ThaiPublica > เกาะกระแส > ลงทะเบียน!! งานสัมมนา “การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง”

ลงทะเบียน!! งานสัมมนา “การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง”

28 พฤษภาคม 2017


บางคำถาม…ต้องการคำตอบ???

เราเคยสงสัยมั้ยว่า มาตรการช็อปปิ้งช่วยชาติ ช่วยใคร

นโยบายลงทะเบียนคนจน ถึงมือคนจนจริงหรือเปล่า

นโยบายส่งเสริมการลงทุน ดึงนักลงทุนได้จริงหรือ

แต่ดูเหมือนจะเป็นความยากในการตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณและเงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนว่าเงินของเราเขา(รัฐบาล)เอาไปทำอะไร และมากกว่าไปกว่านั้นรัฐบาลยังใช้นโยบายกึ่งการคลังเป็นเครื่องมือในการทำนโยบายต่างๆตามที่รัฐบาลต้องการ

ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน ต่างต้องการให้รัฐดำเนินการอย่างโปร่งใส เปิดข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อให้การใช้เงินมีประสิทธิภาพและรั่วไหลน้อยที่สุด ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายการอยู่ดีกินดีของประชาชน และเป็นเครื่องมือสำคัญของประชาชนในการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกใครเป็นตัวแทนของตน

โครงการวิจัย “การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง” ต้องการวิเคราะห์หาแนวทางสนับสนุนการเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลังของประเทศไทย โดยศึกษาระบบงบประมาณของรัฐบาลควบคู่ไปกับการดำเนินการทางงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐที่มักถูกใช้เป็นช่องทางในการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง อันได้แก่ เงินนอกงบประมาณและทุนหมุนเวียน รัฐวิสาหกิจทั้งที่เป็นสถาบันการเงินและมิใช่สถาบันการเงิน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินงานของรัฐบาล

ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าโครงการ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “โดยส่วนตัวอยากจะให้ข้อเสนอในการปฏิรูประบบงบประมาณของประเทศไทย เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างที่สุด โดยเป็นข้อเสนอที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มความโปร่งใสในระบบงบประมาณของประเทศ โดยการสร้างความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำหน้าที่ของรัฐบาล”

ความโปร่งใสแบบง่ายๆ คือ การเปิดเผยข้อมูลที่มีความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ เข้าใจได้ตรงกัน และคงเส้นคงวา ให้กับประชาชนภายในประเทศทุกคนได้รับรู้รับทราบ โดยคำว่าถูกต้อง หมายถึง ต้องไม่มีการบิดเบือนข้อมูลหรือใช้กลอุบายในการนำเสนอข้อมูลให้ผิดเพี้ยนไป คำว่าครบถ้วนสมบูรณ์ หมายความถึง ต้องมีความครอบคลุมอย่างถ้วนทั่ว ไม่ปกปิดข้อมูลบางส่วนที่อาจส่งผลให้เกิดการตีความที่คลุมเครือ คำว่าเข้าใจได้ตรงกัน หมายถึง ต้องมีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เข้าใจได้ง่ายและให้ทุกคนเข้าใจข้อมูลได้อย่างถูกต้องตรงกัน และคำว่าคงเส้นคงวา หมายความถึง การนำเสนอข้อมูลต้องอยู่ในลักษณะเหมือนหรือใกล้เคียงกันในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบการทำงานของรัฐบาลในช่วงเวลาต่างๆ ได้

ดร.ภาวินกล่าวย้ำว่าความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะนำมาซึ่งการตัดสินใจที่ถูกต้องของประชาชนในการเลือกสนับสนุนหรือไม่ให้การสนับสนุนตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ในการเข้าไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาลของประเทศ เนื่องจากความโปร่งใสจะช่วยให้ประชาชนรับรู้รับทราบเกี่ยวกับเป้าประสงค์ในการดำเนินงานของรัฐบาล ต้นทุนที่ใช้ในการทำงาน และความสำเร็จในการบรรลุเป้าประสงค์ต่างๆ ของรัฐบาลได้อย่างถูกต้องชัดเจน

“นั่นคือ ประชาชนจะสามารถรับรู้ถึงผลประโยชน์ที่พวกเขาได้รับและต้นทุนที่พวกเขาสูญเสียไปจากการทำงานของรัฐบาลได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน นอกจากนั้น ยังสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของรัฐบาลต่างๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกตั้งผู้แทนในครั้งถัดไปได้ เพราะการจัดทำงบประมาณถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากๆ ในการทำหน้าที่ของรัฐบาลถึงแม้ว่าการจัดทำงบประมาณจะไม่สามารถให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของรัฐบาลได้ แต่การจัดทำงบประมาณถือได้ว่าเป็นการแปลงเป้าประสงค์ของรัฐบาลให้กลายเป็นภาพแนวทางการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม ผ่านการจัดทำมาตรการหรือโครงการต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์แต่ละประการ”

“ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญของความโปร่งใสในการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ผมและคณะนักวิจัยกลุ่มหนึ่งจึงได้รวมตัวกันจัดทำโครงการวิจัยที่ต้องการทำความเข้าใจช่องทางในการใช้ทรัพยากรนอกงบประมาณของรัฐบาลไทยลักษณะต่างๆ เก็บรวมรวบข้อกฎหมายและข้อมูล รวบรวมแนวคิดทางทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาแนวทางในการดำเนินการที่ได้รับการเสนอแนะในระดับสากล เพื่อจัดทำข้อเสนอในการเพิ่มความโปร่งใสให้กับระบบงบประมาณของประเทศไทยในภาพรวม

โครงการวิจัย“การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง” ได้การสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โครงการวิจัยนี้ประกอบด้วยโครงการวิจัยย่อย 5 โครงการ ซึ่งจะศึกษาถึงวิธีการจัดทำงบประมาณของหน่วยงานรัฐประเภทหลัก ได้แก่ รัฐบาลและส่วนราชการ กองทุน/ทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ รัฐวิสาหกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการนำผลลัพธ์จากการศึกษาที่ได้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างกัน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ทีมนักวิจัยได้งานสัมมนาเผยแพร่ผลงาน “การปฏิรูประบบงบประมาณเพื่อเพิ่มความโปร่งใสให้กับการดำเนินนโยบายกึ่งการคลัง” ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560นี้ (ลงทะเบียนตามรายละเอียดด้านล่าง)