ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จักกับนโยบายแจกเงิน : Universal Basic Income

รู้จักกับนโยบายแจกเงิน : Universal Basic Income

23 พฤษภาคม 2017


ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

ที่มาภาพ : https://static.pexels.com/photos/41301/business-cash-coin-concept-41301.jpeg

คงมีไม่กี่เรื่องที่สามารถดึงความสนใจของคนระดับโลกจากหลากสาขา ตั้งแต่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักคิดเสรีนิยม ฟรีดรีช ฮาเย็ก นักเศรษฐศาสตร์รุ่นขลัง มิลตัน ฟรีดแมน กับ พอล แซมมวลสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน ไปจนถึง ไอรอนแมนตัวเป็นๆ อย่าง
อีลอน มัสก์

เรื่องนั้นก็คือนโยบายการันตีรายได้พื้นฐานให้กับประชาชน โดยทุกวันนี้เวอร์ชันที่ได้รับความฮือฮามากที่สุดก็คือนโยบายที่เรียกว่า Universal Basic Income (UBI) นั่นเอง

แม้ว่าหลายคนจะมองว่าความคิดนี้ดูไม่เข้าท่าและไม่น่าจะเป็นไปได้ในโลกจริง แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ที่อาจทำให้ฝันกลางวันเรื่องนี้กลายเป็นความจริงเร็วขึ้นได้ ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดคือเมื่อต้นปีนี้รัฐบาลฟินแลนด์ได้เริ่มทำการทดลองสุ่มให้เงิน 560 ยูโรต่อเดือนกับกลุ่มผู้รับค่าตอบแทนการว่างงาน 2,000 คน เพื่อดูว่าจะทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากบ่วงกรรมการหางานไม่ได้สักทีหรือไม่

บทความนี้จะอธิบายแบบสั้นๆ ว่า 1) นโยบายแจกเงินแบบ UBI คืออะไร 2) ทำไมถึงกำลังเป็นที่ฮือฮามาก 3) ผลกระทบที่เป็นไปได้มีอะไรบ้างครับ

อะไรคือนโยบาย Universal Basic Income?

ที่จริงแล้วนโยบายจำพวกที่ต้องการการันตีรายได้พื้นฐานกับประชาชนทุกคนไม่ใช่อะไรใหม่ ถ้าจะไปให้สุดก็จะสามารถสืบไปถึงต้นตอของมันได้ในสมัยโรมันด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้เรายกให้โทมัส เพนนักปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยชาวอังกฤษ เป็นผู้ริเริ่มความคิดนี้

แก่นหลักของนโยบาย UBI คือ มันไม่ใช่นโยบายกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และไม่ได้การันตีงานให้ แต่มันให้สิทธิที่ประชาชนทุกคนจะได้รับรายได้จำนวนหนึ่งต่อเดือนหรือต่อสองอาทิตย์ที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตแบบพื้นฐาน (พอสำหรับค่าที่อยู่อาศัย อาหารการกิน การรักษาพยาบาล และการศึกษา) โดยที่ไม่มีข้อแม้อะไรเลย (unconditional) และใครๆ ก็ได้รับเงินในจำนวนเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน (universal)

ถือเป็นนโยบายที่แหวกแนวคิดในการบริหารระบบสวัสดิการในหลายประเทศพอสมควร เนื่องจากแนวคิดแบบ UBI นี้ไม่มีข้อบังคับใดๆ เลยว่าผู้ที่ได้รับรายได้นี้จะต้องทำอะไรเพื่อแลกเปลี่ยนกับมันบ้าง และไม่สนใจว่าผู้ได้รับเงินจะต้องมีความลำบากแค่ไหน ทุกคนล้วนมีสิทธิได้รับเงินทั้งสิ้น แตกต่างกับนโยบายแก้ไขความยากจนเรื้อรังบางประเภท เช่น conditional cash transfer ที่ต้องการ “ใช้เงินล่อ” เพื่อให้ครอบครัวยากจนลงทุนกับการศึกษาของบุตรหลานมากขึ้น หรือ ดูแลสุขภาพตนเองให้ดีขึ้นโดยการไปฉีดวัคซีนและไปตรวจสุขภาพ

พูดง่ายๆ ก็คือ ผู้รับรายได้ UBI จะเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีขึ้นต่อตนเองและสังคมหรือไม่นั้นขึ้นจะอยู่กับตัวเขาเอง ไม่มีการ “คิดแทนผู้รับ” โดยผู้ให้

ทำไมอยู่ดีๆ กระแส UBI จึงปะทุขึ้น?

ที่มาภาพ : https://pixabay.com/p-506322

มีอยู่ 3 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ความคิดเก่าๆ นี้กำลังได้สปอตไลต์บนเวทีการเมืองในหลายประเทศ

เหตุผลแรก คือ กระแสความวิตกที่หุ่นยนต์และ automation จะเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์จำนวนมาก แม้ว่าตัวเลขสัดส่วนแรงงานที่ถูกทำนายว่าจะถูกหุ่นยนต์ “เบียดตกกระป๋อง” จากรายงานและงานวิจัยของแต่ละสำนักจะไม่ตรงกัน (ของ Oxford Martin ทำเนียบขาว และ OECD) ส่วนมากเห็นตรงกันว่า “ท่าไม่ดีแน่” โดยเฉพาะสำหรับแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานที่มีรายได้ต่ำในขณะนี้ (แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าถ้าแรงงานเหล่านี้สามารถพลิกตัวไปหางานชนิดใหม่ๆ หรือไปร่วมมือกับหุ่นยนต์ได้ ผลกระทบก็จะไม่น่าวิตกเท่าไรนัก)

ในสหรัฐฯ ทำเนียบขาวเตือนว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของงานทั้งหมดมีค่าจ้างต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยเฉพาะงานของเหล่าคนขับรถและพนักงานร้านอาหารจะถูก automation กลืนกินไปเกือบหมด งานวิจัยชิ้นใหม่ในสหรัฐฯ โดย Daron Acemoglu กับ Pascual Restrepo ใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ทำให้เห็นภาพมากขึ้น พวกเขาพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วการมาของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมหนึ่งตัวจะมาพร้อมกับการลดแรงงานมนุษย์ลงประมาณ 5-6 คนในตลาดแรงงานท้องถิ่น

เหตุผลที่สอง คือ ถึงแม้ว่างานบางชนิดจะไม่ได้ถูกทดแทนไปหมดแต่เทรนด์ค่าจ้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้หลายคนกลัวว่าเรากำลังอยู่ในยุคมืดของแรงงาน จากปี 1990 ถึง ปี 2009 ประเทศในกลุ่ม OECD สัดส่วนรายได้ของแรงงานต่อรายได้ประชาชาติลดลงเกือบทุกประเทศ ประมาณ 0.3 เปอร์เซ็นต์ทุกปี สัดส่วนที่ลดลงนี้สะท้อนให้เห็นว่าผลิตภาพของแรงงานโตเร็วกว่าผลตอบแทนที่แรงงานได้รับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของทุน การเติบโตของเศรษฐกิจในแต่ละปีจึงไม่ได้แปลได้ตรงๆ ว่าความเป็นอยู่ของคนส่วนมากดีขึ้นเสมอไปหากเค้กเศรษฐกิจส่วนที่โตขึ้นนั้นไปอยู่ในมือของนายทุนส่วนน้อย

ทั้งสองเหตุผลนี้จึงทำให้หลายคนหวั่นถึงเหตุผลที่สาม นั่นก็คือ ระดับความเหลื่อมล้ำ (income inequality) ที่อาจจะทะลุสูงขึ้นไปอีกจนทำให้เศรษฐกิจโตได้ช้าลง (เนื่องจากขาดกำลังบริโภคของชนชั้นกลาง) หรือทำให้เกิดปัญหาการเมืองรุนแรงได้

ผลกระทบที่เป็นไปได้ของ UBI

เหตุผลอันดับหนึ่งที่นโยบาย UBI มักถูกวิจารณ์คือ “เงินที่ได้มาฟรีๆ จะทำให้คนขี้เกียจ ทำไมไม่เอามาให้คนที่ขยันทำมาหากิน?” ผู้ต่อต้านนโยบายนี้เกรงว่าการให้เงินโดยไม่มีข้อแม้จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลยนอกจากเป็นแค่การกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นที่ “สิ้นเปลือง” เช่น สุราและบุหรี่ และเป็นการสร้าง disincentive ขนาดยักษ์ให้คนเราใช้ชีวิตแบบไม่มีแรงจูงใจสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับสังคมและเศรษฐกิจ

แต่ในมุมกลับกัน ผู้สนับสนุนนโยบาย UBI มองโลกในแง่ดี แย้งว่าเงินที่ได้เพิ่มขึ้นนั้นน่าจะทำให้คนที่เขาลำบากอยู่มี “เบาะรองรับ” ที่นุ่มและลึกพอที่จะทำให้พวกเขาสามารถกลับมาโฟกัสกับการเริ่มต้นใหม่ หางาน หรือมีแรงลุกขึ้นมาทำธุรกิจหลังจากที่เงินก้อนนี้ทำให้เขาหลุดออกจากวงจรหาเช้ากินค่ำก็เป็นได้

ข้อโต้แย้งนี้น่าสนใจเนื่องจากงานวิจัยใหม่ๆ พบว่าสมองคนเราทำงานได้ไม่เต็มที่เวลาเราประสบกับความยากจน (ไม่ว่าจะจนเพราะโชคร้ายหรือเพราะตัวเอง) เนื่องจากจะเกิดความเครียดมหาศาลตลอดเวลาว่าเราควบคุมอะไรรอบๆ ตัวเราไม่ได้เลย อีกทั้งในการทดลองหลายครั้งหลายคราในหลายประเทศยังมีการพบว่า “เงินที่ได้มาฟรีๆ” ก็ไม่ได้ทำให้คนบริโภคสิ่งมึนเมา หรือของที่ไม่มีประโยชน์มากขึ้น บางครั้งยังทำให้ผู้รับตัดสินใจเกี่ยวกับชีวิตได้ดีขึ้นด้วย เช่น ทำให้สุขภาพดีขึ้น (โดยเฉพาะสุขภาพจิต) ลดความเครียด ใช้เงินซื้อ productive assets และทำงานหนักขึ้น (ในอินเดีย) การทดลองในฟินแลนด์เองก็มีเป้าหมายที่จะทดสอบว่าในกลุ่มผู้ที่กำลังรับค่าตอบแทนการว่างงานอยู่นั้นจะออกไปหางานกันได้มากขึ้นไหม

จึงเป็นไปได้ว่าหลายคนอาจจะคิดไปเองว่าคนที่ไม่ค่อยมีเงินมักจะใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือมาง่ายๆ

นอกจากผลกระทบต่อผู้รับรายได้แล้ว อีกประเด็นสำคัญคือจะเอาเงินที่ไหนมาแจกจ่าย ระบบเศรษฐกิจนั้นเงินทุกเม็ดต้องมีที่มาที่ไป ให้ตรงนี้ก็ต้องไปขูดออกจากอีกที่ สร้างขึ้นมาใหม่เฉยๆ เลย เงินเฟ้อก็จะผุดเกิดขึ้น ดังนั้น ความคิดที่จะทำนโยบาย UBI ในประเทศหลายประเทศจึงเป็นงานหินในสายตาหลายๆ คน โดยเฉพาะในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งส่วนมากไม่เห็นด้วยกับ UBI ที่ไฟแนนซ์โดยการยกเลิกสวัสดิการอื่นๆ ทั้งหมด) ในสหรัฐฯ นั้นมีการคาดกันว่าถ้าจะทำ UBI (โดยไม่รวมเด็กๆ) จะต้องใช้เงินถึงราว 3 ล้านล้านดอลลาร์

ที่พอเป็นไปได้กว่ามากในระยะสั้นคือการระดมทุนเงินบริจาคเพื่อนำไปทำ UBI ในเศรษฐกิจต่างแดนที่ด้อยพัฒนาหรือในสังคมที่ยากจนมากๆ องค์การไม่แสวงหาผลกำไร Give Directly กำลังจะทำการทดลอง UBI ขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (กว่า 26,000 คน) ในประเทศเคนยา บางหมู่บ้านจะได้รับเงิน UBI ถึง 12 ปีเต็ม บางหมู่บ้านได้แค่ 2 ปี โดยทั้งหมดนี้คาดว่าจะใช้เงินเพียงแค่ 30 ล้านดอลลาร์ (เนื่องจากค่าครองชีพต่ำมาก)

ประเด็นสุดท้ายที่มีการถกเถียงกันมาก คือ UBI ควรจะมีตัว U (จากคำว่า “universal”) หรือไม่ ทำไมคนที่รวยล้นฟ้าอย่าง บิล เกตส์ ถึงจะยังคงได้รับเงินช่วยเหลือด้วย ฟังดูไม่ค่อยเข้าท่าในเมื่อจุดประสงค์หลักคือการทำให้คนที่จะลำบากในยุคต่อๆ ไปสบายขึ้น จึงเป็นการจุดประเด็นเพื่อเสาะหาการปรุงแต่งนโยบายนี้ใหม่ ไม่ว่าจะผ่านการดีไซน์โครงสร้างภาษีใหม่ (เพื่อกระจายรายได้จาก UBI ด้วย) การคำนวนเงินช่วยเหลือ UBI สำหรับคนแก่ คนรวย คนจนในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ฯลฯ

แต่ท่ามกลางความซับซ้อนเหล่านี้ การทำให้ทุกคนได้รับเงิน UBI เท่ากันยังพอมีข้อดีตรงที่ว่ามันง่ายกว่าการตกลงกันว่า “ใครลำบากพอที่จะได้รับเงิน” และไม่ต้องกังวลเรื่องพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น พยายามทำงานให้น้อยลงเพื่อกดให้รายได้ตัวเองต่ำกว่าเกณฑ์นิดหน่อย หรือพยายามหลบซ่อนรายได้ที่แท้จริงเพื่อที่จะได้รับเงินช่วยเหลือนี้

อนาคตของ UBI

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องดีแล้วที่หลายสังคมทั่วโลกกำลังตื่นตัวเรื่องอนาคตของงาน (future or work) ท่ามกลางการมาของสมองกลและระดับความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงเรื่อยๆ

ในยุคหลังๆ ผมรู้สึกว่าชีวิตมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่เหมือนถูกกำหนดด้วยการงานมากเกินไป และหลายคนเพิ่งจะมารู้สึกเสียดายเวลาที่เคยเอาไปแลกกับรายได้จากงานที่จริงๆ แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้นำความสุขหรือความหมายชีวิตมาให้ น่าเสียดายมากเพราะจริงๆ แล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความมั่งคั่งของประเทศที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อนมากควรจะทำให้เรามีทางเลือกในการใช้ชีวิตโดยไม่ตกเป็นทาสของงานมากกว่านี้

แต่นอกจากข้อดีของ UBI แบบชัดๆ ซึ่งก็คือ “อิสระภาพ” ในการเลือกใช้ชีวิตแล้ว ผมยังไม่แน่ใจว่า นโยบาย UBI เป็นคำตอบที่ดีที่สุด เนื่องจากในขณะนี้เรายังมีหลักฐานรองรับไม่มากพอที่จะชี้ว่าการดำเนินนโยบาย UBI ในระดับที่ใหญ่กว่าแค่ในหมู่บ้านหรือในเมืองมันมีผลดีมากกว่าผลเสียหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราแทบไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ต่อสังคมที่วัดได้ลำบาก เช่น การที่รัฐสามารถลดรายจ่ายสำหรับการดูแลคนไร้บ้าน อัตราอาชญากรรมที่อาจจะลดลง การใช้เงิน UBI ไปลงทุนในการศึกษาของลูกหลาน หรือการที่เงินก้อนนี้สามารถปลดปล่อยให้หลายคนมีเวลาว่างไปคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือทำงานชนิดใหม่ๆ ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น

และที่สำคัญคือเราจะต้องเทียบสิ่งที่ UBI ให้กับเราได้กับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะในสังคมที่ค่าใช้จ่ายของโครงการสวัสดิการอื่นๆ ที่รวมกันแล้วอาจสูงกว่าการทำ UBI (ที่หลายคนคิดว่าสูงจนทำไม่ได้) เสียอีก

อย่างที่ผมได้สรุปข้อถกเถียงเกี่ยวกับนโยบาย UBI ไปในบทความนี้ จะเห็นได้ว่าผลกระทบทั้งทางบวกและลบมีความไปได้ในเชิงทฤษฎี (theoretically possible) ทั้งนั้น แต่ปัญหาคือแทบจะไม่มีใครทราบเลยว่าอะไรจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

ดังนั้น ทางเดียวที่เราจะทราบได้ว่านโยบายแจกเงินแบบไหนที่ควรทำคือการทำการทดลองอย่างจริงจังในสังคมของเราเอง

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับข้อมูลและประเด็นเกี่ยวกับนโยบายนี้อย่างคร่าวๆ เพื่อเป็นการจุดประเด็นเกี่ยวกับนโยบายกระจายรายได้ที่น่าจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นมากในอนาคตอันใกล้นะครับ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบาย UBI ได้ที่นี่)

ติดตามบทวิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกจากมุมมองเศรษฐศาสตร์อ่านง่ายๆ ได้ที่ settakid.com