ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ดิจิทัลกับการยกระดับสาธารณสุข “อสม.ออนไลน์” กรณีศึกษาไทยบนเวทีโลก

ดิจิทัลกับการยกระดับสาธารณสุข “อสม.ออนไลน์” กรณีศึกษาไทยบนเวทีโลก

19 มิถุนายน 2017


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุม World Summit on The Information Society งานประชุมสุดยอดระดับโลกด้านสารสนเทศ ที่จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telcommunication Union: ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN)

1 ใน 18 โครงการที่ได้รับรางวัล WSIS 2017 Prizes Winner เป็นโครงการ “อสม.ออนไลน์” จากประเทศไทย โดย เอไอเอส ในประเภทรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้ และสุขภาพ หรือที่เรียกว่า ประเภท e-EMPLOYMENT จากจำนวนโครงการทั่วโลกที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 467 โครงการ แบ่งเป็น ภาครัฐ 143 โครงการ ภาคธุรกิจ 77 โครงการ และภาคประชาสังคม 56 โครงการ

อิอาวเน่ คิรอยอิวูกิ ผู้อำนวยการสหภาพโทรคมนาคมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าวร่วมกับเอไอเอส กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงสาธารณสุข  เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ที่ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ถึง WSIS Prizes 2017 ว่า โครงการนี้เป็นการส่งเสริมและกระตุ้นให้ประเทศสมาชิก ITU ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้โลกนี้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 ประการ ขององค์การสหประชาชาติ บนสมมติฐานที่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชีวิตผู้คนบนโลก

อิอาวเน่ คิรอยอิวูกิ ผู้อำนวยการสหภาพโทรคมนาคมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ดิจิทัลเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ข้อมูลจาก WSIS ระบุว่า โครงการภายใต้ WSIS Prizes 2017 เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ตัวอย่างโครงการเกี่ยวกับการนำดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาของประเทศต่างๆ ในปีนี้ เช่น โครงการ South to North water diversion (Eastern route) communication optical cable project for the water resources dispatch and management system การบริหารจัดการน้ำโดยใช้ดิจิทัลของจีน ที่ใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการระบบผันน้ำจากใต้ไปทางตอนเหนือของจีนซึ่งกินระยะทางราว 1,028 กิโลเมตร เกี่ยวข้องกับ 5 มณฑล โดยใช้ดิจิทัลในการติดตามเพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารที่ค่อนข้างซับซ้อน

โครงการความปลอดภัยของการใช้ออนไลน์ในโรงเรียนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ชื่อ Aqdar’s e-safe school online safety หรือ Aqdar ที่ในภาษาอาราบิกหมายถึง “ฉันทำได้” ในการที่พยายามริเริ่มโครงการเพื่อพัฒนาทักษะและการเรียนรู้เพื่อสร้าง พลเมืองของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แห่งอนาคต โดยมีเรื่อง e-safety หรือความปลอดภัยของการใช้ออนไลน์เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการแก้ปัญหาความปลอดภัยทางออนไลน์ในโลกเรียน เพื่อสนับสนุนเด็กๆ ให้สามารถใช้ออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน SDGs เรื่องการศึกษา อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม เมืองที่ยั่งยืน สันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม (SDGs 4, 9, 11 และ 16)

โครงการ Redering of state and municipal services in electronic format หรือโครงการ e-GOVERNMENT ของรัฐบาลท้องถิ่นของรัสเซีย ซึ่งริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2008 โดยปรับระบบการให้บริการระดับรัฐบาลท้องถิ่นและเทศบาล ให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป้าหมายสำคัญของโครงการนอกจากต้องการเพิ่มมาตรฐานนการดำรงชีวิตแล้วยังเกี่ยวกับเรื่องการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการทำโครงการสามารถประหยัดเวลาในการขอใช้บริการของภาครัฐมากกว่า 169 ล้านชั่วโมง โดยในปี 2016 สามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ถึง 83.2 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้มากกว่า 65.2% ของจำนวนประชากร โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจที่ยั่งยืน อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนและนวัตกรรม ตลอดจนเมืองที่ยั่งยืน (SDGs 3, 4, 8, 9 และ 11)

“อสม.ออนไลน์” บุกเบิกยกระดับกระบวนการทำงานสาธารณสุข

บรรยากาศในงานแถลงข่าว อสม.ออนไลน์นวัตกรรมไทย คว้ารางวัลระดับโลกจาก ITU-UN

สำหรับโครงการจากประเทศไทย “อสม.ออนไลน์” หนึ่งในโครงการที่ได้รับรางวัล WSIS Prizes 2017 เป็นแอปพลิเคชันที่เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยแก้ปัญหาและยกระดับกระบวนการทำงานในระบบบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐานของประเทศไทยในพื้นที่ชนบท ซึ่งช่วยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพ โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำและการบริโภคที่ยั่งยืน (SDGs 3, 4, 8, 10, 12)

โดย “อสม.ออนไลน์” นับเป็นเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่ม ที่ช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ ระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน ศูนย์บริการสาธารณสุข ฯลฯ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพขั้นพื้นฐานกับคนในชุมชนซึ่งขึ้นตรงกับแต่ละหน่วยงาน

ปัญหาหลักใหญ่ของการทำงานในหลายมิติของ อสม. ซึ่งต้องปฏิบัติงานในเชิงพื้นที่ในลักษณะของการให้บริการด้านสาธารณสุขแบบผสมผสาน คือ ด้านการสร้างเสริม สุขภาพ การควบคุม และการป้องกัน โดย อสม. ต้องออกเยี่ยมสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่รับผิดชอบถึง 10-15 หลังคาเรือนต่อ อสม. หนึ่งคน และต้องบันทึกรายงานสถานการณ์สุขภาพส่งหน่วยงาน ทำให้การเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพที่แม่นยำ การสื่อสารที่ทันสถานการณ์เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคในพื้นที่ และการได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุขอย่างถูกต้อง เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ

“ในปีนี้ ที่ รพ.สต. หลักร้อย ไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเลย ทั้งที่พื้นที่นี้ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงเพราะมีไข้เลือดออกระบาดทุกปี เพราะเขารู้ข้อมูลการระบาดเร็วมาก พอเกิดขึ้นก็สามารถแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ได้ทันที” วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส เล่าถึงผลที่เกิดขึ้นจากการที่ อสม. ใช้แอปพลิเคชันนี้ นั่นรวมถึงในกรณีฉุกเฉินที่แอปพลิเคชันช่วยในการบอกพิกัดสถานที่ให้รถพยาบาลไปรับผู้ป่วยก็สามารถทำได้แม่นยำและรวดเร็วมากขึ้นรวมไปถึงขั้นตอนการฟื้นฟูผู้ป่วยติดเตียง

“เราพบในกรณีผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นอัมพาต เมื่อกลับมาบ้านและ อสม. ต้องช่วยมาทำกายภาพ เขาก็สามารถถ่ายวิดิโอเพื่อให้แพทย์ที่อยู่ใน รพ. ดู และถ้ายังไม่ได้ผลมากก็อาจจะเปลี่ยนท่ากายภาพได้โดยสอนผ่านแอปและไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลซึ่งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพขึ้น” วิไลกล่าว

นโยบายเชิงรุก อสม. 1.4 ล้านคนกับอนาคตด้านสุขภาพ

ปัจจุบันมี อสม. ใน รพ.สต. จำนวน 223 แห่งจาก 10,000 แห่งที่โครงการ “อสม.ออนไลน์” เข้าไปทำงานด้วย โดยรูปแบบการใช้แอปพลิเคชันจะทำในระดับพื้นที่โดยทำงานร่วมกับหน่วยงาน รพ.สต. หรือสาธารณสุขในพื้นที่ และในปีนี้โครงการมีแผนที่จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการขยายพื้นที่เพิ่มเติมและคาดหวังจะให้ขยายไปยัง อสม. ทั่วประเทศ โดยใช้กลไกของการประกวด การใช้งาน แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้ อสม. ในพื้นที่อื่นๆ สนใจเข้ามาร่วมในการใช้แอปพลิเคชันมากขึ้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า  อสม. มีมายาวนานประมาณ 20 ปี ปัจจุบันมี อสม. ทั้งหมดประมาณ 1.4 ล้านคนจากภารกิจในยุคแรกๆ ในการ “แก้ข่าวร้าย กระจายข่าวดี” จนมาถึง อสม. ที่ต้องเป็น “นักจัดการด้านสุขภาพ” ปัจจุบัน “อสม. ต้องมาสู่ยุค 4.0”  โดยสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการให้เกิดการพัฒนาด้านการจัดการสุขภาพที่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะ อสม. สอดคล้องกับทิศทางด้านสุขภาพของไทย ในการดูแลสุขภาพแบบปฐมภูมิ มีทีมคลินิกครอบครัว มีหมอครอบครัว โดยทำงานในเชิงรุกมากขึ้นในการทำงานด้านการป้องกันสุขภาพ ซึ่งตรงนี้ อสม. จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ในมุมของ สมบูรณ์ มาตรคำจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโซลูชั่น ด้านดิจิทัลไลฟ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาแอปพลิเคชัน ระดับโลกนี้ มองความสำเร็จของแอปพลิเคชันนี้ว่ามาจากรากฐานที่สำคัญ คือ การทำงานแบบเข้าใจคนใช้และเข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริง เขากล่าวว่า “ในการทำงานเราให้ความสำคัญมากในการออกแบบที่เข้าใจผู้ใช้งานตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วเราลงไปทำงาน พาดีเวลลอปเปอร์ User Experience Design และทีมพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ ทำความเข้าใจกระบวนการทำงานและทดสอบกับ อสม. ซึ่งเป็นคนใช้จริง”

รูปแบบแอปพลิเคชันที่ออกมาจึงมีวิธีการใช้ที่ง่าย มีตัวหนังสือขนาดใหญ่ สอดคล้องกับวิธีการทำงานของ อสม. และมีสีสัน เพราะกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ที่ทำงาน อสม. มีอายุตั้งแต่ 40 ไปจนถึง 70 ปี ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเป็นมิตรกับผู้ใช้มากที่สุด การขยายจำนวนผู้ใช้แอปพลิเคชันจึงต้องมีกระบวนการเทรนนิ่งและให้ความรู้กับ อสม. เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริง และนี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงไม่สามารถเปิดให้กับทุกคนที่เป็น อสม. ได้ทันที แต่ต้องเป็นลักษณะของการทำงานในพื้นที่ ซึ่งกระบวนการนี้ถือถือเป็นจุดสำคัญของเรามากในมุมของการ employment

นวัตกรรมสังคมต้องเริ่มจากตั้งโจทย์ให้ถูก

ทั้งนี้แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ได้รับการออกแบบเฉพาะสำหรับกระบวนการทำงานของ อสม. โดยมีฟังก์ชันที่แตกต่างจากเครือข่ายออนไลน์ทั่วไปใน 4 ฟังก์ชัน คือ 1) Chat การสนทนาที่จะมีการแสดงชื่อคนอ่านว่าอ่านแล้ว ข้อดีคือจะได้รู้ว่าใครรับรู้แล้วหรือยังไม่รับรู้ 2) กระดานข่าว เป็นส่วนที่แจ้งข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพทั่วไป 3) รายงาน เป็นช่องทางการส่งรายงานบันทึกสุขภาพประจำเดือนที่ตามปกติที่ อสม. ต้องเดินทางไปส่ง รพ.สต. แต่แอปฯ นี้ช่วยให้ไม่ต้องเดินทาง โดยใช้วิธีที่ง่ายที่สุดคือการให้ อสม. ถ่ายภาพกระดาษรายงานที่อสม.เขียนด้วยลายมือและกดส่ง พบว่าวิธีนี้ยังเป็นวิธีที่เป็นมิตรกับคนใช้แอปฯ มากที่สุด 4) นัดประชุม ในส่วนนี้จะมีพื้นที่สำหรับให้ อสม. กดตอบรับหรือไม่ตอบรับ พร้อมแจ้งเหตุผล ซึ่งวิธีการนี้ประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายได้มากในการจัดเตรียมเอกสารในการประชุมให้สอดคล้องกับผู้เข้าร่วม

“ฟังก์ชันทั้งหมดนี้ทำให้สามารถยกระดับการทำงานและลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก โดยเฉพาะสิ่งสำคัญคือการทำงานบนพื้นฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ในการทำงาน เพราะใน อสม.ออนไลน์ มีการตรวจสอบข้อมูลการเผยแพร่และอยู่ในระบบปิด” สมบูรณ์กล่าวในที่สุด

ท่ามกลางนวัตกรรมสังคมที่ว่าด้วยการใช้แอปพลิเคชันในการแก้ปัญหา บทเรียนของ “อสม.ออนไลน์” บอกกับเราว่าบางครั้งเทคโนโลยีที่ดีที่สุด หรูหราที่สุด อาจไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหา มากกว่าการตั้งโจทย์จาก “ผู้ใช้” และ “วิธีการที่จะทำให้ใช้ได้จริง” ต่างหาก