ThaiPublica > คอลัมน์ > ทำไมถึงต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์ความสุขในประเทศไทย

ทำไมถึงต้องศึกษาเศรษฐศาสตร์ความสุขในประเทศไทย

26 พฤษภาคม 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

มีคนถามผมอยู่บ่อยๆ ว่า เป็นคนไทย เป็นชาวพุทธ แล้วทำไมต้องไปทำการศึกษาในเรื่องความสุขอย่างคนตะวันตกด้วย พระพุทธเจ้าก็สอนไว้แล้วว่าถ้าปล่อยวางได้เราก็สุข เราก็จะไม่ทุกข์ ก็แค่นี้เอง

ศาสนาพุทธและความสุขตามนิยามของคนชาติตะวันตก

ผมสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำเลยว่าการปฏิบัติตามคำสอนทางศาสนาพุทธสามารถทำให้คนเรารู้สึกว่าตัวเองมีความสุข — หรือมีความพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีและเป็นอยู่ — ตามนิยามของคนชาติตะวันตกมากขึ้นได้จริงๆ และการปล่อยวางก็สามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้เช่นเดียวกัน และคำสอนของพระพุทธเจ้าหลายๆ อย่างก็ถูกพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไปแล้วด้วยว่าได้ผลจริงๆ (ยกตัวอย่างเช่น การนำพระทิเบต Matthieu Ricard ไปนั่งสมาธิในห้องแล็บพร้อมๆ กันกับการวัดคลื่นสมอง ซึ่งการวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปว่า Matthieu Ricard เป็นมนุษย์ที่มีความสุขที่สุดในโลกจากผลการวัดคลื่นสมองของท่าน)

พูดง่ายๆ ก็คือ ทางสายตรงสู่ความสุขตามที่คนชาติตะวันตกเข้าใจ (ซึ่งก็คือความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง รู้สึกดี รู้สึกว่าชีวิตมีความหมาย และมีความพึงพอใจในชีวิตที่เป็นอยู่) และขจัดซึ่งความทุกข์ ก็คือการปฎิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งผมก็มั่นใจว่าพวกเราเหล่าชาวพุทธทั้งหลายย่อมทราบกันดีอยู่แล้ว

และถ้าเราย้อนกลับมาที่คำถามที่ผมเจอบ่อยมาก ถ้าผมทราบอยู่แล้วว่าการปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหนทางสำคัญในการทำให้คนพ้นทุกข์และมีความสุข ความพึงพอใจในชีวิตได้

ทำไมผมจึงต้องไปทำการศึกษาและวิจัยในเรื่องความสุขอย่างคนตะวันตกด้วย

คำตอบของผมมาจากคำถามที่ผมเคยตั้งเอาไว้ถามตัวเองในสมัยที่ผมเริ่มทำการวิจัยในเรื่องพวกนี้ตอนแรกๆ นั่นก็คือ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ถ้าชาวพุทธทุกคนต่างก็รู้ซึ่งถึงหนทางที่จะทำให้ตัวเองพ้นทุกข์ แล้วทำไมทุกคนที่เป็นชาวพุทธจึงไม่มีความสุขด้วยกันทุกคน ทำไมคนส่วนใหญ่ ถ้ารู้ในคำตอบอยู่แล้วว่าอะไรที่จะสามารถทำให้ตัวเราพ้นทุกข์ได้ เราจึงไม่ทำกัน

คำตอบง่ายๆ ก็คือ คนเราเกือบทุกคนต่างก็มีอคติทางความคิด หรือ cognitive bias กันทั้งนั้น และพวก cognitive bias เหล่านี้ อย่างเช่นการที่เราควบคุมอารมณ์ตัวเองยาก (self-control problem) หรือการที่คนเราชอบแคร์ในเรื่องของการเปรียบเทียบตัวเองและคนอื่นมากจนเกินไป หรือการที่คนเราชอบของสบายในวันนี้แล้วผัดวันประกันพรุ่งในเรื่องที่ไม่ค่อยอยากจะทำไปไว้ในวันข้างหน้า เป็นต้น ที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่ไม่สามารถผูกมัดตัวเองให้ปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพุทธศาสนาได้ทุกวัน ถึงแม้ว่าอยากจะปฎิบัติตามก็ตาม

เพราะฉะนั้น หนทางที่จะทำให้คนกลุ่มใหญ่ — ไม่ใช่แค่คนบางคนเท่านั้น — มีความสุขมากขึ้นโดยที่ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นมากที่สุดอาจจะไม่ใช่ทางสายตรงที่เราเข้าใจกัน (เราไม่สามาถไปบังคับให้คนไทยทุกคนนั่งสมาธิทุกวันได้ หรือปฏิบัติตามศีลห้าทุกวันได้ เป็นต้น) แต่อาจจะเป็นทางอ้อมมากกว่า ซึ่งทางสายอ้อมนี้อาจจะเป็นการวางแผนการสะกิด หรือ nudge ให้คนไม่โกง (หรือโกงน้อยลง) หรือให้คนรู้จักคุณค่าจากการใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์มากขึ้น จากการสร้างนโยบายที่มาจากเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมต่างๆ หรือแม้แต่การใช้หลักฐานจากข้อมูลความสุขต่างๆ นานามาชี้แนะว่าอะไรที่ทำให้เราสามารถมีความสุขมากที่สุด (hint: ไม่ใช่เงินและการแข่งขันกัน)

ผมไม่เคยทิ้งความเป็นพุทธเลยนะครับ เพียงแต่ผมเชื่อว่าเราคงไม่สามารถปล่อยให้คนเรา “เรียนรู้ด้วยตัวเอง” ได้ในทุกๆ กรณีไป และผมเองก็ไม่อยากมีทัศนคติที่ว่าถ้าเขาเรียนรู้ไม่ได้เองมันก็เป็นเรื่องของเขา ผมเชื่อว่าศาสนาพุทธสอนอะไรที่เป็นความจริงเยอะมาก แต่มันก็คงจะดีมากขึ้นไปอีกถ้าเราสามารถใช้สิ่งที่ศาสตร์ทางตะวันตก อย่างเช่นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม หรือพฤติกรรมศาสตร์ เข้ามาสอนและเข้ามาช่วยหนุนในหลายๆ กรณีได้

ผมเชื่อว่าไม่มีศาสตร์ไหนในโลกที่เพอร์เฟกต์ไปหมด แต่เราสามารถขยับเข้าไปหาความเป็นเพอร์เฟกต์ได้ถ้าเราสามารถนำศาสตร์หลายๆ ศาสตร์ที่เป็นประโยชน์มารวมตัวและใช้ด้วยกันได้นะครับ