ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจสหกรณ์ 7,129 แห่ง สินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท กางสถานะแต่ละกลุ่ม

สำรวจสหกรณ์ 7,129 แห่ง สินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาท กางสถานะแต่ละกลุ่ม

19 มิถุนายน 2017


เรียกว่ากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูประบบสหกรณ์ไทย หลังจาก 4 ปีที่ผ่านมาเกิดทุจริตการดำเนินงานของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สร้างความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้หน่วยงานด้านกำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถานบันการเงินหลักของประเทศ ได้เริ่มจับตามองความเสี่ยงและขนาดของสหกรณ์ที่มากขึ้น นอกจากนี้ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมแก้ไขเกณฑ์การกำกับสหกรณ์

กรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพหลักที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการปฏิรูปสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดชั้นและจัดทำแผนพัฒนาสหกรณ์ตั้งแต่ปี 2559 การผลักดันเกณฑ์การกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบตามมติ ครม. และการอัปเดตข้อมูลสถานะสหกรณ์ต่างๆ ให้พร้อมใช้งาน(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

กางสินทรัพย์ 2.5 ล้านล้าน – “สหกรณ์ประมง” แชมป์ ดำเนินงานด้วยหนี้ 94%

สำหรับสถานะล่าสุดในปี 2559 จากข้อมูลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ระบุว่าระบบสหกรณ์ไทยมีจำนวนสหกรณ์รวมทั้งชุมนุมสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,263 แห่ง เป็นสหกรณ์ที่ดำเนินการอยู่ 7,129 แห่ง และสหกรณ์ที่อยู่ระหว่างชำระบัญชี 1,134 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น 7 ประเภทได้แก่ สหกรณ์การเกษตร 4,480 แห่ง, สหกรณ์ประมง 110 แห่ง, สหกรณ์นิคม 94 แห่ง, สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,499 แห่ง, สหกรณ์ร้านค้า 225 แห่ง, สหกรณ์บริการ 1,284 แห่ง, สหกรณ์เครดิตยูเนียน 571 แห่ง โดยมีจำนวนสมาชิกสหกรณ์ทั้งประเทศ 11,447,405 คน ซึ่งส่วนใหญ่ 55% อยู่ในสหกรณ์การเกษตร รองลงมาคือสหกรณ์ออมทรัพย์ 25.6% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

นอกจากนี้มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 2.57 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 1.44 ล้านล้านบาท และทุน 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 56% และ 44% ของสินทรัพย์รวม ตามลำดับ และส่งผลให้ระบบสหกรณ์ไทยมีหนี้สินต่อทุน 1.27 เท่า

ในรายละเอียดแยกรายสหกรณ์ 7 ประเภท พบว่าสินทรัพย์ 87.13% เป็นของสหกรณ์ออมทรัพย์ รองลงมาคือสหกรณ์การเกษตร 9.29% ขณะที่หนี้สิน 83.61% เป็นของสหกรณ์ออมทรัพย์เช่นเดียวกัน รองลงมาคือสหกรณ์การเกษตร 11.44% และส่วนของทุน 91.67% เป็นของสหกรณ์ออมทรัพย์ รองมาคือสหกรณ์การเกษตร 9.29%

อย่างไรก็ตาม หากเทียบระหว่างสินทรัพย์และหนี้สินกับส่วนของทุนของสหกรณ์แต่ละประเภทในมุมของแหล่งที่มาของเงินทุนว่าสินทรัพย์ทั้งหมด 100% มีแหล่งที่มาจากหนี้สินหรือส่วนของทุนเท่าไหร่ จะพบว่าสหกรณ์ประมงมีสัดส่วนหนี้สินสูงสุดถึง 94.44% ขณะที่มีส่วนของทุนเพียง 5.56% อีกด้านหนึ่ง สหกรณ์ร้านค้ามีสัดส่วนหนี้สินต่ำสุดเพียง 29.66% และใช้ส่วนของทุนสูงถึง 70.34%

ขณะที่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนียนซึ่งเป็นสหกรณ์ที่ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ มีสัดส่วนหนี้สิน 53.67% และ 82.5% และมีส่วนของทุน 46.33% และ 17.5% ตามลำดับ ในแง่นี้อาจเรียกได้ว่าสหกรณ์ประมงและสหกรณ์เครดิตยูเนียนดำเนินงานโดยอาศัยหนี้สินเป็นหลักและมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก แม้ว่าในแง่จำนวนเงินสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของทุนของสหกรณ์ประมงถือว่ามีสัดส่วนน้อยมากเทียบกับภาพรวมสหกรณ์ (ดูกราฟิกข้างล่าง)

หากเจาะลึกลงไปถึงที่มาของหนี้สิน ซึ่งแบ่งเป็น เงินรับฝากสมาชิก, เงินกู้ยืมและเครดิตการค้า, เงินรับฝากสหกรณ์อื่น และหนี้สินอื่น พบว่าสหกรณ์ในภาพรวมพึ่งพาเงินกู้ยืมและเครดิตการค้าและเงินรับฝากจากสมาชิกที่ 38.6% และ 54.7% ตามลำดับ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) มีแหล่งเงินจากเงินกู้ยืมและเครดิตการค้า ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร 46% ของหนี้สินรวม, สหกรณ์ประมง 49.5%, สหกรณ์นิคม 50.9%, สหกรณ์ร้านค้า 44.5% 2) มีแหล่งเงินจากการรับเงินฝากจากสมาชิก ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ 57.8% ของหนี้สินรวม, สหกรณ์เครดิตยูเนียน 53.6% และ 3) เฉพาะสหกรณ์ร้านค้าที่มีแหล่งเงินจากเงินรับฝากจากสหกรณ์อื่น 36.7%(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ขณะที่ในด้านการใช้เงินทุนพบว่าสหกรณ์ในภาพรวมนำเงินปล่อยกู้แก่สมาชิก 73.9% รองลงมาคือนำไปลงทุน 10.9% และเป็นลูกหนี้สุทธิ 7.7% สอดคล้องกับสหกรณ์ส่วนใหญ่ทั้ง 7 ประเภทที่มีการใช้เงินไปกับการให้สมาชิกกู้ยืม ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์การเกษตรที่ให้สมาชิกกู้ยืม 62.6% ของสินทรัพย์รวม, สหกรณ์นิคม 63.1%, สหกรณ์บริการ 39.3% สหกรณ์ออมทรัพย์ 75.9%, สหกรณ์เครดิตยูเนียน 64.9% โดยมีสหกรณ์ประมงที่มีการนำเงินไปใช้ในธุรกรรมอื่นๆ อยู่ 31.6% และสหกรณ์ร้านค้าที่ใช้ไปกับการลงบัญชีลูกหนี้สุทธิ

สหกรณ์จัดทำ “แผนกลยุทธ์สหกรณ์” 17% ใช้จริง 9% – ส่งรายงาน ปปง. 10%

นอกจากประเด็นด้านการเงินแล้ว อีกด้านหนึ่ง กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้รายงานจำนวนสหกรณ์ที่จัดทำแผนกลยุทธ์สหกรณ์และนำไปดำเนินการตามแผนฯ พบว่าสามารถเก็บข้อมูลได้เพียง 99.93% โดยในส่วนที่จัดเก็บได้มีสหกรณ์เพียง 17.2% เท่านั้นที่จัดทำแผนกลยุทธ์และมีเพียง 8.57% เท่านั้นที่ดำเนินงานตามแผนฯ โดยสหกรณ์ออมทรัพย์มีการจัดทำแผนและดำเนินงานตามแผนมากที่สุดที่ 22.14%  และ 12.57% ขณะที่สหกรณ์บริการมีการจัดทำแผนและดำเนินการตามแผนน้อยที่สุดที่ 7.97% และ 3.54% ตามลำดับ(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

นอกจากนี้ การจัดทำรายงานธุรกรรมต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พบว่าสามารถเก็บข้อมูลได้เพียง 99.98% และมีสหกรณ์เพียง 10.2% เท่านั้นที่จัดทำรายงานส่ง โดยสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสหกรณ์ที่มีการจัดทำรายงานมากที่สุดที่ 23.18% และสหกรณ์ประมงเป็นสหกรณ์ที่จัดทำรายงานน้อยที่สุดเพียง 1.23%

อนึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ทำ MOU กับ ปปงและกรมสอบสวนคดีพิเศา(DSI)โดยพร้อมส่งข้อมูล ปปง. หรือ DSI เข้าไปรื้อเส้นทางการเงินได้ ถ้ามีอะไรที่เห็นว่าไม่ถูกต้อง(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)