ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนรู้ “ปัญญาเพื่อชีวิต”

เรียนรู้ “ปัญญาเพื่อชีวิต”

5 เมษายน 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ชีวิตนั้นเปราะบางมากจนแม้แต่ความผิดพลาดเพียงบางเรื่องในวัยก่อนกลางคนก็สามารถทำลายได้ทั้งชีวิต ดังนั้น การเรียนรู้ข้อผิดพลาดจากประสบการณ์ของตนเองเพื่อการมีปัญญาในอนาคตจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก การเรียนรู้ชีวิตจากปัญญาของผู้อื่นโดยเฉพาะจากผู้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนจึงเป็นวิธีการที่ฉลาด กล่าวคือได้รู้บทเรียนโดยไม่ต้องเจ็บตัว

ผู้เขียนเก็บสะสม “ปัญญาเพื่อชีวิต” ไว้มากพอสมควรจากหลายแหล่งโดยเฉพาะจากอินเทอร์เน็ต ในครั้งนี้ขอนำมาสื่อสารต่อ ชุดแรกไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของ เนื้อหาน่าสนใจและมีค่าอย่างน่าใคร่ครวญ ข้อความมีดังนี้

คนที่ปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความโกรธ ต่อให้นอนบนเตียงราคาแพงลิบลิ่ว ปูด้วยพรมขนสัตว์ที่มีลวดลายบุปผชาติประดับไปทั้งผืน ก็ไม่อาจทำให้หลับตาลงอย่างเป็นสุขได้เลยตลอดรัตติกาลอันยาวนาน

อยู่คนเดียวจงระวังความคิด อยู่กับมิตรจงระวังวาจา อยู่กับมารดาบิดาจงระวังการปฏิบัติตน ถ้าคิดไม่ระวังจะกลายเป็นคิดฟุ้งซ่าน ถ้าพูดไม่ระวังมิตรจะเข้าใจผิด ถ้าปฏิบัติไม่ดีต่อมารดาบิดาจะเป็นการสร้างบาปให้ตนเอง

อย่าแค่สอนให้ลูกอยาก “รวย” แต่สอนให้เข้าใจ “ความสุข” เพราะเมื่อลูกคุณโตขึ้น เขาจะได้รู้ “คุณค่า” ของสิ่งของ ไม่ใช่รู้แค่ “ราคา” ของมันเท่านั้น

ผู้คนคิดว่าการอยู่คนเดียวทำให้เราเหงา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอก การถูกห้อมล้อมไปด้วยคนที่ “ไม่ใช่” ต่างหาก คือสิ่งที่เหงาที่สุดในโลก

คนฉลาดไม่ได้คบคนที่สวยที่สุดในโลก แต่คบคนที่คบแล้วโลกสวยที่สุด

ฟ้ามิได้แบ่ง “ยอดคน” กับ “คนธรรมดา” ออกจากกัน ยอดคนจะปรากฏขึ้นเสมอ แต่นั่นมิใช่เพราะ “ฟ้ากำหนด” การที่ “ยอดคน” ปรากฏขึ้นได้เพราะเขาผ่านการ “ฝึกฝน” และ “เรียนรู้” ที่จะเป็นยอดคน

“อัจฉริยะ” ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิดคนเก่งได้นั้นต้องได้รับการฝึกฝน ม้าดีต้องมีคนขี่ม้ามาฝึกฝน นักกีฬาที่ดีต้องมีโค้ชที่ดีมาฝึกฝน

ไม่สำคัญว่าเราเป็นใคร สำคัญที่ว่าวันนี้และวันหน้าเราต้องการเป็นใคร…อย่าเอาอดีตของตัวเองมาตัดสินอนาคตของตัวเอง

จงเห็นคุณค่าในตัวเอง เคารพนับถือในความสามารถที่มีอยู่ของตัวเอง หากเราไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนาตัวเองแล้ว ตัวเราเองจะกลายเป็นผู้สำเร็จและยิ่งใหญ่ได้ จงยกย่องและให้เกียรติตัวเอง

สมองของคนเราเหมือนพื้นดินที่ว่างเปล่า เมื่อเราปลูกอะไรลงไปเราก็จะได้ผลเป็นอย่างนั้น จงปลูกฝังแต่สิ่งดีๆ ลงไปในสมอง คำพูดใดๆ ที่เราเคยได้ยินซ้ำๆ หรือการกระทำสิ่งใดซ้ำๆ ติดต่อกันเกิน 49 วัน มันจะกลายเป็น “นิสัย” ของเรา จงคุยกับตัวเองแต่เรื่องดีๆ ทุกๆ วัน มันคือเคล็ดลับของทุกความสำเร็จบนโลก

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลกคือ “สิ่งแวดล้อม” อย่าปล่อยให้ความคิดหรือคำพูดราคาถูกของคนบางคนมากำหนดชีวิตของเรา

ในโลกนี้ไม่มีใครมีอิทธิพลกับตัวเรานอกจากตัวเราเอง อย่าตกเป็นเหยื่อคำพูดของใครที่พูดไปอย่างไม่ได้คิด

ชีวิตไม่ใช่เกมกีฬา ไม่มีเวลาพักครึ่ง ไม่มีการขอเวลานอก และที่สำคัญคือ “เปลี่ยนตัวผู้เล่นไม่ได้” ไม่มีใครเกิดมา “ล้มเหลว” ถ้าไม่ “ล้มเลิก”

คนฉลาด…ต้องโง่เป็น คนโง่ไม่เป็น…จะไม่มีทางฉลาด

เพียงคุณคิดว่าคุณทำได้ คุณก็ทำได้ตั้งแต่คุณคิด แต่หากคุณคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณก็ทำไม่ได้ตั้งแต่ที่คุณคิด

สิ่งเลวร้ายที่สุดของมนุษย์คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ “ทางจิต” ที่ตอกย้ำตัวเองว่า…ทำไม่ได้

แม้แต่ “คิด” ยังไม่กล้าที่จะคิด แล้วชีวิตจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร?

จงกล้าที่จะเผชิญความล้มเหลวเพราะมันคือครูที่ดีที่สุดที่เข้ามาเพื่อทดสอบตัวเรา ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต สิ่งที่คุณจะต้องเจอคือ “ความล้มเหลว” อย่ากลัวความล้มเหลวเพราะมันมากับความสำเร็จคุณเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ อยากสำเร็จไวจงรีบออกไปพบความล้มเหลวให้ไวๆ เราจะได้พบกับความสำเร็จไวๆ เช่นกัน

ทำไมมนุษย์เหมือนกันจึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะมนุษย์แต่ละคนได้รับโอกาสทางความคิดที่แตกต่างกัน การลงมือทำตามความคิดจึงแตกต่างกัน

คนสำเร็จมองปัญหาเป็นโอกาส คนล้มเหลวมองโอกาสเป็นปัญหา

คนสำเร็จจะปรับตัวเองไปหาโลกภายนอก คนล้มเหลวจะให้โลกภายนอกปรับเข้าหาตัวเอง

ผู้นำที่ประสบความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ในโลกนี้ กว่า 85% ทั่วโลกล้วนแล้วแต่มิใช่คนเก่ง แต่เขาเหล่านั้นล้วนเป็นคนดีทั้งสิ้น

คนเก่งมักจะมี “อัตตา” จะไม่ยอมปรับตัวเข้าหาโลก ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น

ไม่ยอมรับการพัฒนา คนปฏิเสธการพัฒนาคือคนโง่ คนปฏิเสธความรู้ และสิ่งใหม่ๆ เป็นผู้นำคนไม่ได้

คนเก่งนั้นใช้เวลา 2-3 ปี ก็สอนให้เก่งได้ แต่คนดีต้องใช้เวลา “ชั่วชีวิต” ในการพากเพียร คนเก่งอาจหาได้ง่ายๆ แต่คนดีสิหายากจริงๆ

คนเก่งถ้าขาดความจงรักภักดี ไม่มีความกตัญญู ก็เป็นได้แค่เก่ง แต่คนดีดูได้จากความกตัญญูรู้คุณ

“ความรู้” เป็นเพียง “พลังอำนาจแฝง” ชนิดหนึ่งเท่านั้น “ความรู้” จะกลายเป็น “พลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่” ได้ก็ต่อเมื่อมันถูกนำไปใช้อย่างชาญฉลาด

ฟัง…แต่…ไม่ได้ยิน ได้ยิน…แต่…ไม่เข้าใจ เข้าใจ…แต่…ไม่ลึกซึ้ง ลึกซึ้ง…แต่… ไม่แตกฉาน แตกฉาน…แต่ไม่นำไปใช้…ไม่ลงมือทำก็ไม่เกิดประโยชน์และเกิดผลลัพธ์

จงนำศักยภาพและอัจฉริยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวเรามาใช้อย่างชาญฉลาดเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว เพื่อสังคม และเพื่อประเทศชาติ…

ชิ้นสุดท้ายเป็นของสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ท่านทรงกล่าวว่า “คนที่เกิดมามีแต่คนคอยช่วยเหลือถือว่าเป็นคนมีบุญ แต่คนที่เกิดมาแล้วได้ช่วยเหลือคนอื่นเป็นคนที่มีบุญมากกว่า”

“ปัญญาเพื่อชีวิต” จะมีประโยชน์จริงก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้กับชีวิตเท่านั้น หากเพียงแต่ผ่านหู และคิดว่าน่าสนใจอย่างขาดการใคร่ครวญและปฏิบัติก็เปรียบเสมือนเป็นขยะหู และมูลฝอยสมอง

หมายเหตุ: คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 มี.ค. 2560