ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > จับตา 3 เทรนด์ความยั่งยืนปี 2561 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ และความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำ

จับตา 3 เทรนด์ความยั่งยืนปี 2561 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญญาประดิษฐ์ และความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำ

26 มีนาคม 2018


รายงานโดย พัทธ์ธีรา วงศราวิทย์ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปี 2560 ที่ผ่านมาเป็นปีที่มีความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงผลกระทบที่มีต่อธุรกิจในอนาคต รวมถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ยังเป็นประเด็นด้านความยั่งยืนที่ผู้บริโภคและผู้ลงทุนยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ในปี 2561 นี้ ทำให้ธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทายที่หลากหลายทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเทคโนโลยี

1. ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมยิ่งทวีความรุนแรง

ในรอบปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกเผชิญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงมากขึ้น เช่น สภาพอากาศแบบสุดขั้ว (Extreme Weather) อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนเป็นประวัติการณ์ การเสื่อมโทรมของทรัพยากร มลภาวะ และระบบนิเวศเสียสมดุลจนทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากรายงาน Global Risk Landscape 2018 ที่จัดทำโดย World Economic Forum เปิดเผยว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความเสี่ยงที่มีผลกระทบและโอกาสที่จะเกิดอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย และเป็นความเสี่ยงที่อยู่ใน 5 ลำดับแรกของความเสี่ยงสำคัญทั้งในมุมของผลกระทบและโอกาสที่จะเกิด ซึ่งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมนี้ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจในหลายมิติ เช่น

  • จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มีผลทำให้อากาศร้อนจัดเพิ่มมากขึ้น เกิดความแห้งแล้ง และน้ำท่วม ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลง เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร
  • กลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำปริมาณมากในกระบวนการ อาจประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ หรือเผชิญความยากลำบากในการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่มีจำกัด รวมถึงอาจทำให้เกิดการแย่งใช้น้ำระหว่างชุมชนกับภาคอุตสาหกรรม
  • การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีส่วนทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะถูกกดดันโดยภาครัฐและภาคสังคมให้มีการควบคุมดูแลกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดมากขึ้น หรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตามหลักการ polluter pays principle ซึ่งหมายถึงการที่ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการลดหรือบำบัดมลพิษที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้น

ในมุมมองจากผู้ลงทุนเองก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนโดยคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทำให้ผู้ลงทุนตื่นตัวและตระหนักถึงบทบาทในการกระตุ้นองค์กรภาคธุรกิจและบริษัทจดทะเบียนให้คำนึงถึงความเสี่ยงและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น

2. เมื่อความเหลื่อมล้ำกลายเป็นความเสี่ยงของธุรกิจ

Global Wealth Report 2017 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยของ Credit Suisse เปิดเผยว่า แนวโน้มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มสูงขึ้นหลังวิกฤติทางการเงินปี 2551 และประเทศไทยเองก็ถูกระบุว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก รองจากรัสเซีย และอินเดีย เมื่อปี 2559

ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาวะการแบ่งแยกของผู้คนในสังคม (social polarization) และการขาดความไว้เนื้อเชื่อใจในสังคม ธุรกิจขนาดใหญ่ถูกมองว่าเป็นกลไกทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการเอารัดเอาเปรียบ ขณะที่สภาพแวดล้อมที่สังคมมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่ำก็ทำให้ธุรกิจมีความเสี่ยงด้านชื่อเสียงและด้านการกำกับดูแลจากหน่วยงานทางการเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนอาจกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจในระยะยาว ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำจึงไม่ได้เป็นเพียงปัญหาสังคมที่อยู่ไกลตัวอีกต่อไป แต่กลายเป็นความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจได้เช่นเดียวกัน

ในสภาพแวดล้อมที่สังคมมีการแบ่งแยกและขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ภาคธุรกิจไม่สามารถมุ่งแต่แสวงหาผลกำไรได้เพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียโดยรอบและความอยู่รอดของผู้คนในสังคมได้อีกต่อไป แต่ภาคธุรกิจจำเป็นต้องทำความเข้าใจความคาดหวังของสังคมที่มีต่อองค์กรให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจต้องสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจและสังคม โดยนำความต้องการหรือความคาดหวังของผู้คนในสังคมมาบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายขององค์กร รวมถึงยังคงดูแลและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรอบอย่างต่อเนื่อง

3. เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญสำหรับธุรกิจ

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตื่นตัวของภาคธุรกิจทั่วโลกว่าปัญญาประดิษฐ์และระบบหุ่นยนต์จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด

ปัญญาประดิษฐ์ถูกพัฒนาให้มีความสามารถในการเก็บและบริหารจัดการข้อมูลที่มีปริมาณมหาศาลและมีความซับซ้อน เพื่อช่วยในการวิเคราะห์เทรนด์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถตัดสินใจได้แม่นยำยิ่งขึ้น ขณะที่ระบบหุ่นยนต์ถูกพัฒนาให้สามารถทำงานที่มีความเสี่ยงสูงหรืองานที่อาจเกิดอันตรายต่อมนุษย์ได้ รวมถึงระยะเวลาในการทำงานของหุ่นยนต์มีความรวดเร็วและแม่นยำมากกว่า ในแง่มุมนี้อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้เกิดการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันของธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาขึ้นอย่างมากนี้ ถูกมองว่าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในตลาดแรงงาน และระบบการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กร งานวิจัยจาก McKinsey Global Institute เมื่อปี 2017 เปิดเผยว่าใน 60% ของ 800 อาชีพในตลาดแรงงาน มีงานหรือกิจกรรมอย่างน้อย 30% ที่สามารถใช้ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่การใช้แรงงานมนุษย์ได้ ดังนั้น การพัฒนาของเทคโนโลยีจึงอาจทำให้เกิดการเลิกจ้างและคนว่างงานในปริมาณมหาศาล จึงเกิดคำถามว่าภาคธุรกิจจะมีกลยุทธ์อย่างไรในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อธุรกิจไปพร้อมกับที่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของบุคลากรของบริษัท และไม่สร้างภาระให้กับสังคม

 เทรนด์ความยั่งยืนทั้งสามประเด็นนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง และเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่ในทางตรงข้าม ธุรกิจที่สามารถ “แสวงหาโอกาส” จากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้และลงมือปฏิบัติก่อน ก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่าเช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิง

  • http://publications.credit-suisse.com/tasks/render/file/index.cfm?fileid=12DFFD63-07D1-EC63-

A3D5F67356880EF3

  • http://publications.credit-suisse.com/tasks/render/file/index.cfm?fileid=AD6F2B43-B17B-345EE20A1A254A3E24A5