ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “บิ๊กตู่” แจงเรื่องสปท. เสนอปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี

“บิ๊กตู่” แจงเรื่องสปท. เสนอปลดบอร์ด AOT-เลิกสัมปทานดิวตี้ฟรี

1 มิถุนายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.

หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้านำเสนอข่าว ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับ ดูแล และตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เช่น คณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.), สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร และคณะผู้บริหารของ ทอท. มาประชุมที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 เมษายน 2560 เพื่อพิจารณาปัญหากรณีผู้ตรวจการแผ่นดิน, สปท. และ สตง. ตรวจสอบการบริหารสัญญาสัมปทานร้านค้าปลอดอากรและสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ ทอท. อาจไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ทำรายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด และข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาสั่งการ

โดยเฉพาะในกรณีของ สปท. ที่ตรวจพบหลักฐานการกระทำความผิดในหลายประเด็นดังนี้

1.โครงการเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ตามที่ปรากฏหลักฐานในคำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด, การคำนวณมูลค่าโครงการไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด (ไม่ให้นำค่าเสื่อมราคาของอาคารมาคำนวณมูลค่าโครงการ)

2.การประมูลโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์มีเพียง 5 บริษัทที่ยื่นซองประกวดราคา ไม่พบข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ยื่นแบบแสดงคุณสมบัติผู้เสนอราคา ภายหลังการประมูล ทอท. ได้กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล ปรากฏว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่เพิ่งจดทะเบียนตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 เข้ามาทำสัญญากับ ทอท.ในวันที่ 25 มีนาคม 2548 แทน การเปลี่ยนคู่สัญญาดังกล่าว อาจผิดเงื่อนไข TOR ที่ระบุว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์บริหารพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ปี และเคยบริหารพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร มียอดขายปีละ 500 ล้านบาท

3.กรณี ทอท. ติดตั้ง Point Of Sale (POS) เชื่อมต่อระบบข้อมูลการซื้อ-ขายสินค้ากับกลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ล่าช้าถึง 9 ปี

4.ไม่ดำเนินการเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์จากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในส่วนที่ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา ทำให้ ทอท. ขาดรายได้

และนับจากวันที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ยอมรับว่ามีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาคำชี้แจงของ สปท. พร้อมข้อเสนอแนะ 5 ข้อจริง แต่ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานใดออกมาชี้แจงในประเด็นที่คณะอนุกรรมาธิการฯ สปท. นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร

วันที่ 30 พฤษภาคม 2560 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้ถามประเด็นนี้กับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกครั้งว่ากรณี สปท. ส่งผลการศึกษาและมีข้อเสนอแนะถึงนายกรัฐมนตรี ให้ปลดบอร์ด ทอท. และยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ มีความคืบหน้าอย่างไร รวมทั้งได้สั่งการอะไรเพิ่มเติม และจะได้ข้อสรุปเมื่อไหร่

หลังการประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่เขียนคำตอบกลับมาว่า “ปลดเรื่องอะไร การสอบสวนและกฎหมายว่าอย่างไร แจ้งความกันหรือยัง ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่รัฐบาลจะเอาเรื่องที่มีกระแสมาทำโดยไม่มีที่มา หลักฐานการทุจริต ผู้เสียหาย กระบวนการยุติธรรมว่าอย่างไร”

ด้านนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบฯ สปท. เปิดเผยถึงความเป็นมาของเรื่องนี้ว่า เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2557 มีหนังสือร้องเรียนพร้อมหลักฐานเข้ามาที่ สปท. ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้รับเรื่องเอาไว้ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการฯ ทำการศึกษาในเรื่องการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บน ประเภทร้านค้าปลอดอากร บนประเภทร้านค้าปลอดอากร ให้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ สปท. ทำสรุปส่งนายกรัฐมนตรี และเรื่องนี้เป็นเรื่องสุดท้ายที่ สปท. ทำสรุปเรื่องส่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2559 จากนั้น นายวิษณุ เครืองาม นัดคณะอนุกรรมาธิการฯ มาชี้แจงครั้งแรกวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมดให้นายวิษณุรับทราบในรายละเอียดของสัญญาฯ ที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 พร้อมหลักฐานจนเป็นที่ยอมรับ และนายวิษณุได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะนำเรื่องนี้เสนอนายกรัฐมนตรี นอกจาก สปท. แล้ว ก็ยังมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งรายงานผลการตรวจสอบให้นายกรัฐมนตรีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 รวมทั้งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วช่วงปลายเดือนมีนาคม 2560 สรุปทุกหน่วยงานสรุปเรื่องส่งนายกรัฐมนตรีแล้ว หากมีข้อสงสัยประการใด ก็สามารถสั่งการให้ทุกหน่วยงานส่งหลักฐานมาให้ดูได้