ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” แจงเลิกสัญญาคิงเพาเวอร์ ยึดหลัก กม.-สั่งปิดเว็บหมิ่น 6,000 เพจ-ทยอยบรรจุพยาบาลใน 3 ปี-แถลงผลงาน 3 ปี ก.ย. นี้

“บิ๊กตู่” แจงเลิกสัญญาคิงเพาเวอร์ ยึดหลัก กม.-สั่งปิดเว็บหมิ่น 6,000 เพจ-ทยอยบรรจุพยาบาลใน 3 ปี-แถลงผลงาน 3 ปี ก.ย. นี้

16 พฤษภาคม 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานฯ ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (BRN) เป็นองค์กรก่อการร้ายนั้น

ปัดข้อเสนอองค์การสหประชาชาติกรณี 3จังหวัดชายแดนใต้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องการประกาศต่างๆ ที่เสนอเข้ามา หากประกาศออกมามากเกินไป ก็ต้องพิจารณาว่าจะมีผลดีผลเสียกับการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการกระทำความผิดเกี่ยวกับความรุนแรงอยู่แล้ว การที่จะนำองค์กรต่างๆ เข้ามาในประเทศไทยอาจจะไม่เหมาะสม เพราะต่างชาติอาจจะไม่เข้าใจถึงปัญหาของเราดีพอ เมื่อไม่เข้าใจปัญหาดีพอ ก็อาจใช้วิธีการแก้ปัญหาเหมือนกับที่เคยใช้กับประเทศอื่นๆ ก็อาจเกิดปัญหาตามมา ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความซับซ้อน ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการก่อเหตุความรุนแรงอย่างเดียว แต่มีเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจ ยาเสพติด สินค้าหนีภาษี หากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย กลุ่มคนเหล่านี้ก็จะออกมาเคลื่อนไหวได้สะดวก

ขณะนี้รัฐบาลได้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลความปลอดภัย ประชาชนในพื้นที่ก็เข้าใจในปัญหา หากเราไปให้เครดิตแก่ผู้ก่อเหตุมากขึ้น ถามว่าอะไรมันจะกลับมา แรงกดดันก็จะเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ องค์กรที่ก่อเหตุ รัฐบาลมีรายชื่ออยู่แล้ว แต่ไม่อยากยกระดับปัญหา เรื่องนี้ละเอียดอ่อน แต่ที่สำคัญต้องพยายามส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น เมื่อ 2 วันก่อน ผมก็ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจัดทำโครงการต่างๆ ไป เช่น การจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก ชักชวนประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้ง ตนไม่อยากให้นักวิชาการนำเสนอมุมมองของปัญหาด้านเดียว เพราะการดึงต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องอาจทำให้การแก้ไขปัญหาไม่จบสิ้น และการใช้มาตรการทางการทหารและกฎหมายก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนและเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

สั่งสาธารณสุข ทยอยบรรจุพยาบาลเข้ารับราชการใน 3 ปี

ส่วนเรื่องการบรรจุพยาบาลเป็นเข้ารับราชการนั้น พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้รับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งข้อเสนอของที่ประชุมที่ได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีไปดำเนินการ ในหลักการเบื้องต้นต้องทยอยบรรจุให้ โดยใช้อัตรากำลังคนภายในไปก่อน จากนั้นจะทยอยบรรจุเพิ่มเติมให้ภายในเวลา 3 ปี ในภาวะแบบนี้ตนถือว่าทำดีที่สุดแล้ว เพราะต้องดูแลภาพรวมของข้าราชการทั้งระบบด้วย ซึ่งมีทั้งข้าราชการ พนักงานข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ในอนาคตจะบริหารกันอย่างไร มิฉะนั้นก็จะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นมาอีก ไม่จบ แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีข้อยกเว้นสำหรับข้าราชการที่ให้บริการประชาชน อย่างเช่น พยาบาลที่สำเร็จการศึกษาทุกปี ก็ต้องเข้ามาทำงาน ถามว่าบรรจุทั้งหมดได้หรือไม่ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคเอกชนจะให้ทุนเรียนพยาบาล เมื่อเรียนจบต้องกลับมาทำงานในสถานพยาบาลนั้น ก็ต้องไปคิดกันใหม่ อย่าคิดแค่บรรจุใหม่ต่อไปเรื่อยๆ วันข้างหน้ามันจะล้ม

อย่างไงก็ตามวิชาชีพพยาบาลยังขาดแคลน ส่วนหนึ่งไปทำงานโรงพยาบาลเอกชน เพราะได้รับค่าตอบแทนดีกว่า แต่ยืนยันรัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้ให้ดีที่สุด สำหรับส่วนราชการอื่นๆ ก็ต้องไปปรับโครงการภายในของทุกกระทรวงกันใหม่ทั้งหมด ตนได้มอบนโยบายให้กับสำนักงาน กพ. และ กพร. ไปศึกษาแล้ว ควรจะมีการปรับโครงสร้างภายในของส่วนราชการหรือไม่ การทำงานของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรมหาชน จะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร แต่ละกระทรวงจะทำอย่างไรให้เพิ่มคนได้โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด หรือใช้วงเงินงบประมาณเท่าเดิม ผู้ที่เกษียณอายุราชการจะทำอย่างไร การสอบบรรจุข้าราชการเข้าใหม่ทำอย่างไรให้เหมาะสมกับวงเงินงบประมาณที่มีอยู่

เลื่อนแถลงผลงานรัฐบาล 3 ปี ในช่วงก.ย. นี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการทำงานของ คสช. และรัฐบาลในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลกำหนดนโยบายในการบริหารงานแผ่นดิน โดยมี คสช. เป็นผู้สนับสนุน ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชา แต่เป็นผู้สนับสนุนตามกฎหมาย ซึ่งจะดูแลในเรื่องของความมั่นคง ดูแลประชาชนที่เดือดร้อน บางครั้งในระบบราชการมีความล่าช้า ก็ต้องให้ทหาร และตำรวจในพื้นที่เข้ามาดูแล เช่น ไปพูดคุยกับ อบต. ทำไมถนนเส้นนี้ยังไม่สร้าง ทำไมไม่ลาดยาง ทำไมยังไม่ได้ทำ เพราะไม่มีงบประมาณ ตนได้อนุมัติงบประมาณไปแล้วมากมายพอสมควร กระจายอำนาจการปกครองไปแล้ว แต่เขาเก็บภาษีไม่ได้ รายได้ไม่พอ รัฐบาลก็ต้องจัดงบอุดหนุนไปแล้ว 260,000 ล้านบาท บางพื้นที่มีประชากรไม่มากจัดเก็บรายได้ไม่พอ ก็ต้องจัดงบอุดหนุนไปช่วย

เรื่องการแถลงผลงานของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนขอแถลงข่าวช่วงเดือนกันยายน 2560 ระหว่างนี้ขอทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนว่าแนวทางในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมามีหลักคิดเป็นอย่างไร และเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง ทำให้รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายขับเคลื่อนทุกภาคส่วน คือ ประชารัฐ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ก็ต้องร่วมมือกัน ภาครัฐตนพอควบคุม ร่งรัด และติดตามได้ แต่ภาคอื่น หากเกิดความขัดแย้งกันก็เดินหน้าต่อไปไม่ได้ เช่น โครงการใหญ่ๆ ที่ต้องทำประชาพิจารณ์ EIA เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งกันก็ติดไปทั้งหมด การลงทุนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร รัฐบาลรู้ปัญหา ถามว่าตนพอใจไหม ไม่พอใจ เพราะทำให้เสร็จตามเวลาไม่ได้ แต่ตนได้ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด หลายคนก็ไม่พอใจ กล่าวหาว่าตนอยากสืบทอดอำนาจ ยืนยันว่าไม่ได้สืบทอดอำนาจ แต่ถ้าตนทำไม่เสร็จ ก็ส่งปัญหาไปให้ประชาชนแก้ไขต่อไป นี่เรียกว่าสืบทอด

สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาก คือ ผู้ที่มีรายได้น้อย หรือคนระดับล่างที่มีรายได้ต่ำกว่า 300 บาทต่อวัน จะช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง คำว่า “ได้บ้าง” คือเท่าที่มีงบประมาณ ไม่ใช่ว่าจะทำให้ทุกคนมีรายได้เทียบเท่ากับมาตรฐาน คงไม่ได้ รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาให้ ส่วนที่ต่ำกว่าก็ต้องหาเงินมาช่วยเหลือ กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่าก็ต้องหาวิธีการอื่นมาช่วย เช่น ลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ารถ เป็นต้น แต่ช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้เงินมหาศาล เช่น กรณีผู้สูงอายุที่กระทรวงการคลังออกมาให้สัมภาษณ์ ปัจจุบันใช้งบประมาณดูแล 70,000-80,000 ล้านบาท ในอนาคตจะเป็นอย่างไร รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ให้ทุกคน อุดหนุนทุกอย่างคงทำไม่ได้

“ผมขอฝากพี่น้องในเมืองและในชนบทฟังรัฐบาลบ้าง อย่าไปฟังคำพูดที่ว่าวันหน้าถ้าได้กลับมาแล้วสัญญาว่าจะให้โน่นให้นี่ ผมไม่เคยสัญญาแบบนั้น แต่บอกให้ทุกคนวาดอนาคตของประเทศร่วมกัน ปัญหาอยู่ที่ไหนร่วมกันแก้ไข รัฐบาลจะแก้ไขส่วนนี้ ประชาชนต้องแก้ไขในส่วนไหน ผมใช้วิธีการแบบนี้ ผมเป็นห่วงประเทศไทย ไม่ได้ห่วงประชาธิปไตยที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หากได้คนที่มีปัญหากลับเข้ามาบริหารประเทศจะทำอย่างไร เลือกตั้งเข้ามาก็ไม่ต่างไปจากเดิมเท่าไหร่ แต่ก็ต้องจัดให้มีเลือกตั้ง ประเทศไทยมีศักยภาพมาก แต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพเหล่านี้ ที่ผ่านมามีปัญหาแตกแยกกัน ควรจะนึกถึงลูกหลานของเรา รัฐบาลพยายามวางพื้นฐานตรงนี้ให้ ใครที่ออกมาให้ข่าวบิดเบือน ทุกคนก็รู้ว่าที่พูดไม่ใช่ เช่น ข่าวที่ว่ารัฐบาลล้มเหลว ไม่ทำอะไร ไม่มีผลงาน ผมไม่อยากพูดแล้ว เรื่องเหล่านี้ พูดไปก็เท่านั้น ถามประชาชนดูท่านได้อะไรกลับมาบ้าง ถามว่าได้เงินหรือไม่ ไม่ได้ทุกคนหรอก เพราะการได้เงินทุกคนต้องออกแรง ต้องร่วมมือและช่วยตัวเองบ้าง” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

ปลดบอร์ดAOT-ยกเลิกสัมปทานคิงเพาเวอร์ ต้องว่าตามกฎหมาย

กรณีคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยื่นข้อเสนอถึงรัฐบาล 5 ข้อ ให้ปลดบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และยกเลิกสัญญาสัมปทานกับกลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “เมื่อ สปท. ยื่นข้อเสนอแนะขึ้นมาถึง ผมก็รับไว้พิจารณาทุกเรื่อง แต่จะทำอย่างไรต่อไป ก็ต้องพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายและหลักการให้ชัดเจน เช่น การจะบอกเลิกสัญญาต่างๆ จะทำได้อย่างไร ก็ต้องไปปรึกษาหารือกันให้ดี เรื่องนี้ไม่ได้เริ่มทำกันมาในสมัยของรัฐบาลชุดนี้ ถามว่ารัฐบาลจะยกเลิกสัญญาฯ ได้หรือไม่ได้ ก็ต้องไปว่ากันตามกลไกของกฎหมาย ยืนยันไม่ได้ไปเข้าข้างใครทั้งสิ้น”

ขอความร่วมมือเฟซบุ๊ก ปิดเว็บหมิ่นแล้วกว่า 6,000 เพจ

กรณี คสช. ขอความร่วมมือเฟซบุ๊กให้ช่วยลบเพจที่ลงข้อความไม่เหมาะสม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาผมขอความร่วมมือมาโดยตลอด ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีในช่วงนี้ ทางเฟซบุ๊กทำการปิดไปกว่า 6,000 ยูอาร์แอล เหลือเพียง 131 ยูอาร์แอลเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ รวมทั้งภาคเอกชน และผู้ที่กำกับดูแลเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย บางส่วนเป็นเรื่องของธุรกิจ ต้องใช้คำสั่งศาล พอปิดแล้วก็เปิดใหม่ ก็ใช้คำสั่งศาลอีก เป็นอยู่อย่างนี้ จึงต้องถามกลับว่ามีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ แต่ถ้ารัฐบาลไปทำอะไร ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาขยะว่า เป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัส ทุกคนต้องช่วยกันแก้ไข เริ่มตั้งแต่ต้นทาง ทำอย่างไรไม่ให้ขยะหกเลอะเทอะ ทางแก้ก็ต้องใส่ถุงพลาสติกก่อนการขนย้าย จากนั้นมาดูที่พื้นที่สำหรับทิ้งขยะไม่พอ เพราะมีรายได้จากการเก็บขยะเดือนละ 20 บาทจะทำอย่างไร หากขึ้นราคาค่าเก็บขยะก็มีปัญหาอีก ตนก็เห็นใจประชาชน ยังไม่มีการขึ้นราคาค่าเก็บขยะใดๆ ทั้งสิ้น ตนได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปศึกษาเรื่องนี้ทั้งระบบ ข้อสำคัญไม่อยากให้ทุกคนมองว่าเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลฝ่ายเดียวที่มีหน้าที่ดูแล เพราะการดูแลฝ่ายเดียวต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกหลายหมื่นล้านบาท สมมติเราเก็บได้แค่ 20 บาท ขึ้นราคาก็ไม่ได้ ก็ต้องกลับไปที่การบริหารงบประมาณการจัดหารถขนขยะและพนักงานให้เพียงพอกับวงเงินงบประมาณที่มีอยู่ทั้งหมด

มติครม.

ลดวงเงิน “อินเทอร์เน็ตหมู่บ้าน” 2,000 ล้านบาท

ด้านนายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจาก ครม. มีมติวันที่ 19 มกราคม 2559 วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรายงานว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการในโครงการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 15,000 ล้านบาทไปแล้ว 99 หมู่บ้าน จากจำนวนหมู่บานทั้งหมดที่กระทรวงต้องรับผิดชอบ 24,700 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 3,099 หมู่บ้าน, เดือนมิถุนายน 2,800 หมู่บ้าน, เดือนกันยายน 8,200 หมู่บ้าน และเดือนธันวาคม 10,601 หมู่บ้าน

ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน 1) หมู่บ้านห่างไกลหรือมีความหนาแน่นน้อยจำนวน 19,632 หมู่บ้านจะอยู่ในความรับผิดชอบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า 2) หมู่บ้านที่ความหนาแน่นสูงและมีความสามารถเชิงพาณิชย์ ส่วนนี้มีบริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินการอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ครม. ยังได้อนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการและปรับวงเงินตามที่กระทรวงฯ ขออนุมัติ โดยจะขยายเวลาออกไปถึงเดือนกันยายน 2560 จากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 ขณะที่วงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท เนื่องจากมีบางหมู่บ้านที่ กสทช. เข้ามามีส่วนช่วยดำเนินการ จึงช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณไปได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท เหลือความจำเป็นเพียง 13,000 ล้านบาท ต่อมาหลังจากดำเนินการพบว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณเพียง 11,361.34 ล้านบาท ทำให้เหลือเงินอีก 1,638.65 ล้านบาท ครม. จึงอนุมัติให้นำไปดำเนินกิจกรรมเพื่อนสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว และเพื่อดำเนินการบำรุงรักษาโครงข่ายให้ดีขึ้น สำหรับโครงการการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็น ASEAN Digital Hub วงเงิน 5,000 ล้านบาท ยังอยู่ในขั้นตอนหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำเสนอ ครม. ต่อไป

อนุมัติงบฯ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยลอตแรก 4,322 ล้าน

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 ปี 2559 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 21 โครงการ 6,129 หน่วย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี (2558-2568) แบ่งเป็นโครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชน ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง 13 โครงการ 5,039 หน่วย (ใน กทม. และปริมณฑล 4 โครงการ 2,311 หน่วย และภูมิภาค 9 โครงการ 2,728 หน่วย) วงเงิน 2,819.74 ล้านบาท พื้นที่รวม 341.2 ไร่ เป็นอาคารชุด 4-5 ชั้น บ้านเดี่ยว 2 ชั้น และบ้านแฝด 2 ชั้น และ 2) โครงการเคหะชุมชนและบริการชุมชนหารายได้ 8 โครงการ 1,090 หน่วย (ใน กทม. และปริมณฑล 1 โครงการ 38 หน่วย และภูมิภาค 8 โครงการ 1,052 หน่วย) วงเงิน 1,502.44 ล้านบาท พื้นที่รวม 130.37 ไร่ เป็นบ้านแฝด 2 ชั้น ทาวน์โฮม 2 ชั้น บ้านเดี่ยว 2 ชั้น ทั้งนี้ แหล่งรายได้มาจากเงินกู้ภายในประเทศ โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหา 3,360.63 ล้านบาท เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 468.16 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากการเคหะแห่งชาติ

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ชงบรรจุพยาบาล 3 ปี 11,000 อัตรา

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. ได้หารือ แต่ยังไม่ได้ออกเป็นมติ ครม. เกี่ยวกับการปัญหาการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการว่า เบื้องต้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และกระทรวงสาธารณสุขได้มานำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะแก้ปัญหาภายใน 3 ปี แบ่งเป็น
1) บรรจุพยาบาลตามอัตรากำลังที่เหลือของปี 2560 จำนวน 2,200 อัตราก่อน
2) ที่เหลืออีก 8,900 อัตราจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 2,900 อัตรา บรรจุในปี 2560-2562 ปีละกลุ่ม (ไม่นับรวมกับอัตราเกษียณที่เกิดขึ้น) โดยการบรรจุดังกล่าวจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การบรรจุข้าราชการตามปกติ ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังให้ข้อสั่งการอีกว่า ให้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาดังกล่าวเป็นการเฉพาะสำหรับดูแลบุคลากรสาธารณะ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นไปอย่างยั่งยืน มิใช่ต้องมาแก้ปัญหาเป็นครั้งๆ ไป ทั้งนี้ เรื่องงบประมาณยังไม่ได้มีการหารืออย่างเป็นทางการ แต่ทางหน่วยงานเสนอมาว่าทำได้

คำสั่ง คสช. ให้ต่างชาติเปิดมหาวิทยาลัย

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ในที่ประชุม คสช. ได้อนุมัติในหลักการและเตรียมออกคำสั่ง คสช. เกี่ยวกับด้านการศึกษาของไทย 2 ประเด็น คือ 1) เตรียมชักชวนสถาบันการศึกษาจากต่างประเทศให้เข้ามาช่วยจัดการศึกษา โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งจะเน้นไปที่สาขาที่ขาดแคลนและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง 2) การพัฒนาการศึกษาของประเทศด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับที่ต่ำกว่าอุดมศึกษา ซึ่งจะมีความเข้มงวดของเงื่อนไขมากกว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อสถาบันการศึกษาที่มีอยู่ภายในประเทศ

ทั้งนี้เหตุผลที่ออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันขาดความยืดหยุ่นเพียงพอ เช่น มีการกำหนดเรื่องถือหุ้น รายวิชาเฉพาะบางวิชาที่อาจจะไม่สามารถเทียบรายวิชาของไทย ฯลฯ การออกคำสั่งดังกล่าวจึงจะปลดล็อกให้สถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกเข้ามาร่วมจัดการศึกษาและยกระดับการศึกษาของไทยได้

ยุบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร 3 คณะ

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า คสช. เตรียมออกคำสั่งเกี่ยวกับการดำเนินงานของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ซึ่งตามพระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการอยู่ 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟู คณะกรรมการบริหารกองทุน และคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรดูแลอยู่ แต่จากการตรวจสอบพบว่าบางส่วนไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างที่ควร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการลาออก ขาดคุณสมบัติ ของคณะกรรมการ ขณะเดียวกัน จากการสำรวจเกษตรกรพบว่ายังมีหนี้สินอยู่ 15,000 ราย วงเงิน 3,000 ล้านบาทที่กำลังในช่วงกำลังจะถูกบังคับคดี คสช. จึงเห็นชอบหลักการควรให้คณะกรรมการทั้ง 3 คณะจบภารกิจและจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาใหม่ 1 คณะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ระยะเวลา 6 เดือนในเบื้องต้น หากไม่แล้วเสร็จให้ต่ออายุได้ตามเหมาะสม โดยมีหน้าที่ 1) แก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร วงเงิน 3,000 ล้านบาทก่อน 2) แก้ปัญหาหนี้เกษตรอีก 7,000 ล้านบาท จำนวน 21,500 รายที่กำลังจะมีปัญหาตามมา และ 3) ให้ไปศึกษาจุดอ่อนของกฎหมายฉบับเดิมที่มีอยู่เพื่อเสนอ ครม. ให้แก้ไขในคราวเดียวกัน

คสช. สั่งแก้ปมสรรหา คตง.-ผู้ว่า สตง.

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า คสช. เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23 เรื่องการสรรหาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่า สตง. โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะครบวาระพร้อมกันในเดือนกันยายนนี้ จากเดิมฉบับที่ 23 ต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหาภายใน 15 วันและสรรหาให้ได้ภายใน 180 วัน และการสรรหาจะต้องมีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาการสรรหาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกำหนดเวลา 15 วัน กระทั่งตอนนี้ยังหาคนที่จะมาทำหน้าที่ไม่ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการสรรหาออกไป เพื่อที่จะหาผู้ที่มีคุณสมบัติมาดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้จะระบุให้ชัดเจนถึงกรณีที่องค์กรอิสระส่งตัวแทนเข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหาจะต้องเป็นองค์อิสระที่ไม่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการที่มาสรรหา และการสรรหาภายใน 180 วันที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่มีประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 23 แต่ คตง. อาจตีความไม่ตรงกันจึงต้องเขียนให้ชัดเจน