ThaiPublica > คนในข่าว > โรดรีโก ดูแตร์เต ฉายา “Duterte Harry” ผู้นำฟิลิปปินส์สไตล์จ่าโหด “Dirty Harry”

โรดรีโก ดูแตร์เต ฉายา “Duterte Harry” ผู้นำฟิลิปปินส์สไตล์จ่าโหด “Dirty Harry”

1 มิถุนายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ดูเตอร์เต สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 ของฟิลิปปินส์ เมื่อ 30 มิถุนายน 2016 ที่มาภาพ :https://en.wikipedia.org/wiki/Rodrigo_Duterte

หลังจากที่ระบอบเผด็จการมาร์กอสที่มีอำนาจมานานถึง 20 ปีล้มพังลงไปในปี 1986 การเมืองฟิลิปปินส์ในช่วง 30 ปีต่อมาตกอยู่ในสภาพสับสนวุ่นวาย เพราะเป็นช่วงสุญญากาศของภาวะผู้นำการเมือง รัฐบาลต่อมาของนางคอราซอน อากีโน ต้องเผชิญปัญหาการท้าทายในทุกๆ ด้าน เช่น ทหารกลุ่มหนึ่งวางแผนรัฐประหาร ขบวนการปฏิวัติของฝ่ายซ้าย ส่วนคนฟิลิปปินส์ทั่วไปก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปแท้จริง

การเอือมระอาของคนทั่วไปต่อความล้มเหลวที่จะปฏิรูปประเทศของบรรดานักการเมืองกระแสหลัก ทำให้ในเดือนพฤษภาคม 2016 คนฟิลิปปินส์ 39% ลงคะแนนเสียงเลือก โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ก่อนหน้านี้ ดูแตร์เตเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา (Davao) เกาะมินดาเนา มานานถึง 22 ปี เมื่อดูแตร์เตได้รับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นครั้งแรกในปี 1988 ดาวเวามีสภาพเป็นเมืองไร้ขื่อแป เต็มไปด้วยอาชญากรรม ส่วนทหารก็ปราบปรามพวกก่อการร้ายอย่างรุนแรง ดาวเวาเต็มไปด้วยความยากจน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนถูกเรียกว่า “นิคารักเดา” (Nicaragdao)

ในปี 1988 เมื่อครั้งที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกฯ เมืองดาเวาใหม่ๆ ดูแตร์เตเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Atlantic ว่า มีพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่คนหนึ่ง ที่บาดเจ็บจากการต่อสู้กับตำรวจและถูกนำไปรักษาที่โรงพยาบาล ตูเตอร์เตบอกว่า เขาเองเดินทางไปยังโรงพยาบาลทันที แล้วก็ดึงปลั๊กอุปกรณ์ช่วยชีวิตออก การใช้วิธีการที่รุนแรงต่อสู้กับอาชญากรรมของดูแตร์เตทำให้ดาเวาเปลี่ยนจากเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงกลายมาเป็นเมืองที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดูแตร์เตได้รับฉายาว่า “ดูแตร์เต แฮร์รี” เพราะมีบุคลิกแบบเดียวกันจ่าโหดในภาพยนตร์เรื่อง Dirty Harry ที่แสดงโดย คลินต์ อีสต์วูด

ผู้นำจากเกาะมินดาเนา

ดูแตร์เตมาจากครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่นของเกาะมินดาเนา เกาะที่ใหญ่สุดของทางใต้ฟิลิปปินส์ มีพื้นที่ใหญ่กว่า 125 ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือเนเธอร์แลนด์ ครอบครัวของดูแตร์เตเป็นแบบฉบับของเจ้าพ่อท้องถิ่นที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในประเทศที่การเมืองเป็นระบบอุปถัมภ์และการใช้ความรุนแรง แต่ดูแตร์เตเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากเกาะมินดาเนา ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ล้วนมาจากตระกูลชั้นนำของกรุงมะนิลา

มินดาเนาเป็นเกาะที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มากสุดของฟิลิปปินส์ เป็นพื้นที่ก่อการร้ายของกลุ่มกบฏมุสลิม อาบูไซยาฟ ที่ประกาศตัวภักดีต่อขบวนการ ISIS และยังเป็นฐานที่มั่นของกองทัพประชาชนใหม่ พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ ช่วงที่ดูแตร์เตไปเยือนรัสเซียในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อเจรจาซื้ออาวุธกับรัสเซีย กลุ่มกบฏมุสลิม มาอูเต (Maute Group) ที่ประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ISIS เข้ายึดครองเมืองมาลาวี เกาะมินดาเนา แม้จะยังเยือนรัสเซียอยู่ แต่ดูแตร์เตก็ประกาศกฎอัยการศึกทั่วเกาะมินดาเนา

ดูแตร์เตเกิดเมื่อปี 1945 ปัจจุบันอายุ 72 ปี จึงเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่มีอายุมากสุด เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง ดูแตร์เตเป็นผู้บริหารท้องถิ่นคนแรก ที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาสำเร็จการศึกษาด้านรัฐศาสตร์จาก Lyceum of the Philippines University ในปี 1968 และวิทยาลัยกฎหมาย San Beda College of Law ในมนิลา ช่วงที่ศึกษาที่ Lyceum ดูแตร์เตเคยเรียนกับ โจเซ่ มาเรีย ซิซอน (Jose Maria Sison) ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ในยุโรป หลังจากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ซิซอนเปิดเผยข้อความการหารือระหว่างเขากับดูแตร์เต เรื่อง การเจรจาสงบศึกกับกองทัพประชาชนใหม่

หลังจากจบการศึกษาด้านกฎหมาย ดูแตร์เตทำงานกับสำนักงานอัยการของเมืองดาเวา ในปี 1988 ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาเป็นสมัยแรก และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี บางช่วง ดูแตร์เตไม่ได้ลงสมัคร เพราะกฎหมายห้ามการดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 สมัย ช่วงเป็นนายกเทศมนตรี ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ 4 คน เคยเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยให้แก่ดูแตร์เต แต่เขาปฏิเสธหมด

ดูแตร์เต นำเสนอแผนภูมิที่แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายการค้ายาเสพติดของกลุ่มยาเสพติด ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Rodrigo_Duterte#/media/File:Rodrigo_Duterte_showing_diagram_of_drug_trade_network

ในช่วง 6 เดือนแรกที่ดูแตร์เตดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มีรายงานข่าวว่า มีคนเสียชีวิตไปแล้ว 6 พันกว่าคนจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดของเขา แม้จะเป็นวิธีการที่รุนแรงในการปราบปรามยาเสพติด แต่นโยบายของดูแตร์เตก็สะท้อนถึงสิ่งที่เป็นความวิตกกังวลลึกๆ ของคนฟิลิปปินส์ที่มีต่อปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ผู้นำการเมืองดั้งเดิมของฟิลิปปินส์ล้วนเพิกเฉยต่อปัญหานี้ และไม่สามารถแก้ปัญหาการกระทำที่ผิดกฎหมายต่างๆ

ดูแตร์เตและผู้สนับสนุนของเขาเห็นว่า ความสำเร็จจากการบริหารเมืองดาเวา จากเดิมเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงจากปัญหาอาชญากรรม การก่อการร้าย ทั้งพวกคอมมิวนิสต์ และพวกมุสลิมแยกดินแดน จนกลายมาเป็นเมืองหนึ่งที่รุ่งเรืองของฟิลิปปินส์ พิสูจน์ความสำเร็จของนโยบายรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยวิธีการที่ไม่จับคนร้ายเป็นนักโทษ หากคนในดาเวายอมรับนโยบายนี้ คนฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ก็คงจะยอมรับ Davoa Model เช่นกัน

ช่วงที่เป็นผู้บริหารเมืองดาเวา ดูแตร์เตนำความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจกลับมาเมืองนี้ โดยใช้มาตรการต่างๆ ที่สนับสนุนธุรกิจ พยายามดึงนักลงทุนจากมะนิลาและต่างประเทศเข้ามายังดาเวา การยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจจะต้องเสร็จภายใน 72 ชั่วโมง ในปี 2014 เศรษฐกิจดาเวาขยายตัวสูงถึง 9.4% มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ของฟิลิปปินส์ ดาเวามีศูนย์แจ้งเหตุ 911 ตำรวจท้องถิ่นมีรถสายตรวจใหม่วิ่งทั่วเมือง คนดาเวามองว่า แม้จะเป็นมาตรการเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็แสดงถึงการเอาจริงเอาจังของดูแตร์เต

ดูแตร์เตอาจเป็นผู้นำฟิลิปปินส์ที่ขาดวัฒนธรรมแบบผู้นำชั้นสูงของฟิลิปปินส์ที่ได้รับการศึกษาจากสหรัฐฯ เช่น นายเบนิกโน อากีโน ที่ 3 หรือ นางกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย การพูดจาต่างๆ ของเขาจึงเป็นแบบตรงๆ และก้าวร้าว เมื่อทูตสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติประณามวิธีการวิสามัญฆาตกรรมคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตูเตอร์เตตอบโต้ว่า ฟิลิปปินส์อาจถอนตัวจากสหประชาชาติ ตูเตอร์เตเองก็กล่าวว่า ที่เขาพูดก้าวร้าว เพราะ “ผมกำลังทดสอบคนชั้นนำของประเทศนี้ เพราะโดยพื้นฐาน เราเป็นประเทศเจ้าขุนมูลนาย”

ในเดือนกันยายน 2016 ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดของสมาคมอาเซียนที่กรุงเวียงจันทน์ นักข่าวถามดูแตร์เตว่า จะพูดกับโอบามาอย่างไร หากโอบามาหยิบยกปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมา ตูเตอร์เตตอบว่า “คุณก็รู้ว่าฟิลิปปินส์เลิกเป็นอาณานิคมสหรัฐฯ มานานแล้ว” และยังหลุดเป็นคำพูดออกมาว่า “ลูกโสเภณี” หลังจากพูดดูหมิ่นโอบามาไปแล้ว วันต่อมา ดูแตร์เตก็ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจที่การให้สัมภาษณ์ของเขาถูกเข้าใจว่าเป็นการโจมตีเป็นการส่วนตัวต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ดูแตร์เตได้พบกับโอบามาในช่วงสั้นๆ โอบามาอธิบายการพบปะครั้งนี้ว่า “ไม่ได้เป็นการพบกันที่นาน ผมได้แสดงท่าทีไปว่า คณะทำงานของผมควรจะได้พบกับคณะทำงานของเขา เพื่อกำหนดว่าเราจะเคลื่อนไปข้ามหน้าอย่างไรในประเด็นต่างๆ” แต่ดูแตร์เตพูดถึงการพบปะครั้งนี้ว่า “ผมกล่าวไปว่า ประธานาธิบดีโอบามา ผมคือประธานาธิบดีดูแตร์เต ผมไม่เคยพูดแบบนั้น ไปตรวจสอบได้เลย” แต่โอบามาแสดงท่าทีไม่ให้ความสำคัญต่อดูแตร์เต และกล่าวตอบว่า “คนของผมจะพูดกับคุณ”

ซินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นไปเยือนฟิลิปปินส์ ดูเตอร์เต พาไปดูบ้านของเขาที่เมืองดาเวา ไปดูห้องนอนที่ยังมีมุ้งกันยุง ที่มาภาพ : http://news.abs-cbn.com/news/01/13/17/look-japans-abe-visits-duterte-at-his-davao-home

ผู้นำที่มีชีวิตง่ายๆ

ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ของดูแตร์เตเป็นเหตุการณ์ที่น่าประหลาดอย่างหนึ่ง คู่แข่งของดูแตร์เตล้วนเป็นคนมีชื่อในระบบเดิมที่เป็นอยู่ คนที่มีความคิดความอ่านของฟิลิปปินส์ไม่มีใครคิดว่าดูแตร์เตจะชนะการเลือกตั้ง แต่ดูแตร์เตเป็นนักการเมืองที่มองการเมืองว่าเป็นการเข้าถึงชาวบ้าน การสร้างความผูกพันกับคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง จุดแข็งตรงนี้ไม่มีนักการเมืองคนไหนทำได้ดีกว่าดูแตร์เต เพราะเหตุนี้ ดูแตร์เตจึงเป็นนักการเมืองที่ไม่เคยแพ้การเลือกตั้งเลย

ดูแตร์เตยังทำให้นักการเมืองคู่แข่งเห็นตัวอย่างว่า ผู้นำการเมืองคือคนแบบธรรมดาสามัญ บทความของ New York Time เรื่อง การขึ้นมาเป็นผู้นำที่เข้มแข็งของดูแตร์เต เขียนไว้ว่า เมื่อขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี ดูแตร์เตต้องปรับตัวอย่างมาก หลังจากชนะการเลือกตั้ง แม้เวลาจะผ่านมาแล้วหลายเดือน ดูแตร์เตคิดว่าตัวเองยังเป็นนายกเทศมนตรีอยู่ ดูแตร์เตชอบที่จะกลับไปอยู่บ้านเดิมที่เมืองดาเวามากกว่าอยู่ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงมะนิลา บ้านเดิมที่ดาเวาเป็นบ้าน 2 ชั้นธรรมดาๆ ทุกวันนี้ บ้านหลังนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของดาเวา ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นก็เคยไปเยี่ยมบ้านหลังนี้มาแล้ว ห้องนอนของดูแตร์เตยังใช้มุ้งกันยุงอยู่ และเพิ่งติดตั้งเครื่องปรับอากาศเมื่อไม่นานมานี้เอง

ครั้งหนึ่ง ดูแตร์เตไปเยี่ยมศูนย์รักษาโรคมะเร็งเด็กที่ดาเวา แล้วเห็นว่าพวกเด็กๆ ที่ศูนย์ไม่มีโทรทัศน์ดู ดูแตร์เตกลับมาที่ศูนย์อีกพร้อมกับโทรทัศน์ 9 เครื่อง Dr.Mae Dolendo หัวหน้าศูนย์บอกกับ New York Times ว่า “ดูแตร์เตเป็นคนมีจิตใจช่วยเหลือคนมาก เราเคยมีประธานาธิบดีที่ทำตัวเหมือนกับที่เราทั้งหลายอยากเห็นคนเป็นประธานาธิบดีเขาทำกัน แต่คนพวกนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหาประเทศ ดูแตร์เตไม่ใช่คนที่สมบูรณ์แบบอะไร เขาชอบพูดด่าคน แต่เป็นคนที่แก้ปัญหาต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้”

หลังจากการเมืองฟิลิปปินส์ประสบกับปัญหาที่สับสนวุ่นวายและชะงักงันมาอย่างยาวนาน การมีผู้นำแบบดูแตร์เต สะท้อนสิ่งที่ อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio Gramsci) นักคิดสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงในต้นศตวรรษ 20 ของอิตาลี เคยกล่าวไว้ว่า “โลกเก่ากำลังตาย ส่วนโลกใหม่กำลังต่อสู้เพื่อที่จะได้เกิดขึ้นมา” ผู้นำแบบดูแตร์เตอาจเป็นผู้นำแบบใหม่ของฟิลิปปินส์ ที่กำลังเกิดขึ้น หรืออาจเป็นแค่ผู้นำในช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว