ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์โบราณวัตถุ เส้นบางๆ ระหว่างวิชาการกับอุบายเพื่อค้าขายอันล้ำลึก

วิเคราะห์โบราณวัตถุ เส้นบางๆ ระหว่างวิชาการกับอุบายเพื่อค้าขายอันล้ำลึก

18 มิถุนายน 2017


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา นักศึกษาปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

สำหรับคนที่ตามเรื่องการทวงคืนวัตถุโบราณอยู่คงคุ้นตากับชื่อ Emma C. Bunker ที่เขียนหนังสือและบทความมากมายเกี่ยวกับปฏิมากรรมสัมฤทธิ์ที่ได้มาจากปราสาทปลายบัด 2 บ้านยายแย้ม จ.บุรีรัมย์ และปฏิมากรรมสัมฤทธิ์กัมพูชา งานวิชาการเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการเริ่มทวงคืนของโบราณกลับสู่ประเทศไทย หนังสือที่เธอเขียนกับนักสะสมของโบราณที่ทำตัวเป็นพ่อค้าและนักประวัติศาสตร์ศิลป์ด้วยอย่าง Douglas A. J. Latchford ได้กลายเป็นหนังสือสำคัญในแง่งานวิจัยและข้อมูลศิลปะเขมรโบราณ

แต่เมื่อเร็วๆ นี้ หนังสือพิมพ์ New York Times ได้ออกมาเผยแพร่จุดยืนทางวิชาการที่คลุมเคลือและขาดจรรยาบรรณของสองคนนี้ โดยที่อัยการเขต Manhattan ได้ระบุว่าทั้งสองคนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับ Nancy Wiener เจ้าของห้องจัดแสดงและประมูลวัตถุโบราณในนครนิวยอร์ก เพื่อบิดเบือนประวัติโบราณวัตถุที่ถูกปล้นมาจากประเทศกัมพูชาและทำให้นำออกมาประมูลในตลาดได้ง่ายขึ้น โดยได้ทำติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542

Douglas AJ Latchford (ซ้าย) และ Emma C. Bunker (ขวา) ที่มาภาพ : http://www.phnompenhpost.com/national/antiquities-experts-linked-case-looted-cambodian-relics

การจัดแสดงและจัดซื้อโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์นั้นมีขั้นตอนที่จะต้องตรวจสอบประวัติเรื่องการเป็นของขโมย ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับโบราณวัตถุและแหล่งที่มาเป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณาว่าของชิ้นนั้นถูกกฏหมายหรือไม่ ความหละหลวมในการตรวจสอบนั้นมักจะทำให้เกิดกรณีเสียชื่อได้ง่ายๆ ว่าพิพิธภัณฑ์ที่นอกจากจะเป็นสถานที่เรียนรู้และท่องเที่ยวแล้วยังทำหน้าที่เป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาการศึกษานั้นขาดหลักจรรยาบรรณที่น่าเคารพ แต่พิพิธภัณฑ์แต่ละที่ก็มีการบริหารงานไม่เหมือนกัน เช่น พิพิธภัณฑ์ที่บริหารในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปจะให้ความสำคัญกับที่มาในเชิงแหล่งโบราณคดีน้อยกว่าพิพิธภัณฑ์ที่บริหารโดยนักโบราณคดี การสื่อข้อมูลและความรู้ออกมาก็มักจะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เนื่องจากนักประวัติศาสตร์ศิลปจะเน้นข้อมูลแค่เพียงประวัติที่มาของโบราณวัตถุพอสังเขปหรือที่เรียกกันว่า provenance ในขณะที่นักโบราณคดีจะดู provenience หรือที่มาในบริบทชั้นดินและสถานที่ในเชิงละเอียด ดังนั้น นักประวัติศาสตร์ศิลป์มักจะให้ความสำคัญแค่การเล่าเรื่องจากวัตถุมากกว่าสถานที่หรือแหล่งโบราณคดีที่เป็นต้นตอของวัตถุโบราณ

กรณีของ Nancy Wiener เป็นข่าวใหญ่เพราะเธอและมารดา Doris ซึ่งได้เสียชีวิตไปแล้ว เป็นตัวตั้งตัวตีเปิดตลาดโบราณวัตถุเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียในสหรัฐอเมริกา และได้ขายของให้กับคนมีชื่อเสียงและพิพิธภัณฑ์มากมาย เช่น John D. Rockefeller III เจ้าของทุน Rockefeller ที่โด่งดัง นาง Jacqueline Kennedy ภรรยาอดีตประธานาธิบดีชื่อดัง โดยวัตถุโบราณจากห้องจัดแสดง Wiener Gallery นั้นอยู่ในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่าง Metropolitan Museum of Art (MET) พิพิธภัณฑ์ศิลปะ Cleveland และพิพิธภัณฑ์อีกหลายที่ทั่วโลก มาถึงตรงนี้ผู้อ่านน่าจะคุ้นๆ เพราะปฏิมากรรมสัมฤทธิ์ปลายบัดที่เราพยายามทวงคืนอยู่หลายๆ ชิ้นตกไปอยู่ในมือของพิพิธภัณฑ์เหล่านี้

ภาพพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่อยู่ในสำนวนคดีของอัยการ Manhattan ที่มาภาพจากหนังสือ: Bunker, E. C., & Latchford, D. (2011). Khmer bronzes: new interpretations of the past. Art Media Resources.

ในเอกสารฟ้องของอัยการไม่ได้ระบุชื่อผู้สมรู้ร่วมคิดคือใคร แต่ได้ระบุว่าในปี พ.ศ. 2554 Nancy Wiener ได้ซื้อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางนาคปรกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (คาดว่าน่าจะกัมพูชา) ในราคาประมาณ $500,000 หรือราวๆ 17 ล้านบาท จากผู้สมรู้ร่วมคิดและได้ปลอมแปลงเอกสารว่าพระพุทธรูปนั้นเป็นของผู้สมรู้ร่วมคิดซึ่งก็คือ Douglas Latchford และได้ส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะวัตถุโบราณลบรอยเสียมและร่องรอยการลักลอบขุดออก ก่อนที่จะนำออกแสดงขายในราคา $1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 50 ล้านบาท) โดยที่ทางการได้ทำการยึดพระพุทธรูปดังกล่าวไว้ในปี พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ ในจำนวนหลักฐานอีเมลของอัยการพบว่า Emma C. Bunker ได้ถามนาย Douglas Latchford ว่าเขาต้องการเอกสารอะไรเกี่ยวกับพระพุทธรูปดังกล่าวบ้างเพื่อให้การขายให้ Nancy Wiener เป็นไปได้อย่างราบรื่น

ในอีเมลยังระบุว่า “ฉันคิดว่ามันอาจจะดีกว่ามั้ยถ้าเราบอกว่าคุณได้พระพุทธรูปนั้นมาด้วยการซื้อจากนักสะสมชาวไทยตอนที่คุณย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ ช่วงปี ค.ศ. 1950 เพราะคงไม่มีใครนอกจากนีลหรือโยธินที่รู้ว่าคุณได้ของมาเมื่อไหร่” และหนึ่งเดือนหลังจากนั้น Emma ก็ได้ส่งจดหมายคำให้การยืนยันความเป็นเจ้าของให้กับ Douglas โดยระบุว่า “ดิฉันได้เห็นพระพุทธรูปนาคปรกในแฟลตที่ลอนดอนของ Douglas Latchford ในช่วงต้นปี 1970 ตอนที่แวะไปหาเขาก่อนจะเดินทางไปประเทศจีน” โดยที่ในจดหมายนั้นเธอได้ระบุว่าเธอเป็นที่ปรึกษาและนักวิจัยกองเอเชียในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเดนเวอร์ (Denver Art Museum)

โดยปีที่เธอเลือกนั้นช่างเหมาะเจาะเป็นช่วงก่อนที่จะมีการลงนาม 1970 UNESCO Convention on the Means of Prohibiting and Preventing the Illicit Import, Export and Transfer of Ownership of Cultural Property เกิดขึ้นซึ่งเป็นกฏหมายนานาชาติเพื่อต่อต้านการส่งออกและค้าขายโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดและขโมยมา และจะทำให้วัตถุโบราณดังกล่าวสามารถซื้อขายได้ง่ายขึ้น

เราจะเห็นว่าการขายโบราณวัตถุนั้นในราคาอย่างที่ Nancy Wiener ขาย ถ้าหากขาด:1) นักประวัติศาสตร์ศิลป์หรือนักวิชาการที่ทำหน้าที่ประเมินและเขียนประวัติวัตถุโบราณ 2) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบูรณะวัตถุโบราณ หัวใจของการทำให้วัตถุโบราณขายได้อย่างฉลุยคือการบิดเบือนประวัติที่มาของวัตถุโบราณ แต่ที่น่าเศร้าคือ แม้ว่าบุคคลทั้งสองที่คนในวงการก็รู้กันว่าคือใครแต่ก็เอาผิดอะไรทั้งคู่ไม่ได้ โดยในสำนวนคดี Douglas A. J. Latchford ถูกเรียกว่า “พ่อค้าวัตถุโบราณในลอนดอนและกรุงเทพฯ” ในขณะที่ Emma C. Bunker ถูกเรียกว่า “ที่ปรึกษาพิพิธภัณฑ์อเมริกัน” เท่านั้น

นักวิชาการที่ศึกษาประวัติศาสตร์ของโบราณวัตถุนั้นมีความรับผิดชอบที่จะต้องระวังไม่ให้ความเห็นของตนไปสนับสนุนการค้าโบราณวัตถุหรือตลาดโบราณวัตถุที่ผิดกฏหมาย ในกรณีของ Emma C. Bunker ความคิดเห็นและงานพิมพ์ของเธอทำให้ปฏิมากรรมสัมฤทธิ์กลายเป็นของมีค่าและของแท้ที่นักสะสมต้องการ อย่างเช่นกรณีการทวงคืนปฏิมากรรมสัมฤทธิ์นั้นมีปัญหาคือปัจจุบันนี้ยังมีอีกหลายองค์ที่ยังหาไม่เจอว่าอยู่ในมือใคร ที่ไหน แต่งานวิชาการได้ทำให้มูลค่าของโบราณวัตถุและปฏิมากรรมที่หลุดออกไปจากบุรีรัมย์เหล่านั้นเพิ่มตัวอย่างสูงลิ่วเพราะทุกคนแน่ใจแล้วว่าเป็นของแท้

คดีของ Wiener ไม่ใช่คดีสุดท้ายที่ทำให้สังคมตั้งคำถามกับหลักจรรยาบรรณของนักวิชาการอย่าง Bunker เพราะไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดกรณีการฟ้องเรื่องของบริษัทประมูลชื่อดังอย่าง Sotheby’s ที่มีปฏิมากรรมปูนปั้นที่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าโดนปล้นมาเมื่อไม่ถึงสิบปีที่แล้วจาก ปราสาท Koh Ker ที่ประเทศกัมพูชาเนื่องจากส่วนเท้าของรูปปฏิมากรรมยังคงติดแท่นอยู่ มากไปกว่านั้น มีเทวรูปอีกองค์ที่อยู่ข้างๆ แล้วเหมือนกันมาก คดีตอนนี้ยังไม่จบแต่ที่แน่ๆ คือในหลักฐานคำให้การทำให้เห็นถึงปัญหาหลายๆ ระดับของการค้าวัตถุโบราณตั้งแต่การโกงกินไปจนถึงวิถีที่ขาดจรรยาบรรณของนักวิชาการบางคน

Nancy Wiener หลุดรอดไปได้จากการโดนฟ้อง แต่ธุรกิจของเธอโดนกล่าวหาว่าซื้อขายและลักลอบขนโบราณวัตถุอย่างผิดกฎหมาย ทั้งยังสนับสนุนการฟอกเงินจากองค์กรผิดกฎหมาย Wiener Gallery ขายโบราณวัตถุมากมายจาก อัฟกานิสถาน กัมพูชา จีน อินเดีย ปากีสถาน และ ไทย และยังได้ของใหม่ๆ มาเรื่อยๆ และยังคงทำการอยู่ในปัจจุบัน

วิธีการบิดเบือนประวัติโบราณวัตถุให้สามารถนำออกมาขายได้นั้นมีมากมาย ตั้งแต่ซ่อมแซมและปกปิดรอยการขุดอย่างผิดกฏหมาย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เสียมเหล็กทิ่มลงไปที่พื้นผิวโลหะของวัตถุโบราณ การประมูลปลอมเพื่อสร้างประวัติเจ้าของโบราณวัตถุขึ้น หรือแม้แต่ปลอมแปลงประวัติที่มาของโบราณว่าได้ค้นพบและถูกขายมาตั้งแต่ก่อนมีการออกกฎหมายสากลว่าด้วยเรื่องห้ามการค้าขายและส่งออกวัตถุโบราณที่โดนลักลอบขุดมาจากแหล่งโบราณคดีอย่างกรณีพระนาคปรก

เราจะเข้าใจ นักวิชาการ (?) แบบ Emma C. Bunker ได้มั้ย? ในหนังสือเรื่อง Who Owns the Past? Cultural Policy, Cultural Property and the Law เธอได้ให้ความเห็นเรื่องการค้าขายวัตถุโบราณและนักสะสมไว้ว่าเป็นรากฐานของการเกิดงานศึกษาทางศิลปะและวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ที่มีชื่อในโลกนี้เกิดจากฝีมือนักสะสมในยุคก่อนสงครามโลกหรือช่วงปี ค.ศ 1950 เป็นต้นไป หลายๆ ครั้งที่นักสะสมอย่าง Douglas Latchford ได้บริจากวัตถุสำคัญให้กับพิพิธภัณฑ์ และหากไม่มีคนพวกนี้การที่จะกู้โบราณวัตถุไว้ยามที่เกิดปัญหาในประเทศต้นตอ อย่างเช่น กรณีตะวันออกกลางปัจจุบันหรือยุคเขมรแดงที่มีการปล้นวัตถุโบราณโดยรัฐบาลและนำไปขายเพื่อหาเงินซื้ออาวุธ

ดังนั้น เรื่องนี้ส่วนหนึ่งจึงมีนัยของการรักษาไม่ให้ของหลุดระบบก็ว่าได้ แต่น่าสนใจที่ Bunker สรุปง่ายๆ ว่าจะโทษคนซื้อคนขายไม่ได้ ในเมื่อคนไปลักลอบขุดคือชาวบ้านแถวนั้นเอง!!!

สำหรับมุมมองนี้เป็นมุมมองแบบ Antiquarian หรือถ้าจะโจมตีจริงๆ ก็บอกได้ว่า ตะวันตกนิยมและออกจะแนวอาณานิคมหน่อยๆ ก็ว่าได้ เพราะได้พลิกให้เหล่านักสะสมเป็นฮีโร่กู้ของไปโดยที่ไม่มองว่าเป็นต้นเหตุของการไปลักลอบขุด ประเด็นสำคัญคือ ในปัจจุบันการศึกษาผลกระทบของวงจรการค้าวัตถุโบราณทำให้เราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เก็บของสวยๆ ไว้โชว์หรือศึกษา แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายๆ อย่างตั้งแต่การโกงกิน ฟอกเงิน การค้ายาและอาวุธ ไปจนถึงการก่อการร้าย

หน่วยงาน Heritage Watch เคยศึกษาตัวเลขคร่าวๆ เมื่อเกือบสิบปีที่แล้วว่าอุตสาหกรรมการส่งออกโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นใหญ่ถึงกว่า 7 แสนล้านบาทต่อปี แน่นอนว่าปัจจุบันตัวเลขนี้สูงขึ้นมากด้วยการขยายตัวของตลาดความต้องการบริโภคศิลปะและวัฒนธรรม มากไปกว่านั้นการที่บอกว่าชาวบ้านขุดเองเพื่อหาเงินนั้นเป็นการปัดความรับผิดชอบปัญหาซึ่งตัวเองมีส่วนในการสร้างตลาดคนซื้อขึ้นในฐานะนักวิชาการ และมากไปกว่านั้นยังหยิบยื่นโอกาสในการปลอมแปลงของให้กับธุรกิจผิดกฎหมายและตัดโอกาสการพัฒนาแหล่งโบราณคดีมากกว่าของให้กลายเป็นสมบัติของชาติ

ผู้เขียนมองในเชิงเดียวกับนักโบราณคดีว่าการที่ของอยู่ในแหล่งนั้นสามารถเพิ่มศักยภาพการพัฒนาแหล่งโบราณคดีได้และรายได้ในอนาคตสำหรับแหล่งโบราณคดีนั้นสูงกว่าการได้เงินเล็กๆ น้อยๆ จากการลักลอบขุดให้ “เพื่อน” ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ในตลาดใหญ่ๆ ไปสร้างรายได้หลักสิบล้านขึ้นไป

ภาพการลักลอบขุดลูกปัดในประเทศไทย

ภาพการลักลอบขุดลูกปัดในประเทศไทย

สุดท้ายนี้อยากทิ้งไว้เป็นประเด็นคิดกันต่อ เพราะว่าประเทศไทยมีการลักลอบขุดโบราณวัตถุกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะลูกปัดโบราณที่ขุดมาขายกันเป็นกระป๋องๆ จากประสบการณ์ทำงานวิจัยฐานข้อมูลและแหล่งโบราณคดีในไทยแหล่งโบราณคดีที่สำคัญๆ โดยเฉพาะยุคเหล็กและแหล่งที่คาบเกี่ยวกับยุคแรกเริ่มของรัฐนั้นถูกทำลายไปราวๆ 80% ของที่ได้นั้นจริงบ้างเก๊บ้างแล้วแต่นัยน์ตาและความรู้ของผู้ซื้อ

งานวิชาการสายลูกปัดจึงเป็นสิ่งที่น่าจับตามมองเป็นกรณีศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างงานวิชาการและนักล่าและขายสมบัติในประเทศไทย เพราะขายกันทีของแท้ก็ไม่ใช่ราคาต่ำๆ กลายเป็นอาชีพเสริมของเกษตกรหรือชาวประมงที่ไม่ได้ออกเรือหน้าฝนไปแล้ว โดยมากจะทำการเช่าที่ดินสำหรับทำเกษตกรรมบังหน้าและอาศัยการลักลอบขุดกลางคืนหรือปลูกข้าวโพดไว้กำบัง

ที่สำคัญ วงการขุดหาลูกปัดและสมบัตินี้ทำงานเป็นระบบโดยคอยดูดข้อมูลจากนักวิชาการและตามงานสัมมนาของกรมศิลปากรเรื่อยๆ เพื่อหาแหล่งล่าสมบัติใหม่ๆ ดังนั้น แนวทางการศึกษาผ่าน “วัตถุ” โดยทำให้วัตถุเป็นเรื่องหลักมากกว่าองค์ประกอบเล็กๆ นี่คงต้องมองกันใหม่ว่าจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องจรรยาบรรณหรือไม่?

ข้อมูลอ้างอิง
Alderman, K. (2011). Honor amongst thieves: organized crime and the illicit antiquities trade.
Gibbon, K. F. (2005). Who owns the past?: Cultural policy, cultural property, and the law. Rutgers University Press.
Mashberg, R. (2017). Expert Opinion or Elaborate Ruse? Scrutiny for Scholars’ Role in Art Sales. Nytimes.com. Retrieved 14 June 2017, from https://www.nytimes.com/2017/03/30/arts/design/expert-opinion-or-elaborate-ruse-scrutiny-for-scholars-role-in-art-sales.html
Spoils of War . (2017). Globalresearch.ca. Retrieved 14 June 2017, from http://www.globalresearch.ca/articles/ELI401A.html