช้งานข้อมูล จริงๆ แล้ว Big Data เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของทั้งตะวันตกและตะวันออก ตัวเลขต่างๆ บอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่สุดท้ายแล้วต้องมาตรวจสอบกับข้อเท็จจริงที่หน้างานเพื่อให้เข้าใจเข้าถึงการเปลี่ยนแปลง และนำการเปลี่ยนแปลงตรงนั้นมาสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว ทุกอย่างคือการเข้าใจธรรมชาติของสิ่งๆ หนึ่ง แต่บนกรอบของ Big Data ฉะนั้น จะมีคำพูดที่พื้นฐานที่สุดในธุรกิจค้าปลีก คือ Fact and Data (ข้อเท็จจริงและข้อมูล) แต่วันนี้คำที่ถูกชูขึ้นมาคือ Data แล้วบวกกับหลายๆ คำ แต่สุดท้ายกลับสู่สามัญซึ่ง Fact คือสิ่งที่สำคัญ แปลเป็นภาษาบ้านเราคือ ธรรมชาติของธุรกิจ ธรรมชาติของลูกค้า ถ้าเราเข้าใจในจุดนี้ เราจะสร้างนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นทุกวัน

ป้ายคำ :