ThaiPublica > คอลัมน์ > หมดสงสัยกับ QR Code

หมดสงสัยกับ QR Code

9 มิถุนายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ในการประชุมหัวหน้างานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ )จะมีกระดาษแปะไว้หน้าห้องหนึ่งแผ่นเป็นเอกสารการประชุมในรูป QR Code ใครจะเข้าห้องก็สแกน QR Code นี้เอกสารประชุมก็จะปรากฏบนมือถือทำให้ประหยัดเวลาและกระดาษได้มาก ขณะนี้การใช้ QR Code ระบาดไปไกลขนาดขอทานในเซี่ยงไฮ้ขอเงินผ่าน QR Code เราได้ยินมานานเรื่องโค้ดนี้ มันคืออะไร มาจากไหน เอามาใช้ทำอะไรได้บ้าง ฯลฯ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องน่าฉงน

หน้าตาของ QR Code คือ ภาพหรือตราขนาดเท่าแสตมป์ดวงใหญ่ มีตารางขาวดำสลับไปมา เราเห็นอยู่ทุกแห่งหนในปัจจุบัน ตั้งแต่หน้าร้านขายของ บนตัวสินค้า บนธนบัตร บนเหรียญ หรือแม้แต่บนใบ Visa ของบางประเทศ

QR Code ย่อมาจาก Quick Response Code เป็นลักษณะหนึ่งของ barcode สองมิติ ดังที่เรียกว่า matrix barcodes สารพัดข้อมูลบรจุอยู่ในตราช่องตารางสี่เหลี่ยม ข้างในคล้ายตาหมากรุกดำบ้างขาวบ้าง บ้างก็มีเส้นเป็นมุมฉากขาวดำแทรกอยู่

แท้จริงแล้วมันก็คือ barcode ชนิดหนึ่ง (barcode คือ “ตรา” ที่เครื่องจักรสามารถอ่านได้ว่ามีข้อมูลใดอยู่ในสินค้าที่แนบมา )ที่เราเห็นบนสติ๊กเกอร์บนสินค้า barcode มิติเดียว เป็นเส้นตรงลากยาวลงมาโดยแถบความหนาต่าง ๆ กัน และมีตัวเลขอยู่ตรงข้างล่าง บางตราก็เป็นเส้นตรงคล้ายคลื่นวิทยุ เป็นแท่งตามแกนนอนก็มี เป็นสี ๆ ก็มี หลากหลายกันไปตามมาตรฐานของแต่ละประเทศ

ปัจจุบัน barcode ที่เป็นมาตรฐานของ UPC (Universal Product Code) ระหว่างประเทศก็คือแถบยาวลงมา หนากว้างสลับกันไปมา และมีเลขกำกับอยู่ใต้เส้นที่เป็นแถบ เราเห็นติดอยู่ตัวสินค้าเพื่อประโยชน์ในการอ่านราคา ข้อมูลที่มา ฯลฯ และคิดเงินกับเราได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี barcode ปัจจุบันซึ่งเป็นที่นิยมคู่กับ barcode แบบดั้งเดิมก็คือ QR Code ซึ่งประยุกต์ใช้ได้ในหลายเรื่อง เริ่มแรก QR Code ใช้กันในอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่ง code แต่ละอันมาจากการผสมปนเปอย่างเป็นระบบของ 4 ข้อมูล คือ (1) ตัวเลข (2) ตัวหนังสือ (3) byte หรือ binary คือ ระบบตัวเลข 0 และ 1 (4) ตัวอักษร Kanji ของญี่ปุ่น

ระบบ QR Code ได้รับความนิยมนอกวงการรถยนต์ญี่ปุ่นก็เพราะสามารถอ่านได้รวดเร็ว อีกทั้งมีความสามารถในการเก็บข้อมูลได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ UPC

QR Code สามารถอ่านโดยเครื่องมือที่รับภาพได้ เช่นกล้องถ่ายรูป โทรศัพท์มือถือที่มีกล้อง เครื่องอ่านฯลฯตราแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ ตั้งแต่ข้อมูลเกี่ยวกับเวอร์ชั่นของมัน รูปแบบการวางข้อมูล (format) แบบแผนฃึ่งกำหนดไว้ เช่น ในเรื่องตำแหน่งของข้อมูล ระยะเวลา การปรับวางข้อมูล ฯลฯ และสุดท้ายคือบริเวณขอบของตราที่เป็น zone ให้รู้ว่าเป็นเขตสิ้นสุด

ระบบ QR Code ประดิษฐ์โดย Denso Wave ของญี่ปุ่นใน ค.ศ. 1994 โดยมีวัตถุประสงค์ในตอนแรกเพื่อติดตามรถคันที่ผลิตในกระบวนการว่าไปถึงจุดใดแล้วโดยเน้นการอ่านที่รวดเร็ว เมื่อเห็นว่าเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพก็มีการนำเอามาใช้นอกอุตสาหกรรมและข้ามประเทศ (ผลงานเด่น ๆ ของญี่ปุ่นในรอบ 10-20 ปี เห็นกันทุกวันนี้อย่างเป็นรูปธรรมก็คือหลอด LED / Line ที่เราส่งกันทุกค่ำเช้า / QR Code / การใช้พลังงานของรถยนต์ ฯลฯ)

ประโยชน์ของ QR Code ก็คือให้ข้อมูลแก่ผู้อ่านผ่านโทรศัพท์มือถือ เพื่อเข้าถึง URL หรือ email address ตลอดจนอีเมล์หรือข้อความ ส่วนผู้ใช้ก็สามารถสร้างตราของ QR Code ขึ้นเพื่อให้คนอื่น scan ดาวโหลดข้อมูลและแอพพลิเคชั่นได้เช่นเดียวกัน

ในการประชุมนั้น เพียง scan ตรา QA Code ผู้ร่วมประชุมก็สามารถดาวน์โหลดเอกสารการประชุมได้ทั้งหมด การแปะ QR Code ประกอบไว้ในเอกสารก็เป็นทางเลือกของผู้อ่านที่จะดาวโหลดเอกสารเพิ่มเติม

ขอทานไม่ต้องวางกระป๋องขอเงิน เพียงหงายโทรศัพท์มือถือและเปิด QR Code ไว้ ผู้คนที่ผ่านไปมาหากต้องการให้ก็เพียง Scan QR Code ด้วยโทรศัพท์มือถือ หากทั้งสองอยู่ในระบบการจ่ายเงินเดียวกัน (เซี่ยงไฮ้ส่วนใหญ่เป็น AliPay หรือ UnionPay) เพียงกดตัวเลขที่ต้องการให้ เงินก็จะโอนเข้าบัญชีขอทานทันทีเรื่องที่บรรยายนี้เกิดขึ้นจริงที่เซี่ยงไฮ้ และจะมีมากขึ้นทั่วโลก บนตั๋วรถเมล์รถไฟในต่างประเทศหรือบัตรที่นั่ง บนเครื่องบินในบ้านเรา ก็มี QR Code ทั้งนั้น

ผู้เขียนเห็นคนจีนนั่งเล่นไพ่กัน ต่างคนต่างมีโทรศัพท์มือถือที่มี QR Code ได้เสียก็โอนกันตรงนั้นเลย ได้ยินมาว่าในบางหอพักในมหาวิทยาลัยจีนที่ต้องการเก็บเงินจากนักศึกษาชนิดให้ตระหนักในคุณค่าของน้ำและไฟฟ้า ทุกครั้งที่ใช้น้ำต้อง Scan QR Code ของก๊อกน้ำ โคมไฟ เครื่องคอมพิวเตอร์ สิ้นเดือนก็จะรู้ว่าแต่ละคนใช้น้ำใช้ไฟฟ้าเป็นเงินเท่าใด

ร้านค้าในจีนแม้แต่ในตลาดจะติดQR Code ไว้หน้าร้าน เวลาจ่ายเงินก็ให้ QR Code ของร้านและของผู้ฃื้อมาจับคู่กันและโอนเงินผ่านมือถือ บางร้านอาหารหากเป็นสมาชิกและมาเติมเงินที่ร้าน เขาก็จะแถมเงินเข้าบัญชีให้อีกร้อยละ 10 ด้วย

ในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ เราจะเห็น QR Code อยู่เต็มไปหมดเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งสะดวกมากเพราะเพียง scan ตราก็เข้าถึงข้อมูลแล้ว

ในเดือนมิถุนายน 2011 เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกเหรียญมี QA Codeบนเหรียญเพื่อฉลองครบ 100 ปีของ Royal Dutch Mint เมื่อใช้โทรศัพท์มือถืออ่านก็จะเข้าถึงเว็บไซต์พิเศษที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และการออกแบบเหรียญ

ในปี 2015 ธนาคารกลางของรัสเซียพิมพ์ธนบัตร 100 รูเบิลที่มี QR Code เพื่อฉลองการจัดตั้ง (ยึด) แหลมไครเมีย หนังสือปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน ทุกเล่มมี QR Code เพื่อให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ลึกซึ้งขึ้นเกี่ยวกับผู้เขียนหรือเรื่องราวที่เกี่ยวพัน

การต้องพิมพ์ URL เพื่อเข้าสู่เว็บไซต์เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทั่วไปไม่ชอบเพราะไม่สะดวกเท่ากับการ Scan QR Code ดังนั้นในเชิงการตลาดมันจึงมีความสำคัญ แต่ก็อาจลดลงในอนาคตเมื่อผู้ใช้โทรศัพท์ มือถือเข้าถึง URL ได้ง่าย ๆ ด้วยคำสั่งที่เป็นเสียง

QR Code มีอันตรายเช่นกัน การทิ้ง QR Code ซึ่งบรรจุข้อมูลส่วนตัวบนบัตรหรือตั๋วเป็นสิ่งไม่ควรทำ เช่นเดียวกับการ Scan QR Code อย่างเลอะเทอะ เพราะอาจนำไปสู่การนำไวรัสที่เลวร้ายเข้ามาในเครื่องได้

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 มิ.ย. 2560