ThaiPublica > คอลัมน์ > ปรัชญาของวิธีการตัดสินใจยากๆ: How to make hard choices

ปรัชญาของวิธีการตัดสินใจยากๆ: How to make hard choices

16 พฤษภาคม 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

ในชีวิตของคุณ คุณเคยทุกข์จนนอนไม่หลับไปหลายคืนเพียงเพราะคุณต้องตัดสินใจเลือกอะไรสักอย่างระหว่างสอง (หรือมากกว่าสอง) ตัวเลือกยากๆ บ้างไหมครับ ยกตัวอย่างเช่น การตัดสินใจว่าควรจะเลือกเรียนอะไรดีระหว่างการเรียนหมอหรือเรียนสถาปัตย์ ระหว่างการเลือกแต่งงานกับคนที่เรารักแต่ไม่ค่อยมีฐานะหรือคนที่เราโอเคแต่มีเงินทองมหาศาล ระหว่างการทำงานหามรุ่งหามค่ำแต่เงินเดือนหลายแสนและการเสียสละไม่ทำงานที่มีเงินเดือนสูงๆ เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เป็นต้น

ถ้าคุณเคยล่ะก็ คุณก็ไม่ต่างอะไรจากคนธรรมดาอื่นๆ ทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะว่าการตัดสินใจอะไรที่ยากๆ (หรือที่เราเรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่า hard choices) นั้นเป็นสิ่งที่คนเราเกือบทุกคนต้องประสบพบเจอกันมากกว่าครั้งเดียวในชีวิตของเรา คำถามก็คือเรามีวิธีการดีๆ อะไรไหมที่จะช่วยทำให้การตัดสินใจยากๆ มาเป็นการตัดสินใจง่ายๆ ได้ หรืออย่างน้อยก็ช่วยทำให้เราไม่ต้องทุกข์กับการตัดสินใจมากนัก

Ruth Chang และปรัชญาของการตัดสินใจอะไรยากๆ

Ruth Chang ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=8GQZuzIdeQQ

ศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญา Ruth Chang จากมหาวิทยาลัย Rutger ในสหรัฐอเมริกาได้เคยพูดบนเวที TED Talk ในเรื่องของวิธีการตัดสินใจยากๆ (How to make hard choices) ไว้ว่า สาเหตุที่การตัดสินใจยากๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากก็เป็นเพราะว่าแต่ละตัวเลือกของ hard choices นั้นมีทั้งข้อดีและข้อไม่ดีที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยรวมแล้วเรากลับไม่สามารถเห็นว่ามีตัวเลือกตัวไหนที่ดีกว่าอีกตัวเลือกตัวอื่นๆ อย่างชัดเจน เพราะไม่ว่าจะเลือกตัวเลือกตัวไหนมันก็มีผลได้ผลเสีย (trade-off) ในการเลือกทุกตัวเลือก (ส่วนการตัดสินใจง่ายๆ นั้นเรามักจะสามารถเห็นได้ทันทีเลยว่าตัวเลือกหนึ่งดีกว่าตัวเลือกทุกๆ ตัวอย่างชัดเจน อย่างเช่นการตัดสินใจว่าจะเลือกเอาเงินร้อยบาทหรือเงินพันบาทฟรีๆ ซึ่งการเลือกตัวที่ดีกว่าชัดๆ ไม่มีการ trade-off อะไรเลยเหมือนการตัดสินใจยากๆ )

พูดง่ายๆ ก็คือ การตัดสินใจยากๆ มันก็เหมือนกับความรู้สึกของการ “รักพี่เสียดายน้อง” ดีๆ นั่นเอง

แล้วถ้า hard choices ก็คือการมีหลายตัวเลือกที่มีข้อดีและไม่ดีแตกต่างกันแต่โดยรวมแล้วดีพอๆ กัน สมมติว่าเราสามารถทำให้ข้อดีของตัวเลือกตัวหนึ่งดีขึ้นมาอีกล่ะ จะสามารถทำให้การตัดสินใจของเราง่ายขึ้นไหม

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรากำลังตัดสินใจไม่ได้ระหว่างการเลือกที่จะทำงานที่เรารักแต่เงินเดือนสามหมื่นและทำงานที่เราเกลียดแต่ได้เงินหนึ่งแสน สมมติอีกว่าถ้าบริษัทของงานที่เราเกลียดอยากจะเพิ่มเงินเดือนจากหนึ่งแสนไปเป็นสองแสนให้กับเราจะสามารถทำให้ hard choices กลายเป็น easy choices ได้ไหม

สำหรับคุณผู้อ่านหลายๆ ท่าน การเพิ่มข้อดี (ซึ่งก็คือเงินเดือนในเคสนี้) ให้กับตัวเลือกตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ทำให้การตัดสินใจที่ยากกลายเป็นการตัดสินใจที่ง่ายเลย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่ามูลค่าของข้อดีและข้อเสีย (trade-off values) ของแต่ละตัวเลือกนั้นเป็นสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบกันยาก (การได้ทำงานที่เราชอบแทนการทำงานที่เราเกลียดมีมูลค่าเป็นเงินเท่าไหร่ถึงจะพอ หนึ่งแสน? สองแสน? หนึ่งล้าน?)

hard choices จึงเป็นอะไรที่ยากสำหรับคนเราเกือบทุกคนเพราะว่าแต่ละตัวเลือกของ hard choices นั้นดีพอๆ กันแต่เอามาเปรียบเทียบกันแทบไม่ได้

แล้วเราควรจะทำยังไงดีล่ะเวลาที่เราเจอการตัดสินใจยากๆ อย่างนี้

Ruth Chang กล่าวเอาไว้ว่าสามเหตุที่ hard choices นั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนเราเกือบทุกคนเพราะคนเราเกือบทุกคนมักเข้าใจผิดว่ามูลค่าของข้อดีและข้อเสียในแต่ละตัวเลือกของ hard choices นั้น — ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานกับคนที่เรารัก หรือการได้เรียนในสิ่งที่เราชอบ — สามารถนำเอามาบวกลบคูณหารกันได้ ซึ่งความเข้าใจผิดนี้ทำให้เราคิดว่าตัวเลือกตัวใดตัวหนึ่งนั้นดีกว่า แย่กว่า หรือมีค่าเท่ากันกับตัวเลือกอีกตัวหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเลือกผิดไปเลือกตัวเลือกที่แย่กว่าตัวอื่นเราอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้ และความกลัวที่จะเลือกผิดตัวนี้เองที่ทำให้ hard choices นั้นเป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนเรา

แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่ามูลค่าของข้อดีและข้อเสียของ hard choices เป็นอะไรที่นำมาเปรียบเทียบกันได้ยาก ผลลัพธ์ของการตัดสินใจของ hard choices จึงไม่ได้มีอยู่แค่สามตัว (ดีกว่า แย่กว่า และมีค่าเท่ากัน) อย่างที่เราเข้าใจ แต่ผลลัพธ์ของการตัดสินใจของ hard choices นั้นมีอยู่แค่อย่างเดียวคือ “ไม่ว่าเราจะเลือกอะไร ตัวเลือกที่เราไม่ได้เลือกไม่ได้ดีกว่าหรือแย่ไปกว่าตัวเลือกที่เราเลือกไปแล้ว”

ด้วยเหตุผลนี้เอง แทนที่เราจะมอง hard choices ว่าเป็นอะไรที่ยากและเป็นอะไรที่เราไม่อยากเผชิญหน้า เราควรที่จะมอง hard choices ให้เป็นโอกาสในการใช้พลังของการหาเหตุผล (power to rationalize) ของเราเองให้เป็นประโยชน์ และการที่เราได้มีโอกาสใช้พลังของการหาเหตุผลของเรานี่เองที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย (ลองคิดดูนะครับ ถ้าตัวเลือกแต่ละตัวเลือกในชีวิตของเราเป็นสิ่งที่ง่าย เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พลังของการหาเหตุผลในชีวิตของเราเลย แล้วชีวิตของเราจะสนุกอะไรตรงไหน)

เพราะฉะนั้น จงอย่ากลัว hard choices อีกเลยนะครับ เราควรที่จะดีใจทุกครั้งที่เราเจอ hard choices ดีกว่า เพราะ hard choices นี่แหละเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนเราใช้พลังของความเป็นมนุษย์ได้เต็มที่

ดูเพิ่มเติม Ruth Chang’s TED talk