ThaiPublica > คอลัมน์ > CPI 2017 ติดตามสถานการณ์ความโปร่งใสปีล่าสุด

CPI 2017 ติดตามสถานการณ์ความโปร่งใสปีล่าสุด

22 กุมภาพันธ์ 2018


Hesse004

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่ามา องค์กรความโปร่งใสสากล หรือ Transparency International (TI) เพิ่งประกาศผลค่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสของประเทศต่าง ๆ …น่าสนใจว่าสถานการณ์คอร์รัปชันและความโปร่งใสทั่วโลกดูไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ปีนี้ TI ได้ชูประเด็นเรื่องความปลอดภัยของนักข่าวและนักเคลื่อนไหวต่อต้านคอร์รัปชันว่าคนเหล่านี้มีความเสี่ยงทุกวันในการทำข่าวเปิดโปงปัญหาคอร์รัปชัน พวกเขาถูกข่มขู่ คุกคาม ทำร้าย ไปจนกระทั่งถูกฆ่า…มีข้อมูลน่าสนใจที่ TI กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในวีดิโอคลิปโปรโมต CPI 2017 ว่า

“ในประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันมาก ๆ นักข่าวที่ออกมาเปิดโปงถูกฆ่าตายแทบทุกสัปดาห์ !”

…กลับมาดูผลความโปร่งใสกันบ้าง

ปีนี้ TI จัดอันดับความโปร่งใสของประเทศทั้งหมด 180 ประเทศ โดยแชมป์ความโปร่งใสตกเป็นของนิวซีแลนด์ที่ได้ค่า CPI 89 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) เฉือนแชมป์หลายสมัย “เดนมาร์ก” ที่ได้ 88 คะแนน ส่วนอันดับสาม ยังเป็นขาประจำในแถบสแกนดิเนเวียและยุโรป คือ ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ค่า CPI 85 คะแนน

หันมาดูกลุ่มรั้งท้ายกันบ้าง ปีนี้ โซมาเลียครองอันดับสุดท้าย (อันดับที่ 180) ได้ 9 คะแนน ส่วนอันดับที่ 179 คือ เซาท์ซูดาน ได้ 12 คะแนน อันดับ 178 คือ ซีเรีย ได้ 14 คะแนน

TI สรุปภาพรวมค่า CPI ปี 2017 ไว้ว่า สองในสามของประเทศทั่วโลกได้ค่า CPI ต่ำกว่า 50 คะแนน โดยค่าเฉลี่ยของ CPI อยู่ที่ 43 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบแล้วไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก

เมื่อเปรียบเทียบในด้านภูมิภาคแล้ว พบว่า ยุโรปตะวันตก (Western European) มีค่าเฉลี่ยของ CPI ดีที่สุด โดยได้ค่า CPI เฉลี่ย 66 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่แย่ที่สุด คือ แอฟริกา (Sub-Saharan) ได้ค่า CPI เฉลี่ย 32 คะแนน เช่นเดียวกับยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางที่ปีนี้ได้ค่าเฉลี่ย CPI เพียง 34 คะแนน

…กลับมาดูสถานการณ์ความโปร่งใสในอาเซียนกันบ้าง

ค่า CPI 2017 ในภูมิภาคอาเซียน คะแนนก็ยังไม่ต่างจากเดิม สิงคโปร์ยังครองความเป็น “เต้ยเรื่องความโปร่งใส” ทั้งในระดับอาเซียนและเอเชียแปซิฟิค โดยค่า CPI ของสิงคโปร์ปีนี้อยู่ที่ 84 คะแนน ครองอันดับ 5 ของโลก

รองจากสิงคโปร์ คือ บรูไน ปีนี้ได้คะแนน 62 คะแนน ครองอันดับที่ 32 ของโลก…บรูไนนับเป็น “ม้ามืด” ที่ก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพราะปกติแล้วในอาเซียน อันดับสองจะตกเป็นของมาเลเซีย แต่ปีนี้ค่า CPI มาเลเซีย “สาละวันเตี้ยลง” มาอยู่ที่ 47 อยู่อันดับที่ 62 โลก (ลดลงจากปีที่แล้ว 2 คะแนน)

อันดับสี่ เป็น “ม้ามืด” อีกรายที่โผล่แซงไทยเราไปเรียบร้อย นั่นคือ ติมอร์ เลสเต ปีนี้ CPI ของติมอร์อยู่ที่ 38 อันดับที่ 91 …หากดูความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว ติมอร์นับเป็นประเทศหนึ่งที่มีค่า CPI ดีขึนผิดหูผิดตาในรอบห้าปีที่ผ่านมา

อันดับห้าของภูมิภาคอาเซียน เป็นของอินโดนีเซียและไทย ครองร่วมกัน ได้ค่า CPI 37 คะแนน ครองอันดับที่ 96 ของโลก ปีนี้อินโดนีเซียดูจะ “แผ่ว” ไป ส่วนไทยเราดีขึ้นมา 2 คะแนน

อันดับหกของภูมิภาค ปีนี้ตกเป็นของเวียดนามที่ได้ค่า CPI 35 คะแนน ค่อย ๆ ขยับขึ้นมาอันดับโลกดีขึ้นอยู่ที่ 107 “แซง” ฟิลิปปินส์ ที่ได้ 34 คะแนน (อันดับ 111)

น่าสนใจว่า ในรัฐบาลยุคดูเตอร์เต้ ค่า CPI ฟิลิปปินส์ดูจะแย่ลงเรื่อย ๆ

สำหรับกลุ่มรั้งท้ายความโปร่งใสในอาเซียน… ปีนี้ แม้ว่าเมียนมาร์จะได้อันดับแปดของภูมิภาค แต่เมื่อดูคะแนนแล้วเมียนมาร์ขยับมาอยู่ที่ 30 (อันดับ 130 ของโลก) เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องความโปร่งใสดีที่สุดประเทศหนึ่งก็ว่าได้ ทั้งนี้ในอดีตเมียนมาร์เคยอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายของโลก ค่าคะแนนความโปร่งใสน้อยมาก แต่หลายปีที่ผ่านมา หลังจากมีการเลือกตั้ง และอยู่ในยุคที่เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการแสดงออกได้บ้าง ทำให้ค่า CPI เมียนมาร์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากเมียนมาร์แล้ว สปป.ลาว ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีสถานการณ์ความโปร่งใสคล้ายกัน ปีนี้ สปป.ลาวได้คะแนน CPI 29 คะแนน (อันดับ 135)…มองในแง่ดี สปป.ลาวพัฒนาเรื่องนี้ไปอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน

อันดับสุดท้ายของภูมิภาคปีนี้ ตกเป็นของกัมพูชาที่ได้คะแนน CPI 21 คะแนน อันดับโลกอยู่ที่ 161

กล่าวโดยสรุปแล้ว สถานการณ์ความโปร่งใสในภูมิภาคเราก็ยังเหมือนเดิม สิงคโปร์ยังครองความเป็นเจ้าด้านนี้…มาเลเซีย “แย่ลง” …บรูไนและติมอร์ เลสเต เป็น “ม้ามืด” …ไทยดีขึ้นมา 2 คะแนน… อินโดนีเซียดูจะแผ่วไปบ้าง…เวียดนามดีขึ้น…

ฟิลิปปินส์แย่ลงอย่างน่าตกใจ… เมียนมาร์ และ สปป.ลาว เป็นประเทศที่น่ายกย่องในแง่การยกระดับจากรั้งบ๊วยโลก ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ดีขึ้นกว่าเดิม… ส่วนกัมพูชาครองอันดับบ๊วย

สำหรับบ้านเราแล้ว…ปีนี้ค่า CPI เราดีขึ้น โดยคะแนน 37 คะแนน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 96 หลังจากที่ปีที่แล้ว คะแนนเราตกอยู่ที่ 35 อันดับร่วงไปที่ 101

อย่างน้อยคะแนนที่ดีขึ้นมา 2 คะแนน ก็ทำให้คนทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันมีกำลังใจมากขึ้น แม้จะรู้ว่าหนทางยังอีกยาวไกล เพราะตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา ค่า CPI ของเรายังไม่โผล่ขึ้นไปถึง “หลักสี่” หรือ ได้คะแนนเกิน 40 เสียที

ก่อนหน้านี้ Transparency Thailand ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่เชื่อมโยงกับ Transparency International ได้ประกาศ “ถอนตัว” ไม่ยุ่งหรือโปรโมตกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่อง Corruption Perceptions Index อีกต่อไป โดยให้เหตุผลทำนองว่าได้พยายามทำเต็มที่แล้วแต่การจัดอันดับของ TI ไม่สอดคล้องความเป็นจริงและไม่เห็นถึงความพยายามที่เราทำ

อย่างไรก็ดี หากเรายอมรับความจริงว่า สังคมเรามีปัญหาเรื่องนี้ การรับฟังคนอื่นด้วยมุมมองที่เข้าใจว่า CPI ได้กลายเป็นดัชนีสากลไปแล้ว ย่อมทำให้เรารู้ว่าสากลมองปัญหาคอร์รัปชันบ้านเราอย่างไร… โปร่งใสจริงหรือไม่… หรือเป็นแค่วาทกรรมแสดง “ความโปร่งใส” ด้วยการยกมือต่อต้านคอร์รัปชันในงานอีเวนท์ แต่เมื่อเผชิญกับปัญหาคอร์รัปชันจริง ๆ กลับทำได้เพียงอ้ำ ๆ อึ้ง ๆ กันไป… เป็นเพียง นิติธรรม นิติรัฐที่มองลงมาจากบน “หอคอย”