ThaiPublica > Events > “บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลัง 60 ปี เพื่อแลหน้า บริบทความเปลี่ยนแปลงของไทย – ของโลก (ตอนที่ 1)

“บรรยง พงษ์พานิช” เหลียวหลัง 60 ปี เพื่อแลหน้า บริบทความเปลี่ยนแปลงของไทย – ของโลก (ตอนที่ 1)

1 ตุลาคม 2014


3rd.Aniversary-1ครบรอบ 3 ปีไทยพับลิก้า

“บรรยง พงษ์พานิช” บรรยายพิเศษในงาน “ครบรอบ 3 ปี สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ในหัวข้อ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง เศรษฐกิจไทย” โดยเริ่มเล่าว่าวันที่เปิดตัว”ไทยพับลิก้า” ก็เป็นครั้งแรกในชีวิตผมที่เขียนบทความเกี่ยวกับคอร์รัปชัน และจากบทความนั่นทำให้ติดลมมาถึงวันนี้ มีบทความในไทยพับลิก้ากว่า 110 ชิ้น กลายเป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำไป

จริงๆ หัวข้อที่พูดในวันนี้ เป็นเรื่องที่เขียนบทความค้างไว้ เกี่ยวกับเรื่องของการมองย้อนหลังไป 60 ปี ก็เลยเขียนบทความ “เหลียวหลังเพื่อแลหน้า การเมือง สังคม เศรษฐกิจของประเทศไทย” ว่าใน 60 ปีที่ผ่านมาเรามีวิวัฒนาการอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนแก่เล่าเรื่องเก่า ก็หวังว่าบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงแล้วเรามานั่งสังเกต แล้วจับมันมาร้อยเรียงกัน มันจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างสำหรับการที่จะได้บทเรียนหรือการที่จะนำไปใช้ในอนาคต

พัฒนาการการเมืองไทย
อันแรกเลยคือเรื่องการเมือง เรามาลองมองย้อนหลังกันว่า 60 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยเป็นอย่างไรบ้าง จริงๆ ปีที่ผมเกิดเมื่อศตวรรษที่แล้ว ปี 2497 เป็นปีที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยังเป็นนายกฯ อยู่ แต่เนื่องจาก 3 ปีแรกผมยังไม่รู้ความ พอปี 2500 ถ้าใครรู้ประวัติศาสตร์หน่อย หลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้วก็พรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. ก็ชนะ แต่ว่ามีการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนที่บอกว่าการเลือกตั้งสกปรก

หลังจากนั้นก็ก่อให้เกิดเหตุที่ทำให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านผ้าขาวม้าแดง ซึ่งเพิ่งจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกได้ปีกว่า ท่านก็ยึดอำนาจ จอมพล ป. กับพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ก็หนีออกนอกประเทศ จอมพล ป. ไปเขมรแล้วก็ต่อไปญี่ปุ่น แล้วก็ไม่ได้กลับประเทศไทยอีกเลย

จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมาในปี 2500 ก็ไปเชิญคุณพจน์ สารสิน มาเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นปีหนึ่งก็เปลี่ยนเป็นพลโทถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) จากนั้นปี 2502 จอมพลสฤษดิ์ก็ปฏิวัติรัฐบาลที่ตนเองตั้ง แล้วก็เลยเป็นนายกรัฐมนตรีเองตั้งแต่ปี 2502 เป็นนายกฯ อยู่ 4 ปี พอถึงปี 2506 ก็เสียชีวิตในวันที่ 8 ธันวาคม

ตรงนี้เล่าเกร็ดนิดหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตอายุ 55 ปี มีผู้อาวุโสเล่าว่า ในการสวนสนามวันเฉลิมพระชนม์พรรษา ปกติจอมพลสฤษดิ์ก็จะมอบหมายให้ พล.อ.ถนอม เป็นคนไปแทนหากไปไม่ได้ แต่ปีนั้นมอบหมายให้ พล.อ.จิตติ นาวีเสถียร ไปเป็นประธานในการสวนสนามแทน อีก 3 วันก็เสียชีวิต

ยุคจอมพลสฤษดิ์เป็นยุคที่ค่อนข้างจะเป็นเผด็จการชัดเจน แต่บังเอิญในเวลานั้นประชาชนเบื่อกับความที่มีเรื่องนอกกฎหมายเยอะ มีอันธพาลเยอะ มีเรื่องของฝิ่นที่ยังถูกกฎหมายอยู่ มีเรื่องของการวางเพลิง จอมพลสฤษดิ์ก็ใช้อำนาจค่อนข้างจะเด็ดขาด ประหารชีวิตมาเยอะ สมัยนั้นบ้านต้นเพลิงมีโอกาสถูกประหารชีวิตสูง แต่มันก็ได้ผลนะครับ เหตุการณ์ไฟไหมน้อยลงเยอะ แล้วอันธพาลก็หมด ฝิ่นก็สั่งหยุดเลย

แล้วก็มีการวางรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ จะเป็นวิสัยทัศน์ของจอมพลสฤษดิ์ หรือจะเป็นเรื่องโดยบังเอิญที่ธนาคารโลกกำลังขยับในการช่วยประเทศกำลังพัฒนาให้พัฒนา

พอจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต ก็เป็นยุคของ 2 จอมพลคู่ดูโอ “ถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร” อันนี้ก็ครองอำนาจตั้งแต่ปี 2506-2516 10 ปีรวดไม่มีเว้นวรรคใดๆ ทั้งสิ้น

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน และประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด (มหาชน)

อันนั้นก็เป็นยุคที่ดูเหมือนเรื่องของอำนาจ ประเทศมีเสถียรภาพ เนื่องจาก 10 ปีไม่ค่อยเปลี่ยน รัฐมนตรีตลอด 10 ปี มีไม่กี่คน ไม่มีนักการเมือง คณะรัฐมนตรีก็จะประกอบด้วยทหารครึ่งหนึ่ง เทคโนแครตครึ่งหนึ่ง เทคโนแครตก็คือ พวกนักวิชาการ หรือข้าราชการเก่าๆ อย่างเช่นเท่าที่ผมจำได้ก็คือ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เสด็จในกรมนราธิป พระบำราศนราดูร ทางคลังก็เต็มไปด้วยเทคโนแครตโดยเฉพาะ อีกครึ่งหนึ่งของคลังก็เป็นทหาร

แต่การเมืองก็ค่อนข้างสงบ จนกระทั่งปี 2512 ก็ถึงเวลา รัฐธรรมนูญที่ยื้อร่างมา 12 ปี ประชุมไปประมาณพันกว่าครั้ง ก็เสร็จ ก็มีการเลือกตั้งขึ้นในปี 2512 ผลการเลือกตั้งก็ออกแบบไว้อย่างดี พรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม-ประภาสได้เสียงมากที่สุด หากจำไม่ผิดคือ 70 กว่าเสียง ขณะที่ที่ 2 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ 50 เสียง แต่มี ส.ส. อิสระ 100 กว่าเสียง ก็ไปซื้อ ส.ส. อิสระเข้ามาเลือกตั้งรัฐบาล

เป็นรัฐบาลได้ 1 ปีเศษ พอกลางปี 2514 ท่านปฏิวัติตัวเอง แล้วตัวเองก็เป็นนายกฯ ต่อ ทั้งนี้ประชาชนก็เริ่มที่จะได้สัมผัสกับระบอบประชาธิปไตยไปแล้วบ้าง จึงเริ่มมีเรื่องของม็อบ (mob) ช่วงแรกก็เป็นการต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ในที่สุดก็เลยมีม็อบเลือกตั้งประชาธิปไตย

เชื่อไหมครับ ภายใน 2 อาทิตย์เท่านั้น ปฏิวัติประชาชนก็สามารถเปลี่ยนให้ 2 จอมพลต้องลาออกแล้วก็ออกนอกประเทศไปได้ มันก็มีข่าวอย่างที่รู้ๆ ว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก ไม่ใช่ประชาชนชนะหรอก แต่มีการปฏิวัติเงียบในกองทัพ เขาว่าอย่างนั้นนะ ก็ไม่รู้จริงเท็จอย่างไร

แต่ว่าผู้ที่เพิ่งจะได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ก็ได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของรัฐบาลถัดมา ตรงนี้ก็สิ้นสุด 16 ปีของยุคเผด็จการ 3 จอมพล

จากนั้นก็ท่านอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นนายกฯ พระราชทานอยู่ปีกว่า ตรงนี้น่าสนใจนิดหนึ่งว่า ปกติเวลามีการปฏิวัติประชาชน หลังจากปฏิวัติประชาชนแล้ว มันมักจะวุ่นวาย หาจุดรวมไม่ได้ แม้แต่รัฐในฝรั่งเศส 2-3 ร้อยกว่าปีที่แล้ว ก็วุ่นวายอยู่นาน ปฏิวัติพวกอาหรับสปริง กว่าจะตั้งหลักได้ แต่ของเรามีการพระราชทานรัฐบาล “มะเขือเผา” ฉายารัฐบาลมะเขือเผา ก็คือรัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาทำให้ลื่นไหลไปได้โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง

หลังจากปีเศษ เลือกตั้งครั้งที่ 1 พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงมากที่สุด แต่ความที่อ่อนเชิงทางการเมือง มะงุมมะงาหรา ก็เลยได้เป็นแค่ 14 วัน หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช แล้วก็ไปแพ้มติแถลงนโยบาย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ขึ้นมาเป็นนายกฯ โดยมีนโยบายที่สำคัญคือ นโยบายเงินผัน อันเป็นนโยบาย “ประชานิยม” ครั้งแรกของประเทศไทย ที่คุณบุญชู โรจนเสถียร กับหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์นำเอามาใช้

แล้วหลังจากนั้นปีกว่า เนื่องจากเป็นรัฐบาลที่พรรคผู้นำคือ “กิจสังคม” มีแค่ 18 เสียง ทำให้บริหารงานค่อนข้างยาก จึงต้องยุบสภาโดยคิดว่าเลือกตั้งใหม่ พรรคกิจสังคมน่าจะมาแรง ซึ่งก็มาแรงขึ้น แต่ยังไม่มากที่สุด และท่านคึกฤทธิ์สอบตกที่เขตดุสิต เพราะมี ส.ส.หนุ่มของประชาธิปัตย์ที่ทำผิดกฎพรรค เขาก็เลยลงโทษให้ประกบ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และชนะ ส.ส.หนุ่มคนนั้นชื่อคุณสมัคร สุนทรเวช

พอคุณคึกฤทธิ์สอบตก ท่านก็เลยไม่ลุกขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็เลยตั้งรัฐบาล โดยดึงพรรคร่วมเข้ามา เป็นอยู่ได้สัก 3 เดือน ทางพวกฝ่ายขวา คือ ทหารและพวกอนุรักษ์นิยม อำมาตย์ทั้งหลาย ก็ช่วยกันสร้างสถานการณ์ที่ธรรมศาสตร์ ทำให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519

เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ก็ลุกขึ้นมาทำปฏิวัติ แล้วปีแรกก็ให้คุณธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกฯ อันนี้เรียก “รัฐบาลหอย” ตามฉายาที่มีการตั้งขึ้นมา คุณธานินทร์ก็บอกว่า “เราประเทศไทย ประชาชนยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย” ขอเวลาสัก 8 ปีแล้วกันที่จะทำให้พร้อม

แต่เป็นได้เพียง 1 ปี พลเรือเอกสงัดก็ทำการปฏิวัติอีกที จึงตั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เจ้าของสูตรแกงเนื้อใส่บรั่นดี ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ 2 ปี บังเอิญเจอวิกฤติการณ์น้ำมันแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ คือประชาชนไม่สนใจว่าน้ำมันตลาดโลกจะขึ้นอย่างไร แต่ในเมืองไทยเอาไม่อยู่ ก็เลยต้องลาออก พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

คุณเกรียงศักดิ์นี่จัดให้มีเลือกตั้งนะครับ สมัยเกรียงศักดิ์กับพลเอกเปรมมีการเลือกตั้ง แต่ว่าไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก เพราะฉะนั้นก็ต้องตั้งรัฐบาลผสม แล้วต้องไปเชิญ ผบ.ทบ. หรือพลเอกมานั่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็อยู่ในช่วงที่ผมเรียกว่า“ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ประมาณ 11 ปี

ที่เรียกว่า “ครึ่งใบ” ก็เพราะว่าคุณก็เลือกกันไป พอผลเลือกตั้งเสร็จต้องไปบ้านสี่เสาเทเวศร์ ใครไปไม่ทันก็เป็นฝ่ายค้านไป นี่เรื่องจริง มีอยู่ครั้งหนึ่งประชาธิปัตย์ได้คะแนนเยอะสุด ก็คิดว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล ทุกคนไปประชุมที่บ้าน 4 เสาฯ เสร็จแล้วแต่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ไป จึงต้องเป็นฝ่ายค้าน หลังจากนั้นคุณพิชัย รัตตกุล ก็ต้องเข้าบ้านสีเสาฯเป็นคนแรก

จนกระทั่งปี 2531 พอเลือกตั้งเสร็จ พลเอกเปรมบอกว่า “พอแล้ว ผมพอแล้ว” พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้เป็นนายกฯ

อันนี้ก็คือเริ่มยุคที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบแล้ว นักการเมืองคุมทั้งหมด สมัยป๋าเปรมเป็นนายกฯ ป๋าเปรมจะไม่ยอมให้นักการเมืองเข้าไปยุ่งกับเรื่องสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องเป็นคนของป๋า อาทิ คุณสมหมาย ฮุนตระกูล คุณสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม แบงก์ชาติ สภาพัฒน์ฯ เป็นเทคโนแครตมาโดยตลอด นักการเมืองจะเข้าไปยุ่งไม่ได้เลย เรื่องของพลังงานก็เหมือนกัน

ตลอด 8 ปีที่ป๋าเป็นนายกฯ พลังงานจะอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีศุลี มหาสันทนะ ซึ่งท่านเป็นเทคโนแครตที่มาจากภาคเอกชนจริงๆ แล้ว แต่ก็ทำให้นักการเมืองไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ประเทศก็ถูกบริหารงานโดยนักวิชาการในส่วนหลักๆ แต่นักการเมืองก็เริ่มเข้ามาชิมอำนาจได้มากขึ้นในยุค “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”

หลังยุคป๋าเปรม เป็นยุค “บุฟเฟ่ต์คาบิเนต” หลักการก็คือ ไปเลือกตั้งมา พอเสร็จแล้วก็มาบวก ลบ คูณ หาร ต่อรอง แบ่งเค้กกัน สมัยนี้จุดอ่อนที่เห็นชัดๆ ก็คือ ไม่มีพรรคไหนสามารถให้นโยบายที่เป็นรูปธรรมต่อเนื่องได้เลย เพราะว่าประกาศนโยบายไปหาเสียงไป แต่เมื่อรวมกันเป็นรัฐบาล มันไม่มีเอกภาพ

“ยกตัวอย่าง เช่น คุณชวนไปประกาศนโยบายการเกษตรอะไรไว้เยอะแยะ แต่สุดท้ายคุณบรรหารได้โควตารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็เอามาทำไม่ได้ ดังนั้นนโยบายจึงเป็นนโยบายเลื่อนลอย เป็นนโยบายที่ไม่ได้เป็นรูปธรรมอะไร ไม่ได้มีผลในเชิงปฏิบัติ และนโยบายหลายนโยบายก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร “สัจวาจา” อย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นนโยบายไปได้อย่างไร มันไม่ใช่นโยบาย มันเป็นเรื่องสัญญาเท่านั้นเอง”

ในที่สุดในยุคนั้นประชาชนก็เริ่มจะค่อนข้างเบื่อหน่ายเรื่องอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นแรงกดดันอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2540 คือยุคบุฟเฟ่ต์คาบิเนตนี่ตั้งแต่ปี 2531-2543 แต่ในช่วงนั้นก็เกิดรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ไปใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งปี 2544

นายบรรยง พงษ์พานิช

โดยหลักการของรัฐธรรมนูญ 40 ก็มีอยู่ 3 หลักใหญ่ เท่าที่ผมจับประเด็น

1. ต้องการให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง สามารถมีนโยบายที่จะทำได้จริง

2. ให้มีการกระจายทรัพยากรและอำนาจลงไป จะเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกิดจากรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

3. เนื่องจากให้มีอำนาจก็ต้องมีกลไกการคานอำนาจ มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นมากมาย เพื่อให้รัฐบาลถูกตรวจสอบ

ทั้ง 3 หลัก จริงๆ แล้วดีมาก แต่เมื่อนำไปใช้จริงๆ ก็มีปัญหา โดยเฉพาะตัวที่ 3 คือกลไกการคานอำนาจ โดนครอบงำไปได้เกือบทั้งหมด

จึงเกิดการเลือกตั้งในปี 2544 ซึ่งใช้รัฐธรรมนูญปี 40 พรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น คนก็ค่อนข้างจะเกิดความหวัง ก็มีความฉลาดในการหาเสียง ในการสัญญา

แล้วก็เป็นจริง คือมีการกระจายลงไปอย่างเป็นรูปธรรม สามารนำนโยบายไปใช้ได้จริง เพราะว่ามีการสั่งการลงไป (mandate) ก็เป็นไปตามนั้น แต่ว่ากลไกการคานอำนาจมันโดนครอบงำ โดนทำลายได้ในที่สุด ก็เลยมีเรื่องอื่นๆ ตามมา เช่น การขยายตัวและการฝังรากลึกของระบบ “พรรคพวกนิยม” เรื่องของการคอร์รัปชันซึ่งมีค่อนข้างมาก

ยุคนั้นผมถือว่า 12 ปี ก็มีปฏิวัติคั่นบ้าง มีรัฐบาลค่ายทหารมาคั่นบ้างอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเรียกกันว่า “ยุคเผด็จการรัฐสภา” หรือ “ยุคกินรวบประเทศไทย” อันนั้นก็ 12 ปี

แล้วเราก็มาถึงยุคปัจจุบัน “ยุคจำใจเผด็จการ” อันนี้ก็คือ เขียนตามที่ท่านบอกว่าท่านไม่ได้อยากทำ โดนบังคับ สถานการณ์มันจำเป็นเหลือเกิน ประเทศถึงทางตันไม่มีทางออก ที่มาทนนั่งเป็นอยู่นี่ไม่ได้อยากเป็น ต้องอดทน คนเขาบังคับให้มาเป็น แต่ก็จะเดินหน้าปฏิรูป อันนี้ก็ต้องรอดูต่อไป

อันนี้ก็คือ วิวัฒนาการทางการเมือง ซึ่งโดยหลักก็เป็นเรื่องของการเปลี่ยนอำนาจ อำนาจที่เคยกระจุกเริ่มขยายตัวออกมาเรื่อยๆ เริ่มเปลี่ยนมือ จากทหารเข้ามาสู่เอกชนมากขึ้น แล้วก็วนกลับไป

ต้องเรียนว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ปี 2502 ที่หัวหน้าคณะปฏิวัติจำใจเป็นนายกรัฐมนตรี เรามีปฏิวัติหลายครั้ง ปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติก็เขิน ให้คุณพจน์ สารสินเป็นนายกฯ ปี 2502 ปฏิวัติอีกที คราวนี้จำใจแล้วต้องเป็นนายกฯ เอง หลังจากนั้นจอมพลถนนอมนั่นไม่ใช่หัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นนายกฯ นะครับ อันนั้นนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติซะเอง ตรงข้ามกัน

พอหลังจากนั้น พลเรือเอกสงัดปฏิวัติก็ไม่เป็นนายกฯ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ท่านก็ไม่ได้เป็นนายกฯ บิ๊กบัง พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก็ไม่ได้เป็น

ครั้งนี้เป็นครั้งที่น่าสนใจว่าหัวหน้าคณะปฏิวัติยอมมาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ก็จับตาดูกันต่อไป

อ่านตอนที่ 2 เหลียวหลัง 60 ปี เศรษฐกิจไทย

ป้ายคำ :