ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไม Bitcoin และผองเพื่อนถึงเป็นได้มากกว่าแค่สินทรัพย์เสี่ยงสูง

ทำไม Bitcoin และผองเพื่อนถึงเป็นได้มากกว่าแค่สินทรัพย์เสี่ยงสูง

24 มิถุนายน 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/en/bitcoin-digital-money-decentralized-2007769/

เมื่อ 7 ปีที่แล้ว เงินดิจิทัลสกุล “Bitcoin” ฟังดูเหมือนแค่ของเล่นที่พวกคลั่งคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่จะซื้อเก็บไว้

เหตุผลหลักๆ คือคนส่วนมากคิดว่าเงินที่จับต้องไม่ได้มันจะเป็น “เงิน” ได้อย่างไร ใครจะไปรับ และมันจะล่มหรือไม่ เพราะมันเป็นสกุลเงินที่ไม่มีองค์กรใดๆ ดูแล จะไปอยู่รอดบนโลกที่ขนาดสกุลเงินปกติบางสกุลยังแทบจะเอาตัวไม่รอดได้อย่างไร

ในช่วงแรกๆ โปรแกรมเมอร์ชาวอเมริกันคนหนึ่งได้ “ประเดิม” การใช้ Bitcoin เพื่อซื้อของบนโลกจริงโดยการจ่ายเพื่อนบนเว็บบอร์ดแห่งหนึ่งไป 1 หมื่น BTC (BTC คือตัวย่อสกุล Bitcoin เหมือนกับที่ USD ย่อจาก “ดอลลาร์สหรัฐ”) เพื่อแลก กับพิซซ่าสองถาด

ทุกวันนี้ Bitcoin ก้อนที่เอาไปแลกกับพิซซ่าแสนอร่อยสองถาดนั้นมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์แล้ว (เข้าไปอ่านความฮาในกระทู้จริงได้ ที่นี่)

ร้านค้าและธุรกิจใหญ่ๆ ก็เริ่มรับ Bitcoin กันอย่างเป็นทางการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Expedia, ร้าน Bic Camera ที่พวกเราชอบไปเที่ยวในญี่ปุ่น แม้กระทั่งร้านอาหารบางร้าน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวไทยลิ้มเหล่าโหงว

ด้วยความร้อนแรงของ cryptocurrency (ขอเรียกสั้นๆ ว่า “เงินดิจิทัล”) ที่ตอนนี้มีมูลค่าตลาดรวมกันแล้วพอๆ กับมูลค่าของบริษัทสตาร์บัคส์แล้ว (เกิน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นักลงทุนจึงเริ่มหันมามอง Bitcoin และเงินดิจิทัลอื่นๆ กันอย่างตั้งใจขึ้น

วันนี้มันได้เปลี่ยนสถานะจาก “ของเล่นเด็กเนิร์ด” “มาเป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูง” ไปเรียบร้อยแล้ว

แต่คำถามที่หลายคนยังมีคือ มันมีความเป็นไปได้แค่ไหนที่เงินดิจิทัลจะมามีบทบาทกับชีวิตเราได้มากกว่าแค่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุนที่ชื่นชอบความผาดโผน

ผมมองว่าเงินดิจิทัลเป็นได้มากกว่าแค่นั้นมากด้วยสองเหตุผล

หนึ่ง คือ แม้เงินดิจิทัลจะยังไม่ค่อยมีความสมบูรณ์นักและยังมีจุดอ่อนหลายจุด แต่มันสามารถทำตัวเป็น “เงิน” ที่ผู้คนเชื่อและพึ่งพาได้แล้วในบางสถานที่และเวลา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแค่ว่าตัวเลือกเดิมๆ ที่เรายึดถือว่าเป็น “เงิน” มันดีหรือแย่กว่าแค่ไหน

สอง คือ ขณะนี้เรากำลังเห็นการวิวัฒนาการของเงินในระบบนิเวศเงินดิจิทัลที่เป็นไปอย่างค่อนข้างรวดเร็ว ตั้งแต่ต้นปีนี้มาส่วนแบ่งตลาดเงินดิจิทัลของ Bitcoin ลดลงจากมากกว่า 80% เหลือแค่ราว 40% ทุกวันมีโปรเจกต์สกุลเงินใหม่ๆ เกิดขึ้นมาแข่งขันกันเรื่อยๆ ซึ่งต่างก็มีข้อได้เปรียบหรือจุดขายไม่เหมือนกัน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่การแข่งขันในระบบนิเวศนี้ในที่สุดจะสามารถคั้นเอา “สกุลผู้ชนะ” ที่มีจุดยืนชัดเจนและมีเสถียรภาพพอที่จะเป็น “เงิน” ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการอันหลากหลายของผู้คนในอนาคตได้

ในกรณีทั่วไป Bitcoin ยังสอบตกในฐานะ “เงิน”

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/06/Cypraea-moneta-001.jpg

เมื่อกล่าวถึง “คุณสมบัติความเป็นเงิน” เราวิเคราะห์เงิน (ไม่ว่าจะดิจิทัลหรือไม่) ได้ผ่าน 2 มิติหลักๆ

หนึ่ง คือ มันคงคุณค่าได้ดีแค่ไหน (store of value)

และสอง คือ เราใช้มันจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกแค่ไหน (transaction)

ณ เวลานี้ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมที่มีสถาบันการเงินที่ทันสมัยและมั่นคง Bitcoin ที่เป็นเงินดิจิทัลอันดับหนึ่งยังแพ้เงินสกุลท้องถิ่นขาด เช่นเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ ในทั้งสองมิติ

ในมิติแรก (store of value) แม้ว่าโดยโครงสร้างของ Bitcoin จะทำให้มันมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต (จะมี Bitcoin อยู่ในระบบแค่ 21 ล้าน BTC เท่านั้น ไม่มีการเพิ่ม) คนส่วนใหญ่ยังคิดว่ามันมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความผันผวนของค่าเงินมากเกินไป

ความเสี่ยงที่ว่านี้มีร้อยแปด ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงจากการถูก hack กระเป๋าเงินดิจิทัล ความเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาลต่อเงินดิจิทัลในแต่ละประเทศ หรือแม้กระทั่งความเสี่ยง “51% Attack” ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีอาจทำตัวเป็นผู้ยืนยันธุรกรรมได้มากกว่า 51%

ที่มาภาพ :https://www.buybitcoinworldwide.com/volatility-index/

ราคาของ Bitcoin จึงยังคงมีความผันผวนมากเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ทั่วไป ต้นปีที่ผ่านมามันเคยอ่อนค่าลงได้ถึง 30% ภายในแค่อาทิตย์เดียว ดูกราฟราคา Bitcoin ด้านบนที่เทียบกับค่าเงินอื่นๆ แล้ว ถ้าไม่บอกว่าเป็น Bitcoin อาจหลงคิดไปว่าเป็นสกุลเงินที่ผ่านวิกฤติค่าเงินขนาดย่อมอยู่เป็นประจำก็ว่าได้

ส่วนในมิติที่สอง (transaction) แม้ว่าการใช้เงินดิจิทัลจะมีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีกว่าวิธีชำระเงินปกติหลายข้อ เช่น ต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำกว่าการรูดบัตรเครดิตหรือผ่าน Paypal ความเป็นจริงคือทุกวันนี้ร้านค้าส่วนมากทั่วโลกก็ยังไม่รับแม้กระทั่ง Bitcoin ที่เป็นสกุล “พี่ใหญ่”

ที่มาภาพ : https://blockchain.info/charts/mempool-size

และถึงแม้ประชาชนจะพร้อมรับมันเป็นเงินกันอย่างถ้วนหน้า สกุลเงินดิจิทัลบางสกุลก็ยังมีปัญหาในการ “scale up” ให้รองรับปริมาณธุรกรรมจำนวนมากๆ ได้ (เช่น สมมติว่าอยู่ดีๆ ทุกคนในประเทศไทยหันมาใช้ Bitcoin พร้อมๆ กัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ Bitcoin ที่มีโครงสร้างค่าธรรมเนียมไม่ยั่งยืน เมื่อเจอกับความต้องการใช้งานมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ จึงเกิด “การติดขัด” ของระบบ (ดังรูปด้านบน) ที่เริ่มมีธุรกรรมค้างรอยืนยันใน mempool มากขึ้น

ที่มาภาพ : https://bitinfocharts.com/

นั่นแปลว่า หากผู้ใช้งานต้องการให้ธุรกรรมถูกยืนยันไวๆ ก็ต้องแนบค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ซึ่งตอนนี้ค่าธรรมเนียมของ Bitcoin อยู่ที่ราวๆ 2 ดอลลาร์ต่อธุรกรรมแล้ว (ดังรูปด้านบน) และหากไม่มีการโหวตเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนนี้หรือไม่มีการอัปเกรดระบบด้วย SegWit อาจมีแนวโน้มที่ท้ายสุดค่าธรรมเนียมจะขึ้นไปสูงจนเริ่มไม่คุ้มกับการทำธุรกรรมขนาดย่อม เช่น การซื้อกาแฟหรือจ่ายกับข้าว

จริงอยู่ที่ค่าธรรมเนียม 2 ดอลลาร์นั้นเล็กน้อยมากกับการโอนเงินปริมาณมากๆ ข้ามทวีป แต่ถ้าอีกหน่อยเราใช้มันซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันไม่ค่อยได้ มันก็ไม่เชิงเป็นเงินใช่ไหมครับ

แต่ Bitcoin เป็นเงินชั้นดีในเศรษฐกิจที่กำลังพัง

ที่มาภาพ : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Tear_gas_used_against_protest_in_Altamira,_Caracas;_and_distressed
_students_in_front_of_police_line.jpg

เพื่อนที่มาจากประเทศเวเนซุเอลาคนหนึ่งบอกกับผมอย่างหมดหวังว่าประเทศเขากำลังพังพินาศ บ้านเมือง (และคน) กำลังลุกเป็นไฟ อาหารหมดซุปเปอร์ ออกไปข้างนอกหลังพระอาทิตย์ตกไม่ได้ เงินเฟ้อก็อยู่ในระดับน่าเป็นห่วงมาก ในตลาดมืดแถบชายแดนอัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้คือราวๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 6,000 โบลิวาร์เวเนซุเอลา เทียบกับแค่ 1 ดอลลาร์ต่อ 400 โบลิวาร์เมื่อสองปีก่อนหน้านี้

ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่วิกฤติที่เวเนซุเอลาปะทุขึ้น จำนวนผู้ใช้ Bitcoin จากเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้นจากไม่กี่ร้อยเป็นเกือบแสน

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะว่าพวกเขาสูญเสียความเชื่อมั่นในเงินสกุลของตัวเอง เขาต้องการเอาทรัพย์สินออกจากสกุลเงินที่ไร้ค่าขึ้นทุกวี่ทุกวัน การแลกเก็บเป็นเงินสดในสกุลดอลลาร์ซ่อนไว้ที่บ้านก็ไม่ปลอดภัยนักในเวเนซุเอลา (ตั้งแต่ก่อนวิกฤตินี้แล้ว) และถึงแม้บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟก็ยังมีความจำเป็นต้องซื้อของใช้ประจำวันที่เกลี้ยงตลาด

การเอาตัวรอดในสถานการณ์แบบนี้ วิธีหนึ่งคือการเอาเงินโบลิวาร์ไปแลกเป็น Bitcoin (ผ่านมือถือหรือไม่ก็ตัวต่อตัว) และเอา Bitcoin ไปซื้อบัตรของขวัญ Amazon.com จากเว็บไซต์ Third-party จากนั้นสั่งของใช้นำเข้ามาจากสหรัฐฯ ส่วนอีกวิธีที่ไม่หลายต่อเท่าคือโอน Bitcoin แบบไร้ค่าธรรมเนียม ไร้ร่องรอย ฝากเพื่อนหรือญาติในประเทศเพื่อนบ้านให้เขาส่งของใช้มาให้ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่ไม่ต้องง้อรัฐหรือระบบการเงินที่กำลังถูกสั่นคลอน

ในกรณีพิเศษแบบนี้ Bitcoin ชนะเงินสกุลท้องถิ่นขาดในทั้งสองมิติ

มันคงคุณค่าได้ดีกว่าแผ่นกระดาษที่เอาไปชั่งกิโลขายยังได้อะไรมากกว่า ปลอดภัยกว่าการเก็บทรัพย์สินตัวเป็นๆ ไว้ในเมืองที่มีการปล้นเป็นกิจวัตร อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าที่กำลังขาดตลาดได้โดยที่ไม่ต้องแลกเงินด้วยอัตราแลกเปลี่ยนทางการที่บิดเบือน (มีของแถมคือเวเนซุเอลาอุดหนุนค่าไฟ Bitcoin จึงมีความน่าดึงดูดในสายตาของนักขุดด้วย)

นี่เป็นบทเรียนที่สะท้อนให้เห็นว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคบางกลุ่มจะเริ่มหันไปใช้เงินสกุลน้องใหม่เหมือนกัน

เพราะหากลองคิดดูดีๆ แล้วการที่เรายอมใช้เงินกระดาษ (fiat money) อยู่ทุกวันนี้ มันก็เป็นเพราะว่าความเชื่อสองแบบต่อไปนี้เสียมาก

ความเชื่อแรกคือเราเชื่อว่ากระดาษพวกนี้จะยังคงมีคุณค่าในวันต่อๆ ไป

คุณค่าที่ว่านี้มีนิยามที่กว้าง อาจจะเป็นคุณค่าในเชิงที่ว่าเราสามารถเอามันไปใช้แลกกับสินค้าและบริการได้แน่ๆ ไม่ต้องเป็นห่วงว่าเดี๋ยวพรุ่งนี้มูลค่ามันจะลดฮวบ หรือเป็นคุณค่าในเชิงที่ว่าเราสามารถใช้มันทำธุรกรรมได้กับทุกร้าน ได้อย่างรวดเร็ว มีต้นทุนต่ำ และรักษาความเป็นส่วนตัวได้ในระดับหนึ่ง

ส่วนความเชื่อที่สองคือเรามีเชื่อในความสามารถของผู้ควบคุมระบบเงิน (ธนาคารกลาง) ว่าเขาจะทำนโยบายการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรมต่อไป ไม่ถูก hack (ทั้งทางดิจิทัลและทางการเมือง) และไม่ใส่ฟืนให้เกิดวิกฤติการเงินแบบในหลายๆ ประเทศ เช่น ซิมบับเวที่อัตราเงินเฟ้อเคยขึ้นไปถึง 89,700,000,000,000,000,000,000% เมื่อท้ายปี 2008

การโน้มน้าวผู้บริโภคและผู้ผลิตให้เกิดความเชื่อทั้งสองนี้ขึ้นมาจากศูนย์เป็นโจทย์หินสำหรับเงินดิจิทัล ทว่ามันกลับเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดมันสมองในหมู่ผู้ประกอบการที่ชอบความท้าทายแทนเสียนั่น

สู่ระบบนิเวศเงินดิจิทัลในอนาคต

ที่มาภาพ : https://coinmarketcap.com/charts/

อีกเหตุผลที่ Bitcoin กับเงินดิจิทัลอื่นๆ เป็นได้มากกว่าแค่สินทรัพย์เสี่ยงสูงคือมันเป็นแม่แบบและหนูทดลองให้กับเงินดิจิทัลรุ่นใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่ได้คลอดออกมาตอนนี้ด้วยซ้ำ

แต่เดิมที่ Bitcoin เคยครองบัลลังก์ตลาดเงินดิจิทัลมานาน เพียงแค่ไม่กี่เดือนมานี้ก็เริ่มเสียส่วนแบ่งตลาดไปให้เงินสกุลใหม่ๆ ที่มีจุดขายแตกต่างกันอย่างรวดเร็ว (ดังภาพด้านบน) งานวิจัยล่าสุดพบว่าอัตราเกิดและตายของสกุลดิจิทัลนั้นพอๆ กันอยู่ที่ ประมาณ 1 สกุลต่อวัน

จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าในอนาคตหลังจากที่วัฏจักร “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย” ของสกุลดิจิทัลวนเวียนไปเรื่อยๆ แล้ว สุดท้ายจะเหลือ “สกุลผู้ชนะ” กี่สกุลที่จะมีจุดเด่นพอที่จะ “ตีตื้น” สกุลท้องถิ่นในเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีปัญหาเหมือนเวเนซุเอลา

นอกจากสกุล Ether (น้องคนรองของ Bitcoin) ที่มีจุดเด่นในการทำตัวเป็น “เชื้อเพลิงดิจิทัล” ในการขับเคลื่อน Dapps (decentralized applications) หรือ Dogecoin (สกุลสุนัขชิบะอินุ) ที่โดดเด่นในการสร้างความแน่นแฟ้นในหมู่ผู้ใช้งาน (หาได้ยากในสกุลอื่น) และเป็นสกุลที่คนนิยมเอาไว้ให้ทิปกับผู้ที่ทำความดีหรือสร้าง content ที่ถูกใจในโลกโซเชียลแล้ว ความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามที่สุดในขณะนี้คือสิ่งที่เรียกว่า “stablecoin” ซึ่งเป็นการสร้างเงินดิจิทัลที่มีเป้าหมายขจัดความผันผวนของราคาซึ่งเป็นจุดอ่อนของเงินดิจิทัลแทบทุกสกุล

กลุ่ม entreprenure ที่ชื่อ Maker กำลังสร้างเงินสกุล “DAI” ที่พยายาม automate หน้าที่ของธนาคารกลางโดยอาศัยการดีไซน์ระบบแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานบางกลุ่มมาทำหน้าที่เป็น “ผู้ควบคุม” คอยดูแลบริหารความเสี่ยงและความผันผวนของค่าเงิน อีกทั้งยังมีระบบ “เลือกตั้ง” สำหรับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบครั้งใหญ่ๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ เขากำลังทดสอบระบบที่ทำให้หลายหน้าที่ของธนาคารกลางกลายเป็นแบบ peer-to-peer โดยไร้ตัวกลาง และต้องการตอบโจทย์ความเชื่อทั้งสองโจทย์ที่ผมเกริ่นไปในช่วงที่แล้วของบทความพร้อมๆ กัน โดยทำการผูกเงินสกุลใหม่กับตะกร้าเงิน SDR ที่ค่อนข้างทรงตัวของ IMF (สร้างความเชื่อ #1) และดีไซน์ระบบแรงจูงใจกับระบบเลือกตั้ง/ประชามติเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการเงินโดยไม่ต้องมีตัวกลางจนมันไร้จุดบอดที่สุด (สร้างความเชื่อ #2)

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ากระจายหน้าที่ของธนาคารกลาง แบบ “ใครๆ ก็เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติได้” โดยอาศัยความฉลาดของระบบแรงจูงใจและไม่ต้องมีความน่าเชื่อถือใดๆ เลยยังเป็นเรื่องที่ฟังดูเหลือเชื่อมาก แต่ก็รู้สึกประทับใจที่กำลังมีคนกล้าปะทะกับโจทย์หินนี้

นอกจากการเป็นแม่แบบให้กับเงินสกุลใหม่ๆ ที่มาจากภาคเอกชนแล้ว Bitcoin กับผองเพื่อนยังสามารถเป็นต้นแบบในการออกเงินดิจิทัลโดยธนาคารกลางด้วย

ธนาคารกลางสหรัฐฯ เองก็ได้เริ่มศึกษาทางเลือกนี้แล้ว (Fedcoin) เนื่องจากเขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งอยู่เบื้องหลังสกุลดิจิทัลทั้งหลายจะสามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความปลอดภัยได้ อีกทั้งเป็นการช่วยผลักดันให้สังคมกลายเป็น cashless society ไปได้พร้อมๆ กัน

ข้อได้เปรียบหลักของ Fedcoin (หรือ BOTcoin ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยวันหนึ่งต้องการออกเงินดิจิทัลในอนาคต!) คือธนาคารกลางเป็นผู้ควบคุมปริมาณเงินกระดาษในสกุลท้องถิ่นด้วย ธุรกิจที่รับรายได้เป็นเงินดิจิทัลแต่มีรายจ่ายเป็นสกุลท้องถิ่นจะมีความต้องการในการบริหารความเสี่ยงนี้ แม้ว่าในอนาคตอาจมีบริษัทรับทำหน้าที่ช่วยคงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลดิจิทัลกับสกุลท้องถิ่น แต่ก็ไม่มีทางทำได้ดีเท่ากับธนาคารกลางที่ไม่มีวันเงินหมดกระเป๋า (สกุลท้องถิ่น)

ส่วนในมิติของความไม่ค่อยเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและการรวมอำนาจ (centralization) ในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินไว้กับคนกลุ่มเล็กๆ เหมือนเดิม บางคนมองว่ามันเป็นจุดอ่อนของเงินดิจิทัลที่รัฐออกเองโดยเฉพาะในยุคที่ประชาชนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเงินแบบสุดโต่ง ผมกลับมองว่าคนส่วนใหญ่ทั่วไปน่าจะยังเชื่อมั่นในความสามารถของธนาคารกลางของตน ประเด็นเหล่านี้ไม่น่ารุนแรงถึงขั้นเป็น “deal breaker” ตราบใดที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้รัฐสามารถถือโอกาสที่ตนเองเป็นศูนย์กลางเข้าไปละลาบละล้วงถึงทุกธุรกรรมของผู้คนมากเกินไป

ในกรณีที่สุดขีดมากๆ (ซึ่งไม่น่าจะมีใครยอม แต่ช่วยให้เห็นภาพ) รัฐอาจพยายามระงับไม่ให้ธุรกรรมบางประเภทเกิดขึ้นได้ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเช่น รัฐอาจไม่ต้องการให้ประชาชนซื้อหรือขายสุราในช่วงก่อนวันหยุดสงกรานต์เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตบนท้องถนน ประชาชนก็จะใช้เงินดิจิทัลที่รัฐควบคุมซื้อของจากร้านขายสุราไม่ได้ เป็นต้น

ในโลกแห่งความไม่แน่นอนนี้ ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ว่าเงินดิจิทัลสกุลไหนที่จะพบจุดยืนของตัวเองและผงาดขึ้นมาเป็นส่วนสำคัญของธุรกรรมทั้งหมดในโลก Bitcoin และผองเพื่อนที่กำลังได้รับความสนใจอย่างล้นหลามในวันนี้ วันหนึ่งอาจถูกเขี่ยตกกระป๋องภายในเวลาอันสั้นได้ แต่ที่แน่ๆ คือการมาของคลื่นลูกนี้ไม่ได้เป็นแค่กระแสเชื้อเชิญให้เราไปลงทุนกับมันในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงสูงเท่านั้น

แล้วผู้อ่านล่ะครับ คิดว่าเราจะได้เห็นระบบนิเวศเงินตราแบบไหนกันในอนาคต?

ติดตามบทวิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกจากมุมมองเศรษฐศาสตร์อ่านง่ายๆ ได้ที่ settakid.com