ThaiPublica > เกาะกระแส > เมื่อความมั่งคั่งต้องการคำอธิบาย

เมื่อความมั่งคั่งต้องการคำอธิบาย

12 กุมภาพันธ์ 2018


Hesse004

หลักคิดอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คือ หลักความโปร่งใส เพราะความโปร่งใสนำไปสู่ขั้นตอนการตรวจสอบได้ เป็นกลไกแสดงความบริสุทธิ์ใจในการใช้อำนาจรัฐ

แม้ “ความโปร่งใส” จะเป็นคาถาสากลที่ผู้ใช้อำนาจรัฐพยายามพร่ำบอกอยู่ตลอดเวลา แต่พอเอาเข้าจริง การสร้างความโปร่งใสให้เป็นรูปธรรมต่างหากที่จะทำให้วาทกรรมการป้องกันคอร์รัปชันนั้นศักดิ์สิทธิ์

การสร้างความโปร่งใสทำได้ง่ายนิดเดียว เพียงแค่ “เปิดเผย” ในสิ่งที่สาธารณชนต้องการรู้ว่าการใช้อำนาจรัฐนั้นเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ หากยกเว้น มีเหตุผลกลใดถึงต้องยกเว้น

สังคมที่สนับสนุนให้มีการเปิดเผยเหตุผลและดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้อำนาจ สังคมนั้นย่อมแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ง่ายกว่าสังคมที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่ “อ้ำๆ อึ้งๆ” แทนที่จะตอบคำถามแบบตรงไปตรงมา แต่กลับหาคำตอบแบบ “เอาสีข้างเข้าถู” หรือ “ขอไปที” ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเพียงแค่ “ลมปาก” ที่พ่นผ่านไปวันๆ

ปัจจุบันการเปิดเผยทรัพย์สินของผู้ใช้อำนาจรัฐนับเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สังคมรู้ว่า ผู้ใช้อำนาจรัฐตั้งแต่ผู้นำสูงสุด นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง แม่ทัพนายกอง นั้นมีทรัพย์สินที่ต้องแจ้งต่อหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตมากน้อยแค่ไหน สอดคล้องกับรายได้ประจำหรือฐานานุรูปที่ตนเองเคยมีก่อนเข้ามาใช้อำนาจรัฐหรือไม่ อย่างไร

การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน (Asset Declaration) เป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชันที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก แต่อย่างไรก็ดี กลไกดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหา โดยเฉพาะสินบนบางประเภทถูกส่งไปฟอกต่อในต่างประเทศผ่านทาง “นอมินี” จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งทรัพย์สิน

ความมั่งคั่ง “ส่วนเพิ่ม” นี้เอง ที่ทำให้ผู้มีอำนาจรัฐเลือกที่จะ “ยักย้าย” ถ่ายโอนสินบนเหล่านี้ไปยังต่างประเทศในรูปแบบของการฟอกเงิน ซื้ออสังหาริมทรัพย์ ไปจนถึงเอาเงินไปลงทุนต่อในตลาดหุ้นต่างประเทศ

ทรัพย์สินเหล่านี้อาจทำโดยอาศัย “นอมินี” ไขว้กันไปไขว้กันมา ทำให้ธุรกรรมนั้นสลับซับซ้อน จนยากที่ใครจะติดตามตรวจสอบเส้นทางการเงินเจอ

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่กี่วันมานี้ รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาตรการป้องกันทุจริตขึ้นมามาตรการหนึ่ง มาตรการนี้มีชื่อว่า Unexplained Wealth Orders หรือ UWOs

มาตรการนี้เกิดจากการผลักดันของ Transparency International of United Kingdom หรือ TI UK องค์กรความโปร่งใสแห่งสหราชอาณาจักร ที่เริ่มต้นชงเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว โดยมาตรการถูกบรรจุไว้ในกฎหมายป้องกันอาชญากรรมทางการเงิน หรือ The Criminal Finances Act

แรงจูงใจที่ทำให้ TI UK ผลักดันกฎหมายนี้ขึ้นมา เนื่องจาก หลายปีที่ผ่านมา อังกฤษกลายเป็น “แหล่งพักเงิน” ที่เหล่าผู้นำ อดีตผู้นำ นักการเมืองและคนดังจากทั่วโลก ต่างนิยมมาซื้อบ้านกันอยู่อย่างเอิกเกริก ทั้งนี้ธุรกรรมการซื้อขายที่อยู่อาศัยเริ่มถูกจับตามากขึ้นว่าจะเป็นปลายทางหนึ่งของการฟอก “สินบน” หรือเงินที่มาจากการฉ้อฉลหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ TI UK จึงทำการวิจัยและเผยแพร่รายงานชื่อ Empowering the UK to recover corrupt assets ซึ่งศึกษาถึงพฤติกรรมการฟอกเงินสินบนในสหราชอาณาจักรและพยายามหาวิธีการหรือกลไกจัดการเพื่อติดตามทรัพย์สินที่ถูกโกงไปนั้นคืนมา

รายงานฉบับนี้เผยแพร่เมื่อปี 2015 จนกระทั่งปี 2016 เมื่อ Panama Paper ถูกเปิดเผยออกมายิ่งทำให้ TI UK พยายามผลักดันการใช้มาตรการ UWOs ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

…แล้ว UWOs ทำงานอย่างไร ?

คำว่า Unexplained Wealth Orders นั้น ชื่อก็อธิบายในตัวอยู่แล้วว่าหากความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นมาไม่สามารถอธิบายที่มาได้ ก็แสดงว่า “ส่อเจตนา” ทุจริต

TI UK ยกตัวอย่าง กรณีรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศ X ฉ้อฉลเงินงบประมาณกระทรวง รับสินบน หักค่าหัวคิว และเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจับได้ จึงโยกเงินมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในลอนดอน

ทั้งนี้ มาตรการ UWOs เป็นมาตรการที่ให้เจ้าหน้าที่ของ Serious Fraud Office (SFO) ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับองค์กรปราบปรามทุจริตของอังกฤษ เข้าไปสืบสวนที่มาของทรัพย์สินนั้น โดยเปรียบเทียบกับรายได้ต่อปีของรัฐมนตรีคนนั้น ว่า “สมเหตุสมผล” หรือไม่

พูดภาษาชาวบ้าน คือ เงินเดือนระดับรัฐมนตรีของประเทศ X พอจะซื้อบ้านหรูหราในอังกฤษได้จริง หรือเปล่า

กรณีดังกล่าว หากอสังหาริมทรัพย์ได้มาโดยไม่สมเหตุสมผลกับรายได้ที่รัฐมนตรีคนนั้นได้รับ SFO สามารถร้องขอศาลเพื่อ “อายัด” อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้ และเมื่อศาลเห็นชอบกับหลักฐานที่นำมายื่นอายัด ทรัพย์สินนั้นก็จะถูกอายัด

ศาลจะเปิดโอกาสให้เจ้าตัวมาชี้แจง แต่ถ้าชี้แจงที่มาของความมั่งคั่งไม่สมเหตุสมผล ทรัพย์สินนั้นจะถูกยึดเป็นของรัฐบาลไว้ก่อนและรอให้มีรัฐบาลประเทศ X มาร้องขอติดตามทรัพย์สินคืน (Asset recovery)

อินโฟกราฟิกที่ TI UK อธิบายกลไกการทำงานของ Unexplained Wealth Order
ที่มาภาพ : https://image.isu.pub/161013102156-4880c033579b459976b403555bc82db7/jpg/page_1.jpg

จริงๆ แล้วแนวคิด UWOs เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน (ดูอินโฟกราฟิก) เพราะเป็นการตรวจสอบความสมเหตุสมผลของการได้มาของทรัพย์สินที่นั้น

มาตรการนี้เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งต่วันที่ 31 มกราคม 2018 โดย TI UK ยังแอบทำหน้าที่ชี้เป้าว่ามีอย่างน้อย 5 เคส ที่เข้าข่ายตามมาตรการ UWOs เพราะเคสเหล่านี้ผู้เกี่ยวข้องยังไม่สามารถอธิบายที่มาของความมั่งคั่งร่ำรวยให้สังคมยอมรับได้ (ดูตาราง)

จะว่าไปแล้ว การซื้อบ้านหรือห้องชุดหรูในอังกฤษไม่ใช่เรื่อง “ผิดปกติ” หรือผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพียงแต่ UWOs เป็นกลไกที่ต้องการให้มีการเปิดเผยที่มาของสินทรัพย์หรือความมั่งคั่งดังกล่าวว่ามีที่มาอย่างไร ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่เอาเงินสินบนที่ได้มาฟอกให้สะอาดในประเทศอังกฤษซึ่งจะทำให้ประเทศเจ้าบ้านพลอย “มัวหมอง” ไปด้วย

มาตรการ UWOs เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่กี่วันที่ผ่านมา น่าสนใจว่าใครจะเป็นคนแรกที่โดนมาตรการนี้ เพราะทั้ง 5 เรื่อง ชื่อที่จดทะเบียนเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ราคา “แพงระยับ” นั้นถูกจดทะเบียนในชื่อบริษัท “บังหน้า” แต่เจ้าของตัวจริง คือ บุคคลดังกล่าวข้างต้น

แน่นอนว่า การที่ไม่สามารถแสดงเหตุผลชัดเจนว่าที่มาของทรัพย์สินเหล่านี้มีต้นตอของความมั่งคั่งมาจากที่ใดกันแน่ ทรัพย์สินเหล่านี้จะถูกรัฐบาลอังกฤษอายัดในที่สุด

…ส่วนจะให้เหตุผลชี้แจงว่า เป็นมรดกมารดาหรือความสิเน่หาของเพื่อนที่ให้หยิบยืม คาดว่าคงอ้างไม่ขึ้นแน่ๆ กับกระบวนการยุติธรรมเมืองผู้ดี