ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์/วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ( 2)

วิเคราะห์/วิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ( 2)

11 มิถุนายน 2017


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สะท้อนมุมมองและการวิเคราะห์/วิจารณ์ ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแล้วว่า กฎหมายที่ยกร่างขึ้นใหม่นั้นไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ส่งผลกระทบอันรุนแรงไปสู่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข กระทบสิทธิของผู้ป่วย สิทธิในการทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยของแพทย์ รวมทั้งบิดเบี้ยวสถิติการเกิดโรคของประชาชนคนไทย เนื่องจากการบังคับให้แพทย์ลงรหัสโรคไม่ตรงกับความจริง เพื่อที่จะเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยได้เท่าที่โรงพยาบาลจ่ายเงินไปแล้ว

และผู้เขียนได้แสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามรายมาตราที่คณะกรรมการยกร่างใหม่แล้วว่า การยกร่างกฎหมายใหม่แบบนั้นไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่เกิดจากกฎหมายฉบับเดิมและการบริหารแบบเดิม ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. ได้

สำหรับการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 3 เกี่ยวกับคำจำกัดความของ “บริการสาธารณสุข” และ “สถานบริการสาธารณสุข” และ “การสนับสนุนบริการสาธารณสุข” ตามที่คณะกรรมการยกร่างเพิ่มเติมใหม่นั้น ผู้เขียนเห็นว่าไม่ควรมี เพราะจะไปทับซ้อนกับภารกิจหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข แต่ควรจะแก้ไขให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการทำงานตามภาระหน้าที่ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆในราชอาณาจักรไทย

ก่อนที่จะกล่าวถึงร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ที่คณะกรรมการยกร่างขึ้นใหม่นั้น จะขอกล่าวถึง การจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือการ จ่ายเงินค่าบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งไม่ได้ให้ “โดยตรง” แก่บุคคล(ตามาตรา 3) โดยจ่ายให้แก่ “หน่วยบริการ”(สถานพยาบาลตามกฎหมาย) แต่เอาไปจ่ายให้แก่องค์กรและหน่วยงานอื่นที่ไม่มีสิทธิ์ได้รับตามกฎหมาย(ไม่ใช่สถานบริการ) เช่นกรณี เอาเงินกองทุนไปจ่ายให้แก่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิประเมินเทคโนโลยีและนโยบายสุขภาพ (HITAP)

การใช้จ่ายเงินให้แก่หน่วยงานอื่นนอกเหนือหน่วยบริการนี้ อาจจะมีอีกมากมาย แต่ยังไม่มีการตรวจสอบและเปิดเผย เช่นกรณีเอาไปจ่ายให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อ้างว่าเพื่อเป็นการ “สนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข” ( ที่ยังไม่มีอปท.ไหนกล้าเอาไปใช้ เนื่องจากกลัวว่าจะผิดกฎหมาย) อยู่ถึง 7,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ในร่างกฎหมายหลักประกันฉบับแก้ไขนี้ ได้เพิ่มคำจำกัดความของ “การบริการสาธารณสุข” ให้เพิ่มเติมว่า “บริการสาธารณสุขให้หมายความรวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขด้วย”

จึงทำให้เกิดคำถามว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคืออะไร? กองทุนนี้ตามหลักการประกันสุขภาพควรมีหน้าที่ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุข” แทนประชาชน(เพื่อจะได้ไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย” ดังที่กล่าวอ้างไว้

หรือกองทุนมีวัตถุประสงค์ที่จะทำงานทับซ้อนกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการไปสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขด้วย

ฉะนั้นต้องแยกแยะว่า การจัดบริการสาธารณสุขนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารกองทุนประกันสุขภาพ เช่น สปสช.หรือกองทุนประกันสังคม หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ใช่หรือไม่?

และตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมาสปสช.ได้ก้าวก่าย(ล้ำเส้น) การทำงานกระทรวงสาธารณสุขในการ “สั่งการเกี่ยวกับการจัดบริการสาธารณสุข” อยู่เสมอมา ใช่หรือไม่?

และสปสช.เอาเงินไปจ่ายนอกเหนือหน่วยบริการ ในขณะที่ “หน่วยบริการ” (ซึ่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข) จนทำให้หน่วยบริการสาธารณสุขขาดเงินงบประมาณที่เพียงพอต่อการใช้บริการของผู้ป่วยตลอดมา

ฉะนั้นการแก้ไขคำนิยามของ “บริการสาธารณสุข” ในมาตรา 3 ของพ.ร.บ.ที่ยกร่างใหม่นี้ กลับจะเป็นการขยายขอบอำนาจของสปสช.ให้ทำการก้าวก่ายหรือสั่งการกระทรวงสาธารณสุขได้ตามกฎหมาย และจะเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกันระหว่างสองหน่วยงานนี้

ผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขในมาตรา 3 ดังกล่าว

ยังมีการแก้ไขในมาตรา 3 อีกว่า “สถานบริการ” ให้หมายความรวมถึงหน่วยงานอื่นของรัฐที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามที่คณะกรรมการกำหนด

ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เนื่องจากหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นหน้าที่ที่กระทรวงสาธารณสุขและสสส.ทำอยู่แล้ว ส่วนการป้องกันโรคนั้น ถ้าสถานบริการอื่นได้ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการของสปสช.จึงควรจะมีสิทธิ์ได้รับเงินค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคแก่ประชาชน

นอกจากนั้น ร่างกฎหมายใหม่ยังกำหนดว่า “ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนบริการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึง เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าจ้างเอกชนดำเนินงาน ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราขการ ค่าสาธารณูปโภค ค่าดำเนินการและค่าพัฒนาศักยภาพบุคคลในการจัดบริการสาธารณสุข รวมทั้งค่าเสื่อมของสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ที่ใช้ในการบริการผู้ป่วยนอก บริการผู้ป่วยใน และบริการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และค่าใช้จ่ายอื่นในการจัดบริการ

การแก้ไขกฎหมายเช่นนี้ผู้เขียนก็ไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าว ถ้าเป็นโรงพยาบาลหรือสถานบริการเอกชน รัฐบาลไม่ควรจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าว เนื่องจากโรงพยาบาลหรือสถานบริการเอกชนนั้น เขาคิดค่า “บริการสาธารณสุขผู้ป่วย” โดยบวกค่าใช้จ่ายเหล่านี้เข้าไปในค่าบริการแล้วทั้งสิ้น และถ้าเป็นโรงพยาบาลหรือสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ก็ควรที่จะได้รับงบประมาณโดยตรงสำหรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้จากรัฐบาล เหมือนกระทรวงอื่นๆที่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลสำหรับการดำเนินการเพื่อให้บริการประชาชนอยู่แล้ว

ถ้าเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบประมาณรายหัวสำหรับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล และงบในการซ่อมสร้างหรือพัฒนาโรงเรียบนต่างหากจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่โรงเรียนโดยตรง ตามภารกิจหน้าที่ของโรงเรียน

ฉะนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็ควรจะได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล ไม่ควรเอาไปผ่านองค์กรกลาง เช่น สปสช.แต่อย่างใด
การจะยกเลิกวิธีการงบประมาณแบบผิดๆเช่นนี้ นั่นคือ ไม่แก้ไขในเรื่อง “ค่าใช้จ่ายเพื่อการสนับสนุนบริการสาธารณสุข” ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพตามที่ยกร่างใหม่ดังกล่าวแล้ว และให้คงมาตรา 3 ไว้เช่นเดิม

หมายเหตุ สามารถอ่านร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ที่นี่

(อ่านต่อตอนต่อไป)

ทำความเข้าใจบทบาทสปสช.

โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของ สปสช. มากที่สุด?

จากรายงานของ สปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 ถึงปีงบประมาณ 2559 นั้น ประชาชนที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไปใช้บริการผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด เฉลี่ย 95% และไปใช้บริการผู้ป่วยใน 88% ซึ่งแสดงว่า ผู้ป่วยส่วนมากที่สุดที่ใช้สิทธิบัตรทองล้วนไปใช้บริการที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแทบทั้งสิ้น ฉะนั้น การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงส่งผลกระทบแก่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด โดยผลกระทบที่สำคัญของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขหลังจากมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็คือ การที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาลในการทำงานตามภาระหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ การให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน

แต่ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขต้องเขียนรายงานในการให้บริการสาธารณสุข ไปขอรับงบประมาณในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงจะได้เงินมาทำงานตามหน้าที่ แต่การเขียนรายงานนี้ ก็ไม่สามารถเขียนได้ตามความเป็นจริงในสาระสำคัญของงานที่ได้ทำไปตามมาตรฐานวิชาการทางการแพทย์ ถ้า สปสช. เห็นว่าเป็นการรักษาที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยโรค (บอกว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร) และเกณฑ์การรักษาที่ สปสช. กำหนดไว้ (ทั้งๆ ที่ สปสช. ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นก็ตาม) สปสช. ก็ไม่จ่ายเงินค่ารักษาทั้งหมดที่โรงพยาบาลได้ใช้จ่ายไปแล้วในการรักษาผู้ป่วยกลับคืนให้แก่โรงพยาบาล แต่ สปสช. จะจ่ายเงินคืนให้แก่โรงพยาบาลตามระเบียบที่ สปสช. กำหนดรหัสการวินิจฉัยโรคร่วม (Disease Related Group) และการรักษาผู้ป่วยที่ไม่ตรงตามเกณท์มาตรฐานการแพทย์ (Clinical Practice Guideline) กล่าวคือ เมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร มีอาการในขั้นไหน หนักเบาอย่างไร และต้องการทำการรักษาผู้ป่วยตามความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของตน ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก สปสช. จะไม่จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วย ถ้าแพทย์ไม่ทำการรักษาผู้ป่วยตามที่ สปสช. ตั้งกฎระเบียบไว้

แต่แพทย์ก็จะรักษาผู้ป่วยตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดีตามหลักวิชาการและประสบการณ์ของตนเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้ แต่ลงรหัสรายโรคให้ตรงตามระเบียบของ สปสช. เพื่อให้เบิกเงินจาก สปสช. ได้ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ของ สปสช. ซึ่งการกระทำเช่นนี้ก็เพื่อทำให้โรงพยาบาลไม่ขาดเงินในการทำงานจนประสบภาวะล้มละลาย

แต่จะส่งผลให้สถิติอุบัติการณ์ของโรคในประชาชนไทยผิดไปจากความจริง จะก่อให้เกิดปัญหาในการวางแผนรักษาผู้ป่วยของประเทศในอนาคตต่อไปอีก ซึ่งพฤติการณ์การบริหารงานของ สปสช. ดังกล่าวนั้นเป็นการบริหารงานที่ขัดต่อหลักธรรมาภิบาล และเป็นการบริหารงานที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของ สปสช.

การแก้ไขกฎหมายจึงต้องบัญญัติให้กฎหมายนั้นแก้ปัญหาการบริหารงานที่ขัดหลักธรรมาภิบาลได้จริง

กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเดิมนั้น สปสช. ต้องบริหารกองทุนภายใต้มติของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และทำหน้าที่เป็นเหมือน “บริษัทประกันสุขภาพ” กล่าวคือ มีหน้าที่ “จ่ายเงินค่าบริการสาธารณสุข” (แทนประชาชนผู้ไปรับบริการ) ให้แก่โรงพยาบาลที่ “ให้บริการผู้ป่วยไปแล้ว” ตามอัตรางบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช. ได้รับมาจากงบประมาณแผ่นดินเท่านั้น

สปสช. และกลุ่มบุคคลที่เป็นและเคยเป็นกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเลขาธิการ สปสช. (และคณะเจ้าหน้าที่ของ สปสช.) มักจะพูดเสมอว่า สปสช. คือ “ผู้ซื้อบริการ” ส่วนโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขคือ “ผู้ขายบริการ”

แต่จากการบริหารงานของ สปสช. ภายใต้มติของกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เห็นได้ว่า สปสช. ไม่ใช่ “ผู้ซื้อบริการหรือเป็นลูกค้าที่ดี” เนื่องจาก สปสช. ไม่ได้ทำหน้าที่ผู้ซื้อหรือลูกค้าตามหน้าที่ที่ได้เคยกล่าวอ้างมาตลอด แต่ สปสช. ทำงานทับซ้อนงานของกระทรวงสาธารณสุขตลอดมา กล่าวคือ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อบริการ แต่กลับทำหน้าที่เป็น “พ่อค้าคนกลาง” กล่าวคือ “กดราคาขาย” ของโรงพยาบาล และทำหน้าที่ “นายหน้า”

กล่าวคือ ไปเจรจาซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ที่โรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ในการรักษาผู้ป่วย มาขายต่อให้โรงพยาบาล โดยการ “บังคับ” ให้โรงพยาบาลต้องรับยาและเครื่องมือแพทย์ที่ สปสช. ซื้อ เอามาใช้กับผู้ป่วย (ทั้งๆ ที่ยาและเครื่องมือแพทย์ที่ซื้อมานั้นอาจไม่ได้มาตรฐาน/ทันสมัย/หรือเหมาะสมกับผู้ป่วย) แต่ สปสช. ผู้ซื้อยาและเครื่องมือแพทย์นั้น ได้รับผลตอบแทน?จากการซื้อสิ่งของเหล่านั้น

และก่อนที่ สปสช. จะมีเงินเอาไป “ซื้อบริการ” จากโรงพยาบาลนั้น สปสช. ก็ไป ของบประมาณจากรัฐบาลมาไว้ล่วงหน้าเป็นปี แต่จ่ายเงินให้ผู้ขายบริการทีหลัง สปสช. ได้เงินจากรัฐบาลล่วงหน้า มารอซื้อบริการจากโรงพยาบาลแบบผ่อนส่งคือจ่ายหลังจากได้รับบริการไปแล้วก็มี จ่ายก่อนล่วงหน้าก็มี เท่ากับว่า สปสช. ซื้อบริการจากกระทรวงสาธารณสุข เอาไป “ขายให้รัฐบาล” ที่ทำหน้าที่ซื้อบริการแทนประชาชน (เพราะเป็นงบประมาณแผ่นดินและให้บริการประชาชน)

แต่เงินที่ สปสช. เอามาจ่ายมาในการซื้อบริการนั้นไม่เท่ากับเงินที่ขอมาจากรัฐบาล เพราะมีการตรวจพบว่า สปสช. เอาเงินไปใช้นอกเหนือจากการ “ซื้อบริการ” จากโรงพยาบาล

คำถามก็คือ ควรจะมี สปสช. ในการเป็น “พ่อค้าคนกลาง” ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลหรือไม่ และทำไมกระทรวงอื่นๆ ไม่ต้องมีพ่อค้าคนกลางในการให้บริการประชาชน?

กระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานให้บริการประชาชนไปก่อนตามหน้าที่ แต่ สปสช. รับงบประมาณการบริการสาธารณสุขจากรัฐบาลมา เพื่อมา “ซื้อการบริการ” หรือผลงานของโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข จ่ายให้แก่โรงพยาบาล แต่ สปสช. เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ที่มีอิทธิพลในการ “บีบ” ให้กระทรวงสาธารณสุข จำยอมต้อง “ขายบริการ” ในราคาต่ำกว่าต้นทุนบริการ โดยที่ยังไม่มีผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่รักษา “ผลประโยชน์ของชาติ” ที่ปล่อยโครงสร้างบิดเบี้ยวยาวนานถึง 16 ปีแล้ว

จึงมีคำถามว่าสมควรที่จะยกเลิกพ่อค้าคนกลางหรือไม่ และปล่อยให้กระทรวงสาธารณสุขมีเกียรติและศักดิ์ศรีเหมือนกระทรวงอื่นทุกกระทรวงในประเทศไทย ที่สามารถรับผิดชอบงานของกระทรวงในการให้บริการประชาชน โดยไม่ต้องตกอยู่ใต้อาณัติ (เหมือนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา) ของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. อีกต่อไป

อนึ่งการซื้อบริการนั้น สปสช. จ่ายแบบเงินเชื่อ ส่วนการเอาไป “ขายบริการ” ให้รัฐบาลนั้น สปสช. เก็บเงินล่วงหน้าอีกด้วย จึงมีข้อสงสัยว่า เงินเป็นแสนล้านและระยะเวลาต่างกันหลายเดือนนี้ สปสช. ได้ดอกเบี้ยอีกเท่าไหร่ ผู้ตวจสอบบัญชีได้รายงานดอกเบี้ยเงินฝากของ สปสช. หรือไม่?

แต่ สปสช. ได้นำเงิน (ที่ควรจะจ่ายให้แก่โรงพยาบาล) ไปซื้อยาและเครื่องมือแพทย์เอง โดยระบุว่าซื้อได้ในราคาถูก แต่โรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า ยานั้นกว่าจะมาถึงโรงพยาบาลก็เกือบถึงวันหมดอายุแล้ว และมียาบางอย่างที่หมดอายุไปก่อนที่จะจ่ายให้แก่ผู้ป่วยได้หมด และมีการตรวจสอบจากหน่วยตรวจสอบของรัฐบาลว่า สปสช. ได้ “เงินทอน” จากการซื้อยา

ร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับใหม่ที่รอการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนนี้ ไม่สามารถจะแก้ปัญหาที่กล่าวมานั้นได้

ฉะนั้น ในร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ยกร่างใหม่จากคณะกรรมการชุดนี้ จึงอาจจะไม่แก้ปัญหา “การกดราคาซื้อ” ของพ่อค้าคนกลาง ไม่สามารถป้องกันปัญหา “การซื้อถูก” และ “การขายแพง” ไม่สามารถป้องกันปัญหาการได้เงินทอนค่ายา และไม่สามารถแก้ปัญหาของประชาชนคนป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาตามคุณภาพมาตรฐาน

และมีคำถามว่า ทำไมรัฐบาลจะต้องตั้งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. มาเป็นพ่อค้าคนกลาง มาขูดรีด/กดราคาขายของกระทรวงสาธารณสุข ทำไมรัฐบาลจะตกลงราคาซื้อ/ขายบริการสาธารณสุขกับกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้โดยตรง และทำไมรัฐบาลจึงไม่สามารถตรวจสอบและทำหน้าที่ “บังคับบัญชา” คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและ สปสช. ให้ทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาลได้

ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุขก็คือ กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรงดังกล่าวแล้ว แม้แต่เงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ก็ยังต้องไปผ่านสปสช.

ถ้าเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ที่คิดงบประมาณเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวของเด็กนักเรียน ก็พบว่า แต่ละโรงเรียนได้รับงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล ไม่มีการจัดตั้งหน่วยงานพ่อค้าคนกลางมาคอยทำหน้าที่ส่งงบประมาณแบบ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข

พันธสัญญาจาก คสช. และนายกรัฐมนตรีมีต่อประชาชนคืออะไร และหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีจะสามารถรักษาพันธสัญญาที่ประกาศไว้เป็นสัญญาประชาคมได้หรือไม่?

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ประกาศสัญญาประชาคมของลูกผู้ชายชาติทหารเสมอว่า จะคืนความสุขให้ประชาชนและปราบคอร์รัปชันให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย

รัฐบาลชุดนี้ เป็นรัฐบาลที่มีเป้าหมายจะปฏิรูปประเทศและชูประเด็นการปราบการทุจริตคอร์รัปชัน ฉะนั้น รัฐบาลนี้ควรพิจารณาว่า จำเป็นที่จะต้องมีหน่วยงานกลาง เช่น สปสช. และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นพ่อค้าคนกลาง ที่ไปซื้อบริการจากโรงพยาบาลในราคาถูก แต่เอามา “ขาย” (ล่วงหน้า) ให้รัฐบาลในราคาแพง (ของบประมาณจากรัฐบาลมามาก แต่เอาเงินงบประมาณที่ได้มาไป “ซื้อบริการ” ในราคาต่ำกว่าราคาจริง) และต่ำกว่างบประมาณที่ได้รับมา เงินส่วนต่างนั้นถ้ามีเหลือก็ไม่ต้องส่งคืนคลัง แต่มันหายไปอยู่ ณ แห่งใด?

นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังมีภาระต้องจ่ายค่าบริหารเงินกองทุนนี้ในราคาปีละไม่ต่ำกล่า 1,000 ล้านบาท เป็นค่าจ้างบุคลากรประจำของ สปสช. โดยมีเลขาธิการ สปสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบรรจุ แต่งตั้ง ปลด เลื่อน/ลดเงินเดือน ของบุคลากร และหน่วยงานนี้ยังทำงานทับซ้อนกับงานของกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดมาตรฐานการรักษา และกำหนดว่าโรคไหนให้เบิกเงินค่ารักษาได้บ้าง แต่ประชาสัมพันธ์ว่ารักษาทุกโรค ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงตามนั้น