ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมศุลฯ แจงจับ 2 สาว ลักลอบนำเข้านาฬิกาคาข้อมือ รวมมูลค่า 1.3 ล้าน ด่านสุวรรณภูมิเผยปี 59 ยึดแบรนด์เนม 136 ล้าน

กรมศุลฯ แจงจับ 2 สาว ลักลอบนำเข้านาฬิกาคาข้อมือ รวมมูลค่า 1.3 ล้าน ด่านสุวรรณภูมิเผยปี 59 ยึดแบรนด์เนม 136 ล้าน

17 พฤษภาคม 2017


วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.00 น. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร (ซ้าย) และนายบุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ขวา) ชี้แจง “แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ” ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร

ต่อกรณีที่มีกระแสข่าวเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียว่า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจับกุมผู้โดยสารหญิง 2 ราย สวมใส่นาฬิกาข้อมือคนละเรือน ยี่ห้อ Patek Philippe และ Audemars Piguet รวมมูลค่า 1,320,000 บาท เดินผ่านช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง (ช่องเขียว) ทางออก B ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความผิดฐาน นำหรือพาของที่ยังไม่ได้ชำระค่าภาษีอากร หรือของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง เข้ามาในราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ประกอบมาตรา 16, 17 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 นั้น

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 เวลา 14.00 น. นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร และนายบุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แถลงข่าวชี้แจงถึง “แนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรในการตรวจกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติ” ณ ศูนย์แถลงข่าวกรมศุลกากร ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร

นายชัยยุทธกล่าวว่า สืบเนื่องจากมีประชาชนที่เดินทางไปต่างประเทศ และขณะเดินทางกลับเข้ามาประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขอตรวจกระเป๋าสัมภาระที่นำติดตัวเข้ามาและถูกดำเนินคดีทางศุลกากรนั้น อาจมีข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีแนวทางหรือวิธีการในการตรวจกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารอย่างไร กรมศุลกากรขออธิบายขั้นตอนและวิธีการในการเลือกตรวจกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ดังนี้

หลักการตรวจผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลกขององค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) กล่าวคือ

1. ใช้หลักเกณฑ์การบริหารความเสี่ยง (Risk Management) โดยการตรวจสอบข้อมูลผู้โดยสารก่อนเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย

2. การสังเกตพฤติกรรมของผู้โดยสาร และลักษณะกระเป๋าสัมภาระเดินทาง

3. งานสืบสวนและงานการข่าว

“การตรวจกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะใช้วิธีการสุ่มตรวจ ตรวจทุกรายไม่ได้ เพราะแต่ละวันจะมีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศกว่า 1 แสนราย ตามระเบียบของกรมศุลกากรอนุโลมให้ผู้โดยสารนำของใช้ติดตัวมาได้ไม่เกิน 20,000 บาท เช่น กระเป๋า รองเท้า นาฬิกา เสื้อผ้า ส่วนบุหรี่ไม่เกิน 1 คาร์ตอน สุราไม่เกิน 1 ลิตร หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบว่านำติดตัวเข้ามาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอาจถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะกลุ่มที่นำเข้ามาเพื่อขาย ยกตัวอย่าง ซื้อเข่งใส่ติ่มซำหลายใบ มูลค่ารวมกันไม่ถึง 20,000 บาท กรณีนี้ถือว่าไม่ใช่ของใช้ส่วนตัว แต่เป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ก็ไม่อยู่ในข่ายได้รับยกเว้นภาษี” นายชัยยุทธกล่าว

สำหรับกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวการจับกุมนาฬิกาจำนวน 2 เรือน โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร สำนักงานศุลกากร ตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ จนเกิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ศุลกากร จึงจับกุมผู้โดยสารที่นำนาฬิกาติดตัวเข้ามาโดยใส่ไว้บนข้อมือของตนเอง และนำมาซึ่งความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น

นาฬิกาที่ถูกยึดเป็นของกลาง

นายบุญเทียม โชควิวัฒน ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ชี้แจงว่า คดีดังกล่าวเป็นการจับกุมผู้โดยสารหญิง สัญชาติไทย จำนวน 2 ราย (ขอสงวนชื่อ) ซึ่งเดินทางมาจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 โดยสายการบินฮ่องกงแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ HX769 มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลาประมาณ 02.35 น. ทั้งนี้ จากงานการข่าวแจ้งว่าจะมีผู้โดยสารลักลอบนำนาฬิกามูลค่าสูงเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศ โดยได้ส่งกล่องนาฬิกาเข้ามาทางไปรษณีย์ก่อนหน้านี้แล้ว และเมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ผู้โดยสารได้ลักลอบนำนาฬิกาเข้าประเทศด้วยวิธีใส่บนข้อมือ เพื่ออำพรางเจ้าหน้าที่ และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าเป็นนาฬิกายี่ห้อ Audemars Piguet และ Patek Philippe ซึ่งเป็นของใหม่และยังไม่ได้มีการใช้งานแต่อย่างใด โดยผู้โดยสารทั้งสองรายยอมรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริง เจ้าหน้าที่จึงได้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายศุลกากรต่อไป

ทั้งนี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ได้สั่งกำชับทุกหน่วยงานให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสและสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายโดยสุจริต ตลอดจนเป็นการปกป้องค่าภาษีอากรอันเป็นรายได้ของประเทศ อนึ่ง สถิติการจับกุมการลักลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนม ประเภทนาฬิกา กระเป๋า และรองเท้าของสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 58 – ก.ย. 59) สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 203 คดี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 136 ล้านบาท และปีงบประมาณ 2560 (ต.ค. 59 – เม.ย. 60) สามารถจับกุมได้ทั้งสิ้น 136 คดี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 97.2 ล้านบาท