ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum ครั้งพิเศษ: 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ

ThaiPublica Forum ครั้งพิเศษ: 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ

15 ตุลาคม 2012


รายการเรื่องจริงผ่านจอ ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานเสวนา เรื่อง “2012! 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ!!
รายการเรื่องจริงผ่านจอ ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานเสวนา เรื่อง “2012! 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ!!

ผ่านพ้นมาแล้วกว่าขวบปีสำหรับมหาวิกฤติอุทกภัยที่คนไทยต้องเผชิญ

1 ปีที่ผ่านมา ฝันร้ายที่มาเยือนถึงตัวบ้านถูกนำมาเป็นบทเรียนสำคัญในการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม้ว่าไม่มีอะไรที่จะฝืนธรรมชาติได้ แต่ยังมีความหวังว่าจะสามารถผ่อนหนักเป็นเบา

รายการเรื่องจริงผ่านจอ ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานเสวนา เรื่อง “2012! 18 ภัยพิบัติ ความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ!!”เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 ที่เคทีซีป๊อบ อาคารสมัชชาวาณิช 2

โดยมีวิทยากรในแวดวง “น้ำและภัยพิบัติ” ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนดูแลสายงาน Information Technology Services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด, ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด, ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉินของประเทศไทย และนายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินรายการโดยนายคงกระพัน แสงสุริยะ พิธีกรรายการเรื่องจริงผ่านจอ

พิธีกร : สวัสดีครับ ขอต้อนรับเข้าสู่งานสัมมนา “2012! 18 ภัยพิบัติความเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ!!” จากปัญหาโลกร้อนทำให้เราเจอภัยพิบัติมากมาย ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ร่วมกันเรื่องภัยพิบัติ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนัก ไม่ตื่นตระหนกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ เพราะเราต้องอยู่บนโลกใบนี้ไปอีกนาน ก่อนอื่นต้องถามทาง PwC ซึ่งทำการวิจัยเรื่องภัยพิบัติว่าทำอะไรบ้าง

วิไลพร : บริษัท PwC เป็นธุรกิจที่ปรึกษาที่ให้คำปรึกษาทั่วโลก เพราะบริษัทมีสาขาอยู่ทุกประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมีมานาน 50 ปีแล้ว ส่วนงานให้คำปรึกษาคือด้านการศึกษาภัยพิบัติต่างๆ ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมไม่ว่าเกิดภัยอะไรขึ้นก็ตาม และให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การปรับปรุงการทำงาน และการบริหารความเสี่ยง ที่ต้องศึกษาความเสี่ยงก็เพื่อให้เราทราบว่าจะต้องประสบพบภัยประเภทไหนบ้าง ภัยแต่ละประเภทก็จะมีวิธีการรับมือต่างกัน มีการจัดทำกรอบการรับมือซึ่งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ว่าท่านต้องพร้อมกับภัยทุกประเภท

ในต่างประเทศมีศาสตร์แขนงนี้มานานแล้วเพื่อเตรียมความพร้อมในระดับรัฐบาล ระดับบุคลากร ระดับห้างร้าน เอกชน และพวกเราทุกคนก็ต้องปกป้องบ้านตัวเองเช่นกัน สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น เจอภัยอยู่ 2 อย่าง คือ ภัยจากน้ำและภัยจากความไม่สงบทางการเมือง เพราะฉะนั้นก็ต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้เรามีผลกระทบน้อยที่สุด และแต่ละองค์กรต้องการให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

พิธีกร : กระบวนการศึกษาก่อนที่จะมาเป็น 18 ความเสี่ยง 18 ภัยพิบัตินั้นมีวิธีการศึกษาอย่างไร

วิไลพร : เรานำข้อมูลเบื้องต้นจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ศึกษาไว้ระดับหนึ่งแล้ว แล้วก็เปรียบเทียบกับภัยที่เกิดในต่างประเทศ ที่หลายๆ ประเทศได้วิเคราะห์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว แล้วส่งผลกระทบเสียหายในระดับสูง หลังจากนั้นก็วิเคราะห์ รวมถึงดูสถิติย้อนหลัง 10 ปี ว่าบ้านเราเกิดอะไรถี่เป็นพิเศษ แล้วส่งผลทั้งด้านจำนวนผู้เสียชีวิต หรือผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างไร ทั้งหมดนี้คือตัวตั้งต้น แล้วก็เอามาวิเคราะห์ กลายเป็น 18 ความเสี่ยงโดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งเราควบคุมได้น้อย และภัยจากมนุษย์ ซึ่งช่วงหลังก็มีภัยประเภทนี้เกิดขึ้นมาก เป็นการรวบรวมมาเพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อมรับมือไม่ว่าจะเกิดหรือไม่ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่อยากให้เกิด แต่ถ้าเกิดขึ้นเราจะพร้อมรับมือ

พิธีกร : ทั้ง 18 ความเสี่ยงก็เป็นภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ แล้วสิ่งไหนที่ต้องระวังมากที่สุด

วิไลพร : ภัยทั้ง 18 ประเภท ประกอบไปด้วย

ความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติ

1. อุกทกภัย ซึ่งเป็นภัยที่เกิดขึ้นทุกปีในประเทศ เพียงแต่อาจจะเกิดในบางส่วนเท่านั้น เช่น ภาคใต้ สำหรับปีที่ผ่านมาถือเป็นมหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งก็หวังว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก

2. ภัยจากดินโคลนถล่ม เป็นภัยที่เกิดบ่อยเช่นกันถ้าดูจากสถิติที่ผ่านมา โดยจะเกิดขึ้นในบางภาคของไทยเท่านั้น ดังนั้น คนหรือบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นจะต้องระมัดระวังและเตรียมความพร้อมเป็นพิเศษ

3. ภัยจากพายุเขตร้อนหรือวาตภัย ซึ่งเกิดถี่เช่นกัน

4. ภัยจากคลื่นสึนามิ แม้ว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เกิดแค่ครั้งเดียวก็สร้างความเสียหายมหาศาลอย่างที่ประเทศเคยเจอเมื่อปี 2547 หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่นก็มีการเตรียมพร้อมไว้ระดับหนึ่ง เรียกว่ามีโอกาสเกิดต่ำ แต่ถ้าเกิดแล้วมีผลกระทบสูงมากๆ

5. ภัยจากแผ่นดินไหว อาคารถล่ม จริงๆ แล้วประเทศไทยมีสถิติแผ่นดินไหวอยู่เนืองๆ แต่เราแทบไม่ทราบผลกระทบ แต่จากที่กรมทรัพยากรทางธรณีเคยทำแผนที่ความเสี่ยงนั้น พบว่าประเทศไทยฝั่งที่ติดประเทศพม่ามีความเสี่ยงสูง ซึ่งนับวันเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น เช่น แผ่นดินไหวทางภาคเหนือแต่คนในกรุงเทพฯ ที่อยู่บนตึกสูงจะรู้สึกมึนหัว ดังนั้น ต่อไปการวางแผนสร้างตึก โรงงาน หรือที่อยู่อาศัย จะต้องคำนึงด้วยว่าก่อสร้างในเขตพื้นที่แผ่นดินไหว รวมถึงวัสดุในการก่อสร้างก็ต้องเหมาะสมด้วย

6. ภัยแล้ง ส่วนใหญ่เกิดบ่อยในภาคอีสาน ซึ่งสร้างความเสียหายต่อการเพราะปลูก และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจตามมา

7. ภัยหนาว เริ่มมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากว่าสภาพอากาศโลกเปลี่ยน ช่วงหลังๆ จึงมีคนตาย มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเพราะเพาะปลูกไม่ได้

8. อัคคีภัย ภัยจากไฟป่า

9. ภัยหมอกควัน

10. โรคระบาดในมนุษย์ เช่น เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา เกิดโรคไข้หวัดนกขึ้นหลายรุ่นด้วยกัน และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโรคภัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวังเพราะส่งผลกระทบต่อคนโดยตรง

11. ภัยจากโรคแมลง ศัตรูพืชระบาด

12. ภัยจากโรคระบาดในสัตว์น้ำ

เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่เราต้องรู้ไว้ จะได้รู้ว่าแล้วธุรกิจเรา หรือบ้านเรา หรือคนที่เรารู้จักนั้นมีความเสี่ยงต่อภัยเหล่านี้หรือไม่ จะได้เตรียมความพร้อม

นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนดูแลสายงาน Information Technology Services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนดูแลสายงาน Information Technology Services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย

ส่วนความเสี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากมนุษย์

1. ภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย บริเวณที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมปัจจุบัน หากเกิดการรั่วไหลก็จะส่งผลกระทบต่อคนในโรงงานและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ

2. ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นภัยใหม่ที่เกิดในคนไทย แม้ว่าจะจับต้องไม่ได้แต่สร้างผลกระทบเสียหายระดับสูง แม้ว่าท่านจะไม่ได้เป็นแฮกเกอร์เอง แต่ก็อาจถูกใช้เป็นฐานเพื่อไปแฮกคนอื่นได้ หรือถูกหลอกโอนเงิน หรือการถูกขโมยพาสเวิร์ดไป ซึ่งการขโมยนี้อาจไม่ได้เกิดจากคนที่เก่งเทคโนโลยี แต่เกิดจาดคนที่อัธยาศัยดีมาหลอกถามก็ได้

3. ภัยจากคมนาคมการขนส่ง เช่น อุบัติเหตุ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่เราจะจับจ้องดูตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ซึ่งเราก็คาดหวังให้มีจำนวนลดลงทุกปี

4. ภาวะฉุกเฉิน ภัยร้ายแรงต่อประเทศ ซึ่งอาจเกิดจากเหตุการณ์เล็กๆ เช่น แท่นจุดเจาะน้ำมันของอเมริกาที่อ่าวเม็กซิโกระเบิด กลายเป็นมหาภัยจากน้ำมันที่รั่วไหล ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ เศรษฐกิจ เพราะไม่มีใครเข้าใกล้ที่นั่นเลย ร้านค้าบ้านเรือนต้องปิดตัว ไม่สามารถอยู่ได้ ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากมนุษย์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นปีๆ

5. การแผ่กระจายของกัมมันตภาพรังสี

6. การชุมนุม การประท้วง และการก่อจลาจล ซึ่งบ้านเรามีค่อนข้างเยอะ

พิธีกร : เรียนถามอาจารย์ชวลิตว่า ทำไมน้ำถึงสร้างปัญหาให้กับประเทศไทยมาทุกยุคทุกสมัยไม่จบสิ้น เดี๋ยวแล้งเดี๋ยวท่วม

ชวลิต : มันเป็นเรื่องของธรรมชาติ สำหรับภัยพิบัติจากน้ำ เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ดังนั้นจึงเกิดสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรง ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาก็จะเกิดฝนมากๆ ครั้งหนึ่ง เกิดฝนน้อยครั้งหนึ่ง เป็นเพราะว่าสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน โดยคาดคะเนไว้ว่า อีก 90 ปีข้างหน้าโลกจะร้อนขึ้นอีก 2-4 องศาเซลเซียส นั่นก็คือ ปัจจุบันที่กรุงเทพฯ ร้อนสุดที่อุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 46 องศาเซลเซียส ซึ่งเราก็คงจะแย่

ส่วนที่ 2 ก็มาจากระดับน้ำทะเล เกิดจากหิมะหรือน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น เมื่อละลายแล้วก็จะกลับไปแข็งเหมือนเดิมได้น้อยลง จึงทำให้ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นอีก 20-30 เซนติเมตรในอีก 90 ปี เพราะฉะนั้น ลูกหลานของเราจะสร้างอะไรริมทะเลก็ควรจะยกสูงขึ้นอีก 60 เซนติเมตร เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีอิทธิพลเข้ามายังลำน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำท่าจีนด้วย ดังนั้น สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่อยู่ริมลำน้ำเหล่านี้ ตั้งแต่ปากน้ำจนถึงปทุมธานีในลำน้ำเจ้าพระยาและลำน้ำท่าจีนก็จะขึ้นไปถึงบางเลน ลำน้ำแม่กลองก็จะขึ้นไปถึงท่าม่วง

ทั้งหมดนี้เกิดจากธรรมชาติที่ในอนาคตเราต้องเจอภาวะน้ำขึ้นสูง ที่น่าเป็นห่วงคือ จากการวิเคราะห์ของหลายที่ พบว่าวงจรการเกิดภัยธรรมชาติเริ่มถี่มากขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะโลกร้อน จาก 10-15 ปี เหลือเพียง 4-6 ปี เท่านั้นเอง ดังนั้นเราต้องเริ่มทำสิ่งป้องกันความรุนแรงต่างๆ แล้ว เช่น น้ำท่วมที่ผ่านมารุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี แต่ไม่ใช่อีก 100 ปี แล้วจะเกิดซ้ำเพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

เรื่องน้ำมากน้ำน้อยขึ้นอยู่กับธรรมชาติ เช่น ปริมาณน้ำฝนตั้งแต่วันที่ 15-27 กันยายน 2555 ที่ผ่านมาฝนตกมากใน กทม. ซึ่งต้องยอมรับว่าใน กทม. มีบ้านเยอะ มีการพัฒนาเยอะ เกณฑ์ที่ใช้ระบายน้ำคือ ถ้าฝนตก 50 มิลลิเมตร ใช้เวลาระบายน้ำ 3 ชั่วโมง ถ้าตก 100 มิลลิเมตร ใช้เวลาระบายน้ำ 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นก็เป็นปกติครับ เวลาฝนตกมาขนาด 60 มิลลิเมตร ก็จะทำให้ระบายน้ำไม่ทันในบางพื้นที่

 ดร.ชวลิต จันทรรัตน์
ดร.ชวลิต จันทรรัตน์

โดยเฉพาะที่ลุ่ม เช่น แถวสามเหลี่ยมดินแดง รามคำแหง ศรีนครินทร์ เพราะฉะนั้น ในพื้นที่นั้นก็ต้องยอมรับว่าใช้เวลาระบายน้ำ 3 ชั่วโมง เช่นเดียวกับการระบายรถยนต์ ก็ประมาณ 3-5 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าฝนตก 60 มิลลิเมตร รถจะติด 3 ชั่วโมง เราต้องยอมรับ

ส่วนที่ 3 คือ บ้านเมืองจะต้องเจริญเติบโต เราสร้างอาคาร สร้างอะไรเยอะแยะ ทรัพย์สินเราก็มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นจึงเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น สมัยก่อนสร้างบ้านอาจราคา 3-5 แสนบาท แต่บ้านในปัจจุบันราคาเป็นล้านบาท ดังนั้นความเสียหายจึงเพิ่มเป็น 10 เท่าจากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

สาเหตุการเกิดน้ำท่วม เช่น

1. คลองตื้นเขิน ทำให้การกักเก็บน้ำนอกแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น และปริมาณฝนก็มากขึ้นด้วย ในแต่ละพื้นที่ก็มีปริมาณฝนต่างกัน เช่น สาทรตก 100 มิลลิเมตร ที่คลองเตยตก 50 มิลลิเมตร เป็นต้น ซึ่งความแตกต่างนี้ก็เพราะภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ การพัฒนาของไทยอย่างการผังเมืองก็ไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ เช่น พื้นที่หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง ตามผังเมืองซึ่งประกาศตั้งแต่ 7 ปีที่แล้วคือพื้นที่สีขาวคาดเขียว หมายความว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเท่านั้น สิ่งก่อสร้างต้องเป็นแบบที่สามารถรับน้ำผ่านได้หรือทางน้ำผ่าน แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วครับ หายหมด กลายเป็นอาคารสูง ยกถนน มีโรงงาน ตั้งนิคมอุตสาหกรรม สนามบินหนองงูเห่าในพื้นที่ ทำให้ทางน้ำผ่านมีจำนวนลดลง

2. การสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ

3. สิ่งก่อสร้างมีราคาแพงขึ้นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกเสียหายมากขึ้น ดังนั้น การคิดค่าธรรมเนียมประกันภัยต่างๆ จึงสูงขึ้น

พิธีกร : ปีนี้เราหลุดพ้นช่วงกังวลใจว่าน้ำจะท่วมหรือไม่ได้หรือยังครับ

ชวลิต : ถ้าคนที่อยู่ในภาคเหนือและภาคกลางก็หมดไปแล้ว พายุสุดท้ายที่จะเข้าภาคกลางคือแกมีที่พัดมาจากทะเลจีนใต้ตรงสู่ กทม. แต่โชคดีที่หมดแรงที่กัมพูชาเสียก่อน ทำให้ความรุนแรงที่เกิดในกรุงเทพฯ น้อยลง คือ ฝนตกไม่ถึง 60 มิลลิเมตร ซึ่งผ่านไปแล้ว ที่เหลือคือภาคใต้ จากพายุพระพิรุณที่เกิดแถวๆ ฟิลิปปินส์กับไต้หวัน จังหวัดที่จะโดนน่าจะเป็นชุมพร ตอนนี้พายุแรง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นใต้ฝุ่นแล้ว บริเวณตะวันออกของฟิลิปปินส์ ทิศทางยังไม่แน่นอน จากที่อยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ถูกความหนาวจากจีนกดลงมาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ การเดินทางก็คงจะใช้เวลาถึงวันที่ 20

พิธีกร: ถามอาจารย์ทวิดาว่า จากทั้ง 18 ความเสี่ยงนี้ คนไทยพร้อมที่จะรับมือกับเรื่องเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน

ทวิดา : ปกติแล้วเวลาเรามองประเทศหนึ่งๆ เมื่อพูดถึงภัยพิบัติเราต้องมอง 3 สิ่งด้านการเตรียมความพร้อม คือ ความรู้ ข้อมูล และการเตรียม อย่างวันนี้ดีมากเลย เพราะมีข้อมูลความเสี่ยงมาให้เห็นว่าเป็น 18 ภัย ซึ่งจัดลำดับความเสี่ยงมาให้แล้ว แล้วข้อมูลนี้มันดียังไง โดยปกติข้อมูลความเสี่ยงเบื้องต้นจะมีโอกาสเกิดและผลกระทบที่จะเกิดเท่านั้น แต่ว่าในการคำนวณความเสี่ยง เราจะทบทวนเรื่องความล่อแหลมในพื้นที่ด้วย เพราะความเสี่ยงจะไม่มีผลหากเราไม่รู้ลักษณะของพื้นที่ เพราะฉะนั้น ข้อมูลต้องรู้ทั้งข้อมูลใหม่ๆ ที่เขาทำวิจัยและตรวจสอบให้เรา ซึ่งประชาชนอย่างเราอึ้งมากแล้วว่ามีคนใส่ใจ มีคนเอามาวางไว้ให้เราแล้ว

ขั้นต่อไปคือ แล้วแต่ละอันเป็นอย่างไร ความรู้ที่เราควรจะได้จากการจัดลำดับนี้คืออะไร มาตรการขั้นหนึ่งที่รัฐวางไว้ให้ช่วยอะไรเราได้บ้าง แล้วเราช่วยหรือเตรียมอะไร เรามีข้อมูลเรามีความรู้ เราต้องรู้ด้วยว่าทั้งความรู้ทั้งข้อมูลที่มีเราจะเตรียมอย่างไร ซึ่งความเข้าใจแบบนี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีสิทธิที่จะเตรียมและคิด และลดความตระหนกได้ ในแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเสี่ยงต่างกัน เพราะฉะนั้น การเตรียมจึงไม่ใช่การเตรียมคนเดียวของภาคประชาชน รัฐบาลก็เหมือนกันด้วย เมื่อประชาชนมีความรู้ มีข้อมูล และเตรียมตัวแล้ว จะพร้อมแค่ไหนไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ประชาชนเท่านั้น เวลาเกิดภัยขึ้นมา ประชาชนโดนคนแรก ถ้าประชาชนรวมตัวกันชุมชนเข้มแข็ง แปลว่าเขาใส่ใจเพื่อนบ้าน ชุมชนกลายเป็นหัวใจสำคัญ

ดร.ชวลิต (ซ้าย) ดร.ทวิดา (กลาง) และนายมนตรี
ดร.ชวลิต จันทรรัตน์ (ซ้ายสุด) ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช (กลาง) และนายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์

ภัยหรือภาวะฉุกเฉินจะเกิดในขอบเขตที่จำกัดแล้วรู้ก่อนล่วงหน้า เช่น พายุ เราก็สามารถเตรียมการได้ แต่ประชาชนเตรียมเองได้ไม่หมด ภาครัฐก็ต้องเตรียมบางอย่างให้ด้วย เช่น ข้อมูลต้องไปในทิศทางเดียวกัน เพราะว่าเวลาเจอเรื่องพวกนี้มันเหมือนโซ่สองอันคล้องกันอยู่ ประชาชน ชุมชน เป็นส่วนที่ต้องเข้มแข็ง เพราะเขาต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินนั้นๆ เช่น ภัยชอบมาตอนกลางคืนขณะหลับ บางครั้งมาตรการที่วางไว้ใช้ได้ไม่เต็มที่ มันก็จะขยายผลเป็นภัยพิบัติในที่สุด นี่คือเหตุผลที่ชุมชนหรือท้องถิ่นต้องเป็นหัวใจในการจัดการ แต่เมื่อเขาขยายผลไปเรื่อยๆ มันต้องมีขอบเขต เพราะฉะนั้น โซ่ที่สองต้องงับมาพอดีกัน คือ รัฐเป็นหน่วยงานหลัก และหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือกัน ซักซ้อมกันให้เข้าใจ เตรียมความพร้อมร่วมกันในทุกๆ ส่วน และจะทำให้กระบวนการต่างๆ ดีขึ้น

พิธีกร : ในฐานะสื่อก็จะนำข้อมูลต่างๆ นี้เสนอสู่ประชาชนให้เข้าใจโดยง่ายและรวดเร็ว

ทวิดา : การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่สื่อมวลชนต้องปรับให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้โดยง่ายที่สุด เช่นเดียวกับหลักการเตือนภัยที่ต้องทำให้เข้าใจได้ว่าต้องทำอะไร แต่ถ้าหาช่องทางให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลได้ทั้งหมด เช่น บรรจุไว้ในแบบเรียนได้จะดีมาก เพราะว่าเรามีการเรียนรู้จากประสบการณ์ซึ่งดี แต่บางครั้งการเรียนรู้และขังตัวเองไว้กับประสบการณ์นั้นเท่านั้นอันนี้อันตรายมาก เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็พูดเองว่ามันไม่ได้อย่างนี้แล้วนะ เมื่อภัยมันเกิดขึ้นไม่แน่นอน เราก็ต้องมีความรู้ที่มากกว่าประสบการณ์

พิธีกร : แล้วทางกรมป้องกันภัยและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. มีหน้าที่อะไรบ้าง

มนตรี : ปภ. มีหน้าที่ในการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศไทยในภาพรวม แต่ว่าการทำงานของเราร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ประชาชนที่เป็นรากแก้ว มูลนิธิที่เป็นภาคเอกชน และหน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นทางกองทัพไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยทำงานอย่างบูรณาการภายใต้กรอบที่เป็นแผนที่เราร่วมกัน ตรงนี้เป็นหัวใจ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะมาทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เหตุการณ์จริงก็เป็นเครื่องพิสูจน์ส่วนหนึ่งว่าผลงานการบูรณาการเป็นอย่างไร และผลออกมาแล้ว ผมเองเข้าใจว่าประชาชนตั้งความคาดหวังในการให้บริการของ ปภ. สูง

เราไปถอดบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ในปีที่ผ่านมา เราก็หันมาดูระบบของเราว่าจะต้องมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ที่ผ่านมาก็สำเร็จไปส่วนหนึ่ง สำเร็จน้อยส่วนหนึ่ง เราก็จะมาดูกัน และจัดระบบว่าจะมีการพัฒนาไปสู่สากลได้อย่างไร ตรงนี้เป็นความท้าทายที่เราเป็นหน่วยงานกลางที่รับหน้าที่มาตามกฎหมาย และที่สำคัญที่สุด พี่น้องประชาชนเอง ที่เป็นลูกค้าของระบบบูรณาการของเรา ก็ควรจะรู้หน้าที่ของตัวเอง ว่าตัวเองจะมีหน้าที่ปกป้องตัวเองได้อย่างไร จะมีหน้าที่ช่วยชุมชนข้างเคียงได้อย่างไร และรู้วิธีเอาตัวรอดก่อนแล้วค่อยไปช่วยคนอื่น พอรู้หน้าที่แล้วเราค่อยมาดูสิทธิของเราว่าสิทธิที่เราพึงมีพึงได้เป็นอย่างไร เราจะช่วยภาครัฐอย่างไร ให้ความร่วมมืออย่างไร หรือเราจะนำทรัพยากรที่มีอยู่ในบ้านเราไปบริจาคช่วยชุมชนที่ประสบภัยได้อย่างไร ตรงนี้เราต้องคิดเอาไว้ โดยภาครัฐเองจะเป็นผู้ช่วย คอยสนับสนุน คอยส่งเสริม จัดระบบ

ตอนนี้ ปภ.เองได้สร้างชุมชนเข้มแข็งขึ้นมากว่า 10 ปีแล้วตั้งแต่ตั้งกรมมา เราสร้างชุมชนเข้ามาเกือบ 7,000 ชุมชน ที่เราจะสามารถให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้ และเราจัดระบบให้หน่วยงานเครือข่ายมาร่วมปฏิบัติงานกับเรา และในเคสที่ประเทศเราเจอภัยใหญ่ๆ ประเทศเพื่อนบ้านหรือโลกภายนอกจะเขาจะต้องมาช่วยประเทศเรา เราจะต้องเปิดช่องให้เขามาช่วยเราได้

ตามที่วิทยากรทั้ง 3 ท่านพูดเรื่องภัยความเสี่ยงต่างๆ นั้น เราจะต้องรู้ว่าคู่ต่อสู้ของเราเขาจะมาถี่มาแรงขนาดไหน เราจะเตรียมทรัพยากรในเชิงเตรียมความพร้อม ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลว่าเราจะต้องปรับตัว เตรียมความพร้อมที่จะต่อสู้กับสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทุกประเทศได้ให้ความสำคัญ และรัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปี 2554 ที่ผ่านมาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการบูรณาการกัน ลดความเสี่ยงตรงนี้ให้ได้ จัดวิธีการ ดำเนินการ แต่ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า การเตรียมความพร้อมนั้น ในเรื่องการป้องกันอยากให้มีน้ำหนักเรื่องการใช้ทรัพยากรมาป้องกันให้มากขึ้น จะดีกว่าเวลาเกิดภัยขึ้นแล้วเราเข้าไปแก้ฟื้นฟู ความสูญเสียตรงนี้ถ้าเรามีการป้องกันที่ดีเราจะมีเงินเหลือไปพัฒนาประเทศเราในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม ตรงนี้เป็นหลักการและวิธีการที่ ปภ. จะต้องดำเนินการ

นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์
นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์

พิธีกร : ทาง ปภ. มีปัญหาอะไรในการเตรียมความพร้อมในการทำงาน เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาล รวมไปถึงการดำเนินการติดต่อกับหลายหน่วยงานในหลายภาคส่วน

มนตรี : ในเรื่องของปัญหาของหน่วยงานภาครัฐจะมีคล้ายๆ กัน คือ ทรัพยากร โดยเฉพาะเม็ดเงินที่ได้รับมาอาจจะมีข้อจำกัด แต่ว่าวิกฤติก็เป็นโอกาสเช่นเดียวกัน เพราะ ปภ. เองก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล จากคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ก็ได้รับงบประมาณมากขึ้นในการเตรียมยานพาหนะที่จะมาใช้ในวิกฤติ นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีในการใช้ต่อสู้กับภัยพิบัติ อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ เราจะมีการเตรียมคน เตรียมอาสาสมัคร เพราะเมื่อช่วงวิกฤติจะต้องมีกำลังสำรองมาสนับสนุน เช่น การขับเรือ การรับส่งอาหาร อะไรต่างๆ ที่จะมาช่วยพี่น้อง คือต้องมีเครื่องมือ มีคน มีวิธีการที่ได้มาตรฐานสากล และต้องมีเทคโนโลยี เรื่องที่สำคัญคือสื่อจะต้องมาช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลกับประชาชน

พิธีกร : ในภาคครัวเรือน เราควรจะมีการเตรียมความพร้อมในการรับมืออย่างไร

ชวลิต : เริ่มจากภาครัฐก่อน โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลข่าวสารที่รัฐจะต้องให้ประชาชน รวมไปถึงเรื่องภาษา การสื่อสารที่ใช้ต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย ส่วนเรื่องการพยากรณ์นั้น ที่เรามีการติดตามเรื่อง “พายุแกมี” (เข้าประเทศไทยวันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2555) ที่เราติดตามอยู่และได้ผ่านพ้นไปแล้ว “พายุพระพิรุณ” ที่จะมีโอกาสไปที่ไต้หวันหรือว่าจะมาที่บ้านเรา เป็นอีกเรื่องที่เราจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการที่จะคาดการณ์ในอนาคตให้ดียิ่งขึ้น นั่นเป็นเรื่องแรกที่รัฐบาลพัฒนา

เป็นส่วนที่ดีที่รัฐบาลกำลังปรับปรุงระบบไอทีโดยใช้งบประมาณ 7,000 ล้านบาท และนำข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเอามาวิเคราะห์วิจัยและคาดการณ์ในอนาคต นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำเพื่อให้มีความพร้อมเรื่องการเตือนภัยประชาชนให้เป็นไปด้วยความแม่นยำมากยิ่งขึ้น คิดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า เงินจำนวน 7,000 ล้านบาทจะทำให้เรามีข้อมูลด้านไอที และการคาดการณ์ต่างๆ แม่นยำมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของประชาชนเอง ก็มีเรื่องการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ว่าภัยที่จะมาถึงจะเป็นในลักษณะอย่างไรบ้าง ในส่วนน้ำ ยังดีที่เรามีการพัฒนาเทคโนโลยีในการที่จะมีการทำนายทายทักต่างๆ ได้ ปัจจุบันการคาดการณ์ในระยะ 3 วัน จะได้ผลที่ใกล้เคียงความจริงมาก ถ้า 7 วัน จะห่างออกไป อย่างพระพิรุณ 10 วัน ห่างออกไปนั้นจะมีความแม่นยำน้อยลงไปอีก แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออย่างนี้ครับ เช่น พระพิรุณเองก็ยังมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปยังตะวันตกเฉียงเหนือ อาจจะยังไปที่ไต้หวันอยู่ เพราะฉะนั้น วันที่ 6-7 ทิศทางเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าเดินหน้าไปถึงวันที่ 10-12 ถ้าจะเป็นน้ำ 1 โถ มาตั้งอยู่ทางโต๊ะ คิดอยู่ว่าจะเดินไปทางไหนและจะเทไปทางไหนบ้าง ถ้ามีแผ่นดินให้เทลงน้ำก็จะค่อยพร่องไปแก้วสองแก้ว แต่ถ้าไม่มีทั้งโถอาจจะอยู่ที่จังหวัดชุมพรทั้งหมดก็เป็นได้ นี่เป็นส่วนทีดีที่เราสามารถคาดการณ์ได้

สิ่งที่อยากจะบอกเมื่อสักครู่ (เช้าวันที่ 10 ตุลาคม 2555) ว่ามีแผ่นดินไหวที่ทะเลแถวทางตอนใต้ของประเทศไทย แต่ห่างออกไปประมาณ 1,000 กิโลเมตร อันนี้คงมีผลมาไม่ถึง อันนี้เป็นรายงาน แต่ถ้าไหวแล้วถึงรู้มันเตรียมรับมือไม่ได้ มาตราส่วน 4.6 ริกเตอร์ ก็ค่อนข้างอยู่ในเกณฑ์ที่แรง เพียงแต่ว่าอยู่ห่างจากประเทศไทย อันนี้เป็นส่วนที่เป็นภัยพิบัติอันหนึ่งที่น่าห่วง แต่เราพยากรณ์ไม่ได้ ทำให้รับมือลำบาก

ในส่วนการรับมือของภาครัฐ ในส่วนที่ต้องให้ข้อมูลในการวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและการเตือนภัย ที่เหลือเป็นระบบเรื่องการเตือนที่รัฐจะต้องมี คิดว่าในอนาคตที่ระบบเตือนภัยเป็นเอสเอ็มเอสเป็นโซนๆ คิดว่าเครือข่ายไหนก็ตามที่อยู่ที่นั่นหรือไปเที่ยวอาจจะมีการเตือนภัย

อีกอันที่ประชาชนเองต้องทำชุมชนให้แข็งแรงเพื่อเตรียมรับที่ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา สิ่งที่พวกเราทำให้เกิดความยุ่งยากลำบากกับทางราชการ เช่น ถ้าฝนตกหนักก็หยุด ไม่ออกจากบ้านเลย แต่เรื่องระยะยาวที่เห็นชัดคือ ในเรื่องของท่อระบายน้ำที่ยังปล่อยให้ขยะอยู่ในท่อ จะเห็นว่า ท่อที่ลอกแล้วมาลอกอีกครั้งหนึ่งใน 4-5 เดือน ก็ยังมีขยะอยู่ อีกอย่าง เรื่องไขมัน บ้านใครที่ปล่อยน้ำลงท่อสู่ท่อของเทศบาลโดยที่ไม่มีบ่อดักไขมัน อันนี้ช่วยหน่อยเถอะครับ เวลาไขมันไปรวมกับขยะมันจะเป็นก้อนๆ ไปดูกรมราชทัณฑ์เขาลอกท่อมีแต่พวกนี้เต็มไปหมด เชื่อไหม ในทุกๆ 2 ชั่วโมง รถหกล้อของ กทม. จะต้องมีขยะเต็มไปวิ่งออกจากโรงสูบน้ำสถานีพระรามเก้าเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง ถึงจะเอาขยะออกได้หมด แล้วนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่อระบายน้ำไหลไม่สะดวก การสูบน้ำยังทำได้ไม่เต็มสูบ เป็นส่วนหนึ่งที่เราต้องช่วยกัน

พิธีกร : ภาคเอกชนควรมีแผนการรับมือการจัดการภัยพิบัติอย่างไรเพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง

วิไลพร : การเตรียมความพร้อม หรือที่เรียกว่าแผนฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ ในแผนจะบอก หนึ่ง เรื่องการติดต่อสื่อสารพนักงานทุกคนให้เร็วที่สุดอย่างไร เช่น การส่งเอสเอ็มเอส ซึ่งพวกเราชอบใช้ สมมติว่าพนักงาน 3,000 คน เอสเอ็มเอสต้องมีเบอร์มือถือที่อัพเดทหมดทุกคน เคยเจอเคสในหนึ่งองค์กรมี 3 เชื้อชาติ หลายภาษา ผู้บริหารเป็นญี่ป่น ระดับกลางจะเป็นฝรั่ง ข้างล่างจะเป็นคนไทย และวันหนึ่งมีการถกกันว่าเราจะส่งภาษาอะไร เหล่านี้ในแผนก็ต้องมีการเขียนให้ชัดเจนว่าจะส่งอย่างไร และเมื่อก่อนนี้จะส่งเป็นวันเวย์ว่าวันนี้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ทำงานที่บ้าน ในช่วงหลังเริ่มเป็นการสื่อสารสองทาง เช่น ส่งปุ๊บ ช่วยตอบกลับด้วยว่าท่านยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ สอง ต้องการความช่วยเหลืออะไรไหม ในกรณีที่เป็นภัยบางประเภทที่ต้องการให้พนักงานตอบกลับ จะได้ทราบว่าพนักงานเรา 3,000 คน มีชีวิตอยู่กี่คน จุดไหนที่ต้องการให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

 นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง  หุ้นส่วนดูแลสายงาน Information Technology Services  บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด (ซ้าย) และ นายคงกระพัน แสงสุริยะ พิธีกรรายการเรื่องจริงผ่านจอ
นางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนดูแลสายงาน Information Technology Services บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส ประเทศไทย จำกัด (ซ้าย) และ นายคงกระพัน แสงสุริยะ พิธีกรรายการเรื่องจริงผ่านจอ

อย่างระดับประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ ตอนที่กระจายข่าวว่าสึนามิมาแล้วให้รับมือนี่ต้องใช้หลายสื่อมาก เพราะทุกคนไม่มีสมาร์ทโฟน ทุกคนไม่ได้มีมือถือ บางบ้านไม่มีแม้กระทั่งโทรทัศน์ และระบบเสียงตามสาย ต้องเรียนว่ามันดัง แต่คนไม่ได้ยิน เพราะระหว่างที่เกิดภัยพิบัติจะมีเสียงรบกวนเยอะมาก

ดังนั้น ต่อไปเริ่มมีการดีไซน์ให้ชัดเจนขึ้นตามอายุเลยว่า อายุระดับ 10-20 ใช้ทางเฟซบุ๊กอาจจะเร็วกว่า อายุ 20-30 เป็นระบบมือถือ ส่วนคนแก่ที่ไม่มีมือถือไม่มีสมาร์ทโฟน บางครั้งใช้สถานีโทรทัศน์กับรายการวิทยุ บางครั้งการดีไซน์การสื่อสารในองค์กรเราต้องดูว่าเรามีกลุ่มคนอายุเท่าไหร่

สอง ถ้าพนักงานต้องการข้อมูล หรือต้องการความช่วยเหลือ จะต้องโทรมาที่ไหน เป็นเซ็นเตอร์ของบริษัทขึ้นมา สาม ในเรื่องของย้ายไม่ย้าย เช่นเดียวกับบ้านเรา องค์กรก็เช่นกัน เช่น หาที่สำรอง ถ้าเรามีโรงงานผลิตเราจะไปผลิตที่ไหน หรือพนักงานจะไปทำงานที่ไหน อาจจะทำงานที่บ้านได้ เพราะระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย พนักงานบางคนอาจจะยังไม่ต้องทำก็ได้ ให้รอเรียกเพื่อมาทำหน้าที่ หรือบางคนอาจจะให้ไปทำงานที่สำรอง เพื่อใช้เกิดความชัดเจนต้องเขียนแผนไว้ว่าจะไปที่ไหนและไปอย่างไร จะได้ไม่เกิดความสับสน จะได้ส่งในเมสเสจเลยว่าใครทำหน้าที่ไหน อย่างไร การทำแผนฉุกเฉินสามารถทำได้ทุกขนาด ทั้งบริษัทใหญ่ กลาง เล็ก หรือแม้กระทั่งบ้านก็อาจจะต้องมีแผนฉุกเฉิน

พิธีกร : สมมุติเป็นเรื่องของการสื่อสาร เช่น การส่งเอสเอ็มเอส ถ้ามีการเกิดแผ่นดินไหว เสาสัญญาณทุกอย่างพังหมดแล้วจะทำอย่างไร

วิไลพร : ตรงนี้เราเคยวิเคราะห์เหมือนกัน และเกิดขึ้นจริงๆ ในเคสน้ำท่วม ตอนนั้นน้ำท่วมภาคใต้ และน้ำท่วมไฟดับ มือถือใช้ไม่ได้ อันที่หนึ่ง คือ ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ใช้สื่อมวลชนช่วยในการกระจายข่าว หรือสอง แฟ็กซ์ โทรศัพท์บ้าน ยังใช้ได้หรือไม่ และสาม ใช้วิธีการบอกต่อ ซึ่งต้องเรียนว่าความไวอาจจะไม่เท่า แต่ตรงนั้นเป็นแผนฉุกเฉินที่เราคิดไว้ก่อนแล้ว

ในแผนฉุกเฉินต้องมีอะไรบ้างนั้น คือ แผนฉุกเฉินต้องสั้นกระชับ ในแผนจะต้องมีประมาณ 3 ส่วน เป็นหลัก 1. บริหารคนอย่างไร บริหารชื่อเสียงอย่างไร เพราะลูกค้าอาจจะอยากทราบว่าเราจะยังสามารถผลิตสินค้าได้หรือไม่ 2. ในเรื่องของตึกองค์กร และระบบงาน ในแผนแบ่งเป็น หนึ่ง ระหว่างเหตุการณ์วิกฤติต้องทำอย่างไร สอง พอเหตุการณ์เริ่มดีขึ้นจะทำอย่างไร และสาม เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติต้องทำอย่างไรในระยะยาว เปรียบเทียบตอนน้ำท่วม

พิธีกร : ยกตัวอย่างประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องนี้มากๆ

วิไลพร : จากการทำการศึกษาพบว่า ประเทศที่น้ำท่วมบ่อยคืออังกฤษ เพราะฝนตกเยอะ ด้วยภูมิประเทศเป็นเกาะ ระบบที่อังกฤษพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีกรอบปฏิบัติว่าถ้าน้ำท่วมทำอย่างไร และการทำงานภาครัฐนั้นต้องเป็นทุกภาคส่วนที่จะต้องประสานกัน ถ้าไม่ประสานกันก็จะส่งผล

ส่วนข้อมูลสำหรับพวกเราจะเป็นเว็บไซต์ที่ทันสมัย เขาเอาแผนที่อังกฤษมากางเลยว่าพื้นที่ไหนน้ำกำลังจะมา พื้นที่นั้นๆ จะเตรียมความพร้อม รวมไปถึงคำแนะนำว่าอะไรที่ควรอยู่ในถุงยังชีพด้วย เช่น ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย ยา คำแนะนำค่อนข้างละเอียดและคนเอาไปใช้ได้ง่าย อ่านแล้วก็เข้าใจ

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช

อีกเคสหนึ่งเป็นเคสของอินโดนีเซีย ที่มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ และประสบปัญหาในการที่ให้ชาวบ้านย้ายแต่เขาไม่ยอมย้าย เพราะเกิดโตที่นั่น เป็นบ้านของปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่น้อง ผูกพันกับที่นั่นถึงขนาดยอมตาย ตอนนั้นต้องออกมาตรการเยอะมาก ว่าทำอย่างไรให้ย้าย เราก็ใช้เทคนิค เช่น การสื่อสารผ่านละครวิทยุ เพื่อให้ซึมเข้าไปในละคร ใช้เวลาเพียงพอที่ชาวบ้านเห็นถึงความจำเป็น ถ้าไม่ย้ายจะเป็นอย่างไร

พิธีกร : คนไทยถ้ามีภาวะแบบนี้ เราควรจะดีไซน์การวางแผนอย่างไรให้เข้ากับสังคมไทย ในการเตรียมความพร้อมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ทวิดา : ปกติการจัดการภัยพิบัติจะมี 3 เสา คือ เสาแรก จะเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าพื้นฐาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างอาคาร ความแข็งแรง หรือแม้กระทั่งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำรอง ระบบการสื่อสารสำรอง เสาที่สองเป็นเรื่องของความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานทั้งของรัฐและชุมชน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของกฎหมายและระเบียบการประสานงานรูปแบบการทำงาน ความเป็นมืออาชีพ ฝึกซ้อมกันมากแค่ไหน คุยกันมากแค่ไหน เสาสุดท้ายสำคัญมาก และเป็นตัวการทำให้คัมภีร์การจัดการภัยพิบัติสามารถใช้ลักษณะเดียวกันได้ทุกประเภท คือ วัฒนธรรมของสังคมและประเทศนั้นๆ เอง สามเสานี้มีผลอย่างยิ่งต่อการจัดการ

เช่น อย่างสังคมไทย ศูนย์อพยพเต็มรูปแบบ ฝรั่งก็ทำ ศูนย์อพยพเป็นอย่างไร ได้มาตรฐานไหม ขาดอะไรหรือเปล่า คำตอบคือได้มาตรฐาน เพราะเราตั้งตามคู่มือฝรั่ง แต่ถามว่าขาดเหลืออะไรนี่ตอบยาก ฝรั่งถามทำไมล่ะ คนของเรายังไม่ไป เลยยังไม่รู้ว่าขาดอะไร (หัวเราะ) เพราะเรายังอยู่บ้านเรา หรือเราอยู่ที่พักพิงชั่วคราว คือไปรวมกันอยู่ที่ใดที่หนึ่งแต่ขอให้เห็นหลังคาบ้าน อันนี้มันเป็นความผูกพัน วัฒนธรรมที่ไม่ละทิ้งถิ่นฐานที่คนไทยยึดมั่นมาก เพราะฉะนั้น ระหว่างทางเราจะต้องมีการปรับมาตรการให้เข้ากับเงื่อนไขของเราไปด้วย ถ้าผู้ที่เดือดร้อนน้อยเราได้ แล้วสื่อสารกันให้ดีกับผู้ที่เดือดร้อนมาก ให้ภาครัฐได้โอกาสช่วยผู้ที่เดือดร้อนมากก่อน ระบบมันจะทำงานได้เร็วกว่าการที่มาให้ความช่วยเหลือกับผู้ที่เดือดร้อนน้อยก่อนคนที่เดือดร้อนมาก ก็หมดเวลาเสียแล้ว เราภาคประชาชนก็ต้องปรับ วัฒนธรรมการทำงานของภาครัฐก็ต้องเปลี่ยน พอเกิดขึ้นทั้งหมดมันจะผสมกันออกมาแล้วดีขึ้น

พิธีกร : ในการสื่อสารท่ามกลางวิกฤติ ประชาชนควรจะเลือกรับฟังและเลือกเชื่อตรงไหนดี

ทวิดา : มีคนวิเคราะห์ความเสี่ยงที่ดีที่สุดว่า เอาอยู่ (หัวเราะ) อีกค่ายหนึ่ง วิเคราะห์สถานการณ์เลวร้ายที่สุดคือ 2 เมตร ทีนี้ถามว่าเราเป็นประชาชน วันนี้เรามีความรู้แล้ว มันสามารถทำแผนเป็นแผนหนึ่งหรือแผนสองได้ เอาสถานการณ์แต่ละสถานการณ์มาลองจำลองดูว่าถ้าน้ำแค่นี้เกิดอะไร น้ำแค่นี้เกิดอะไร ก็ต้องทำแผนรับ รับเป็นภาคประชาชนก็ต้องรับ อย่างดิฉันบ้านอยู่ทางใต้ ถ้าบ้านที่อยู่ทางเหนือดิฉันต้องเตรียมขนของแล้ว

ถ้าถามว่าเราต้องเลือกฟังใคร จริงๆ เราชอบว่าภาครัฐว่าเวลาเกิดเรื่องทีไรเว็บรัฐล่ม ว่าภาครัฐตลอด แต่เรามามองอีกข้างหนึ่ง ทำไมเว็บรัฐถึงล่ม แสดงว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่เวลาเกิดเรื่องวิ่งข่าวหาเว็บของหน่วยงานรัฐก่อน เพราะพร้อมที่จะเชื่อ ดังนั้น การแก้ไม่ใช่การบังคับให้สื่อไม่พูด การแก้เป็นช่องทางหนึ่งที่ให้ข้อมูลได้ตลอดเวลาคือเว็บไม่ล่ม เพราะฉะนั้นอาจใช้คราวน์เนตเวิร์กหรืออะไรก็ตามที่เขามีไอพีที่ใหญ่ นี่คือสะท้อนว่าภาคประชาชนพร้อมที่จะรับข้อมูลในลักษณะนี้ คือรัฐต้องเป็นฝ่ายให้เรื่อยๆ อัพเดทเรื่อยๆ ในการจัดการภัยพิบัติ ผู้ที่เป็นผู้บริหารจัดการเขาจะมีหมดเลย คือ หนึ่ง การทำงานกับสื่อ เพราะสื่อมีความเร็วที่สุดในโลก เมื่อเร็ว เราจึงควรใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ ทุกๆ หนึ่งชั่วโมงควรมีการบอกความคืบหน้าสัก 10 เปอร์เซ็นต์ของครั้งที่แล้ว แล้วจะทำให้เอกภาพของข้อมูลเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด

ในขณะเดียวกัน บังเอิญรู้ว่ามีการรวมระเบียบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์โดย กสทช. ในกรณีที่ถ่ายทอดรายการอะไรอยู่ วิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เข้าถึงประชาชนได้ง่าย ต่อไปนี้จะต้องมีการออกข่าว ข้อความถูกออกแบบมาให้ออกมาจากแหล่งๆ เดียวของภาครัฐ เป็นการบังคับให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน เริ่มจากการแก้ประสานงานของข้อมูลลำบากมากนัก คลุมข้อมูลให้เป็นเซตเดียว การออกแบบข้อมูลจะต้องเพื่อไปถึงบุคคลพิเศษที่ไม่สามารถมองเห็น ได้ยิน หรือไม่สามารถประมวลผลได้รวดเร็ว จะต้องมีเชิงสัญลักษณ์อื่นออกมาแทน ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเรื่องช่องทางการสื่อสารกับประชาชนได้

ชวลิต : ถ้าระบบมีความน่าเชื่อถือ ทุกอย่างจะเป็นไปตามที่รัฐบาลได้วางแผนไว้ หนึ่ง ปภ.จะเป็นผู้ตัดสินใจในการประกาศเตือนภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้กรมประชาสัมพันธ์ ถ้าข้อมูลมีความน่าเชื่อถือคนจะฟังและปฏิบัติตามแน่นอน ที่ผ่านมาปีที่แล้วมีความสับสนในเรื่องของข้อมูล ฝั่งนั้นออกมาอย่างนั้น ฝั่งนี้ออกมาอย่างนี้ และนักวิชาการอย่างผมก็ออกมาอีกอย่างหนึ่ง อันนี้เลยทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากนักวิชาการเวลาทำงานเรามีข้อมูลและสมมติฐาน อะไรที่มีข้อมูลเราใช้ข้อมูลหมดเลย แต่เมื่อข้อมูลมีไม่เพียงพอเราต้องใช้สมมติฐาน ผมถึงบอกว่าในส่วนของรัฐ งบประมาณที่มีไว้ 7,000 ล้าน เรื่องไอที หวังว่าในอนาคตข้อมูลจะมีมากขึ้นๆ จนกระทั่งนักวิชาการจะได้มีข้อมูลพื้นฐานที่ดี ใช้สมมุติฐานน้อยๆ และการวิเคราะห์ที่ออกมาให้ประชาชนจะได้แม่นยำ และเป็นที่น่าเชื่อถือ เชื่อในแหล่งเดียว และตามมาตรฐานของรัฐมีแหล่งเดียวอยู่แล้วคือกรมประชาสัมพันธ์

ประเด็นสำคัญอันหนึ่ง ราชการต้องทำระบบป้องกันใน กทม. ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา ในอนาคตจะต้องมีคลองระบายน้ำ ดังนั้น ใครที่ถูกเวนคืนต้องรับภาระไปบ้าง อาจจะต้องมีคลองระบายน้ำจากอยุธยาลงสู่ทะเล จากอ่างทองลงสู่ทะเล จากชัยนาทลงสู่ทะเล อันนั้นเป็นแผนงานที่รัฐเตรียมไว้ โดยใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ที่จะเคลียร์

พิธีกร : ปภ. มีแผนการการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติในอนาคตอย่างไร

มนตรี : นโยบายของรัฐบาลที่ได้สั่งการให้ ปภ. ดำเนินการต่างๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน จะต้องนำผังเมืองมานำการพัฒนา ในอดีตที่ผ่านมาก็ผ่านมา แต่เรามองไปข้างหน้า ส่วนหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะมาทำงานร่วมกัน และส่วนที่สามจะต้องมีระบบซิงเกิลคอมมานด์ อย่างเมื่อวันศุกร์ (5ต.ค.) ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่าพายุจะเข้าแล้วนะ ให้ตั้งกองบัญชาการขึ้นมา ปภ. ก็รับนโยบายมาดำเนินการ ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยก็เป็นประธานการประชุมทุกวันตั้งแต่เช้าวันเสาร์จนกระทั่งเช้าวันนี้ เข้าใจว่ามีการแถลงข่าวและมีการพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มารับทราบสถานการณ์ความเสี่ยงภัย ทรัพยากรต่างๆ ที่เป็นเส้นทางที่พายุผ่าน จะทำกันอย่างไรพร้อมไหม ต้องการอะไรเพิ่มไหม ที่จะให้ ปภ. หรือเหล่าทัพสนับสนุน เสร็จแล้วต้องให้ข้อมูลกับ ปภ. ตลอดเวลา เป็นการสื่อสารร่วมกันสองทาง และอยากให้ประชาชนมีการสะท้อนการให้บริการของเราด้วย ว่าทั่วถึงพอเพียงมีคุณภาพพอหรือไม่อย่างไร

อีกส่วน ทางรัฐบาลกำลังดำเนินการคือเรื่องระบบการเตือนภัย ที่เราจะต้องนำข้อมูลที่เราได้วิเคราะห์สถานการณ์ลงไปสู่ปลายทางให้ได้ มองว่าความทันสมัยก็เป็นส่วนจำเป็นอย่างหนึ่งสำหรับชุมชน เพียงแต่ว่าชุมชนที่อยู่ห่างไกลจะต้องผสมผสาน อาจจะใช้สัญญาณธงแบบที่เทศบาลนครหาดใหญ่ใช้ หรือเสียงกลอง เสียงอะไรอื่นๆ ที่จะมาเสริมนอกจากระบบเอสเอ็มเอส วิทยุ หรือโทรทัศน์ ตรงนี้ก็จะเป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเดินและตอบสนองให้รวดเร็วทำงานแข่งกับเวลา

หมายเหตุ: สถิติภัยพิบัติของไทยย้อนหลัง 10 ปี

ป้ายคำ :