ThaiPublica > Events > “บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลังเพื่อแลหน้า 60 ปี บริบทความเปลี่ยนแปลงของประเทศ – ของโลก (ตอนที่ 3)

“บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลังเพื่อแลหน้า 60 ปี บริบทความเปลี่ยนแปลงของประเทศ – ของโลก (ตอนที่ 3)

1 ตุลาคม 2014


3rd.Aniversary-1ครบรอบ 3 ปีไทยพับลิก้า

“บรรยง พงษ์พานิช” บรรยายพิเศษในงาน “ครบรอบ 3 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ในหัวข้อ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง เศรษฐกิจไทย” โดยเริ่มเล่าว่าวันที่เปิดตัว”ไทยพับลิก้า” ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่เขียนบทความเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และจากบทความนั่นทำให้ติดลมมาถึงวันนี้ มีบทความในไทยพับลิก้ากว่า 110 ชิ้น กลายเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำไป

จริงๆ หัวข้อที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เขียนบทความค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของการมองย้อนหลังไป 60 ปี ก็เลยเขียนบทความ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง สังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่าใน 60 ปีที่ผ่านมาเรามีวิวัฒนาการอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนแก่เล่าเรื่องเก่า ก็หวังว่าบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงแล้วเรามานั่งสังเกต แล้วจับมันมาร้อยเรียงกัน มันจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการที่จะได้บทเรียนหรือการที่จะนำไปใช้ในอนาคต

เรื่องสุดท้ายตลาดการเงิน อันนี้เป็นตลาดที่เป็นที่ทำมาหากินของผมตลอดมา

ยุคเริ่มต้น ตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการออกใบอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด 15 ใบ ใบสุดท้าย ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกออกปี พ.ศ. 2485-2486 คือธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทำไมชื่อธนาคารกรุงศรีอยุธยารู้ไหมครับ เขาออกให้เพราะว่าขออนุญาตว่าจะไปเป็นธนาคารต่างจังหวัด สำนักงานใหญ่ก็เลยอยู่ที่อยุธยา แต่สำนักงานใหญ่มีสักห้องแถวหนึ่ง แต่สาขากรุงเทพฯ ใหญ่โต และหลังจากนั้นก็ไม่มีการออกใบอนุญาตอีกเลย ก็เลยถือว่าเป็น “oligopoly market” เป็นตลาดที่มีผู้ค้าน้อยราย

คืออย่างนี้ ในแง่เศรษฐกิจ มี 2 อย่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนา คือ อำนาจรัฐกับอำนาจเงิน ว่าใครคุม อำนาจรัฐนี่เผด็จการคุมในระยะต้นๆ และเปลี่ยนถ่ายมาเป็นนักการเมือง แต่อำนาจเงินก็อยู่ในมือของนายแบงก์ในยุคแรก โดยเฉพาะปี 2515 นอกจาก 15 ธนาคารนั้นแล้ว ไม่มีใครที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เลย ต้องไปที่ธนาคารเท่านั้น หรือไม่ก็ไปโรงรับจำนำเลย

จนกระทั่งปี 2515 สมัยจอมพลถนอม จอมพลประภาส เลยเกิดการตั้งสิ่งที่เขาเรียกกันว่า “ทรัสต์เถื่อน” (คล้ายๆ ผู้ดูแลผลประโยชน์บางอย่างแทนให้อีกคนในทางการเงิน)คือประกอบธุรกิจคล้ายธนาคาร กู้เงินจากประชาชนแล้วไปให้กู้ต่อ ตอนนั้นอยู่ภายใต้คณะปฏิวัติ ก็เลยออกคำสั่งให้ทรัสต์เถื่อนทั้งหลายมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง แล้วก็เลยออกใบอนุญาตบริษัทเงินทุนทั้งหมด 150 แห่งในปี 2515 แล้วบริษัทเงินทุนก็เลยกลายเป็นบริษัททางเลือกในการจัดหาเงินให้กับธุรกิจเอกชน 150 แห่ง แล้วก็ทำธุรกิจเรื่อยมา

พัฒนาการตลาดการเงินไทย

จนปี พ.ศ. 2518 ก็มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หวังว่าจะให้เป็นทางระดมในแง่ของทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็เปิดซื้อขายในปี พ.ศ. 2518 ทำท่าจะบูมสักพักหนึ่ง แต่บูมแบบไร้สาระ บูมไม่มีเหตุไม่มีผล P/E หุ้นบางตัวร้อยกว่าเท่า (อัตราส่วนราคาหุ้น (Price) หารด้วย กำไรต่อหุ้น (Earning per share) ตอนนี้ชักคล้ายๆ มันไม่มีเหตุไม่มีผลมันก็เลยพังในปี พ.ศ. 2521 แล้วก็พังยาวนานจนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 ถึงจะกลับมาฟื้นตัวอีกที อันนั้นคือเรื่องตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปี พ.ศ. 2529 สิ่งที่เป็นเหตุให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นมาก็คือโลกาภิวัตน์ในตลาดการเงิน คือตลาดเกิดใหม่ เงินสดเริ่มเข้า เพราะตลาดหุ้นไทยถูกแล้วบริษัทไทยก็เริ่มกลับตัวดีขึ้น เงินฝรั่งเริ่มเข้า ฉะนั้นตั้งแต่ ค.ศ. 1986 หรือปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แต่คราวนี้ฟื้นตัวโดยมีนักลงทุนสถาบันต่างประเทศเป็นตัวหลัก เป็นตัวที่กำหนดบทบาท พวกนี้ซื้อหุ้นอยู่ 60-70 ตัว อีก 500 กว่าตัวเขาไม่ยุ่ง เพราะฉะนั้นหุ้น 60-70 ตัวจะเติบโตไปตามปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่ควรจะเป็น

ทีนี้ขอย้อนกลับไปที่บริษัทเงินทุน ในที่สุดเงินที่เข้ามาตลาดทุนตรงนี้มีนัยนิดหนึ่ง ถ้าไม่มีตลาดหุ้นวันนี้เราไม่มีเศรษฐีมากขนาดนี้ เพราะว่าสมัยก่อนคนจะลงทุนได้ จะมีการลงทุนขนาดใหญ่คุณไม่รอฝรั่งหรือรอญี่ปุ่น คุณก็ต้องรอนายแบงก์อย่างมาก คนอื่นไม่มีเงิน

แต่เพราะมีตลาดหุ้น มันทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น ซึ่งอันนี้ก็ไปสอดคล้องกับการที่เมื่อก่อนนี้อำนาจกระจุกตัว ถ้าคุณไม่รู้จักพลเอกทั้งหลายคุณก็เข้าไม่ถึงอำนาจรัฐ ถ้ามองย้อนไปในอดีต อำนาจรัฐในยุคเผด็จการคนจะเข้าถึงน้อยราย อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ พอตกเย็นท่านไปอยู่ที่วิมานสีชมพู ที่ถนนเสือป่า แล้วห้อมล้อมด้วยพ่อค้าอยู่ไม่กี่ราย ย้อนหลังจะพบว่า ธุรกิจ อย่างเช่น เราเป็นประเทศเกษตร โควตาการส่งออกสินค้าเกษตรตกอยู่ที่กลุ่มพ่อค้าไม่กี่กลุ่ม มีไม่กี่คน หรือสัมปทานป่าไม้ทั้งประเทศ หรือโควตานำเข้าก็กระจุกตัวอยู่ตามนั้น

อีกข้างหนึ่งจะลงทุนก็ต้องไปหานายแบงก์ และเนื่องจากแบงก์ เป็นตลาดผู้ขายน้อยราย นายแบงก์ก็จะมีอิทธิพลมาก เพราะว่าเขาถือสิทธิผู้ขายน้อยราย ถ้าใครเรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่าต้องกำไรมหาศาลแน่นอน

“พอมีบริษัทเงินทุนและก็มีเงินต่างชาติเข้ามามากๆ และขณะเดียวกันการเมืองก็เปิด อำนาจรัฐเข้าถึงได้ง่าย เวลาเป็นพรรคร่วมแล้วก็เปลี่ยนย้ายตำแหน่งไปเรื่อยๆ คนก็เข้าถึงแล้ว นึกออกไหมครับ มันกว้างขึ้น นักธุรกิจก็กว้างขึ้น และเรื่องอำนาจรัฐแต่เดิมเขาให้พรรคพวก ให้ญาติก่อน เขาเรียก เนโปทิสซึม (Nepotism) แล้วก็ให้พรรคพวก ต่อมาเขาก็เอาไปซื้อขายกัน มันก็เกิดตลาดซื้อขายอำนาจรัฐ จริงๆ มันคือคอร์รัปชันแหละ แต่ในแง่ของมุมทางเศรษฐศาสตร์ก็ทำให้เกิดกิจกรรมกว้างขวางมากขึ้น แพร่หลายมากขึ้น”

ก่อนที่จะมีตลาดหุ้น บริษัทที่ใหญ่ๆ ในตลาดหุ้นนอกจากปูนซีเมนต์ไทย (SCG) แล้วเมื่อก่อนเป็นเอสเอ็มอีหมดนะ ปี ค.ศ. 1980 กว่าๆ ผมยังไปรับซื้อลดเช็คบริษัทเจี๋ยไต๋ที่ทรงวาดอยู่เลย แต่เพราะมีตลาดหุ้น และจะสังเกตว่ากิจการใดที่เติบโตขึ้นมาคือกิจการที่ใช้ประโยชน์จากตลาดทุนทั้งนั้น ถึงจะเติบโต มิฉะนั้นจะไม่มีติดอันดับ ฟอร์บ (Forbes Magazine)

แต่นี่ พอเงินเข้ามามากๆ ก็เกิดฟองสบู่ ในช่วงนั้นปี พ.ศ. 2530-2540 เป็นช่วงที่มีเงินทะลักเข้ามามาก ในช่วง 2540 มีเงินกู้ต่างประเทศแสนล้านเหรียญ ในสมัยนั้นเฉพาะเงินกู้ภาคเอกชนคิดเป็นประมาณ 70% ของจีดีพี เพราะฉะนั้นในที่สุดมันก็แตกแล้วก็เป็นวิกฤติเศรษฐกิจเอเชีย วิกฤติเศรษฐกิจโลกบางทีพูดไม่ถึงแล้ว

อันนี้ผมร้อยเรียงเรื่องราวทั้งหมด มาเล่าเรื่องเก่าให้ฟัง

อ่านตอนจบ แลไปข้างหน้า”ทำทันที ทำอะไร ทำอย่างไร”

ป้ายคำ :