ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > SET SD Forum (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มตลาดทุน และความเสี่ยงของธุรกิจ

SET SD Forum (1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มตลาดทุน และความเสี่ยงของธุรกิจ

4 เมษายน 2017


SET SD Forum 1/2017: Climate Change: Key trend in Capital Market Risks and Opportunities เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า  จัดงานสัมมนา SET SD Forum 1/2017: Climate Change: Key trend in Capital Market Risks and Opportunities  ขึ้นที่อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 400 คน งานสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นการจุดประกายเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อองค์กรธุรกิจในตลาดทุน ตลอดจนแนวโน้มในระดับโลกที่จะเป็น ทั้งความเสี่ยงและโอกาสของภาคธุรกิจ ที่เกิดจากการข้อตกลงระหว่างประเทศ มาตรฐานในการดำเนินธุรกิจ และการเปิดเผยข้อมูลคาร์บอน ซึ่งธุรกิจจะต้องปรับตัวและเตรียมรับมือในอนาคต

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันนี้องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับ climate action ในการดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกด้วย ซึ่งประเทศไทยได้เข้าไปประกาศที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนลงประมาณ 20-25% ในปี 2573 ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21

นอกจากนี้ ในประเทศไทยเองมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (ปี 2560-2564) ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศ โดยกำหนดเรื่องของการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน มุ่งส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเน้นย้ำการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นั่นคือ ประเทศไทยได้ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ส่งผลต่อการบริหารจัดการของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ของประเทศ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ประมาณ 660 บริษัท ซึ่งทำในเรื่องของความยั่งยืนและธรรมาภิบาลมาเป็นระยะเวลากว่าทศวรรษ ในปีนี้ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นหลักที่มุ่งเน้นในเรื่องของ climate change ด้วยเช่นกัน และสำหรับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีนี้จึงขอความร่วมมือบริษัทจดทะเบียนในเรื่องของ climate change โดยให้บริษัทประเมินองค์กรว่าปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากน้อยอย่างไร และจะสามารถบริหารจัดการเรื่องเหล่านั้นได้อย่างไร

“วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นโอกาสที่เราจะเรียนรู้ เข้าใจ รับฟังไปทำการบ้าน และมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่จะช่วยเหลือการทำงานต่างๆ ต่อไป ซึ่งวันนี้บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว ได้เริ่มกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างชัดเจน ทั้งเรื่องของการควบคุม การบริหารจัดการ แล้วหลายบริษัทเองก็ได้แสดงความรับผิดชอบว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ก็ทำได้ แค่ทุกคนเริ่มต้นเราก็สามารถที่จะทำเรื่องเหล่านี้ให้ประสบความสำเร็จร่วมกันได้” นางเกศรากล่าว

เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

climate change 1 ใน 5 เมกกะเทรนด์ของโลก

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเสวนาเรื่อง climate change ครั้งนี้เป็นการเสวนาที่สำคัญมาก เพราะว่าหนึ่งในโกลบอลเมกะเทรนด์ตอนนี้ซึ่งทั่วโลกยอมรับ ได้แก่ เรื่อง “climate change” และเรื่องการ “ร่อยหรอของทรัพยากร” ซึ่งมี 5 เรื่องที่สำคัญ คือ การขยายตัวความเป็นเมือง, ลักษณะของการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ, การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ, เรื่องการมีเทคโนโลยีเข้ามามากมาย และเรื่องโกลบอลเทรนด์ที่สำคัญก็คือเรื่อง climate change

นอกจากนี้ climate change ไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่เป็นปัญหาของการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทุกประเทศ เพราะว่า climate change ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมิติของความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านสังคม และมิติด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการประชุม “เอิร์ทซัมมิท” (Earth-Summit) ในปี 1992 ที่กรุงรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล และเกิดอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับเรื่อง “การพัฒนาที่ยังยืน” ต่อมาในการประชุม “รีโอ +20” ในปี 2012 จึงเกิด “SDGs” (Sustainable Development Goals) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย 17 หัวข้อหลัก 169 หัวข้อย่อย โดยเรื่อง climate action อยู่ในข้อที่ 13

ดร.พงษ์วิภา กล่าวต่อว่า เป้าหมายของ SDGs เกือบทุกข้อเกี่ยวพันกับเรื่อง climate change ทั้งสิ้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดทั้งความเสี่ยงต่อการทำธุรกิจ และเกิดโอกาสเช่นกัน ถ้าเปลี่ยนความเสี่ยงนั้นเป็นโอกาสทางธุรกิจได้ เพราะเรื่อง climate change เป็นเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นจริง จับต้องได้จริง มีผลเสียหายจริง สำหรับประเทศไทยได้ให้พันธสัญญาไว้ว่าเราจะลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 นั่นก็คือต้องลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงประมาณ 111 ล้านตัน ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหานี้

(จากซ้ายไปขวา) ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์, นัท วานิชยางกูร, บุญเชิด สุวรรณทิพย์ และพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล

โอกาส ความเสี่ยงและการฟื้นฟูตัวเองของธุรกิจ

ด้านนายนัท วานิชยางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อนแตกต่างจากเมกะเทรนด์อื่นๆ ของโลก คือ ความเสี่ยงที่ World Economic Forum สำรวจไว้ทั้งในมิติของความรุนแรงและโอกาสในการเกิด พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศติดอันดับ 1 ใน 10 ตลอดทั้งเรื่องผลกระทบและการดำรงชีวิต นั่นคือ ธุรกิจในวันนี้ไม่มากก็น้อยต้องได้รับผลกระทบจากการสภาวะโลกร้อน ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกันไม่ว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ บริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า วันนี้ต้องมาคุยกันแล้วว่าแต่ละองค์กรมีความสามารถในการฟื้นฟูตัวเองหลังจากได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนแล้วอย่างไร เพราะปัจจุบันนักลงทุนมีความรู้สึกคล้ายกันว่า บริษัทใดมีความรับผิดชอบและเก่งในการเข้ามารองรับอนาคตหรือตอบสนองอนาคตของตัวเองได้อย่างไม่เสียเปรียบ เพราะทุกองค์กรเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านี้แล้ว

นายนัทกล่าวต่อว่า ปัจจัยหลักที่ผลักดันประเด็นนี้ คือ อัตราก๊าซเรือนกระจกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ในขณะที่ COP21 ที่รัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ได้ทำให้ก๊าซเรือนกระจกลดลงทันทีแต่จะเริ่มลดลงในปี 2030 อีกทั้งคำมั่นสัญญาดังกล่าวยังมีช่องว่างห่างกันมากกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเพื่อให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งสะท้อนได้ว่าข้อตกลงตาม COP21 นั้นจะทำได้จริงหรือเพียงพอหรือไม่ในการลดอุณหภูมิโลก เพราะยังมีประเด็นความท้าทายอยู่อีกมากแม้ว่า COP21 จะเริ่มปฏิบัติแล้วก็ตาม

“นโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงโอกาสทางธุรกิจ นั่นคือธุรกิจต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่เมกะเทรนด์ที่ต้องพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้น แต่ต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างในองค์กรด้วย ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นสุดท้ายแล้วจะกระทบกับการผลิตคือ ต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งระบบจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในขณะที่กระบวนการสู่สังคมคาร์บอนต่ำก็สร้างโอกาสทางธุรกิจเช่นกัน ซึ่งหลายๆ องค์กรได้เริ่มขับเคลื่อนบ้างแล้ว” นายนัทกล่าว

สำหรับความเสี่ยงและโอกาสที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1. ด้านนโยบายที่ต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อลดการผลิตคาร์บอน เช่น การใช้ภาษีคาร์บอนในปี 2019 ของสิงคโปร์
2. การเปลี่ยนแปลงทางการตลาด เช่น ธุรกิจพลังงาน ที่เน้นพลังงานหมุมนเวียนมากขึ้นเพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล
3. ความเสี่ยงด้านกายภาพ เนื่องจากการทำธุรกิจย่อมได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนอยู่แล้วแม้แต่ซัพพลายเชน เช่น ธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรที่มีผลผลิตไม่เหมือนเดิมเนื่องจากน้ำแล้ง น้ำท่วม ฤดูกาลเปลี่ยน ฯลฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าให้ต่อเนื่อง
4. ชื่อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญและใช้ข้อนี้ในการจัดการปัญหาสภาวะโลกร้อน แต่ต้องระวังไว้ว่า บางครั้งคนในองค์กรไม่เข้าใจ เพราะเป็นเรื่องที่ทำแล้วได้แต่รายงาน ไม่ได้ทำเพื่อกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ยั่งยืนหรือเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ

ความสำเร็จในการจัดการคือผู้บริหาร ดังนั้นจะต้องทำให้ผู้บริหารเข้าใจเรื่องนี้ง่ายๆ โดยใส่ปัญหาสภาวะโลกร้อนไว้ใน enterprise risk ให้ผู้บริหารดู ซึ่งก่อนหน้านั้นต้องทำ scenario analysis ให้ชัดเจนก่อนว่าปัญหาเรื่องใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรของตัวเอง จากนั้นคำนวณผลกระทบเป็นด้านการเงิน แล้วจึงบรรจุข้อมูลดังกล่าวไว้ใน enterprise risk เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจที่จะยั่งยืนหรือมีความสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้คือธุรกิจที่มีการร่วมมือกันและปรับตัวเองได้

“สิ่งสำคัญที่องค์กรต้องทำคือ 1. สร้างข้อตกลงกับคนในองค์กรให้ตระหนักในเรื่องสภาวะโลกร้อน แล้วรวมเรื่องนี้เข้าไปกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง 2. ดูว่าผู้ลงทุนหรือผู้มีส่วนได้เสียสนใจหรือเป็นห่วงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนในเรื่องใด เพราะเขาต้องการรู้ว่าองค์กรจะปรับตัว และจัดการองค์กรได้อย่างไร และ 3. เทคนิคที่ใช้และระบบการบริหารต้องไปด้วยกันเป็นนโยบาย ปัญหาแก้ไขคนเดียวไม่ได้ เราไม่ได้โดดเดี่ยว ฉะนั้นต้องหาเครือข่ายดีๆ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชนหรือภาครัฐที่ให้การสนับสนุน เช่น กรมโรงงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ฯลฯ” นายนัทกล่าวในที่สุด (อ่านเพิ่มเติม)

PTTGC ชี้ลดคาร์บอนต้องมองยาวและทำจริงทั้งระบบ

ด้านนายบุญเชิด สุวรรณทิพย์ ที่ปรึกษาสังกัดประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ-กลุ่มปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ต้องทิ้งไว้ให้ลูกหลานในอนาคตมีทรัพยากรใช้ด้วย แต่สิ่งที่ทำกันอยู่ในปัจจุบันคือการทำร้ายลูกหลานของเราในอนาคต ซึ่งต้องจัดการแบบ top-down เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้จริงในระบบ ผ่านการใช้นโยบาย แผนยุทธศาสตร์ ซึ่งสำหรับบริษัทฯ ได้ดำเนินการเรื่อง climate change โดยวางแผนระยะยาว 25 ปีมาตั้งแต่ปี 2007 ชื่อว่า PEM (Protective Environment Management) เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การดำเนินการในปีแรก เริ่มต้นจากการสำรวจการใช้ทรัพยากรต่างๆ ของบริษัทโดยรวม เรียกว่า นิเวศน์เศรษฐศาสตร์ เช่น การใช้น้ำ การใช้พลังงาน การสร้างก๊าซเรือนกระจก การสร้างของเสีย carbon footprint ฯลฯ โดยใช้ eco-efficiency indicator ของ UN มาเป็นตัวชี้วัด แล้วไปเปรียบเทียบกับการบริษัทรูปแบบเดียวกันในต่างประเทศ ต่อมาก็ทำตามมาตรฐาน ISO14064 ซึ่งจะทำให้เห็นการใช้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมด และตรวจสอบได้ว่าจุดไหนใช้พลังงานคุ้มค่า ก็ไปแก้ปัญหาที่จุดๆ นั้น หลังจากนั้นก็สำรวจ life cycle assessment ของวัตถุดิบทุกตัวที่ใช้ในการผลิตว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อมแค่ไหน อย่างไร แล้วปรับใช้วัสดุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดในการผลิต

นายบุญเชิดกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาบริษัทใช้วิธีการตั้งรับ หรือ protection โดยเรียนรู้จากอดีตแล้วมาปรับปรุงปัจจุบัน แต่ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นเชิงรุกโดยการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยใช้นวัตกรรมที่เรียกว่า eco-product design เป็นมาตรฐาน 14062 และในปีหน้าจะเริ่มสร้างเครือข่ายจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจว่าโลกจะร้อนจริงหรือไม่ โดยทางบริษัทฯ จะเข้าไปให้ความรู้แล้วทำงานคู่กันไปด้วย สำหรับเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่อง top-down ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน

“ในการทำงานมีความเสี่ยงแน่นอนในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น financial operation หรือสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องนำมาพิจารณาว่าความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาวคืออะไรแล้วนำมาวางแผน นอกจากนี้ ในบางเรื่องบริษัทฯ ได้ดำเนินการล่วงหน้าก่อนที่จะมีนโยบายรัฐบาล เช่น การลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบริษัทฯ มีเป้าต้องลดลงร้อยละ 52 ภายในปี 2050 ซึ่งเราสามารถทำได้ และเชื่อว่าในระดับประเทศไทยก็ทำได้เพราะในอนาคตระบบขนส่งจะเป็นไฟฟ้ามากขึ้น” นายบุญเชิดกล่าว (อ่านเพิ่มเติม)

bottom-up สร้างการมีส่วนร่วม ปัจจัยความสำเร็จ IRC

ด้านนางพิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล ประธานกรรมการบริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ไออาร์ซี กล่าวว่า ใน COP21 (Conference of Parties) หรือ การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 จะเน้นคำพูดชัดเจนว่า “zero waste zero poverty” ถ้าหากเราแก้ climate change ไม่ได้ ความยากจนจะมาเยือน ไออาร์ซีถือ zero waste เป็นนโยบายสำคัญ สิ่งที่จะทำให้ zero waste สำเร็จได้มี 3 ประเด็น คือ ลดการใช้ (reduce), การใช้ซ้ำ (reuse), และการนำกลับไปใช้ใหม่ (recycle) ซึ่งการลดการใช้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร

“สิ่งที่เราสร้างคือ ‘ทัศนคติ’ โดยให้การสอน ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนทัศนคติ ทางด้าน reduce ให้อยู่ในจิตสำนึกของพนักงาน และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันทั้งบริษัท คือการควบคุมคุณภาพด้วยกิจกรรมกลุ่ม (quality control circle) รวม 170 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม productivity เรื่องการลดพลังงาน ลดการใช้วัตถุดิบ การพัฒนาด้านความปลอดภัย ฯลฯ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ” นางพิมพ์ใจกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า บริษัทบริหารจัดการ reduce แบบ bottom-up คือมาจากจิตสำนึกของทุกๆ คนในองค์กร ร่วมกับการใช้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมแบบ top-down ส่วน recycle มี 2 ด้าน คือนำของที่เสียแล้วกลับมาใช้ในกระบวนการผลิต กับการใช้ innovative recycle คือนำของเสีย (waste) กลับมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นำเศษยางที่ต้องเผาทิ้งแล้วก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มาพัฒนาใหม่เป็นสนามกีฬายางกว่า 10 แห่งทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังนำมาแปรรูปเป็นแผ่นยางปูพื้นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บจากการล้มของผู้สูงอายุ

“climate change เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของทุกคน ซึ่งไออาร์ซีเน้นเลยว่า ทุกๆ คนจะมีจิตวิญญาณของการ reduce คือ การใช้ทรัพยากรอย่างมีค่าสูงสุด เป็นนิสัยและทุกสิ่งทุกอย่างถือเป็น top-down ซึ่งผู้บริหารต้องทำแผนตามมาตรฐานอยู่แล้ว แต่เรื่องจิตวิญญาณอันนี้ เราต้องการให้ถ่ายทอดสู่สังคม นอกจากบริษัทเราแล้ว ก็อาจจะขยายไปสู่ชุมชนและที่อื่นๆ ด้วย” นางพิมพ์ใจกล่าว

อย่างไรก็ตาม การต่อสู้กับ climate change และการเตรียมตัว เตรียมพร้อมรับสถานะนั้นเป็นเรื่องของทุกคน และไม่ใช่การสู้กับความเสี่ยงแต่เป็นโอกาสพิเศษของเรา เพราะเชื่อว่าจะมีธุรกิจเกิดใหม่ และมีโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจเพื่อต่อสู้กับ climate change ไม่ว่าจะเป็น บมจ. หรือ สตาร์ทอัปก็ตาม (อ่านเพิ่มเติม)