ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. เตือนธุรกิจรับโลกผันผวน ชี้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแค่ 34%

ธปท. เตือนธุรกิจรับโลกผันผวน ชี้ผู้ประกอบการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนแค่ 34%

19 เมษายน 2017


ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2560 ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน “ผู้ว่าพบสื่ออย่างไม่เป็นทางการ” เล่าถึงการเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ครั้งที่ 3 (3rd ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Joint Meeting: 3rd AFMGM) ว่าที่ประชุมเห็นความสำคัญของการต้องรวมตัวกันในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้น

ประกอบกับการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้ามากขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ยิ่งทำให้ประเทศในกลุ่มต้องเร่งทำเรื่องความร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสร้างภูมิคุ้มกันที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน อีกด้านหนึ่งที่ที่ประชุมเห็นร่วมกันคือ เรื่องการปกป้องระบบการค้าเสรีในระบบตลาดโลก รวมไปถึงองค์กรทางการเงินระหว่างประเทศที่สำคัญต้องมีหน้าที่คุ้มครองระบบการค้าเสรีด้วยเช่นกัน เพื่อให้การเจรจาการค้าแบบพหุภาคีดำเนินการต่อไปได้และเป็นเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ชัดเจน

ขณะที่ประเด็นค่าเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภูมิภาคอาเซียนในช่วงที่ผ่านมา ดร.วิรไทกล่าวว่า บางประเทศแสดงความเป็นห่วง เนื่องจากค่าเงินผันผวนมากขึ้นและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีลักษณะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้น

“เรื่องค่าเงินจะเห็นว่ามาจากปัจจัยต่างประเทศ ไม่ได้เป็นเรื่องภายในของแต่ละประเทศที่ทำให้เกิดความผันผวนรุนแรงและสร้างความผิดปกติในบางจังหวะช่วงเวลา รวมไปถึงประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของหลายประเทศ เป็นสิ่งที่ ธปท. แสดงความเป็นห่วงและโยงไปถึงเรื่องของการป้องกันความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ซึ่ง ธปท. มองว่าเป็นเรื่องสำคัญในภาวะที่โลกมีความผันผวนสูงขึ้น และที่สะท้อนออกมาในค่าเงิน แต่ในช่วงที่ผ่านมาต้องบอกว่าไทยค่อนข้างโชคดีเพราะค่าเงินบาทไม่ได้ผันผวนรุนแรงเท่า และทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนชะล่าใจไปบ้าง” ดร.วิรไทกล่าว

รายย่อยหนักสุด ป้องกันเพียง 28% – แจง ธปท. พร้อมดูแล “ความผิดปกติ”

นายสุโชติ เปี่ยมชล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท.

นายสุโชติ เปี่ยมชล รองผู้อำนวยการ ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวถึงข้อมูลระดับการป้องกันความเสี่ยง หรือ hedge level ของผู้ส่งออกในปี 2558 พบว่าโดยรวมมีเพียง 34% เท่านั้นที่มีการป้องกันความเสี่ยง โดยมีผู้ประกอบการที่ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด (fully hedge) เพียง 4% เท่านั้น และหากแยกตามขนาดพบว่าผู้ประกอบการรายเล็กมีเพียง 28% ที่ป้องกันความเสี่ยง โดยมีเพียง 5% ที่ป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยง 50% และป้องกันความเสี่ยงทั้งหมด 4%

ทั้งนี้ หากดูความถี่ของการป้องกันความเสี่ยงจากสัญญาล่วงหน้า (forward) พบว่าผู้ประกอบการขนาดเล็กมีเพียง 9% เท่านั้นที่ทำบ่อย หรือทำมากกว่า 6 เดือนในระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีเพียง 26% เท่านั้นที่ทำบ่อย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการขนาดใหญ่หลายแห่งที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยง ส่วนหนึ่งมาจากมีลักษณะธุรกิจที่ป้องกันความเสี่ยงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว คือมีทั้งการนำเข้าและส่งออก

“คำอธิบายของปรากฏการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ประกอบการไม่น้อยที่จะเก็งกำไรจากค่าเงินและเลือกที่จะไม่ทำแม้ว่าทำได้ แต่จะเร่งป้องกันความเสี่ยงเมื่อค่าเงินผันผวนเริ่มขึ้นมาก ซึ่งกลับกลายเป็นยิ่งกดดันให้ให้ค่าเงินขยับไปในทิศทางที่ขาดทุนมากขึ้นไปอีกและซ้ำเติมผลกระทบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันระบบการเงินไทยก็มีเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่เลือกใช้ได้ในการชำระเงินค่าสินค้าส่งออก ได้แก่ การทำสัญญาล่วงหน้า การทำสัญญาชำระเงินกันเป็นสกุลเงินบาท หรือการเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ หรือ Foreign Currency Account: FCD ซึ่งแนวโน้มช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่โดยรวมยังมีผู้ประกอบการที่ไม่ได้ใช้เครื่องมือการชำระเงินต่างๆ สูงถึง 55.3% ในปี 2559” นายสุโชติกล่าว

ดร.วิรไทกล่าวเสริมว่า แม้ว่าบทบาทของ ธปท. จะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของประเทศในภาพรวม ซึ่งหากมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ เฟด ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินดอลลาร์สหรัฐควรจะแข็งค่าขึ้น แต่กลับอ่อนค่าลงเนื่องจากปัจจัยอื่นๆ มากระทบ ธปท. อาจจะต้องเข้ามาดูแลความผิดปกติ ดังนั้น ธปท. จึงมองว่าเอกชนไม่ควรจะชะล่าใจกับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ดร.วิรไทยังกล่าวถึงมาตรการลดการขายพันธบัตรของเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า เป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดว่า ธปท. ไม่เห็นด้วยและไม่ต้อนรับเงินทุนที่ไหลเข้ามาพักในประเทศไทยระยะสั้นๆ ส่วนผลของมาตรการดังกล่าวคงไม่สามารถระบุได้ชัดเจน และบางโจทย์ของ ธปท. อาจจะไม่ใช่ว่าทำแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ถ้าไม่ทำจะเกิดอะไรขึ้นมากกว่า