ThaiPublica > เกาะกระแส > SME แบงก์ ชู “เชี่ยวหลาน” Ecotourism โมเดล 4.0 เพิ่มรายได้ชุมชน 7 พันล้าน/ปี

SME แบงก์ ชู “เชี่ยวหลาน” Ecotourism โมเดล 4.0 เพิ่มรายได้ชุมชน 7 พันล้าน/ปี

9 พฤษภาคม 2017


เขาหินปูนตั้งโดดเด่นในทะเลสาบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนรัชชประภาปิดกั้นคลองพะแสง

“เชี่ยวหลาน” หรือเขื่อนรัชชประภา ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี พื้นที่ 105,000 ไร่ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ต้องจองล่วงหน้านานนับเดือน ต่างไปจากเมื่อสิบกว่าปีก่อนที่มีนักท่องเที่ยวไม่ถึงร้อยคนต่อวัน

ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาพุ่งแตะ 3,000 คนต่อวัน สูงกว่าปกติถึง 1 เท่าตัว กับขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่พร้อมให้ทุกคนกลับมาเยี่ยมเยือนไม่รู้จบ

นักท่องเที่ยวรอขึ้นเรือเข้าไปในทะเลสาบเชี่ยวหลาน
สะพานแขวนเขาพัง หรือ สะพานแขวนเขาเทพพิทักษ์ อยู่บริเวณทางเข้าก่อนถึงเขื่อนรัชชประภา

“เชี่ยวหลาน” 4.0 เพิ่มรายได้ชุมชน 7 พันล้าน

ปี 2535 ที่มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน ชาวบ้านบางส่วนไม่มีอาชีพที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืน แต่ด้วยจุดเด่นของพื้นที่ที่สวยงาม การท่องเที่ยวที่กำลังเติบโต และท้องถิ่นมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (Ecotourism) เชี่ยวหลานจึงเป็นพื้นที่นำร่องโดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ที่ปรับบทบาทตัวเองเป็น SME Development Bank เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน พัฒนาผู้ประกอบการ และเป็นผู้ประสานให้รัฐและชุมชนได้เข้าถึงกัน ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ของรัฐบาล

ข้อมูลจากฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการและร่วมลงทุน ธพว. ระบุว่า 1 ปีของความพยายามสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาผู้ประกอบการไปสู่โลกภายนอก ทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ ฯลฯ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 คน ในปี 2559 จากเดิมเฉลี่ย 100,000 คนต่อปี สร้างรายได้ให้ชุมชน 65 ล้านบาท ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติก็เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ตั้งเป้าเพิ่มนักท่องเที่ยวให้ถึง 500,000 คนในปี 2560 คาดว่าจะมีรายได้ขยับขึ้นเป็น 1,075-3,200 ล้านบาท และหากสามารถเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปสู่บนบก ในส่วนของชุมชนโดยรอบ ในเรื่องของผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าที่ระลึก การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การขนส่ง ฯลฯ จะสามารถสร้างรายได้ให้พื้นที่ได้สูงถึง 7,200 ล้านบาทต่อปี

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว.

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการโดยการเติมเงินอย่างเดียวว่าไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ส่วนใหญ่มีหนี้เสีย (NPL) ตอบกลับมาค่อนข้างมาก และการเป็น development bank ต้องตีโจทย์ให้แตก ต้องติดอาวุธให้ความรู้ผู้ประกอบการ แล้วให้ผู้ประกอบการสามารถติดปีก ขยายไปได้ทั่วโลกผ่าน 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ

  • ทำให้ทันสมัย
  • มีเรื่องราว
  • มีการดีไซน์ให้ตรงความต้องการของผู้บริโภค
  • มีมาตรฐาน/มีคุณภาพ
  • ออนไลน์

“วันนี้รัฐบาลกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายมาคือ 10 S-curve พอลงมาที่จังหวัดก็เปิดยุทธศาสตร์จังหวัดว่าเขาสนับสนุนทำธุรกิจอะไร ซึ่งส่วนใหญ่เป็น เกษตร อาหาร ท่องเที่ยว และให้ชุมชนเป็นข้อมูลพื้นฐาน ให้เขาคิดเป็น หาสิ่งที่ทำแล้วเกิดเป็นพระเอกขึ้นมา เสร็จแล้วเราก็เอามาดูว่าอันไหนสอดคล้องกัน จากแนวคิดทั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่รัฐบาล จังหวัด และชุมชน แล้วจึงใส่มาตรการทางการเงิน คือสินเชื่อเข้าไป ซึ่งสมัยก่อนสินเชื่อคิดจากกรุงเทพ จากแบงก์พาณิชย์ แบงก์รัฐ วันนี้คิดจากข้างล่างขึ้นมา สภาจังหวัดอยากเห็นพื้นที่ไหนโต อยากเห็นประเด็นไหนโต ก็เอามาเลย” นายมงคลกล่าว

โอกาสของผู้ประกอบการที่ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ด้านนายอติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลานและเจ้าของกิจการแพ 500 ไร่ กล่าวว่า ผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์สำหรับค้ำประกัน หลายคนเริ่มต้นจากการไม่มีอะไรแล้วสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมา เขาไม่รู้จักการทำบัญชี ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น สิ่งที่เขาต้องการต่อมาคือทักษะด้านภาษา ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง

นายมงคลกล่าวเสริมว่า จากโมเดลการทำธุรกิจของเชี่ยวหลานมองว่าสามารถคืนทุนได้ แต่พื้นที่นี้ยังไม่เป็น Eco system  จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่ง ธพว. ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน เช่น จังหวัด อำเภอ กองทุนหมู่บ้าน กระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้ชาวบ้านเกิดการรวมตัว และธนาคารก็ทำการปล่อยสินเชื่อ เริ่มต้นจากการคิดว่ามีผลมากกับชุมชน คือ แพที่พัก กับเรือ

เรือหางยาวรูปแบบเดิม
เรือแบบเก่า

โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาเรือโดยสารและเรือนำเที่ยวชมความงามของธรรมชาติโดยรอบให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวได้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือในส่วนของสมาคมที่พัฒนาการทำงานร่วมกันและหน่วยงานพันธมิตร คือ อุทยานแห่งชาติเขาสก กรมเจ้าท่า โรงพยาบาล ในการอบรมนายท้ายเรือ การสอบเพื่อให้ทุกคนมีประกาศนียบัตรในการขับเรือ ทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในกรอบของระเบียบของกฎหมายอย่างครบถ้วน และขณะเดียวกันทุกคนก็มีมาตรฐานเพิ่มยิ่งขึ้น

พร้อมทั้งนำภาคการศึกษาอย่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเข้ามาช่วยปรับปรุงคุณภาพเรือนำเที่ยว ด้วยการช่วยออกแบบ จนนำไปสู่การปรับปรุงเรือโดยสารจากเรือหางยาวเป็นเรือที่ใช้พวงมาลัยขับ และมีการปรับเปลี่ยนเรือไม้เป็นเรือเหล็ก ทำให้เกิดความปลอดภัยและรองรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น โดยคงเอกลักษณ์ของเรือแบบเดิมเอาไว้ รวมไปถึงจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ ในเรื่องการทำบัญชี เรื่องราคา ทักษะภาษา

“เป็นการพัฒนาไปด้วยกัน เพราะคนที่นี่เขาต้องการยกระดับการท่องเที่ยวโดยคงแบบเดิมที่เน้นเรื่องเกษตร อิงเรื่องธรรมชาติ บวกเรื่องวัฒนธรรมเป็นหลัก ดังนั้นเราจะไม่เอาเรือลำใหญ่ๆ แม้จะรับนักท่องเที่ยวได้เยอะ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่วัฒนธรรมที่นี่” นายมงคลกล่าว

การต่อเรือเหล็ก
เรือที่ได้รับการปรับปรุงประกอบจากเหล็กและขับด้วยพวงมาลัย
เรือรูปแบบใหม่

นายมงคลกล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการที่นี่จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงิน 1 ปีกับการเริ่มต้นที่เชี่ยวหลาน ธพว. ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไปจำนวน 42.57 ล้านบาท แก่ผู้ประกอบการ 24 ราย สิ่งที่ ธพว. ประเมินเพื่อปล่อยสินเชื่อมี 2 ส่วน คือ การสนับสนุนเงินทุนผ่านทาง “สมาคม” ที่มีศักยภาพ และกระแสเงินสดของตัวผู้ประกอบการ  โดยให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน โดยยืนยันว่า 1 ปีที่ผ่านมานี้ยังไม่มีหนี้เสียเกิดขึ้นเลย

เที่ยวให้ “ยั่งยืน” เริ่มที่ผู้ประกอบการ

นายอติรัตน์ ด่านภัทรวรวัฒน์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลานและเจ้ากิจการของแพ 500 ไร่

การท่องเที่ยวที่อิงกับทรัพยากรธรรมชาติ ต้องมาพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เชี่ยวหลานเป็นเพียง 1 ส่วน 4 ของพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสกอันเป็นผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุดและมีความสำคัญของภาคใต้ นอกจากอ่างเก็บน้ำแล้ว การเดินป่า และกิจกรรมต่างๆ ในเขตอุทยานฯ ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไม่แพ้กัน ซึ่งผู้ประกอบการในพื้นที่เชี่ยวหลานและพื้นที่เขาสกตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ เพราะพวกเขารู้ดีว่าธรรมชาติเป็นแหล่งรายได้ และที่สำคัญ ธรรมชาติคือสิ่งที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของชุมชนมายาวนาน ปัจจุบันเชี่ยวหลานมีที่พัก 16 แพ ประกอบด้วย 12 แพเอกชน 4 แพราชการ ส่วนเขาสกมีผู้ประกอบการ 43 คน รวมที่พัก 840 ห้อง

นายอติรัตน์กล่าวว่า แพที่พักในอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่งจะแบ่งการจัดการของเสียเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง และสิ่งปฏิกูล ขยะเปียกขยะแห้งทุกแพจะต้องนำขยะขึ้นมาบนฝั่ง แล้วก็จะเป็นหน้าที่ของเทศบาลนำไปกำจัด ในเรื่องของระบบบำบัดน้ำเสียตอนนี้เนื่องจากมีห้องน้ำบนน้ำ ก็จะต้องมีถังเก็บกักไว้ บางแพก็จะใช้วิธีสูบขึ้นไปบนฝั่ง บางแพเก็บกักแล้วก็จะมีเรือมาสูบออกไป ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีหน่วยงานจากจังหวัด เช่น สาธารณสุขจังหวัด เข้ามาประเมินการจัดการของเสียและสิ่งแวดล้อมของแพต่างๆ

แพที่พักในทะเลสาบเชี่ยวหลาน

“ตัวอย่างของแพ 500 ไร่ เรื่องอาหาร เสื้อผ้าที่ซัก ของเสียต่างๆ เรามีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยใช้เรือวิ่งเข้าออกสัปดาห์ละ 6 วัน ขาขึ้นจะนำอาหารและนำเชื้อเพลิงขึ้นไปยังแพ และผ้าต่างๆ จะถูกนำกลับมาซักลงมาซักบนฝั่ง แม้กระทั่งแพพักพนักงานไม่มีการซักผ้าที่นั่น ขยะอาหารก็เช่นกันเราไม่เหลือเอาไว้ตามเกาะแก่งให้สัตว์ลงมา เราขนกลับไป เพราะสัตว์ป่าคือสัตว์ป่า ซึ่งการขนลงไปลงมาทำให้วัฏจักรวงจรพวกแมลงวันไม่เกิด อาหารที่ขึ้นไปก็สด และลดการสูญเสียอื่นๆ อาจสิ้นเปลืองเรื่องค่าเรือสักหน่อยแต่เมื่อเทียบแล้วมันดีกว่า” นายอติรัตน์กล่าว

ที่พักบริเวณคลองพะแสง ใกล้กับเขื่อนรัชชประภา

ด้านนายกฤษณะ รักกะเปา นายกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวเขาสก กล่าวถึงการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแหงชาติเขาสกว่าเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติมากว่า 30 ปีแล้ว ภาพของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทำให้ชาวบ้านตระหนักว่าป่าคือแหล่งรายได้ที่ต่างไปจากเดิม เกิดการสร้างกติกาในการอยู่ร่วมกัน เปลี่ยนพฤติกรรมของพรานป่าที่มีความเชี่ยวชาญในเส้นทางรู้จักและคุ้นเคยกับป่าให้เป็นไกด์นำเที่ยว เป็นผู้ดูแลผืนป่าแทนที่จะเป็นผู้ทำลาย เมื่อเขามีอาชีพที่มั่นคงก็ไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์

นายอติรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการมีนโยบายและแนวคิดที่สอดคล้องกับรัฐบาลคือต้องการนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ คือ 1) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ใส่ใจเห็นคุณค่าความเป็นไทยในทุกมิติ 2) นักท่องเที่ยวที่มาแล้วเกิดการจับจ่ายใช้สอย ใช้จ่ายเงิน จึงเกิดการตั้งราคาที่พักที่หลากหลาย มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักร้อย

“แน่นอนว่านักท่องเที่ยวมีหลายกลุ่มหลายระดับ แต่เชี่ยวหลานต้องการลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวมีคุณภาพ ดังนั้น การที่ผมขยับราคาทำให้ทุกคนขยับได้ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังมีทางเลือกอยู่ ตลาดของภาครัฐที่เป็นแพของอุทยาน 900 บาทต่อคืน อาหาร 3 มื้อ ขณะที่แพเอกชนทำอย่างไรให้ไม่แข่งกัน แพที่พักถ้ามีแต่ตลาดบนทั้งหมดก็อยู่ไม่ได้ ถ้ามีแต่กลางหมดก็ทะเลาะกัน ล่างหมดก็ดูไม่มีคุณค่า เสียดายทรัพยากร 500 ไร่ ดังนั้น ระดับที่พักมีทั้งระดับบน กลาง ล่าง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภท ทำให้เชี่ยวหลานมีสีสัน แต่ท้ายที่สุดระดับล่างสุดนักท่องเที่ยวต้องถูกขยับให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่มาใช้ทรัพยากร และมาใช้ระบบสาธารณูปโภคในประเทศของเรา” นายอติรัตน์กล่าว

สร้างรูทการท่องเที่ยว-กระจายรายได้สู่พื้นที่โดยรอบ

สวนผลไม้ที่เปิดให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยว และร้านอาหารบริเวณคลองพะแสง

เนื่องจากเขื่อนเชี่ยวหลานเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาสก ดังนั้น นักท่องเที่ยวนอกจากมาชมความสวยงามของอ่างเก็บน้ำแล้ว บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาสกยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือน ด้วยทำเลที่ตั้งที่มีศักยภาพ ที่อยู่ระหว่างกึ่งกลางของอันดามันและอ่าวไทย สามารถส่งต่อนักท่องเที่ยวไปยังอุทยานแห่งชาติเขาหลัก จ.พังงา ภูเก็ต รวมถึงสมุย เกาะพะงัน ได้ด้วย ผลจากการเริ่มเชื่อมโยงตลาดท่องเที่ยว ก็เริ่มมีการรับนักท่องเที่ยวเหล่านั้นเข้ามาเช่นกัน

สำหรับเชี่ยวหลาน ศักยภาพในการรองรับท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพเฉลี่ยต้องไม่เกิน 80-100 คนต่อแพ รวมแล้วสามารถรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชี่ยวหลานแบบพักค้างคืนได้ประมาณ 1,200 คนต่อวัน ฉะนั้น 1 ปีจะสามารรับนักท่องเที่ยวได้ราว 465,000 คน

นายมงคลกล่าวว่า เชี่ยวหลานรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยไม่เกิน 1,300 คนต่อวัน แต่ไม่เกิน 1,500 คนต่อวัน  ถ้ามากกว่านี้จะส่งผลกระทบหลายเรื่อง อย่างในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวถึง 3,000 คนต่อวัน ก็ล้น ดังนั้น

    ecotourism

ต้องมีการวางแผนเพื่อให้เกิดความสมดุล การจัดการแล้วจะเกิดมูลค่าเพิ่มสูง สำหรับความสามารถรองรับนักท่องเที่ยวของเขาสก ได้ไม่เกิน 1,000 กว่าคนต่อวัน นั่นหมายถึงว่า 2 พื้นที่ (เชี่ยวหลานและอุทยานฯ เขาสก) สามารถถ่ายเทนักท่องเที่ยวกันได้ หากสองพื้นที่รวมกันนักท่องเที่ยว 3,000 คนต่อวันก็รับไหว แต่หากรวมพื้นที่ท่องเที่ยวระหว่างทางก็สามารถรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งสามารถสร้างรายได้นับหมื่นล้าน

ขณะที่นายอติรัตน์กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญคือต้องสร้างรูทการท่องเที่ยว และสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ให้ไม่ต้องแข่งขันกัน แล้วสร้างการรับรู้ว่าหากมาเขาสกแล้วต้องมาที่เชี่ยวหลานด้วย หรือมาที่เชี่ยวหลานก็ต้องไปที่เขาสกด้วย เพราะตลาดนักท่องเที่ยวของทั้ง 2 พื้นที่มีความแตกต่างกัน เชี่ยวหลานเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวไทย ยังไม่แพร่หลายในหมู่ชาวต่างชาติ ขณะที่เขาสกเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติมากกว่านักท่องเที่ยวไทย ซึ่งจุดเด่นของอุทยานฯ คือบัวผุด ซึ่งนักท่องเที่ยวไทยน้อยคนที่จะรู้จัก(ดูเพิ่มเติม) การเชื่อมโยงของ 2 พื้นที่จึงต้องชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่