ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > โลกหลังกำแพง ผู้ต้องขังหญิง มายาคติ ไทยติดอันดับ 4 ของโลก เหตุยาเสพติดรายย่อย

โลกหลังกำแพง ผู้ต้องขังหญิง มายาคติ ไทยติดอันดับ 4 ของโลก เหตุยาเสพติดรายย่อย

29 เมษายน 2017


ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (ทีไอเจ) จัดเสวนา เรื่อง “ผู้ต้องขังหญิง มายาคติ และโลกหลังกำแพง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development: RoLD) เผยผู้ต้องขังหญิงไทยมีมากเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกรณีผู้ค้ารายย่อยมากที่สุด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความแออัดในที่คุมขัง อีกทั้งผู้ต้องขังยังขาดทักษะทางอาชีพ รวมถึงเมื่อพ้นโทษแล้วสังคมก็ยังไม่ยอมรับ ทำให้ต้องปิดบังประวัติของตัวเอง ทางทีไอเจพยายามผลักดันให้ราชทัณฑ์ปฎิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ (The Bangkok Rules) ซึ่งเป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ดีในการแก้ไข ฟื้นฟู และพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับกลับคืนสู่โลกภายนอก(อ่านเพิ่มเติม)

ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์และที่ปรึกษาพิเศษทีไอเจ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ต้องขังหญิงมากเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย โดยสาเหตุหลักคือคดียาเสพติด ซึ่งมีมากประมาณร้อยละ 85-90 ของจำนวนนักโทษหญิงทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อย โดยผู้หญิงกลุ่มนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดเพราะมีปัญหาทางเศรษฐกิจหรือภาระทางครอบครัวที่บีบบังคับให้ต้องทำงานดังกล่าว เช่น ครอบครัวแตกแยกทำให้ต้องทำหน้าที่หัวหน้าครอบครัว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทางราชทัณฑ์ก็พยายามยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้กับนักโทษ เสมือนเป็น “บ้านเปลี่ยนชีวิต” เพื่อเตรียมพร้อมให้นักโทษสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยหลุดพ้นวงจรของยาเสพติดหรือการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ โดยนักโทษทุกคนจะได้ความรู้พื้นฐานจาก โครงการฝึกอาชีพ โครงการด้านการศึกษา และโครงการด้านธรรมะ เพื่อให้นักโทษทุกคนมีอาชีพติดตัว มีวุฒิการศึกษา และฝึกจิตใจให้สงบ สำหรับนักโทษบางกลุ่มจะได้รับการบำบัดในโครงการพิเศษด้วย เช่น โครงการชุมชนบำบัดสำหรับนักโทษที่เสพและค้ายาเสพติด โครงการสัมมาอาชีพเพื่อฝึกอาชีพและสร้างจิตสำนึกการเคารพสิทธิผู้อื่นสำหรับนักโทษคดีลักทรัพย์ ฯลฯ

ดร.นัทธีกล่าวต่อว่า นักโทษแม้จะพ้นโทษแล้วก็ยังมีปัญหาในการใช้ชีวิตในโลกภายนอกจาก 2 สาเหตุ คือ 1. กลัวคนอื่นรังเกียจว่าเป็นคนขี้คุก ทำให้ต้องพยายามปิดบังตัวเอง การหางานทำใหม่จะไม่ให้ทางราชทัณฑ์ช่วย เพราะคิดว่าเป็นการประจานว่าเคยติดคุก จึงพยายามหางานด้วยตัวเอง และ 2. สังคมไม่ยอมรับ โดยผู้ประกอบการเกือบทุกแห่งไม่รับคนที่มีประวัติติดคุกเข้าทำงาน ดังนั้น นักโทษที่พ้นโทษแล้วจึงทำงานอิสระ หรือไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการมากกว่า ซึ่งทางราชทัณฑ์เองก็มีโครงการส่งเสริมธุรกิจ SMEs เช่น ร่วมมือกับชายสี่หมี่เกี๊ยวให้มาสอนแฟรนไชส์ให้ในเรือนจำ และประสานงานกับธนาคารออมสินในการกู้ยืมเพื่อลงทุนธุรกิจ

“ในอนาคตจะพยายามปรับระบบการคุมขังนักโทษหญิงทั่วประเทศกว่า 80 แห่งให้สอดคล้องกับข้อกำหนดกรุงเทพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง ซึ่งที่ผ่านมามีทัณฑสถานหญิงหรือเรือนจำที่เข้าร่วมข้อกำหนดกรุงเทพแล้ว 6 แห่ง และปีนี้จะเริ่มทำอีก 8 แห่ง เช่น ทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา เรือนจำกลางกำแพงเพชร เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ฯลฯ” ดร.นัทธีกล่าว

นางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด

ด้านนางสาวชลธิช ชื่นอุระ หัวหน้ากลุ่มโครงการส่งเสริมการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ทีไอเจ กล่าวว่า ทีไอเจสนับสนุนการดำเนินงานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศ รวมทั้งผลักดันนโยบายอาญาระหว่างประเทศ และเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทยในระดับระหว่างประเทศและในเวทีสหประชาชาติ เช่น โครงการเรือนจำต้นแบบ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงตามข้อกำหนดกรุงเทพ จากความร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ในการส่งเสริมการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงให้สอดคล้องตามข้อกำหนดกรุงเทพ ผ่านการพัฒนาเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อสร้างมาตรฐานการดำเนินงานให้เป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ และในปี 2560-2562 มีแนวคิดที่จะขยายการพัฒนาเรือนจำต้นแบบตามข้อกำหนดกรุงเทพให้เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการศูนย์กลางการเรียนรู้ของเรือนจำและทัณฑสถานในการปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพ และใช้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานในหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาเซียน เพื่อให้เกิดแบบอย่างของการเรียนรู้ด้านการอนุวัติข้อกำหนดกรุงเทพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในระดับระหว่างประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรฝึกอบรมว่าด้วยการบริหารจัดการผู้ต้องขังหญิง สำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์อาเซียน สำหรับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับอาวุโส ในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้คำแนะนำและความรู้ในแนวทางการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปรับใช้ในทางปฏิบัติ โดยผ่านการสนับสนุนให้ผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมออกแบบแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ในการวางโครงสร้างสำหรับการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติ รวมถึงกฎเกณฑ์และมาตรฐานสากลอื่นๆ ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ช่วยกันระบุและแบ่งปันปัญหา ข้อท้าทาย รวมถึงแนวปฏิบัติที่ดีในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงระหว่างกัน รวมทั้งช่วยเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ระดับอาวุโสในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย

งานเสวนา “ผู้ต้องขังหญิง มายาคติ และโลกหลังกำแพง” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2560

ข้อกำหนดกรุงเทพ:The Bangkok Rules

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีความสนพระทัยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงและเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยเมื่อครั้งที่เสด็จเยี่ยมชมและประทานสิ่งของแก่ผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ณ ทัฑสถานหญิงกลาง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ทรงได้สัมผัสกับชีวิตของผู้ต้องขังที่ขาดโอกาส จึงเกิดเป็นแรงบันดาลพระทัยในการให้ความช่วยเหลือประชากรกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ และริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง

หนึ่งนั้นคือ โครงการ Enhancing Lives of Female Inmate (ELFI) หรือ โครงการจัดทำข้อเสนอในนามประเทศไทยเพื่อผลักดันให้เป็นข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ เป็นโครงการระดับนานาชาติ สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ค.ศ. 1955 (UN Standards Minimum Rules for the Treatment of Prisoners หรือ SMR) รวมไปถึงข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยไม่ใช้เรือนจำ (the Standard Minimum Rules for Non-custodial Measures – the Tokyo Rules) เพื่อใช้ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำและนอกเรือนจำของประเทศต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เคารพซึ่งสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

กระทั่งในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 65 (65th United Nations General Assembly- UNGA) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2553 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบ “ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ และมาตรการที่ไม่ใช้การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง (United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures of Women Offenders)” และเพื่อให้เกียรติประเทศไทยในฐานะผู้ผลักดันจึงกำหนดชื่อเรียกย่อของข้อกำหนดนี้ว่า “ข้อกำหนดกรุงเทพ” หรือ the “Bangkok Rules”

ต่อมาจึงมีการประกาศ “พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554” ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 โดยมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการ 5 ประการ ได้แก่

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการอนุวัติข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือ “Bangkok Rules” เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมแก่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

2. ศึกษา วิจัย และเผยแพร่มาตรฐานและบรรทัดฐานของสหประชาชาติเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดและการช่วยเหลือผู้กระทำผิด หลังพ้นโทษให้กลับคืนสู่สังคม เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยและต่างประเทศ

3. ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านหลักนิติธรรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอันจะนำไปสู่สังคมแห่งความยุติธรรม

4. เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศระดับนานาชาติด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในด้านการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดโดยจะเน้นความร่วมมือกับสหประชาชาติสถาบันสมทบ (Programme Network Institute) และความร่วมมือในกรอบอาเซียน

5. ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของกระบวนการยุติธรรมของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางด้านกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ