ThaiPublica > เกาะกระแส > EXIM BANK เจาะตลาด CLMV เปิดสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้ง ส่งเสริมการลงทุนไทย-เมียนมา

EXIM BANK เจาะตลาด CLMV เปิดสำนักงานผู้แทนกรุงย่างกุ้ง ส่งเสริมการลงทุนไทย-เมียนมา

9 มิถุนายน 2017


นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK และนายนี เพียว ลา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารการค้าต่างประเทศของเมียนมา (MFTB) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง EXIM BANK กับ MFTB โดยมีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นสักขีพยาน

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2560 นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมา โดยกรรมการและผู้บริหารธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของไทยและเมียนมา รวมทั้งผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย เข้าร่วมงานเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมเซโดนา ย่างกุ้ง เมียนมา

นายอภิศักดิ์กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเทศที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง และมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ EXIM BANK เลือกที่มาเปิดสำนักงานผู้แทนในกรุงย่างกุ้ง เมียนมา ซึ่งเป็นสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศแห่งแรกของ EXIM BANK สะท้อนถึงความสำคัญที่ไทยให้กับเมียนมา ในระยะต่อไป นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกทางการเงินซึ่งเป็นภารกิจหลักของ EXIM BANK อยู่แล้ว ขอให้ EXIM BANK เป็นทูตมิตรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเมียนมาอีกตำแหน่งหนึ่ง กล่าวคือ เป็นที่ปรึกษาให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ อำนวยความสะดวกประสานงานและการจับคู่ทางธุรกิจ และเชื่อว่าการเปิดสำนักงานผู้แทนในต่างประเทศในวันนี้เป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของประชาชนและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่า จากแผนแม่บท 10 ปี (ปี 2560-2570) ของ EXIM BANK ที่มุ่งเป้าหมายจะเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจชั้นนำระดับโลกที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย โดยสอดคล้องกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีของประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) EXIM BANK จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์หลักประการหนึ่งที่จะส่งเสริมการค้าและการลงทุนด้วยการสร้างความต้องการสินค้าและบริการของไทยในประเทศตลาดหลักและประเทศตลาดใหม่ (Market Maker)

โดยเริ่มต้นจากการศึกษาในเชิงลึกถึงโอกาส ช่องทาง และอุปสรรคทางธุรกิจระหว่างประเทศ และพบว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเป็นอันดับแรก โดยพิจารณาจากความต้องการสินค้าและบริการของไทย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการค้าการลงทุนของรัฐบาลเมียนมา ทำให้ผู้ประกอบการไทยจำนวนมากต้องการขยายธุรกิจการค้าการลงทุนเข้ามาในตลาดเมียนมา ณ เดือนเมษายน 2560 ไทยมีมูลค่าเงินลงทุนสะสมเท่ากับ 10.92 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 15.38 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมดในเมียนมา ขณะที่สินค้าส่งออกของไทยไปเมียนมาก็ได้รับความนิยม เช่น เครื่องดื่ม นํ้าตาลทราย นํ้ามันสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์ สัตว์มีชีวิต สินแร่โลหะ และผักผลไม้จากเมียนมา วันนี้ EXIM BANK พร้อมแล้วที่จะเปิดสำนักงานผู้แทนแห่งแรกในย่างกุ้ง เมียนมา สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ EXIM BANK เร่งขยายบทบาทในเชิงรุกเพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า การเปิดสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง เมียนมาจะเป็นก้าวแรกของ EXIM BANK ในการขยายบทบาทในการส่งเสริมการค้าการลงทุนใน CLMV ที่ผ่านมาธนาคารให้การสนับสนุนโครงการลงทุนในภูมิภาคมานานกว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่เปิดดำเนินการในปี 2537 จนถึงปัจจุบัน EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินให้แก่โครงการลงทุนในเมียนมาเป็นมูลค่ารวมกว่า 26,000 ล้านบาท เช่น การสร้างสนามบินมัณฑะเลย์ การพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติและท่อก๊าซไทย-เมียนมา การให้เงินกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาเมียนมาโดยซื้อสินค้าและบริการจากไทย การสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อน และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญ เช่น โรงงานผลิตนํ้าตาล ยางในรถจักรยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการไทยในเมียนมาจำนวนกว่า 18 โครงการ ประมาณการมูลค่าโครงการรวม 700,000 ล้านบาท ทั้งนี้ การดำเนินบทบาทของ EXIM BANK จะมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงไปด้วยกันระหว่างทั้งสองประเทศ และเชื่อมโยงต่อไปยังประเทศและภูมิภาคอื่นๆ

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้งจากธนาคารกลางเมียนมา (the Central Bank of Myanmar: CBM) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2560 พร้อมเปิดดำเนินงานสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเมียนมา โดยมีนายวรมินทร์ ถาวราภา เป็นหัวหน้าสำนักงานผู้แทนในย่างกุ้ง ทำหน้าที่ดูแลลูกค้าของธนาคารในเมียนมา กระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนในเมียนมา โดยให้คำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกทางธุรกิจ จับคู่ทางธุรกิจและสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทย ศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และจัดทำรายงานด้านการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนไทย-เมียนมา และทำงานร่วมกันเป็นทีมไทยแลนด์

ยกระดับความร่วมมือ “ไทย-เมียนมา”…ต่อยอดความแข็งแกร่งสู่อนุภูมิภาค CLMVT

ฝ่ายวิจัยธุรกิจ EXIM BANK รายงานว่าแม้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศดำเนินไปอย่างราบรื่นตลอดมา แต่ด้วยบริบทการค้าการลงทุนของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่มีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับมีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไทยและเมียนมาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่ง “ยกระดับ” ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจากการเป็นเพียง “ผู้ซื้อและผู้ขาย” ที่ต่างฝ่ายต่างมองประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง สู่การเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ” (Economic Cooperative Partners) ที่จะสร้างประโยชน์ทางการค้าการลงทุนร่วมกันในลักษณะ Win-Win Strategy ผ่านการเชื่อมโยงจุดแข็ง (Connecting the Strengths) และปิดจุดอ่อน (Closing the Weaknesses) ซึ่งกันและกัน ไทยและเมียนมาต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันแต่สามารถเติมเต็มกันได้อย่างลงตัว สะท้อนได้จากความพร้อมในแง่ปัจจัยการผลิตที่นำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการซึ่งจะก่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปด้วยกัน

โดยพบว่าเมียนมามีจุดแข็งในด้านที่ดิน (ทรัพยากรธรรมชาติ) และแรงงานราคาถูกที่มีอยู่จำนวนมาก ขณะที่ไทยก็มีจุดเด่นในด้านทุน (เครื่องจักร และเทคโนโลยีการผลิต) และผู้ประกอบการที่มีความเข้มแข็งในหลายอุตสาหกรรม ปัจจัยเกื้อหนุนข้างต้นถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น อาทิ เสื้อผ้าและรองเท้า และอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบหลัก อาทิ เกษตรแปรรูป พลังงาน ซึ่งควรมองหาลู่ทางเข้าไปลงทุนในเมียนมาเพื่อเชื่อมโยงจุดแข็งของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกันผ่านการยกระดับห่วงโซ่อุปทานในขั้นตอนที่แต่ละฝ่ายเชี่ยวชาญ ในขณะที่ภาครัฐของทั้งสองประเทศกำลังร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจทั้งในด้าน Hard Side อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมเพื่อเชื่อมโยงทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน และด้าน Soft Side อาทิ การขจัดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด ตลอดจนการร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรทั้งสองประเทศ เพื่อเติมเต็มศักยภาพซึ่งกันและกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ไทยและเมียนมาถือเป็นจิกซอว์ชิ้นสำคัญในการเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMVT (ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) เข้าด้วยกัน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ในการเป็นสะพานเชื่อมไปยังตลาดศักยภาพหลายแห่ง กล่าวคือ เมียนมาถือเป็น Super Highway ไปสู่ตลาดที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดีย ขณะที่ไทยเองก็เป็นจุดเชื่อมของ 4 ตลาดที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงที่สุดในโลกอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ทำให้หากมีการสร้างความเชื่อมโยงภายใต้ยุทธศาสตร์ CLMVT อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นผ่านการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ต่างๆ โดยล่าสุดประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงกับ Economic Corridors เดิม โดยเฉพาะ Southern Economic Corridor และโครงการเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ (One Belt One Road) ของจีน ซึ่งจะช่วยขยายเครือข่ายตลาดการค้าการลงทุนและการแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตระหว่างกัน อันจะช่วยยกระดับการผลิตจากเดิมที่ต่างคนต่างผลิตไปสู่การที่ทุกประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตของอนุภูมิภาคร่วมกัน แนวทางข้างต้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองและหนุนให้การค้าการลงทุนภายในอนุภูมิภาค CLMVT แข็งแกร่งมากขึ้น และเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคงภายใต้บริบทการค้าการลงทุนของโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา