ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการโกงแวต 1,000 ล้าน – “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”คดีเก็บขยะ – “ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์” เรียกรับเงิน

ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดข้าราชการโกงแวต 1,000 ล้าน – “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”คดีเก็บขยะ – “ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์” เรียกรับเงิน

22 มิถุนายน 2017


นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช.

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลข้าราชการ ผู้บริหารและข้าราชการส่วนท้องถิ่น และผู้เกี่ยวข้อง กรณีโกงแวตพันล้าน 1 คดี จัดซื้อจัดจ้างผิดระเบียบ 1 คดี และเรียกรับเงิน 2 คดี รวม 4 คดี ดังนี้

คดีทุจริตขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,113 ล้านบาท

1. เรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย (1) นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 (2) นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ (3) นางศศิพิมพ์ บรรดาเสียง (4) นางสาวอารีย์วรรณ เกาสุวรรณ์ เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 และบุคคลที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย (1) นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ (2) นายวีรยุทธ แซ่หลก (3) นางสาวสายธาร แซ่หลก (4) นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ (5) นายประสิทธิ อัญญโชติ กรณีร่วมกันทุจริตในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จจำนวน 1,113,034,083 บาท

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐ และบุคคลที่มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้มีการแบ่งงานกันทำเป็นขบวนการ โดยร่วมกันจัดหาราษฎรเพื่อไปขอจัดตั้งบริษัทส่งออก แต่ไม่มีการประกอบการจริง และดำเนินการออกใบกำกับภาษีเท็จ ทั้งที่ไม่มีการส่งออกสินค้าจริง แล้วนำหลักฐานใบกำกับภาษีปลอมไปยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ที่ถูกกล่าวหาข้างต้น โดยในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ดังกล่าวไม่ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบหลักเกณฑ์วิธีการที่กรมสรรพกรกำหนด เป็นเหตุให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบ จำนวน 1,113,034,083 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่านายพายุ สุขสดเขียว นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ นางศศิพิมพ์ บรรดาเสียง และนางสาวอารีย์วรรณ เกาสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

สำหรับนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ นายวีรยุทธ แซ่หลก นางสาวสายธาร แซ่หลก นายกิตติศักดิ์ อัญญโชติ และนายประสิทธิ อัญญโชติ มีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด ให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยัง อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป

นอกจากนี้ จากการไต่สวนยังพบว่ามีบุคคลที่ได้รับเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยมิชอบ รวม 23 ราย แต่ไม่พบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าบุคคลทั้ง 23 ราย และนายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ ได้รับเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด ซึ่งอาจมีมูลความผิดฐานฟอกเงิน จึงมีมติให้ส่งไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อดำเนินคดีฐานฟอกเงิน รวมทั้งถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีเงินได้ จึงให้ส่งกรมสรรพกรเพื่อเรียกเก็บภาษีเงินได้ เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับด้วย

นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ที่มาภาพ : https://www.matichonweekly.com/scoop/article_6606

คดีเก็บขยะ “ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม”

2. เรื่องกล่าวหานายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ นางบารนี เลิศไพศาล ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ และนางดวงเดือน แย้มละออ ผู้อำนวยการกองคลัง เทศบาลนครสมุทรปราการ

กรณีทำสัญญาจ้างเก็บขยะมูลฝอยและกวาดถนนในเขตพื้นที่เทศบาลนครสมุทรปราการ โดยกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง 5 ปีติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณ โดยมิชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ได้ทำสัญญาว่าจ้าง บริษัท ร่วมค้าแอดวานซ์เทค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท เมืองสะอาด จำกัด ในนามของ “กิจการร่วมค้าปากน้ำเมืองสะอาด” เพื่อทำการเก็บขนขยะมูลฝอยและกวาดถนนในเขตพื้นที่เทศบาลนครสมุทรปราการ โดยข้อสัญญากำหนดให้ผู้รับจ้างต้องเข้าดำเนินการตามสัญญาจ้างเป็นประจำทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2546 รวมเป็นระยะเวลา 5 ปีติดต่อกัน กำหนดวิธีการจ่ายเงินค่าจ้างเป็นรายเดือน เดือนละ 2,145,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 128,700,000 บาท

โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือทักท้วงการทำสัญญาดังกล่าวว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณโดยมิชอบ เนื่องจากมิใช่เป็นโครงการประเภทที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และมิได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ข้อ 38 ซึ่งจังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลนครสมุทรปราการทราบแล้ว แต่นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม และนางบารนี เลิศไพศาล ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ กลับได้ร่วมกันจัดทำหนังสือชี้แจงว่าเทศบาลนครสมุทรปราการสามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณได้ในทุกหมวดรายจ่ายและทุกโครงการ ตามนัยข้อ 38 วรรคแรก แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2541 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 และเทศบาลนครสมุทรปราการได้ดำเนินการเป็นไปตามระเบียบกฎหมายครบถ้วนทุกประการแล้ว

ต่อมา จังหวัดสมุทรปราการได้มีหนังสือแจ้งขอให้เทศบาลนครสมุทรปราการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นโดยเคร่งครัด โดยไม่อาจอ้างได้ว่าเทศบาลสามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหนึ่งปีงบประมาณได้ตามเหตุผลดังกล่าว และให้รายงานจังหวัดทราบต่อไป แต่นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม และนางบารนี เลิศไพศาล กลับมิได้ดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแต่อย่างใด รวมทั้งมิได้ชะลอหรือยกเลิกสัญญาเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ระเบียบกฎหมายของทางราชการกำหนด

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่า

    (1) นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157
    (2) นางบารนี เลิศไพศาล มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

ให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อลงโทษทางวินัย และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญา แล้วแต่กรณีต่อไป

สำหรับกรณีของนางดวงเดือน แย้มละออ จากการไต่สวนยังไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานชัดเจนเพียงพอว่าได้ร่วมกระทำความผิดแต่อย่างใด ข้อกล่าวหาจึงไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง เรียกรับเงินก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.

3. เรื่องกล่าวหานายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง และนายวิสิทธิ์ ทองพรหม วิศวกรโยธา 8 วช เทศบาลเมืองบางบัวทอง กรณี (1) เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการสั่งจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. ป้องกันน้ำท่วมบริเวณริมคลองบ้านกล้วยฝั่งทิศใต้ของเทศบาลเมืองบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี (2) เรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการคืนเงินค่าปรับตามมติคณะรัฐมนตรี

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า

กรณีที่ (1) นายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด ให้ก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. เพื่อป้องกันน้ำท่วม ระยะเวลา 180 วัน วงเงิน 6,300,000 บาท แต่บริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จทันตามสัญญา โดยงานแล้วเสร็จเกินเวลาในสัญญา 262 วัน จึงต้องเสียค่าปรับวันละ 15,750 บาท รวมค่าปรับทั้งสิ้น 4,126,500 บาท คงเหลือเงินค่าจ้างที่จะได้รับ 2,173,500 บาท ซึ่งหลังจากที่มีการส่งมอบงานและตรวจรับถูกต้องครบถ้วน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2556 ต่อมานายพินิจ ตันกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท จึงได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องการจ่ายเงินค่าจ้างกับนายวิสิทธิ์ ทองพรหม เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 และได้รับแจ้งว่าต้องตกลงเรื่องเงินเปอร์เซ็นต์ที่ต้องจ่ายให้แก่ ดร.อาวุธ เอง

หลังจากนั้น นายวิสิทธิ์ ทองพรหม ได้ติดต่อกลับไปยังนายพินิจว่า “กำนันจะไหวหรือเปล่า ถ้าต้องจ่าย 500,000 บาท ถ้าตกลงจ่ายตามนี้ให้รีบมารับเช็คค่าจ้างจำนวน 2 ล้านบาทเศษ ที่เทศบาลเมืองบางบัวทองได้เลย” แต่นายพินิจไม่ยอมจ่ายเงินดังกล่าวให้กับ ดร.อาวุธ และหลังจากนั้นนายพินิจได้มอบอำนาจให้เลขานุการส่วนตัวของนายพินิจ ติดตามทวงถามเงินค่าจ้างแทน ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2557 เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี เทศบาลเมืองบางบัวทอง ได้จัดทำเช็คระบุชื่อบริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด เป็นผู้รับเงิน จำนวน 2,114,621.50 บาท ซึ่งเป็นเงินหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว เสนอผู้มีอำนาจลงนาม

และในวันเดียวกัน นายพินิจได้โทรศัพท์ติดต่อ ดร.อาวุธ เพื่อขอรับเงิน ดร.อาวุธ จึงได้เรียกเงินจากนายพินิจเป็นเศษเงินตามค่าจ้างที่จะได้รับจำนวนประมาณ 114,621 บาท นายพินิจจึงได้เขียนเช็คเงินสด ลงวันที่ 28 มกราคม 2557 สั่งจ่ายเงินจำนวน 110,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของบริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด มอบให้เลขานุการส่วนตัวร่วมกับหุ้นส่วนของบริษัทอีกราย ไปเบิกเงินจากธนาคาร แล้วนำเงินจำนวน 110,000 บาท ไปมอบให้ ดร.อาวุธ โดย ดร.อาวุธ แจ้งให้ไปฝากไว้กับเจ้าหน้าที่หน้าห้องรายหนึ่ง เพื่อมอบให้ ดร.อาวุธ ต่อไป จากนั้นในวันเดียวกัน บริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด จึงได้รับเช็คค่าจ้างก่อสร้าง

กรณีที่ (2) ภายหลังจาก บริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด ได้ส่งมอบงานโครงการข้างต้นแล้ว ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2556 มีนโยบายช่วยเหลือผู้รับจ้างกรณีขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั่วประเทศ จึงให้หน่วยงานของรัฐต่อสัญญาจ้างก่อสร้างให้ผู้รับจ้างเป็นเวลา 150 วัน ดังนั้น กรณี บริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด ส่งมอบงานก่อสร้างโครงการเขื่อน ค.ส.ล. ล่าช้ากว่าที่กำหนดในสัญญาเป็นระยะเวลา 262 วัน จึงได้รับสิทธิการต่อสัญญาจ้างอีก 150 วัน ทำให้มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้ากว่าสัญญาคืนจากเทศบาลเมืองบางบัวทอง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,362,500 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีได้จัดทำรายงานจัดทำเช็ค/ใบถอน ระบุชื่อ บริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด เป็นผู้รับเงิน ซึ่ง ดร.อาวุธ ได้ลงลายมือชื่อในรายงานจัดทำเช็ค/ใบถอน แต่ไม่ได้ลงวันที่กำกับไว้ พร้อมทั้งสั่งการเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีว่ายังไม่ให้จ่ายเช็คคืนค่าปรับให้กับบริษัท ฤดีประยงค์ จำกัด แต่ให้เจ้าของบริษัทมาพบกับ ดร.อาวุธ ก่อน

หลังจากที่นายพินิจ ได้มีหนังสือทวงถามเรื่องคืนเงินค่าปรับจากเทศบาลเมืองบางบัวทองแล้วก็ได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัวติดตามเงินดังกล่าวจากเทศบาลเมืองบางบัวทองมาโดยตลอด ดร.อาวุธ บอกกับนายพินิจว่าเซ็นเช็คเรียบร้อยแล้ว ให้เตรียมเงินมาให้ก้อนหนึ่ง นายพินิจต้องการได้รับเงินค่าปรับคืนจากเทศบาลเมืองบางบัวทอง เพราะว่าวันดังกล่าวเป็นวันสิ้นปีงบประมาณ และเข้าใจว่าหากไม่ได้รับคืนเงินค่าปรับจากเทศบาลเมืองบางบัวทองในวันดังกล่าวก็จะไม่ได้รับเงินค่าปรับคืน จึงจำยอมต้องนำเงินสดจำนวน 50,000 บาท มอบให้เลขานุการส่วนตัวนำไปมอบให้ ดร.อาวุธ แต่ ดร.อาวุธ บอกว่าเงินดังกล่าวไม่พอ ขอเงินเพิ่มอีก 50,000 บาท แต่นายพินิจยังไม่ยอมจ่ายเงินตามที่ถูกเรียกร้องเพิ่ม ทำให้หุ้นส่วนบริษัทรายหนึ่งขอให้เลขานุการส่วนตัวของนายพินิจเบิกเงินส่วนตัวจำนวน 50,000 บาท ไปจ่ายให้ ดร.อาวุธ ก่อน รวมนำไปมอบให้ ดร.อาวุธ เป็นเงิน 100,000 บาท เสร็จแล้วให้รีบไปรับเช็คคืนเงินค่าปรับจากเทศบาลเมืองบางบัวทอง

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่านายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ มีมูลความผิดตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป สำหรับนายวิสิทธิ์ ทองพรหม ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอว่ากระทำความผิด ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/MR.ARWUT/ เฟซบุ๊กดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง (The Official)

ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทองเรียกรับเงินงานก่อสร้างยกระดับถนน

4. เรื่องกล่าวหานายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง กรณีเรียกรับเงินจากผู้รับจ้าง เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการสั่งจ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างยกระดับถนน พร้อมวางท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. และบ่อพัก ค.ส.ล. ถนนเทศบาล 13

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง ได้ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ส.อำนาจพัฒนาก่อสร้าง วิศวกรรม ดำเนินการก่อสร้างโครงการยกระดับถนนพร้อมวางท่อระบายน้ำ ค.ส.ล. และบ่อพัก ค.ส.ล. ถนนเทศบาล 13 วงเงิน 5,000,000 บาท กำหนดจ่ายเงินค่าจ้าง 4 งวด และทำงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 หากผู้รับจ้างดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามกำหนดจะต้องชำระค่าปรับให้แก่ผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงินวันละ 12,500 บาท ผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 และได้รับค่าจ้างงวดที่ 1 จำนวน 946,619.63 บาท ซึ่งเป็นเงินหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้รับจ้างส่งมอบงาน งวดที่ 2 ซึ่งเกินระยะเวลาตามสัญญาไป 22 วัน ต้องเสียค่าปรับทั้งสิ้น 275,000 บาท คงเหลือเบิกจ่ายหลังจากหักภาษีแล้วจำนวน 816,750 บาท

ต่อมาชาวบ้านได้ขอให้หยุดดำเนินการก่อสร้าง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน จึงมีการชะลอการก่อสร้างไว้ก่อน ผู้รับจ้างจึงได้นำเงินทุนไปหมุนเวียนโครงการอื่น แต่เมื่อกลับมาดำเนินการต่อไม่มีเงินทุน นายอำนาจ สานุช หุ้นส่วนผู้จัดการ จึงได้ไปยืมเงินนายอาวุธ จำนวน 500,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 บาทต่อปี กำหนดเวลาชำระหนี้ทั้งต้นทั้งดอกภายใน 1 ปี ต่อมาผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานงวดที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย แต่งานไม่เรียบร้อย ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดในสัญญาจ้าง โดยการปรับลดเนื้องานและค่าจ้าง ผู้รับจ้างได้แก้ไขและส่งมอบงานอีกครั้ง มีการตรวจรับถูกต้องครบถ้วนเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 พร้อมกับขอเบิกเงินจำนวน 2,933,500 บาท แต่เนื่องจากผู้รับจ้างดำเนินการไม่เสร็จทันตามสัญญา ต้องเสียค่าปรับจำนวน 1,537,500 บาท รวมทั้งสภาเทศบาล เห็นชอบให้ตัดลดเนื้องานงวดที่ 4 เป็นเงิน 193,140.97 บาท เหลือเบิกจ่ายจำนวน 1,202,859.03 บาท นายอำนาจได้บอกให้นายอาวุธเบิกจ่ายค่าจ้างให้ แต่นายอาวุธกลับบอกให้นายอำนาจนำเงินสดมาชำระหนี้ให้นายอาวุธก่อนจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน จึงต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 75,000 บาท แต่นายอาวุธขอดอกเบี้ยเป็นเลขกลม จำนวน 100,000 บาท รวมถึงเงินค่าตอบแทนพิเศษของนายวิเชียร เจริญนนทสิทธิ์ พี่ชายนายอาวุธ ซึ่งเคยเป็นนายก อบต.บางบัวทอง ที่ต้องได้รับจากนายอำนาจอีกจำนวน 100,000 บาท แต่นายอำนาจไม่มีเงินจ่าย นายอาวุธจึงบอกว่าถ้าไม่มีเงินมาให้ก็ไม่ต้องมารับเช็คค่าจ้าง

ต่อมาเจ้าพนักงานธุรการได้ขออนุมัติเบิกเงินจ่ายขาดสะสม เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 เสนอนายอาวุธ ให้อนุมัติฎีกาเบิกจ่ายเงินงวดงานที่ 3 และ 4 จำนวน 1,177,248.20 บาท ซึ่งเป็นเงินหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ให้ผู้รับจ้าง แต่นายอาวุธเก็บฎีกาไว้ แล้วบอกว่า “เช็คฉบับนี้ให้เค้ามาคุยกับผมก่อน” นายอำนาจจึงได้ขอความเป็นธรรมไปยังศูนย์ดำรงธรรม และนายอำเภอบางบัวทอง ได้ติดต่อไปยังนายอาวุธให้ลดดอกเบี้ยให้นายอำนาจ

ต่อมาได้มีรองนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทองรายหนึ่งแจ้งให้นายอำนาจนำเงินจำนวน 600,000 บาท ไปจ่ายให้นายอาวุธ เพื่อจะได้รับเช็คค่าจ้าง แต่นายอำนาจไม่มีเงินจำนวนดังกล่าว จนนายอาวุธได้บอกให้นายไตรภพ แจ้งดี เพื่อนของนายอำนาจ นำเงินจำนวน 600,000 ให้นายอำนาจยืม ซึ่งนายไตรภพอยู่ในสภาวะจำยอมนายอาวุธ จึงนำเงิน 600,000 บาท ให้นายอำนาจยืม หลังจากได้มอบเงิน 600,000 บาท ให้นายอาวุธแล้ว นายอำนาจจึงได้รับเช็คค่าจ้างจำนวน 1,177,248.20 บาท นอกจากนี้ รองนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทองรายดังกล่าว ยังได้ขอให้นายอำนาจ ถอนเรื่องร้องเรียนของนายอาวุธด้วย

คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้ว จึงมีมติว่านายอาวุธ หรือ ดร.อาวุธ เจริญนนทสิทธิ์ มีมูลความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 มาตรา 152 และมาตรา 157 ให้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป