ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้เสียหายจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอตั้งกองทุนเยียวยา ระบุแผนฟื้นฟูไม่ครอบคลุม-การบริหารไม่โปร่งใส

ผู้เสียหายจากสหกรณ์ฯ คลองจั่น ยื่นหนังสือถึงนายกฯ ขอตั้งกองทุนเยียวยา ระบุแผนฟื้นฟูไม่ครอบคลุม-การบริหารไม่โปร่งใส

26 พฤษภาคม 2017


รายงานโดย อรอนงค์ วงศ์สิงหะกุล นักศึกษาฝึกงาน สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน(ที่ 3 จากขวา) ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีต ส.ว. และ สปช. พร้อมกับกลุ่มประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2560 ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป อดีต ส.ว. และ สปช. พร้อมกับกลุ่มประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีให้ความยุติธรรมและความถูกต้องแก่ผู้เดือดร้อนจากการกระทำของหน่วยงานรัฐ โดยให้จัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหายจากการนำเงินไปฝากและฝากลงหุ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

นายไพบูลย์กล่าวว่า ได้รับการขอความช่วยหลือทางกฎหมายจำนวน 519 ฉบับจากกลุ่มประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการนำเงินไปฝากที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าศาลปกครองได้มีคำพิพากษาว่าความเสียหายของประชาชนเกิดจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งรัฐต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ประชาชน แต่ด้วยความพยายามจากหลายฝ่ายรวมทั้งจากหน่วยงานของรัฐช่วยเหลือบ่ายเบี่ยงปกปิดเวลาให้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่กระทำการทุจริตพ้นความผิด ทั้งกลับผลักดันให้สหกรณ์ฯ ซึ่งทุจริตเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฎหมายล้มละลาย เพื่อเป็นการอ้างว่าประชาชนผู้เสียหายจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามแผนฟื้นฟูกิจการแทน แต่ในความเป็นจริงประชาชนเดือดร้อนได้รับความเสียหายอย่างน้อย 5 ข้อ

1. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ผู้เสนอแผนฟื้นฟูกิจการได้ตัดเงินฝากประเภทลงหุ้นสหกรณ์ของประชาชนจำนวน 5,400 คน มูลค่ามากถึง 4,600 ล้านบาท ออกจากเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ทั้งที่เป็นเงินเสียหายของประชาชนโดยตรง แต่เจ้าหนี้นิติบุคคลอื่นกลับได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน แผนฟื้นฟูกิจการจึงเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้นิติบุคคลอื่นและกลุ่มบุคคลที่แอบแฝงได้รับผลประโยชน์ แต่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการเยียวยาประชาชนผู้ถูกหลอกให้ฝากเงินลงหุ้นสหกรณ์ฯ

2. แผนฟื้นฟูกิจการ กำหนดจ่ายคืนเฉพาะส่วนเงินฝากของประชาชนจำนวน 7,500 ล้านบาท โดยไม่ให้ดอกเบี้ย แต่ใช้เวลาผ่อนชำระเงินนานถึง 26 ปี โดยไม่มีหลักประกันรับรองว่าจะชำระเงินคืนได้ตามนั้น จึงทำให้ผู้ที่เดือดร้อนมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะไม่ได้รับเงินคืนในปีหลัง และเมื่อทอดเวลาออกไปจะเสียสิทธิในการเรียกร้องการเยียวยาโดยตรงจากรัฐ

3. การฟื้นฟูกิจการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทำให้มีค่าดำเนินการปีละหลายสิบล้านบาท และค่าใช้จ่ายให้สำนักงานทนายความในอัตราร้อยละ 3 ของมูลค่าทรัพย์สิน ทั้งที่ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นผลจากการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอันเป็นหน่วยงานของรัฐติดตามกลับคืนมาได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ได้จ่ายเงินให้กับสำนักงานทนายความไปจำนวนมากถึง 26 ล้านบาท

4. ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ที่มาของเงินรายได้จะมาจากการขายทรัพย์สินของสหกรณ์ฯ แต่กลับพบว่าสหกรณ์ฯ ได้มีการดำเนินการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์สินโดยไม่โปร่งใส ไม่มีการประกาศเปิดเผยต่อสาธารณะ ทำให้ได้ราคาต่ำกว่าราคาที่ควรได้ เป็นผลให้ประชาชนเสียประโยชน์ และที่น่าเป็นห่วงคือ ในสหกรณ์ฯ อาจยังมีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบบนความเดือดร้อนของประชาชน

5. แผนฟื้นฟูกิจการทำให้หน่วยงานของรัฐเข้าใจผิดว่าประชาชนที่เป็นผู้เสียหายได้รับการเยียวยาตามกฎหมายอื่นแล้ว ทั้งที่แท้จริงแล้วไม่เป็นความจริง ล่าสุดประชาชนผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอรับการเยียวยาโดยตรงต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แต่กลับถูกปฏิเสธจากคณะกรรมการธุรกรรมฯ ไม่ให้ได้รับการเยียวยาจากทรัพย์สินที่ ปปง. ยึดหรืออายัดไว้โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่ผู้เสียหายแล้ว

ขณะนี้ผลปรากฎว่าหน่วยงานของรัฐกลับไม่รับผิดชอบ และบิดเบือนข้อมูลของรัฐบาล อีกทั้งที่ว่าผู้เดือดร้อนได้รับการเยียวยาจากแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ แล้ว จึงได้มายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้เดือดร้อน ให้พิจารณาจัดตั้ง “กองทุนเยียวยาประชาชนผู้เสียหายจากการฝากเงินและฝากลงหุ้นกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด” ขึ้น โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 เพื่อรับโอนสิทธิเรียกร้องความเสียหายของประชาชนจำนวน 5,400 คน รวมเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 12,000 ล้านบาท ให้แก่กองทุนเยียวยาฯ ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อกองทุนฯ จะได้ดำเนินการติดตามเงินหรือทรัพย์สินคืนจากบุคคลหรือนิติบุคคลที่กระทำความผิดเกี่ยวข้องกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแทนประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคาดว่าด้วยวิธีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจะดำเนินการติดตามเงินและทรัพย์สินคืนกองทุนเยียวยาฯ ได้ครบ ส่วนการเยียวยาค่าเสียหายคืนให้แก่ประชาชนนั้น ขอให้รัฐให้การสนับสนุนกองทุนฯ เพื่อทดลองจ่ายเงินให้แก่ประชาชนก่อนด้วยเงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาลตามที่เห็นเหมาะสม

นายไพบูลย์ย้ำอีกว่า การจัดตั้งกองทุนครั้งนี้รัฐไม่ต้องไปเยียวยาแบบประชานิยม คือ การให้ไปทางเดียว แต่อันนี้เป็นการให้กองทุนไปดำเนินการ สามารถติดตามเงินทรัพย์สินกลับคืนมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ต้องเสียเงินงบประมาณแผ่นดินออกไป และแถมอาจจะได้ส่วนเกินตามมาด้วย ซึ่งถ้าเรื่องของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นยังไม่มีการเยียวยาใดๆ เกิดขึ้นจากรัฐบาล จะทำให้เกิดการถอนเงินทั้งแผ่นดินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั้งแผ่นดิน เพราะไม่เชื่อถือว่ารัฐให้การคุ้มครองเยียวยาแก่ประชาชนที่เดือดร้อนอย่างแท้จริง ทั้งที่เป็นความผิดจากหน่วยงานรัฐ จึงทำให้เสียความศรัทธาเกิดขึ้น แต่ถ้าหากมีการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินทั้งประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเดือนธันวาคม2559 นายประกิต พิลังกาสา ประธานกรรมการบริหารลูกหนี้/ผู้ทำแผน สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในขณะนั้นได้ชี้แจงฐานะการเงินและแผนฟื้นฟูกิจการว่า ตามแผนฟื้นฟูมีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ทั้งสิ้น 18,827 ราย เป็นเงิน 17,556 ล้านบาท และมีทุนเรือนหุ้นอีก 4,460 ล้านบาท

ตามแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่นได้แบ่งกลุ่มเจ้าหนี้ออกเป็น 12 กลุ่ม มีแผนการชำระหนี้คืนเงินต้นทั้งหมดในเวลา 26 ปี สาเหตุที่ต้องใช้เวลานานเนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่นำเงินออมมาฝาก ใช้เงินส่วนนี้เพื่อยังชีพ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่เป็นสหกรณ์อื่นๆ ที่มาฝากเงิน ซึ่งสหกรณ์เหล่านี้ก็มีสมาชิกของเขาที่มาฝากเงินเช่นกัน ดังนั้น หากจะตัด/ลดหนี้ ก็ไม่สามารถทำได้ จึงคงหนี้ในส่วนที่เป็นเงินฝากหรือเงินต้นทั้งหมดไว้ แต่สามารถลดหนี้ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ย ซึ่งเจ้าหนี้ยอมที่จะตัดในส่วนดอกเบี้ยออกไป ขณะที่ในส่วนทุนเรือนหุ้นที่สมาชิกใส่เป็นทุน ถือว่ามีส่วนเป็นเจ้าของ ในส่วนนี้ไม่สามารถคืนได้ และก็ไม่ได้ลดทุนหรือแปลงหนี้เป็นทุนได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ระยะเวลาในการชำระหนี้คืนต้องใช้เวลานาน

“จากเจ้าหนี้ 18,827 ราย มีเจ้าหนี้กลุ่มใหญ่ๆ ที่เป็นสหกรณ์อื่นๆ ที่มาฝากเงิน รวมทั้งเงินกู้ของสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ รวมเป็นหนี้ทั้งหมด 9,371 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของหนี้ทั้งหมด และเจ้าหนี้ที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 8,179 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 37%”

นายประกิตกล่าวต่อว่า ก่อนที่ศาลล้มละลายกลางจะมีคำพิพากษาให้ฟื้นฟูกิจการได้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 นั้น ฐานะทางการเงินของสหกรณ์ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการมีทรัพย์สินเหลืออยู่ 4,335 ล้านบาท ลดลงจากเดิมที่มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่กว่า 20,000 กว่าล้านบาท มีหนี้สิน 17,960 ล้านบาท ทุนติดลบ 13,621 ล้านบาท ทำให้สหกรณ์ต้องฟื้นสภาพฐานะการเงินขึ้นมาใหม่ทั้งทรัพย์สินต้องเพิ่มขึ้น หนี้สินต้องลดลง ทุนจะต้องเพิ่มขึ้น