ThaiPublica > คอลัมน์ > สถานการณ์เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ทั่วโลกจาก “รายงานยาเสพติดโลก 2019”

สถานการณ์เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) ทั่วโลกจาก “รายงานยาเสพติดโลก 2019”

30 มิถุนายน 2019


ณัฐเมธี สัยเวช

รายงานยาเสพติดโลก 2019 (World Drug Report 2019) เป็นรายงานสถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับยาเสพติดทั่วโลกฉบับล่าสุดที่สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime — UNODC) จัดทำขึ้น โดยรายงานฉบับล่าสุดนี้นั้นมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของเมทแอมเฟตามีน (methamphetamine หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันในชื่อยาบ้า) จากทั่วโลก ดังนี้

ในบรรดาสารกระตุ้นประเภทแอมเฟตามีน (amphetamine-type stimulant — ATS) เมทแอมเฟตามีนยังคงเป็น ATS ที่มีการผลิตมากที่สุด โดยดูได้จากการที่รัฐสมาชิกของ UNODC รายงานว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2013-2017 มีการรื้อถอนห้องทดลองที่ใช้ลักลอบผลิต ATS ไปประมาณ 36,600 แห่ง ซึ่งประมาณ 96 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดังกล่าวนั้นเป็นห้องทดลองสำหรับผลิตเมทแอมเฟตามีน, ผลิตแอมเฟตามีน 2 เปอร์เซ็นต์ และผลิตยาอี (ecstacy) 1 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ จำนวนการจับกุมเมทแอมเฟตามีนยังเพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งหลังของยุค ค.ศ. 1990 จนถึง ค.ศ. 2001 เป็นอย่างมากด้วย โดยจำนวนครั้งของการจับกุมเมทแอมเฟตามีนได้เพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าในช่วงปี ค.ศ. 2009-2017 ในขณะที่ยาอีและแอมเฟตามีนเพิ่มขึ้นเพียงสองเท่า ยิ่งไปกว่านั้น ในหมู่ ATS ด้วยกันนี้ เมทแอมเฟตามีนยังเป็น ATS ที่ถูกจับกุมได้ในปริมาณสูงสุดในช่วงปี ค.ศ. 2013-2017 คือคิดเป็น 66 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณ ATS ที่จับกุมกันทั่วโลก

ในด้านของแหล่งผลิตใหญ่ โดยวัดจากจำนวนของห้องทดลองที่ลักลอบใช้ผลิตเมทแอมเฟตามีนกันอย่างลับๆ รัฐสมาชิกของ UNODC รายงานว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2013-2017 มีห้องทดลองในลักษณะดังกล่าวถูกรื้อถอนไปประมาณ 35,000 แห่งใน 31 ประเทศ โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของห้องทดลองที่ถูกปิดไปดังกล่าวนั้นอยู่ในอเมริกาเหนือ ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ตามมาด้วยเม็กซิโกและแคนาดา

รายงานระบุว่า ในช่วงปี ค.ศ. 2010-2017 จำนวนห้องทดลองที่ใช้ลักลอบผลิตเมทแอมเฟตามีนในสหรัฐอเมริกาลดลงไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และหากเทียบกับช่วงเวลาที่มีอยู่เยอะที่สุดอย่างในปี ค.ศ. 2004 แล้วก็นับได้ว่าลดลงไปถึง 87 เปอร์เซ็นต์ ทว่า แม้จะเป็นเช่นนั้น ตลาดเมทแอมเฟตามีนในสหรัฐอเมริกากลับเติบโตขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งรายงานตั้งข้อสังเกตว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะในขณะที่แหล่งผลิตภายในประเทศลดน้อยลงไป แต่การนำเข้าจากแหล่งผลิตในประเทศใกล้เคียงอย่างเม็กซิโกนั้นเพิ่มสูงขึ้น

เมื่อพิจารณาปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จับกุมได้โดยคิดเป็นรายภูมิภาค รายงานบ่งชี้ว่า ตลาดเมทแอมเฟตามีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุด โดยปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จับกุมได้ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปี ค.ศ. 2007-2017 นั้นเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า (เพิ่มขึ้นเป็น 82 ตันหรือคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่จับกุมได้ทั่วโลก) และข้อมูลเบื้องต้นของปี ค.ศ. 2018 ก็บ่งชี้ว่าปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จับกุมได้นั้นเพิ่มขึ้นไปจนถึงประมาณ 116 ตัน

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาในส่วนของเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดแล้ว (เมทแอมเฟตามีนอีกชนิดคือแบบเกล็ด) ข้อมูลเบื้องต้นของปี ค.ศ. 2018 ระบุว่ามีการจับกุมเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูงถึง 760 ล้านเม็ด ซึ่งในจำนวนนี้มีมากกว่า 515 ล้านเม็ดที่เป็นการจับกุมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และอาจจะทำให้ไทยมีปริมาณเมทแอมเฟตามีนที่จับกุมได้แซงแชมป์หลายสมัยอย่างจีนไปแล้ว