ThaiPublica > คอลัมน์ > วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จากอดีตสู่ปัจจุบัน

วิกฤติเศรษฐกิจปี 40 จากอดีตสู่ปัจจุบัน

21 มิถุนายน 2017


ดอน นาครทรรพ

ที่มาภาพ : http://www.grips.ac.jp/teacher/oono/hp/image_f2/lec11_1cc.gif

วันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นวันที่อยู่ในความทรงจำของคนหลายๆ คน โดยเฉพาะพนักงานและอดีตพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยเป็นวันแรกของการลอยตัวค่าเงินบาทและวิกฤติต้มยำกุ้ง ซึ่งนำไปสู่การตกต่ำของเศรษฐกิจไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน บริษัทและสถาบันการเงินหลายแห่งต้องปิดตัวลง คนว่างงานเป็นจำนวนมากและทำให้ความฝันที่ประเทศไทยจะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้าของเอเชียต้องพังทลายลง

วิกฤติต้มยำกุ้งเป็นบทเรียนราคาแพงของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ยี่สิบปีที่ผ่านมาต้องนับว่าเราเดินมาไกลมาก แม้จะไม่สามารถรับประกันได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่ประสบกับวิกฤติอีก เพราะกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างศาสตราจารย์โรเบิร์ต ลูคัส ซึ่งเคยประกาศตอนอำลาตำแหน่งประธานสมาคมเศรษฐศาสตร์อเมริกาในปี 2546 ว่านักเศรษฐศาสตร์ได้เรียนรู้วิธีป้องกันภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงไม่ให้เกิดขึ้นแล้ว ยังหน้าแตกกับการอุบัติขึ้นของวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2551 แต่การเกิดซ้ำของวิกฤติในรูปแบบที่เกิดขึ้นในปี 2540 กับเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่าแทบเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ไทยจะเปลี่ยนกลับไปตรึงค่าเงินแบบในอดีตอีก

อย่างไรก็ดี ในระยะหลัง ในช่วงกลางๆ ปีของทุกปี มักจะมีการแชร์ข้อมูลว่าเศรษฐกิจไทยสุ่มเสี่ยงที่จะกลับไปเป็นแบบปี 2540 อีก โดยบ่อยครั้งเป็นการโยงกับการขาดทุนที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในยุคของโซเชียลมีเดียที่ข่าวสารกระจายไปได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว อาจทำให้คนหลายๆ คนเข้าใจผิดได้ทั้งๆ ที่บริบทในปัจจุบันแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นหนังคนละม้วนกับปี 2540

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เหมือนกันในสถานการณ์ปัจจุบันและในปี 2540 คือ มีการดูแลค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนกัน และธนาคารแห่งประเทศไทยดูเหมือนจะมีปัญหาทางการเงินที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินเหมือนกัน แต่ในความเหมือนกันนี้มีความแตกต่างที่สำคัญ ได้แก่

(1) ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน โดยก่อนการลอยตัวค่าเงินบาท ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ทำให้ในยามที่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับค่าเงินที่ตรึงไว้ก็ตกเป็นเป้านิ่งของการโจมตีค่าเงินได้ง่าย ต่างจากปัจจุบันที่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวที่การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่งถูกกำหนดโดยกลไกตลาด ทำให้การโจมตีค่าเงินทำได้ยากกว่า

(2) ปัญหาในตอนนั้นเป็นปัญหาเงินทุนไหลออก ซึ่งกดดันให้บาทอ่อน ขณะที่ปัจจุบันเป็นปัญหาของเงินทุนไหลเข้าซึ่งกดดันให้บาทแข็ง วันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ผมยังไม่ได้เป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย แต่รับทุนธนาคารมาแล้ว ค่าเงินบาทที่อ่อนลงอย่างมากทำให้มูลค่าทุนที่ผมผูกพันกับธนาคารแห่งประเทศไทยในรูปของเงินบาทสูงขึ้นอย่างมาก แต่ในฐานะนักเรียนทุน ผมก็ทำงานชดใช้ทุนไปเรื่อยๆ ต่างจากบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ที่ไม่สามารถนำเงินมาชดใช้มูลค่าหนี้ที่สูงขึ้นได้ ทำให้ต้องผิดนัดชำระหนี้ และส่งผลสั่นสะเทือนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ทั้งระบบ จนสถาบันการเงินหลายแห่งต้องล้มหรือแทบจะล้มละลายไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ

(3) การแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในภาวะเงินทุนไหลออก ใช้การขายสินทรัพย์หรือเงินสำรองระหว่างประเทศ ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศลดลง ขณะที่การแทรกแซงในภาวะเงินทุนไหลเข้า ใช้การซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 เป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเงินสำรองระหว่างประเทศเหลือไม่พอที่จะขายเพื่อปกป้องค่าเงิน ตามภาษาชาวบ้านที่ว่าหมดหน้าตัก ขณะที่ในปัจจุบัน เงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย (รวมสถานะการซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า) มีมากกว่าสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่ามาตรฐานสากลมาก ไม่ว่าจะวัดในตัวของมันเอง หรือเทียบกับมูลค่าการนำเข้า มูลค่าหนี้ต่างประเทศ หรือขนาดเศรษฐกิจ ดังนั้น ความมั่นคงด้านต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันจึงไม่น่าเป็นห่วง

(4) การขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบันส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตีราคาเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเงินบาท ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศที่แปลงเป็นสกุลเงินบาทมีมูลค่าลดลง โดยที่เงินสำรองในรูปของเงินดอลลาร์ไม่ได้หายไปไหน ยังมีให้ใช้เป็นจำนวนมาก ในทางกลับกัน การอ่อนค่าของเงินบาทในปี 2540 ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีกำไรจากการตีราคาค่าเงิน แต่เป็นกำไรที่เอามาใช้ไม่ได้ เพราะการดูแลค่าเงินต้องใช้เงินสำรองในรูปของเงินดอลลาร์ซึ่งตอนนั้นแทบไม่มีเหลือ

(5) ในปี 2540 มีบริษัทที่ต้องปิดกิจการไปเพราะขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนทางบัญชี แต่การขาดทุนของธนาคารกลางแบบธนาคารแห่งประเทศไทยต่างจากการขาดทุนของบริษัทหรือสถาบันการเงินทั่วๆ ไป เพราะธนาคารกลางมีความสามารถในการพิมพ์เงินเองได้ ซึ่งความสามารถในการดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยๆ ของธนาคารกลางขึ้นกับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางมากกว่าสถานะของงบดุล ซึ่งปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นจุดแข็งของประเทศที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศมักหยิบยกขึ้นมาเสมอ โดยที่การขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยมิได้เป็นประเด็นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตระหนักว่า การขาดทุนต่อเนื่องถึงจุดหนึ่งก็อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้ เพราะถึงจะพิมพ์เงินเองได้ แต่ถ้าธนาคารกลางสูญเสียความน่าเชื่อถือ เงินที่พิมพ์ออกมาก็ไม่มีค่า และนำไปสู่วิกฤติเงินเฟ้อในที่สุด

(6) ในปี 2540 เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยถือว่าง่อนแง่นเป็นอย่างมาก โดยนอกจากเงินสำรองระหว่างประเทศจะร่อยหรอแล้ว ดุลบัญชีเดินสะพัดหรือผลต่างของรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการกับรายจ่ายในการนำเข้าสินค้าและบริการยังขาดดุลสูง โดยในปี 2539 ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าร้อยละ 8 ของขนาดเศรษฐกิจ เทียบกับในปี 2559 ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 12 ของขนาดเศรษฐกิจ

(7) ท้ายที่สุด หลายจุดอ่อนสำคัญที่นำไปสู่วิกฤติปี 2540 ได้ถูกปิดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นจุดอ่อนด้านความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ด้านการพึ่งพาหนี้สกุลเงินต่างประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่มีจุดโหว่และไม่ทันการณ์ ตัวอย่างของระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้น เช่น การมีข้อมูลจีดีพีรายไตรมาสจากเดิมที่เป็นรายปี การจัดตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติที่ปัจจุบันขยายรวมถึงลูกหนี้ของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการมีข้อมูลอุปสงค์และอุปทานของทั้งตลาด เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและบริการที่ได้รับผลดีจากเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายในประเทศยังไม่เข้าที่นัก โดยเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชนที่จากข้อมูลล่าสุดยังคงหดตัว นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำไมคนทั่วไปยังไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น การแชร์ข้อมูลที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าวิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 กำลังจะกลับมาอาจทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยและธุรกิจบางส่วนไม่กล้าลงทุน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าและไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย