ThaiPublica > คอลัมน์ > วันที่สวิตเซอร์แลนด์สวมหมวกเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด

วันที่สวิตเซอร์แลนด์สวมหมวกเพื่อจัดการกับปัญหายาเสพติด

31 พฤษภาคม 2017


ณัฐเมธี สัยเวช

ที่มาภาพ: https://goo.gl/wh3YeZ

หลังจากตอนที่แล้ว ที่ได้พูดคุยสั้นๆ กับมาดามรูท ไดรฟัสส์ อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้พบว่าสวิตเซอร์แลนด์นั้นผ่านการลองผิดลองถูกในเรื่องของนโยบายยาเสพติดมาหลายรูปแบบอย่างน่าแปลกใจว่า ในขณะที่ใครๆ ก็บอกว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศอนุรักษนิยมอย่างยิ่ง แต่แนวทางในการจัดการกับปัญหายาเสพติดนั้นกลับมีความยืดหยุ่นและพร้อมเปลี่ยนแปลงสู่วิธีการใหม่ๆ เสมอว่า แม้ว่าวิธีใหม่ๆ ที่ว่านั้นจะสวนทางกับแนวนโยบายเดิมๆ อย่างสิ้นเชิงก็ตาม

นับแต่ทศวรรษ 1950 นั้น สวิตเซอร์แลนด์เผชิญกับปัญหายาเสพติดประเภทเฮโรอีนอย่างหนัก โดยมีจำนวนผู้ใช้ยาเสพคิดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพอถึง ค.ศ. 1975 สวิตเซอร์แลนด์เองก็ใช้แนวทางเดียวกับประเทศอื่นๆ ในโลก นั่นคือการประกาศสงครามกับยาเสพติด โดยมีการทบทวนกฎหมายอันส่งผลให้เกิดการจับกุมเพื่อปราบปรามอย่างหนัก ทว่า นั่นก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหายาเสพติดลดลงแต่อย่างใด โดยจะเห็นได้จากการที่จำนวนผู้ใช้เฮโรอีนนั้นเพิ่มขึ้นจากน้อยกว่า 4,000 รายในปี ค.ศ. 1975 เป็นประมาณ 10,000 รายในปี ค.ศ. 1985, 20,000 รายในปี ค.ศ. 1988 และ 30,000 รายในปี ค.ศ. 19921

เมื่อการปราบปรามอย่างหนักไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น แถมความแย่ลงของปัญหาก็ดูจะเพิ่มพูนมากขึ้นตามไปด้วย เพราะนอกจากปัญหาการใช้เฮโรอีนแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือการแพร่กระจายอย่างร้ายกาจของเชื้อไวรัสเอชไอวีอันนำไปสู่การขยายตัวของจำนวนผู้เป็นโรคเอดส์อันเนื่องมาจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน พอเป็นเช่นนั้นแล้วสวิตเซอร์แลนด์ทำอย่างไร ก็ดังที่กล่าวไปในตอนที่แล้ว สิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ทำก็คือการทดลองใช้การจำกัดขอบเขตความเสียหายด้วยการเปิดพื้นที่พิเศษที่อนุญาตให้สามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเฮโรอีนและยาเสพติดชนิดต่างๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจับกุม จะเสพ จะขาย ทำได้ทั้งสิ้น โดยสถานที่ดังกล่าวนั้นก็คือ “สวนสาธารณะพลาตซ์สปิตซ์” (Platzspitz Park) หรือที่เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “สวนเข็ม” (Needle Park) จากการเปิดให้เป็นพื้นที่เสรีของกิจกรรมอันเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในปี ค.ศ. 1987

แม้จะเกิดจากเจตนาที่ดี รวมทั้งมีการทำโครงการอย่าง ZIPP-AIDS (Zürich Intervention Pilot Project – AIDS) ซึ่งเป็นการพยายามป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสเอชไอวีและไวรัสตับอักเสบในหมู่ผู้ที่มายังสวนเข็มด้วยการแจกจ่ายและเปลี่ยนเข็มและกระบอกฉีดยาที่ถูกสุขลักษณะเพื่อใช้ในการเสพ โดยใน 3 ปีแรกของการมีสวนเข็มนั้น ZIPP-AIDS ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน (เช่น กระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาด) แจกจ่ายชุดเข็มฉีดยาและกระบอกเข็มฉีดยาไป 7 ล้านชุด เข็มเพิ่มเติมอีก 2.8 ล้านเข็ม แผ่นแอลกอฮอล์ 8 ล้านแผ่น และขี้ผึ้งเพื่อหาปกป้องเส้นเลือดอีก 1.3 ล้านถุง2 ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสวนเข็มกลายเป็นที่รวมตัวของพ่อค้ายาจากทั่วยุโรปและผู้มาทำกิจกรรมทางยากว่า 20,000 คน จนในที่สุด ก็ เกิดปัญหากับละแวกที่อยู่อาศัยรอบๆ สวน ทั้งในแง่ของการได้เห็นสภาพอันน่าเวทนาของผู้ใช้ยาเกิดขนาดจนเสียชีวิตในสวน การตกเป็นทาสรูปแบบต่างๆ ของพ่อค้าเพื่อแลกกับยา รวมถึงปัญหาอาชญากรรมที่ล้นทะลักออกมา และแล้ว ด้วยปัญหาทั้งหมดนั้น สวิตเซอร์แลนด์ก็ตัดสินใจปิดสวนเข็มลงในปี ค.ศ. 1992 และนั่นถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ครั้งที่สองในการพยายามรับมือกับปัญหายาเสพติดของสวิตเซอร์แลนด์

ทว่า แม้จะล้มเหลวซ้ำซาก แต่การเกิดขึ้นและล่มสลายของสวนเข็มก็ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ค้นพบว่าการเปิดเสรีสุดๆ (แม้จะจำกัดพื้นที่) กับการปิดเสรีสุดๆ นั้นล้วนไม่ได้ให้ผลดีไปกว่ากัน หรือพูดให้ชัดเจนกว่านั้นก็คือ ในภาพใหญ่แล้ว ต่างก็ให้ผลร้ายมากขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น (แถมการปิดสวนเข็มก็ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดไป เพราะเหล่าผู้ค้าและผู้ใช้ก็ไปรวมตัวกันเองในที่อื่นๆ อีก) แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็ยังคงเดินหน้าในการหาวิธีการใหม่ๆ ในการจัดการกับปัญหายาเสพติดต่อไป และในปี ค.ศ. 1992 สิ่งที่พวกเขาทำก็คือการใช้ “หมวก”

หมวกที่ว่านี้คืออะไร ก็คือคำแปลตรงๆ มาจาก HAT ซึ่ง HAT นี้ก็ย่อมาจาก Heroin-Assisted Treatment หรือก็คือการเปิดศูนย์บริการให้ผู้เสพเฮโรอีนนั้นเข้ามารับเฮโรอีนตามใบสั่งจ่ายภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญและใช้มันภายในสถานที่ที่ทางการจัดไว้ให้ พูดง่ายๆ ก็คือ หากคุณเสพติดเฮโรอีน เมื่อคุณมาที่นี่ นอกจากคุณจะได้รับการสั่งจ่ายเฮโรอีนให้แล้วคุณยังสามารถเสพเฮโรอีนที่นี่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งการได้รับอุปกรณ์การเสพที่ถูกสุขลักษณะอีกด้วย ซึ่งนโยบายเช่นนี้นั้นมีมาก่อนในประเทศอังกฤษ ต่างกันตรงที่ของอังกฤษนั้นจะเป็นการแจกเฮโรอีนให้เฉยๆ ตามการสั่งของผู้เชี่ยวชาญ ในขณะที่ของสวิตเซอร์แลนด์นั้นเมื่อได้รับยาไปแล้วจะต้องใช้ในสถานที่ที่จัดไว้ให้ ซึ่งตรงนี้นั้นนอกจากจะช่วยให้ผู้เสพได้รับเฮโรอีนบริสุทธิ์ที่รู้ชัดเจนว่าเสพแล้วจะเกิดผลเช่นไรและไม่มีสารพิษอื่นๆ ปนเปื้อนแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ให้ยาหลุดไปสู่ตลาดนอกกฎหมาย รวมทั้งทำให้สามารถป้องกันการเสพยาเกินขนาดเนื่องจากการเสพนั้นจะอยู่ในการควบคุมดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้วย

แต่ทั้งนี้ การจะเข้ามา “สวมหมวก” นี้ก็ไม่ใช่แค่เป็นผู้ใช้หรือกระทั่งเสพติดเฮโรอีนแล้วจะเข้ามาได้ แต่คือต้องชัดเจนแล้วว่าไม่มีการรักษาใดๆ ที่จะทำให้เลิกขาดจากการใช้เฮโรอีนได้

อนึ่ง การ “สวมหมวก” นี้นั้นไม่ได้เป็นการยอมจำนนต่อปัญหาจนหันมานึกจะแจกยาเสพติดให้ผู้เสพติดก็แจกอย่างสบายใจ แต่คือมาตรการที่ทำขึ้นเพื่อทำการวิจัยว่าเป็นมาตรการที่จะก่อให้เกิดผลดีแก่สังคมโดยรวม ก็ได้มีการวิจัยและรวบรวมผลดีที่เกิดขึ้นจากการ “สวมหมวก” ออกมาดังนี้3

    – สุขภาพของผู้ที่เข้าร่วมในการ “สวมหมวก” นั้นดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
    – ภายในสองถึงสามเดือน ปริมาณการใช้เฮโรอีนนั้นก็คงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างที่กังวลกัน
    – การใช้เฮโรอีนและโคเคนอย่างผิดกฎหมายนั้นลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
    – การทำผิดกฎหมายเพื่อหาเงินไปซื้อยาในหมู่ผู้ที่เข้าร่วมการ “สวมหมวก” นั้นลดลงอย่างมหาศาล
    – เฮโรอีนที่ใช้การนี้นั้นไม่หลุดไปสู่ตลาดนอกกฎหมาย
    – การเพิ่มขึ้นของผู้ใช้หน้าใหม่นั้นลดลง รวมทั้งการค้ากันตามท้องถนนและการหาผู้เสพหน้าใหม่จากผู้ขายและผู้ใช้ก็ลดลงด้วย (เพราะการทำให้กลายเป็นเรื่องของการบำบัดรักษาได้ทำให้การใช้เฮโรอีนมีความดึงดูดใจลดลง)
    – การบำบัดรักษาด้วยการรับสารทดแทนนั้นเพิ่มขึ้นแทนที่จะลดลงดังที่หลายคนกังวลกัน

มาถึงตรงนี้แล้ว ผมก็นึกถึงบทความเก่าhttp://wp.me/p4Ezf3-kCxที่ตัวเองเคยเขียนไว้ ที่ว่าแท้จริงแล้วคนเราไม่ได้ติดยา แต่พวกเขาเพียงโหยหาความสัมพันธ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่จะทำให้ตัวเองดำรงชีวิตต่อไปได้ เพียงแต่สำหรับพวกเขาแล้วก็ไม่มีสิ่งอื่นใดตอบโจทย์นี้ได้นอกจากยาเสพติด ผมคงไม่อาจกล่าวได้ว่าสวิตเซอร์แลนด์นั้นสมาทานวิธีคิดในเชิงนี้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ สิ่งที่สวิตเซอร์แลนด์ยึดถือเป็นความสำคัญสูงสุดของการเผชิญหน้ากับปัญหายาเสพติดก็คือชีวิตมนุษย์ และคือชีวิตมนุษย์โดยไม่แบ่งแยกว่าเขาคือคนธรรมดาหรือคือผู้ติดยาเสพติดนั่นเอง

และนั่นทำให้เขาพยายามหาทางใหม่ๆ ที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ มากกว่าจะพยายามกันคนที่ “มีปัญหา” ออกไปจากสังคม

คุณว่าเราจะลองมีทัศนคติแบบนั้นกันดูบ้างหรือไม่ครับ?

อ้างอิง
1 Steve Rolles: Heroin-assistedtreatment in Switzerland: successfully regulating the supply and use of a high-risk injectable drug,  https://dl.dropboxusercontent.com/u/566349360/library/Heroin-assisted%20treatment%20Switzerland.pdf, เข้าถึงล่าสุด 31 พ.ค. 2560
2 Joanne Csetea และ Peter J. Grobb: Switzerland, HIV and the power of pragmatism: Lessons for drug policy development, https://goo.gl/DzEaF9, เข้าถึงล่าสุด 31 พ.ค. 2560
3 อ้างแล้ว, Steve Rolles