ThaiPublica > คอลัมน์ > การก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของอินเดีย แม้ “เศรษฐกิจเติบโตได้ช่วงกลางคืน รอให้รัฐบาลหลับก่อน”

การก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจของอินเดีย แม้ “เศรษฐกิจเติบโตได้ช่วงกลางคืน รอให้รัฐบาลหลับก่อน”

27 พฤษภาคม 2017


ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.youtube.com/watch?v=UGwUrINfpS4

เป็นครั้งแรกในระยะเวลา 150 ปี ในปี 2016 เศรษฐกิจของอินเดียมีมูลค่าแซงล้ำหน้าเศรษฐกิจอังกฤษ ที่เคยเป็นประเทศอาณานิคมปกครองอินเดีย เดิมคาดกันว่า เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในปี 2020 แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วในระยะ 25 ปีที่ผ่านมา ทำให้อินเดียมีมูลค่าเศรษฐกิจใหญ่โตขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์กรณี Brexit ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษมีมูลค่าลดลง ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าตัวลงกว่า 20% เมื่อปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 2.29 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียมีมูลค่า 2.30 ล้านล้านดอลลาร์

ปัจจุบัน อินเดียมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% เอกสารธนาคารโลกชื่อ Global Economic Prospect 2017 คาดหมายว่า ในปี 2017 เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโต 7% เพิ่มเป็น 7.6% ในปี 2018 และ 7.8% ในปี 2019 มหารัชตะ (Maharashtra) ที่มีนครมุมไบเป็นเมืองหลวง เป็นรัฐมั่งคั่งที่สุดของอินเดีย มีเศรษฐกิจมูลค่า 330 พันล้านดอลลาร์ เท่ากับเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รองลงมาคือ รัฐทมิฬ นาดู (170 พันล้านดอลลาร์) และ รัฐอุตตรประเทศ (150 พันล้านดอลลาร์)

เอกสารธนาคารโลก India and the Knowledge Economy 2005

ภาพลักษณ์ใหม่

โฉมหน้าเศรษฐกิจใหม่ของอินเดีย ที่มีพลังและชีวิตชีวา มาจากความสำเร็จด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซอฟต์แวร์ ธุรกิจ Call Center และอาจรวมถึงความนิยมในภาพยนตร์บอลลีวู๊ด ที่มากขึ้นในตลาดต่างประเทศ อินเดียเป็น 1 ใน 4 ประเทศกำลังพัฒนา ที่ระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง นับจากกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ที่เหลืออีก 3 ประเทศคือ คอสตา ริก้า จาไมกา และศรีลังกา แต่อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่สุดในโลก ความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทำให้คนอินเดียกล่าวกันว่า อินเดียกำลังจะกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ

แต่ภาพลักษณ์แท้จริงอีกแบบหนึ่งของอินเดีย ก็อาจจะดูได้จากวัฒนธรรมการเมือง ในปลายทศวรรษ 1990 Rupert Murdoch เดินทางไปอินเดีย เพื่อหาลู่ทางทำธุรกิจดาวเทียมและเคเบิ้ลทีวี เพราะอินเดียเป็นตลาดใหญ่ของคนพูดภาษาอังกฤษ หลังจากพบปะกับรัฐมนตรีในกรุงนิวเดลี ก็บินไปยังนครมุมไบ เพื่อไปพบ Dhirubhai Ambani นักธุรกิจชั้นนำของอินเดีย Ambani ถามว่า ที่นิวเดลี ไปพบกับใครบ้าง Murdoch บอกว่า ได้พบนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง Ambani พูดตอบไปว่า “อ้า คุณไปพบถูกคนแล้ว แต่ถ้าต้องการเข้าใจอินเดีย ต้องไปพบผิดคน” คำว่า “ผิดคน” Ambani หมายถึงนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่คอร์รัปชัน

ขณะที่จีนเปิดประเทศเมื่อปี 1978 ส่วนอินเดียปล่อยให้เวลาล่วงเลยมา 13 ปี จนถึงปี 1991 จึงเริ่มยกเลิกระบบควบคุมธุรกิจอย่างเข้มงวดและการแทรกแซงของรัฐ ที่เรียกกันว่า เศรษฐกิจระบบ “ใบอนุญาตรัฐ” หรือ Licensing Raj ที่ใช้มาตั้งแต่หลังจากอินเดียได้เอกราชในปี 1947 ธุรกิจจะลงทุนผลิตสินค้า ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล บริษัทที่ได้ใบอนุญาตแล้ว ก็ไม่กล้าผลิตสินค้าจำนวนมาก มีเรื่องเล่ากันว่า ในช่วงที่คนเป็นหวัดกันมาก บริษัท Procter & Gamble ในอินเดีย ไม่กล้าที่จะผลิตยาดม Vick ออกมาจำนวนมาก เพราะกลัวว่าจะไปผิดกฎหมายการผูกขาด

รถ Ambassador เป็นสัญลักษณ์เศรษฐกิจอินเดียยุคเก่า ที่มาภาพ: bbc.co.uk

รถยนต์ยี่ห้อดัง Ambassador ของอินเดีย ที่คนอินเดียเรียกว่า Amby คือตัวอย่างเศรษฐกิจระบบใบอนุญาตรัฐ ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 รถยนต์นั่งวิ่งบนท้องถนนในอินเดีย 90 % เป็นรถ Amby ที่ผลิตโดย Hindustan Motors บริษัทรถยนต์ของรัฐ คนอินเดียจึงรู้สึกผูกพันมากกับรถ Amby เพราะเป็นรถยนต์ VIP รถที่คนชั้นกลางขับไปทำงาน และรถแท็กซี่ Amby เป็นรถยนต์ที่ขับยาก แต่สมบุกสมบันกับทุกสภาพถนนในอินเดีย ช่างรถยนต์ทุกคนซ่อม Amby ได้ อินเดียจึงมีเรื่องตลกว่า เวลาขับรถ Amby เครื่องยนต์และอุปกรณ์ต่างๆ จะทำงานเสียงดังมาก ยกเว้นแตรรถ ที่กดแล้วไม่ดัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กิจการผลิตรถ Amby ถูกขายไปให้บริษัท Peugeot เป็นเงิน 12 ล้านดอลลาร์

ระบบการทำธุรกิจที่ต้องอาศัยใบอนุญาตรัฐ ทำให้เศรษฐกิจอินเดียในช่วงปี 1950-1990 ขยายตัวต่ำ เฉลี่ยปีละ 3.5% สำหรับประเทศยากจน อัตรานี้ถือว่าต่ำมาก เทียบกับช่วงเดียวกันนี้ เกาหลีใต้หรือประเทศอุตสาหกรรมใหม่ มีอัตราการขายตัวที่สูง ทั้งๆที่ในปี 1950 ประเทศเหล่านี้มีระดับรายได้ต่อคนพอๆกับอินเดีย ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำตลอดระยะ 40 ปีหลังได้รับเอกราช ทำให้นักเศรษฐศาสตร์อินเดียบางคนเรียกว่า “อัตราการเติบโตแบบฮินดู” (Hindu rate of growth) เศรษฐกิจระบบใบอนุญาตรัฐ จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจอินเดียไม่สามารถเติบโตได้ตรงกับศักยภาพของตัวเอง

จุดแข็งของอินเดีย

อินเดียเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมทางศาสนาเข้มข้นและหลากหลาย การก้าวขึ้นมาเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา สร้างสิ่งที่เป็นจุดแข็งให้แก่อินเดีย ทำให้อินเดียเป็นประเทศที่จัดการปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและทางสังคม ได้อย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง มีเรื่องตลกอินเดียที่สะท้อนความคิดหลากหลายของคนอินเดียว่า คนอินเดีย 2 คน มีโอกาสมาพบกัน แล้วก็พูดคุยและถกเถียงกันอยู่เรื่องหนึ่ง ปรากฏว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่ 3 ความเห็น และ 2 คนนี้ เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 5 พรรค

จุดแข็งต่อมาคือระบอบประชาธิปไตยที่มีพลังและชีวิตชีวา อินเดียมีประชาธิปไตยตั้งแต่ประเทศยังไม่มีชนชั้นกลางจำนวนมาก คนส่วนใหญ่ยังอ่านหนังสือไม่ออก ปัญหาที่รัฐบาลขาดเอกภาพและประกอบด้วยพรรคการเมืองจำนวนมาก เป็นเรื่องปกติของการเมืองอินเดีย ครั้งหนึ่ง รัฐบาลอินเดียมาจาก 24 พรรคการเมือง คอร์รัปชันในวงการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องปกติ และเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ ปัญหาการเมืองที่เป็นตัวถ่วงความเจริญทางเศรษฐกิจ ทำให้อินเดียมีสภาพคล้ายกับอิตาลี สะท้อนจากคำพูดที่ว่า “เศรษฐกิจเติบโตได้ในช่วงกลางคืน ต้องรอให้รัฐบาลหลับไปก่อน” หรือว่า สินค้าออกของอินเดีย มีความได้เปรียบ เมื่อผ่านด่านต่างๆจนไปถึงท่าเรือแล้ว

จุดแข็งอีกอย่างหนึ่งของอินเดีย คือ ทุนทางสติปัญญาและทักษะด้านเทคโนโลยี ที่ช่วยขับเคลื่อนให้อินเดียมีบทบาทในเศรษฐกิจโลก สอดคล้องกับฐานะและขนาดของประเทศ ทุกวันนี้ เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวรวดเร็ว โดยประเทศไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพัฒนาแบบดั่งเดิมของประเทศตะวันตกหรือจีน ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรม และผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ แต่อินเดียพัฒนาโดยอาศัยความได้เปรียบจากธุรกิจภาคบริการ ที่ทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศที่มีธุรกิจภาคบริการในระดับสูง คล้ายกับประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรืออังกฤษ

อินเดียกับจีน

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของอินเดียและจีน ทำให้คาดการณ์กันว่า อินเดียกับจีนคือตลาดในอนาคตของเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดการเปรียบเทียบด้านเศรษฐกิจระหว่าง 2 ประเทศนี้ แต่อินเดียแตกต่างจากจีน เหมือนกับที่มหาตะมะ คานธีแตกต่างจากเหมา เจ๋อตุง หรือ กรีซแตกต่างจากเยอรมนี เมื่ออินเดียเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1991 เศรษฐกิจจีนมีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าของอินเดียแล้ว ในปี 2016 เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็น 5 เท่าของอินเดีย

การเปิดประเทศของจีนที่ดำเนินมาเป็นเวลา 38 ปีที่ผ่านมา ยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่างอินเดียกับจีน จนถึงปี 2014 เงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าจีนกว่า 700 พันล้านดอลลาร์ มากกว่าเงินทุนของโครงการมาร์แชลมูลค่า 140 พันล้านดอลลาร์ ที่สหรัฐฯใช้ฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลก เงินลงทุนต่างประเทศเหล่านี้ สร้างโรงงานนับแสนแห่งทั่วประเทศจีน และทำให้คนจีนหลายสิบล้านคนมีงานทำ ทุกวันนี้ คนงานจีนมีรายได้สูงกว่า 5 เท่าของรายได้ก่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา จีนสร้างรางรถไฟความเร็วสูงสำหรับรถไฟที่วิ่งเร็วกว่า 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปแล้ว 9,300 กิโลเมตร และกำลังก่อสร้างอีก 14,000 กิโลเมตร รถไฟความเร็วสูงระหว่างปักกิ่ง-เซียงไฮ้ ระยะทาง 1,318 กม. ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง ส่วนรถด่วน “ราชธานี” ของอินเดีย วิ่งระหว่าง นิวเดลี-มุมไบ ระยะทางพอๆกัน ใช้เวลา 16 ชั่วโมง ความเร็วยังเหมือนเดิมเมื่อเปิดให้บริการครั้งแรกในปี 1968 ความแตกต่างดังกล่าว ทำให้คนอินเดียเลิกพูดเปรียบเทียบอินเดียกับจีน แต่หาก 2 ประเทศ จะมีอะไรเหมือนกันอยู่บ้าง คือ กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

นอกจากความแตกต่างด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว สภาพสังคมของอินเดียกับจีนในปัจจุบันก็แตกต่างกัน จีนมีระบอบการเมืองที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาด ขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุล การระดมคนทุกส่วนให้มีเป้าหมายร่วมกันเป็นเรื่องที่ง่าย ที่เหลือจากนี้คือการประสานลงมือทำ ส่วนอินเดียใช้ระบบประชาธิปไตยทางรัฐสภา แยกอำนาจอธิปไตยเป็น 3 ส่วน การจะให้โครงการต่างๆผ่านการอนุมัติ มีกระบวนการที่ซับซ้อนมากกว่า รัฐบาลประชาธิปไตยจึงยึดกฎเกณฑ์ มากกว่าการมุ่งผลลัพธ์ ลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์เคยพูดว่า “คนอินเดียเอาแต่พูด ส่วนคนจีนลงมือทำเลย”

จีนให้ความสำคัญกับการศึกษาในระดับโรงเรียน ทำให้คนงานจีนได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ดี พร้อมที่จะทำงานซ้ำซากในโรงงานอุตสาหกรรม จีนจึงมีคนทำงานภาคอุตสาหกรรมกว่า 100 ล้านคน ส่วนการศึกษาของอินเดียเน้นการสร้างสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่มีคุณภาพ รัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรี Jawaharlal Nehru สร้างสถาบันเทคโนโลยีชั้นนำ 5 แห่งในอินเดีย ศิษย์เก่าสถาบันเหล่านี้ หลายคนมีบทบาทสำคัญในซิลิคอน วัลเลย์ แต่ธุรกิจสารสนเทศของอินเดีย เช่น ซอฟต์แวร์ หรือ Call Center จ้างงานคนอินเดียแค่ล้านกว่าคนเท่านั้น

ในหนังสือ Turn of the Tortoise: The Challenge and Promise of India’ Future ของ T N Ninan ผู้เขียนกล่าวว่า ความล้มเหลวของอินเดียด้านการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มีต้นทุนสูงมากในเรื่องการสร้างงาน อย่างเช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างงานได้ 1 ล้านงานต่อผลผลิตมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สร้างงานได้ 1 ล้านงานต่อผลผลิตมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์ จีนจึงประสบความสำเร็จมากที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง ส่วนอินเดียมีปัญหาการสร้างงานแก่คนทั่วไป เพราะล้มเหลวในจุดนี้

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/15/Narendra_Modi_launches_Make_in_India.jpg

แต่เอกสารของธนาคารโลก India and the Knowledge Economy (2005) กล่าวว่า อินเดียมีศักยภาพที่จะอาศัยเศรษฐกิจความรู้ มาสร้างผลิตภาพของเศรษฐกิจโดยรวม และปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรให้สูงขึ้น แต่เศรษฐกิจความรู้ไม่ได้หมายถึงเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออุตสาหกรรมไฮเทคเท่านั้น แต่หมายถึงการนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพของภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ เศรษฐกิจความรู้ของศตวรรษ 21 ต้องการแรงงานที่มีทักษะใหม่ ไม่ใช่แค่ความรู้ด้าน IT แต่รวมถึง “ทักษะอ่อน” (soft skill) เช่น การแก้ปัญหา การวิเคราะห์ การเรียนรู้และทำงานแบบกลุ่ม เป็นต้น แต่เดิม ทักษะแบบนี้จำเป็นสำหรับพนักงานระดับบริหาร แต่ปัจจุบัน เป็นทักษะที่จำเป็นของคนงานทุกคน

ในอนาคต อินเดียมีแผนงานผลิตสินค้า “Made in India” โดยให้ความสำคัญแก่สินค้า 25 รายการ ที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานจนถึงระดับสูง เช่น สิ่งทอ อีเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมการบิน การท่องเที่ยว พลังงานแสงแดด เป็นต้น อุตสาหกรรมเหล่านี้ จีนประสบความสำเร็จมาแล้ว ขณะที่จีนตั้งเป้าหมายอุตสาหกรรมสำคัญ 10 อย่างสำหรับปี 2025 เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศ อุปกรณ์ควบคุมเครื่องจักรกล หุ่นยนต์ อุปกรณ์การบิน อุปกรณ์วิศวกรรมเดินเรือทะเล อุปกรณ์ระบบจราจรทางรถไฟ และวัตถุดิบใหม่ๆ

หนังสือที่กล่าวว่า อินเดียเป็นสังคมแบบขนมชั้น คนชั้นนำมีชีวิตทันสมัย แต่คนส่วนใหญ่ยังยึดมั่นทางศาสนาที่หลากหลาย

อินเดียยุคใหม่เป็นสังคมที่เหมือนกับขนมชั้น คือเอกลักษณ์หลายอย่างทับซ้อนกันอยู่ ความทันสมัยเป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งที่เพิ่มเข้ามาทับซ้อนเอกลักษณ์ดั่งเดิมจากอดีต ในโลกปัจจุบัน ความทันสมัยหมายถึงชัยชนะของความคิดวิทยาศาสตร์ และการมีวิถีชีวิตในทางโลก สิ่งที่เป็นอดีตก็คืออดีต แต่สำหรับอินเดีย วัฒนธรรมอดีตคือสิ่งที่เป็นอนาคตด้วย เพราะเหตุนี้ หากประเทศต่างๆจะเรียนรู้สิ่งที่ดีหลายอย่างจากอินเดีย สิ่งนั้นคือความอดทนอดกลั้น การจัดการปัญหาความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างสันติ และประชาธิปไตยที่มีรากฐานบนวัฒนธรรมโบราณ

เอกสารประกอบ
T. N. Ninan. Turn of the Tortoise: The Challenge and Promise of India’s Future, Oxford University Press, 2016.
Edward Luce. In Spite of the Gods, Abacus, 2006.
India and the Knowledge Economy, World Bank, 2005.