ThaiPublica > คอลัมน์ > มาตรการลงโทษทางแพ่ง: ก.ล.ต. ลงโทษได้รวดเร็วขี้น

มาตรการลงโทษทางแพ่ง: ก.ล.ต. ลงโทษได้รวดเร็วขี้น

30 พฤษภาคม 2017


พิเศษ เสตเสถียร

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า “ก.ล.ต. ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นครั้งแรกในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด หลังจากที่กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559 โดยมาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นช่องทางการบังคับใช้กฎหมายอีกช่องทางหนึ่งนอกจากการดำเนินการทางอาญา เพื่อให้สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

โดยคดีที่ถูกใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นคดีแรกนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความผิดฐานแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการทำหน้าที่ เป็นเรื่องของผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ศาลาแอทสาทร (SSPF) แอบไปซื้อหลักทรัพย์ SSPF เองโดยอาศัยข้อมูลภายใน ผลสุดท้ายถูกลงโทษโดยต้องส่งคืนผลกำไรที่ได้รับจากการกระทำผิดจำนวน 1.38 ล้านบาท และชำระค่าปรับทางแพ่งจำนวน 1.73 ล้านบาท นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังสั่งห้ามมิให้ผู้กระทำความผิดนั้นทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนรวมหรือปฏิบัติงานของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนเป็นเวลา 5 ปี

ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงโทษในความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์แบบใหม่อีกแบบหนึ่งคือ “มาตรการลงโทษทางแพ่ง” เพิ่มขึ้นมานอกเหนือไปจากโทษทางอาญาที่มีอยู่แล้ว เหตุผลที่มี “โทษทางแพ่ง” นี้ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (“สำนักงานฯ”) ได้อธิบายว่า

ประการแรกจากการที่ความผิดตามกฎหมายหลักทรัพย์กำหนดให้มีบทลงโทษเฉพาะทางอาญา การพิสูจน์ความผิดจึงต้องเป็นไปตามหลักการที่เรียกว่า “พิสูจน์จนปราศจากข้อสงสัย” (beyond reasonable doubt) จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการทำคดีที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์ เพราะหลักฐานในการทำผิดส่วนใหญ่จะอยู่ในครอบครองของผู้ที่กระทำผิด การพิสูจน์ร่องรอยวัตถุพยานต่างๆ ก็แตกต่างกับคดีอาญาทั่วไปอย่างมากด้วย และในการดำเนินคดีอาญานั้น มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน มีขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลา

ประการที่สอง องค์ประกอบความผิดเดิมถูกกำหนดไว้ค่อนข้างซับซ้อน และบางส่วนเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตีความ

และประการที่สาม ยังขาดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับฐานความผิดบางฐานอยู่ เหล่านี้คือเหตุที่ทาง ก.ล.ต. ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีโทษทางแพ่งขึ้นมา (ดู ปริย เตชะมวลไววิทย์, ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. “มาตรการลงโทษทางแพ่ง (Civil Penalty)”)

เรื่องโทษทางแพ่งนี้มีในต่างประเทศก่อนของเรา อย่างเช่นของสหรัฐอเมริกาเขาแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ

civil action เริ่มจาก SEC ก็จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่ง เช่น ห้ามมิให้กระทำการที่จะเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย รวมทั้งการเรียกให้ชำระค่าปรับ หรือให้ส่งมอบกำไรที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งการห้ามไม่ให้เป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัท

Administrative action คือการที่ SEC ดำเนินการผ่านกระบวนการทางปกครอง โดยเริ่มคดีจากผู้พิพากษาศาลปกครองคนหนึ่งซึ่งเป็นอิสระจาก SEC ทำการพิจารณาจากหลักฐานที่เสนอโดยเจ้าหน้าที่ของ SEC รวมทั้งของบุคคลที่ถูกกล่าวหาด้วย จากนั้น ผู้พิพากษาจะทำคำตัดสินเบื้องต้นที่มีข้อเท็จจริงในคดีและข้อกฎหมาย รวมทั้งคำเสนอแนะเกี่ยวกับการลงโทษทางแพ่งเสนอต่อ SEC ในการนี้ SEC อาจจะมีความเห็นเหมือนกับที่ผู้พิพากษาทำมา หรือกลับคำตัดสิน หรือส่งกลับไปให้หาข้อเท็จจริงเพิ่มก็ได้

มาตรการลงโทษทางแพ่งของไทยนั้นก็คล้ายกับกรณีแรกคือการเรียกปรับเป็นตัวเงิน ให้ส่งมอบกำไรที่ได้มาโดยผิดกฎหมายรวมทั้งอาจจะห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับวงการหลักทรัพย์

เหตุที่จะใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง

การกระทำความผิดดังต่อไปนี้ เป็นการกระทำความผิดที่อาจดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดนั้นได้ คือ
1. กระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ คือ ความผิดเกี่ยวกับการปั่นหุ้นทั้งหลาย ความผิดฐาน Insider Trading เป็นต้น
2. การแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในสาระสำคัญในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์หรือร่างหนังสือชี้ชวน หรือการส่งหรือเปิดเผยเอกสารหรือข้อมูลต่อสำนักงานฯ หรือตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นหรือประชาชนทั่วไปในกรณีต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
3. การไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหาร
4. ยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารที่ใช้ชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์หรือใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีธนาคารของบุคคลอื่น

คณะกรรมการกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง

ผู้รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งก็คือ “คณะกรรมการกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง” (ค.ม.พ.) ประกอบด้วย อัยการสูงสุด เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานฯ คนหนึ่งเป็นเลขานุการ

การดำเนินคดี

ในกรณีที่มีการกระทำความผิดที่อาจดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งได้ หากสำนักงานฯ เห็นว่าควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดนั้น ให้สำนักงานฯ เสนอเรื่องให้คณะกรรมการ ค.ม.พ. พิจารณาว่าควรดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดนั้นหรือไม่อย่างไร หากคณะกรรมการ ค.ม.พ. พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับ ให้ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป

แต่ถ้าคณะกรรมการ ค.ม.พ. เห็นควรให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิด และได้กำหนดวิธีการในการบังคับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามควรแก่กรณีแล้ว และทางผู้กระทำความผิดยินยอมที่จะปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่กำหนด สำนักงานฯ ก็จะจัดทำบันทึกการยินยอม และเมื่อผู้กระทำความผิดนั้นได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ชำระเงินตามบันทึกการยินยอมหรือชำระไม่ครบถ้วน ให้สำนักงานฯยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามที่ยินยอมไว้ภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ผิดนัด

มาตรการลงโทษทางแพ่ง

มาตรการลงโทษทางแพ่งที่จะลงโทษแก่ผู้ที่กระทำความผิด ได้แก่

    1. ค่าปรับทางแพ่ง
    2. ชดใช้เงินในจำนวนที่เท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำความผิด
    3. ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ หรือเข้าผูกพันตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปี
    4. ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกิน 10 ปี
    5. ชดใช้ค่าใช้จ่ายของสำนักงานฯ เนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดนั้นคืนให้แก่สำนักงานฯ

ในการกำหนดค่าปรับทางแพ่งจะขึ้นอยู่กับประเภทของความผิดซึ่งมีอยู่ 4 ฐานตามที่กล่าวมาข้างต้น ในความผิดเหล่านี้กฎหมายกำหนดว่า

    (ก) กรณีความผิดตามที่กล่าวมาข้อ 1. หรือข้อ 2. ให้ปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นได้รับไว้หรือพึงได้รับจากการกระทำความผิดนั้น แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 500,000 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถคำนวณผลประโยชน์ได้ ให้ปรับตั้งแต่ 500,000 บาทถึง 2,000,000 บาท
    (ข) กรณีความผิดตามข้อ 3. หรือข้อ 4. ให้ปรับตั้งแต่ 50,000 บาทถึง 1,000,000 บาท

ถ้าบุคคลหลายคนร่วมกันกระทำความผิด ในระหว่างบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลทั้งหลายนั้นต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่าๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์จะวินิจฉัยได้เป็นประการอื่น

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลหรือแต่ละนิติบุคคลเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องถูกดำเนินการตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามหมวดนี้ด้วย โดยต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับนิติบุคคลนั้น

การบังคับคดี

ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมที่จะระงับคดีตามที่กล่าวมาด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง ทางสำนักงานฯ ก็จะฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลเพื่อกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้กระทำความผิดนั้นต่อไป เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งและผู้กระทำความผิดได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป

เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามแต่กรณีแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นได้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด คู่ความไม่สามารถฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นต่อศาลฎีกาอีก

การที่กฎหมายมีมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับ ก.ล.ต. แทนที่จะต้องไปฟ้องร้องคดีอาญา แล้วลงโทษจำคุกหรือปรับแต่เพียงสถานเดียว ซึ่งดูแล้วก็เชื่อว่า การดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดก็น่าจะทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องไปดำเนินคดีในศาล

ตอนนี้มีคดีที่ใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งเป็นคดีแรกไปแล้ว เราก็มาคอยดูกันว่าใครจะโดนเป็นคดีที่สองต่อไป