ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดผลสอบสัมปทานดิวตี้ฟรี สปท. เสนอ “บิ๊กตู่” ปลดบอร์ด AOT-ยกเลิกสัญญาคิง เพาเวอร์ฯ

เปิดผลสอบสัมปทานดิวตี้ฟรี สปท. เสนอ “บิ๊กตู่” ปลดบอร์ด AOT-ยกเลิกสัญญาคิง เพาเวอร์ฯ

10 พฤษภาคม 2017


สืบเนื่องมาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สรุปผลการศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบเอกชน เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น” พร้อมข้อเสนอแนะ 5 ข้อ ส่งให้ประธาน สปท. นำเสนอต่อพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาสั่งการ

ช่วงบ่ายของวันที่ 25 เมษายน 2560 หลังการประชุมคระณัฐมนตรี (ครม.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี โดยมีสปท., สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), กระทรวงการคลัง, กระทรวงคมนาคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพากร และคณะผู้บริหารของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

ระหว่างการประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ประชุม ได้อ่านข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 5 ข้อให้ที่ประชุมรับทราบ ดังนี้

1. ควรปลดผู้อำนวยการ ทอท. คนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและก่อให้เกิดความเสียหาย รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าบริหารงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ขณะเดียวกัน เพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกปกปิดมาโดยตลอดเวลา

2. ควรทำการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

3. ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของ ทอท. กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เพื่อ ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งอย่างครบถ้วน รัฐโดยกรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลที่จะเรียกเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรจะได้ใช้ข้อมูล เพื่อควบคุมป้องกันการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

4. ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ป้องกันการทุจริตและเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชน และการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและรายได้ของรัฐ

5. ควรกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

แหล่งข่าวรายหนึ่งที่เข้าร่วมประชุมเปิดเผยว่า”เมื่ออ่านจบ นายวิษณุได้ขอให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยันข้อเสนอแนะ 5 ข้อที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการ ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยืนยัน นายวิษณุจึงมอบหมายให้เลขาธิการ ป.ป.ท. รับผิดชอบการสอบสวนหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ตั้งแต่การได้มาของสัญญาอนุญาตประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งการบริหารสัญญาที่มิชอบด้วยกฎหมาย และให้ ป.ป.ท. นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป”

สำหรับรายงานกรณีศึกษาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (กมธ.วิสามัญฯ) ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สปท. ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ มี 6 ประเด็นดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องการทำสัญญาอนุญาตให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานภูมิภาค ตามสัญญา ที่ ทสภ.1-07/2547 มีอายุสัญญาตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และมีการขยายอายุสัญญา 2 ครั้ง รวม 4 ปี สิ้นสุดอายุสัญญาปี 2563 การแก้ไขเพิ่มเติม 2 ครั้งหลังอาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ) โดยไม่ได้ดำเนินกระบวนการตามแบบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด

เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ทอท. เกี่ยวกับโครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ว่าโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่มีการจัดทำรายงานและผลการศึกษามูลค่าโครงการให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการไม่ปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ โดยมีการจัดทำและอนุมัติให้ความเห็นชอบรายงานและผลการศึกษาการคิดคำนวณ และไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัยให้ใช้มูลค่าสินค้าคงคลังที่จัดเก็บไว้ในสต็อก 3.5-4 เดือน มาคำนวณหามูลค่าโครงการลงทุน แต่ใช้สินค้าคงคลังที่เก็บในสต็อกเพียง 1 เดือน มาใช้คำนวณหามูลค่าโครงการ

นอกจากนี้ ในการคำนวณมูลค่าโครงการลงทุนใช้สมมติฐานการดำเนินงานเพียง 5 ปี และใช้พื้นที่ประกอบกิจการ 5,000 ตารางเมตร ทั้งที่ตามสัญญาจริงกำหนดระยะเวลาในจำหน่ายสินค้าปลอดอากร 10 ปี ใช้พื้นที่จริงกว่า 11,820 ตารางเมตร รวมทั้งไม่ได้นำมูลค่าการลงทุนในท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ภูเก็ต และหาดใหญ่ มาร่วมคำนวณด้วย ทำให้คิดคำนวณมูลค่าโครงการได้ 813.83 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริง

ประเด็นที่ 2 เรื่องการทำสัญญาอนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด บริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตามสัญญาที่ ทสภ.1-01/2548 มีอายุสัญญา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ และมีการขยายอายุสัญญา 2 ครั้ง รวม 4 ปี สิ้นสุดอายุสัญญาปี 2563 การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ) โดยไม่ได้ดำเนินกระบวนการตามแบบและวิธีการที่กฎหมายกำหนด

เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงจากรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ทอท. เกี่ยวกับโครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ว่าโครงการดังกล่าวมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท แต่มีการจัดทำรายงานและผลการศึกษามูลค่าโครงการให้ต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นข้อมูล ไม่ปฏิบัติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ โดยมีการจัดทำและอนุมัติให้ความเห็นชอบรายงานและผลกรศึกษาการคิดคำนวณทั้งในส่วนของมูลค่าที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ค่าก่อสร้าง ค่าตกแต่งอาคาร ค่าระบบต่างๆ ภายในพื้นที่ และค่าสำรองสินค้า ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ปฏิบัติตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำหนด โดยเฉพาะในเรื่องของการคำนวณมูลค่าอาคาร ต้องคิดคำนวณจากมูลค่าที่แท้จริง โดยไม่หักค่าเสื่อมราคาของอาคาร แต่ปรากฏว่ามีการนำค่าเสื่อมราคาของอาคารมาคำนวณนับรวมด้วย ทำให้โครงการนี้มีมูลค่า 846.62 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในช่วงที่เปิดประมูลคัดเลือกผู้ประกอบการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดโครงการ (TOR) ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้สิทธิเป็นผู้ประกอบการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ยื่นซองเอกสารข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านราคาที่มีการเสนอใช้พื้นที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ใน TOR จำนวน 20,000 ตารางเมตร โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ ได้เสนอใช้พื้นที่ประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ จำนวน 25,687 ตารางเมตร ภายใต้การเสนอค่าตอบแทนจำนวน 1,431 ล้านบาท ซึ่งมีการเสนอใช้พื้นที่เกินกว่าที่กำหนดใน TOR จำนวน 5,687 ล้านบาท ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด สามารถคิดค่าตอบแทนขั้นต่ำในปีแรกสูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่น เกิดข้อได้เปรียบต่อผู้เสนอราคารายอื่นที่คิดคำนวณค่าตอบแทนภายใต้การใช้พื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ตามที่กำหนดไว้ใน TOR

และยินยอมให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ดำเนินการเสนอข้อความเพิ่มเติมด้านราคาเกี่ยวกับการเสนอผลตอบแทนนอกเหนือไปจากข้อกำหนดใน TOR ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้องตามระเบียบ ข้อบังคับของ TOR เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้กับ ทอท. เป็นเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากเงิน 1,431 ล้านบาท อีกเป็นจำนวน 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3,431 ล้านบาท

แต่ภายหลังกลับมีการตีความว่า เงินจำนวน 2,000 ล้านบาท ไม่ใช่เงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากวงเงิน 1,431 ล้านบาท และตีความว่าวงเงินดังกล่าวเป็นเงินล่วงหน้าที่บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ต้องวางเอาไว้และหักกับผลประโยชน์ตอบแทนในการประกันรายได้ขั้นต่ำในยอด 1,431 ล้านบาท ในปีแรก ส่วนที่เหลืออีก 569 ล้านบาท ใช้หักกับยอดที่จะต้องชำระในปีถัดไป ทำให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมอีก

การกระทำดังที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เสนอราคาค่าตอบแทนแก่ ทอท. สูงกว่าผู้เสนอราคารายอื่น เพื่อให้ได้สิทธิเป็นผู้ประกอบการโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ทำให้ ทอท. ต้องสูญเสียประโยชน์เป็นเงินกว่า 2,000 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ในรายงานระบุอีกว่าในการยื่นซองประกวดราคา เพื่อเข้ารับสิทธิในการดำเนินกิจการบริหารพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ภายในอาคารผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังกล่าว ไม่ปรากฏข้อมูลใดๆเกี่ยวกับบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ว่าเป็นผู้ยื่นแบบแสดงคุณสมบัติผู้เสนอราคาด้วยแต่อย่างใด โดยมีเพียง 5 ราย ที่ยื่นซองประกวดราคา ได้แก่ กลุ่มบริษัท อิมพีเรียลพลาซ่า จำกัด, กลุ่มบริษัท มาสเตอร์ มายนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด, กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, กลุ่มบริษัท เอื้อวัฒนสกุล จำกัด และกลุ่มบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด เท่านั้น ภายหลังกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชนะการประกวดราคา กลับมีการดำเนินการให้บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่เพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 เป็นผู้ทำสัญญากับ ทอท. ในวันที่ 25 มีนาคม 2548 แทน

การเปลี่ยนคู่สัญญาดังกล่าว อาจจะเป็นการกระทำผิดเงื่อนไข TOR ในเรื่องข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ระบุว่า “…ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านการบริหาร พัฒนาพื้นที่ หรือประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ร้านค้าสินค้า/บริการ (Retail Business) ขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตารางเมตร ในสัญญาเดียวกันในปีหนึ่งปีใด หรือมียอดรายได้จากการขายหรือเชิงพาณิชย์ดังกล่าวปีหนึ่งปีใดมากกว่า 500 ล้านบาท/ปี ภายในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา และต้องมีประสบการณ์ในการดำเนินงานในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ตามข้างต้นเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับจากกำหนดวันยื่นข้อเสนอโครงการ…”

รายงานระบุว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่าบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หลายเท่า แม้จะเป็นบริษัทในเครือแต่ก็มีสถานะความเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบริษัทแม่ สิทธิเรียกร้องของ ทอท. ไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้

อนึ่งภายหลังการทำสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหาร ทอท. และคณะกรรมการบริหาร ทอท. ชุดใหม่ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และโครงการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์แล้ว พบว่า ทั้ง 2 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท การดำเนินการอนุมัติและทำสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ อันเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามแบบที่กฎหมายกำหนด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ

ทอท. ได้มีหนังสือแจ้งให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ทราบถึงการกระทำที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และให้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว รายละเอียดปรากฏตามหนังสือแจ้งให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เอกสารที่ ทอท. 2851/2550 และ 2852/2552 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2550

เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2550 บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ทอท. เพื่อขอศาลบังคับให้ ทอท. ปฏิบัติตามสัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ หากปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ขอเรียกทรัพย์คืนและเรียกค่าเสียหาย จำนวนทุนทรัพย์ 48,074.14 ล้านบาท และจำนวนทุนทรัพย์ 20,878.51 ล้านบาท โดยรายละเอียดเกี่ยวกับคำฟ้องทั้ง 2 คดีมีอยู่ที่ ทอท. แล้วนั้น

จากคำฟ้องของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า มูลค่าการลงทุนของทั้ง 2 โครงการ มีจำนวนวงเงินและทรัพย์สินเกินกว่า 1,000 ล้านบาท เริ่มจากโครงการประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้กล่าวอ้างในคำฟ้องถึงจำนวนเงินลงทุน เฉพาะมูลค่าการออกแบบก่อสร้างงานระบบของร้านค้ารวมตลอดถึงค่าตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์สำนักงานของร้านค้าบริเวณพื้นที่ตามสัญญา และค่าว่าจ้างผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างตกแต่งภายในร้านค้าให้เป็นไปตามแบบแปลนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกำหนด ใช้เงินลงทุนไปเป็นจำนวน 873.71 ล้านบาท

ค่าออกแบบก่อสร้างงานระบบของสำนักงาน และจัดซื้อตกแต่งเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์สำนักงานของสำนักงานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อนำไปใช้ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาใช้เงินลงทุนอีกจำนวน 217.76 ล้านบาท

ค่าใช้จ่ายลงทุนในการสั่งซื้อสินค้าและสต็อกสินค้าไว้ในคลังสินค้า เพื่อนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าตามกิจการที่ทำสัญญากับ ทอท. เป็นเงินจำนวน 3,137.96 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างคลังสินค้าเพื่อเก็บรักษาสินค้าไว้ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ใช้เงินลงทุนจำนวน 216.12 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายการลงทุนก่อสร้าง ค่าตกแต่ง ค่าอุปกรณ์สำนักงานที่ท่าอากาศยานภูเก็ต 15.80 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายการลงทุนก่อสร้าง ค่าตกแต่ง ค่าอุปกรณ์สำนักงานที่ท่าอากาศยานหาดใหญ่ 106,481 บาท รวมเงินสำหรับใช้ลงทุน 4,466.13 ล้านบาท

ส่วนโครงการบริหารจัดการพื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เฉพาะมูลค่าการออกแบบก่อสร้างร้านค้าบริเวณพื้นที่ ตามสัญญาให้เป็นไปตามแบบแปลนโครงสร้างพื้นที่ก่อสร้างร้านค้ากิจกรรมเชิงพาณิชย์ และว่าจ้างผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้าง และตกแต่งภายในร้านค้าให้เป็นไปตามแบบแปลนใช้เงินลงทุนไปเป็นเงินจำนวน 1,781.12 ล้านบาท, ค่าจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานเพื่อนำมาใช้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามสัญญาใช้เงินลงทุนอีกจำนวน 28.28 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายการลงทุนในการสั่งซื้อสินค้า และสต็อกสินค้าไว้ในคลังสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายให้กับลูกค้าตามกิจการที่ทำสัญญากับ ทอท. เป็นเงินจำนวน 390.12 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้แก่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าธรรมเนียมธนาคาร ค่าโฆษณา ติดต่อประสานงาน ใช้เงินลงทุนจำนวน 250.34 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการลงทุนสร้างศูนย์ฝึกอบรมพนักงานเป็นเงิน 130.35 ล้านบาท รวมเงินสำหรับใช้ลงทุน 2,580.23 ล้านบาท ซึ่งเงินลงทุนของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวยังไม่นับรวมการลงทุนของ ทอท. ที่ตีมูลค่าจากอาคารสิ่งปลูกกสร้าง ที่ดิน และระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ ตามกฎหมาย

ประเด็นที่ 3 เรื่องการจ้างที่ปรึกษาการเงินอิสระของคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่าง ทอท. กับ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อดำเนินการประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการร้านค้าปลอดอากร และโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใหม่อีกครั้ง (จัดจ้างภายหลังการยื่นฟ้องคดีของบริษัทคิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด) โดยมีข้อสรุปว่า มูลค่าการลงทุนแต่ละโครงการไม่เกิน 1,000 ล้านบาท จึงไม่อยู่ในข่ายต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ และการมีมติให้ความเห็นชอบผลการศึกษาการประเมินมูลค่าการลงทุนในโครงการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของคณะกรรมการ ทอท. นั้น อาจเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย

เนื่องจากเป็นการไม่ดำเนินการ และ/หรือ ดำเนินคดี เพื่อให้เป็นไปตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ทอท. ชุดก่อน ที่ตรวจสอบพบว่า ทั้ง 2 โครงการไม่ได้ดำเนินกระบวนการตามแบบและวิธีการตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ กำหนด อีกทั้งยังปรากฏว่า ผลสรุปรายงานการประเมินมูลค่าการลงทุนในโครงการร้านค้าปลอดอากรและโครงการบริหารกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระดังกล่าวนั้น ขัดแย้งกับข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ทอท. ชุดก่อน และขัดแย้งกับข้อมูลการลงทุนของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ที่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องของตนอย่างชัดเจน

ประเด็นที่ 4 การมีมติไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายอื่นเช่าใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้าจากร้านค้าปลอดอากรในเมือง ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณารายได้ของ ทอท. ครั้งที่ 2/2558 วันอังคารที่ 27 มกราคม 2558 (เฉพาวาระของ ฝผง. ทดม.) โดยอ้างเหตุผลว่า เนื่องจาก ทอท. อนุญาตให้บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมืองแล้ว อาจจะเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ไม่รักษาผลประโยชน์ของ ทอท.

เนื่องจากการขอเช่าใช้พื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติของผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อใช้ทำจุดส่งมอบสินค้า เป็นกรณีการจัดตั้งร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง โดยมีวิธีการจำหน่ายและส่งมอบของให้ผู้ซื้อ ณ จุดส่งมอบสินค้าภายในพื้นที่ของสนามบินนานาชาตินั้น ไม่ได้ซ้ำซ้อนใดๆ กับโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานภูมิภาคของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด แต่อย่างใด

และเนื่องจาก ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการการท่าอากาศยาน อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต้องคำนึงถึงกฎหมายข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐและผลประโยชน์แห่งชาติ และในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการงานด้วยความโปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่กีดกันการแข่งขันทางการค้า ประกอบธุรกิจบนพื้นฐานของความเสมอภาค และเป็นธรรม และคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นสำคัญ

การอำนวยพื้นที่เพื่อจัดทำเป็นจุดส่งมอบสินค้าภายในท่าอากาศยาน ถือเป็นการส่งเสริมนโยบายของรัฐในเรื่องให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค (ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์) ประกอบกับผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง ผู้ขอเช่าใช้พื้นที่ส่งสินค้าผ่านจุดส่งมอบสินค้าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สนามบินนานาชาติของ ทอท. ทุกแห่ง ต้องเสียค่าเช่าและค่าธรรมเนียมให้กับ ทอท. ตามที่กำหนดในอัตราร้อยละของราคาสินค้าที่นำไปผ่านจุดส่งมอบสินค้าในแต่ละจุด ซึ่งจะทำให้ ทอท. มีรายได้จากค่าเช่าและค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยใช้พื้นที่จำนวนไม่มาก แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณารายได้ชุดดังกล่าว กลับมีมติไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการรายอื่นเช่าใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานดอกเมือง หรือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อใช้เป็นจุดส่งมอบสินค้า ทำให้ ทอท. ต้องขาดผลประโยชน์รายได้

ประเด็นที่ 5 เรื่องการไม่ติดตั้ง Point Of Sale: POS และเชื่อมต่อข้อมูลการซื้อขายระหว่าง ทอท. กับบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งกำหนดไว้เป็นสาระสำคัญในสัญญา ทั้งนี้ เพื่อใช้คิดส่วนแบ่งที่ ทอท. จะได้รับตามสัญญา ปรากฏว่า ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มสัญญาการเชื่อมต่อยังไม่ได้ดำเนินการ โดย ทอท. คิดส่วนแบ่งจากยอดรายได้จากข้อมูลของบริษัทฯ เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจจะทำให้ ทอท. ได้รับส่วนแบ่งไม่ครบถ้วนตามสัญญา โดยอาจจะได้รับเพียงขั้นต่ำหรือมากกว่านั้นบ้างตามแต่ข้อมูลของบริษัทฯ มีผู้รู้ประมาณการจากจำนวนนักท่องเที่ยว และข้อมูลค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าปลอดอากร และเมื่อเทียบเคียงกับงบการเงินของบริษัทฯ แล้ว ประมาณการได้ว่า ทอท. อาจขาดรายได้จากส่วนแบ่งเฉพาะร้านค้าปลอดอากรในสนามบินไปกว่า 20,000 ล้านบาท ตลอดสัญญาที่ดำเนินการมากว่า 9 ปี

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการไม่เรียกเก็บเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ จากบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ในส่วนที่เป็นการประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง (Down Town Duty Free) ซอยรางน้ำ ถนนกิ่งแก้ว และพัทยา ของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งได้เช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) อยู่ในพื้นที่ตามสัญญาบริหารจัดการเชิงพาณิชย์ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญา

เนื่องจากบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมือง โดยได้เช่าใช้พื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่อยู่ในส่วนพื้นที่ ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อจัดทำเป็นจุดส่งมอบสินค้าของบริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กำหนดให้ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ชำระค่าเช่าและผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทอท. 15% ของยอดรายได้ หรือตามจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้รับอนุญาตตกลงชำระให้ตามที่ระบุในสัญญาแล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

ปรากฏว่า นับแต่บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เช่าใช้พื้นที่ของ ทอท. เพื่อทำเป็นจุดส่งมอบสินค้า กลับไม่มีการบังคับเรียกเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ตามสัญญาบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่างถูกต้องครบถ้วน และภายหลังมีการทำสัญญา กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จ่ายจัดเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทน (ส่วนแบ่งรายได้) ในอัตรา 3% เท่านั้น ทำให้ ทอท. ขาดรายได้

ภายหลังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สปท. ได้ทำการศึกษากรณีดังกล่าวเสร็จ ก็ได้ส่งสรุปผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

    1. ควรปลดผู้อำนวยการ ทอท. คนปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหาย และควรปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ทอท. เพื่อให้ผู้บริหารชุดใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าบริหารงาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ ขณะเดียวกัน เพื่อการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ที่ถูกปกปิดมาโดยตลอดเวลา

    2. ควรทำการยกเลิกสัญญากับกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ฯ เพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ

    3. ควรบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลทั้งของ ทอท. กรมศุลกากร และกรมสรรพากร เพื่อ ทอท. จะได้รับส่วนแบ่งอย่างครบถ้วน รัฐโดยกรมสรรพากรจะได้มีข้อมูลที่จะเรียกเก็บภาษีอากรอย่างถูกต้องและเป็นธรรม ขณะเดียวกัน กรมศุลกากรจะได้ใช้ข้อมูล เพื่อควบคุมป้องกันการลักลอบจำหน่ายสินค้าหนีภาษี

    4. ควรพิจารณาศึกษากฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103/7 ซึ่งเป็นกฏหมายที่ป้องกันการทุจริตและเอื้อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เอกชน และการปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ราชการและรายได้ของรัฐ

    5. ควรกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการจัดเก็บรายได้ให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เปิดเผย เป็นธรรม ไม่ให้ขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สปท. จึงขอเสนอรายงาน กรณีศึกษาโครงการของรัฐที่เสียเปรียบภาคเอกชน เรื่อง “การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้เกิดคลังสินค้าทัฑณ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรให้แพร่หลายมากขึ้น” เพื่อให้ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป (ดูรายงานฉบับเต็มด้านล่าง)

[scribd id=347802625 key=key-o1a84IcR76FS7ikhLpYR mode=scroll]
ป้ายคำ :