ThaiPublica > คอลัมน์ > โฉมใหม่ของโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญา

โฉมใหม่ของโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญา

28 พฤษภาคม 2017


ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ตามที่ได้มีการประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 โดยให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 เป็นต้นไป นั้น ทำให้มีการแก้ไขบทบัญญัติเรื่องโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา แทบจะทั้งหมด

“โฉมใหม่ของโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญา” นี้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเหตุผลและความเป็นมาของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ สำหรับสาระสำคัญ เหตุผลและความเป็นมาโดยสังเขปของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องโทษปรับ มีดังนี้

1. แก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญาให้มีความสอดคล้องกับการแก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษในภาค 3 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งได้มีการแก้ไขอัตราโทษปรับเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าและมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 เช่น อัตราโทษปรับของความผิดลหุโทษ เดิมกำหนดไว้ที่หนึ่งพันบาทก็ได้ปรับเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งหมื่นบาท ในขณะที่อัตราโทษปรับของความผิดทั่วไปยังไม่มีการแก้ไขตามให้สอดคล้องกัน ทำให้โทษปรับของความผิดลหุโทษสูงกว่าของความผิดทั่วไปในบางฐานความผิด ทั้งๆ ที่ความผิดลหุโทษเป็นความผิดที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น ความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 มีอัตราโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ขณะที่ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งเป็นความผิดทั่วไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีอัตราโทษปรับไม่เกินสี่พันบาท ซึ่งเป็นโทษปรับที่ต่ำกว่า ทั้งๆ ที่เป็นความผิดที่รุนแรงมากกว่า

นอกจากนี้ การกำหนดอัตราโทษปรับในภาค 2 นี้ ในหลายๆ ฐานความผิดก็ไม่สอดคล้องกันเองด้วยเมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนระหว่างอัตราโทษจำคุกกับอัตราโทษปรับของหลายๆ ฐานความผิด ซึ่งในภาค 2 ส่วนมากแล้วจะกำหนดสัดส่วนอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีต่ออัตราโทษปรับสองพันบาท อย่างเช่น ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ซึ่งมีสัดส่วนของอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีต่ออัตราโทษปรับสองหมื่นบาท ซึ่งมีสัดส่วนของอัตราโทษปรับที่สูงกว่า เป็นต้น

ประกอบกับอัตราโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขมาเป็นเวลานานแล้ว ทำให้ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จึงสมควรต้องปรับปรุงอัตราโทษปรับในภาค 2 ให้สูงขึ้น จึงได้พิจารณากำหนดอัตราโทษปรับในความผิดภาค 2 ในสัดส่วนโทษจำคุกหนึ่งปีต่อโทษปรับสองหมื่นบาท ซึ่งจะส่งผลให้การบังคับโทษทางอาญามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในการพิจารณากำหนดสัดส่วนค่าปรับที่เหมาะสม หากจะพิจารณาเทียบเคียงจากรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีในปี 2557 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งเท่ากับ 133,877 บาท ก็จะเป็นอัตราที่สูงมากเกินไป ไม่เหมาะสมกับรายได้และสถานะทางเศรษฐกิจของประชาชนตามความเป็นจริง คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงไม่ได้นำเอารายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปีมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดสัดส่วนค่าปรับใหม่ แต่ได้เทียบเคียงกับอัตราโทษปรับของความผิดตามกฎหมายที่เห็นว่าเหมาะสม ซึ่งได้กำหนดอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีต่ออัตราโทษปรับสองหมื่นบาท

โดยการแก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดทั่วไปในภาค 2 ให้สูงขึ้นในสัดส่วนอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีต่ออัตราโทษปรับสองหมื่นบาทนี้ เป็นการแก้ไขอัตราโทษปรับที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ที่ยังไม่ได้กำหนดอัตราโทษปรับให้ได้สัดส่วนกับอัตราโทษจำคุกดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม จะพบว่าอัตราโทษปรับสำหรับฐานความผิดที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเข้ามาในประมวลกฎหมายอาญาในภายหลัง เช่น ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ในมาตรา 269/1 ถึงมาตรา 269/7 และความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ในมาตรา 269/8 ถึง 269/15 ซึ่งเป็นความผิดที่เพิ่มเติมเข้ามาในปี 2547 และ 2550 ตามลำดับ ได้มีการกำหนดสัดส่วนอัตราโทษจำคุกหนึ่งปีต่ออัตราโทษปรับสองหมื่นบาทไว้แล้ว จึงทำให้ไม่มีการแก้ไขอัตราโทษปรับสำหรับความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์และความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางดังกล่าว

นอกจากนี้ ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 266 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท และความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท ก็ไม่ได้มีการเพิ่มอัตราโทษปรับแต่อย่างใด เนื่องจากอัตราโทษปรับที่กำหนดไว้ในปัจจุบันสูงอยู่แล้ว

2. กำหนดเพิ่มโทษปรับสำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 และความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 298 เนื่องจากอันตรายสาหัสตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 297 นั้นมีอยู่ถึง 8 ระดับ ตั้งแต่สาหัสไม่มากจนถึงสาหัสมาก คือ ตั้งแต่ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา หรือประกอบกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันจนถึงเสียแขน ขา มือ เท้า ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด โดยกำหนดโทษจำคุกไว้ตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี ซึ่งศาลอาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสถานเบาหรือหนักก็ได้แล้วแต่ระดับความรุนแรงของอันตรายสาหัสที่ผู้เสียหายได้รับ หากเป็นอันตรายสาหัสในระดับที่ไม่รุนแรง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกสถานเบาและให้รอการลงโทษได้ ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษเลย การกำหนดโทษจำคุกไว้อย่างเดียวจึงอาจไม่เหมาะสมกับระดับของผลการกระทำความผิด จึงควรที่จะกำหนดเพิ่มโทษปรับไว้ในความผิดฐานนี้ด้วย เพื่อให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แต่ละกรณีได้ โดยได้แก้ไขระวางโทษในมาตรา 297 เป็น “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองแสนบาท” และแก้ไขระวางโทษในมาตรา 298 เป็น “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท”

สำหรับความผิดอื่นที่มีโทษจำคุกอย่างเดียวโดยไม่มีโทษปรับนั้น คณะกรรมการปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าเป็นความผิดที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงและมีการกำหนดโทษจำคุกไว้สูงแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดให้มีโทษปรับอีก

3. กำหนดเพิ่มการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 99 เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2559 จากเดิมที่การบังคับโทษปรับในกรณีผู้ต้องโทษไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินการโดยการยึดทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับนั้น ได้เพิ่มเติมวิธีการบังคับโทษปรับโดยการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับด้วย และโดยที่การบังคับโทษปรับตามมาตรา 29 จะต้องกระทำภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 99 คือภายในระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่เนื่องจากมาตรา 99 กำหนดเฉพาะการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับเท่านั้นไม่ได้กำหนดกรณีการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับด้วย จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 99 โดยเพิ่มกรณีการอายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับด้วย เพื่อให้สอดรับกับมาตรา 29 โดยเพิ่มถ้อยคำ “อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สิน” เข้าไปในวรรคหนึ่งของมาตรา 99 เป็น “การยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับหรือการกักขังแทนค่าปรับ…”

การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องโทษปรับในประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้จึงเป็นการแก้ไขใน 3 เรื่องหลักๆ ดังกล่าว เพื่อให้การบังคับโทษทางอาญามีประสิทธิภาพ สอดคล้องต้องกัน และมีความเป็นธรรม และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น