ThaiPublica > เกาะกระแส > กรมบังคับคดีปรับกลยุทธ์ขายทรัพย์สิน 6 เดือนปีงบประมาณ 2560 ได้กว่า 62,382 ล้านบาท

กรมบังคับคดีปรับกลยุทธ์ขายทรัพย์สิน 6 เดือนปีงบประมาณ 2560 ได้กว่า 62,382 ล้านบาท

25 เมษายน 2017


English Version

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี (กลาง) แถลงข่าวผลการปฏิบัติงานของกรมบังคับคดีในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 (มกราคม-มีนาคม 2560)

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยผลการปฏิบัติงานของกรมบังคับคดีในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 (มกราคม-มีนาคม 2560) ว่า สามารถผลักดันทรัพย์ออกจากระบบบังคับคดีได้จำนวน 32,426.56 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2559 ถึงร้อยละ 60.33 และมีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีจำนวน 6,769 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 6,109 เรื่อง ทุนทรัพย์ 1,787.46 ล้านบาท คิดเป็นอัตราไกล่เกลี่ยสำเร็จ 90.24% ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2559 ถึง 176.18%

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2560 กรมบังคับคดีได้มีผลการดำเนินการหลักๆ ดังนี้

1. การผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมบังคับคดี มีการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบบังคับคดีได้จำนวน 62,382.21 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 100,000 ล้านบาท ซึ่ง 6 เดือนแรกทำได้มากกว่า 50% ของเป้าหมาย เป็นผลมาจากการนำนโยบาย “4ร” มาเร่งการดำเนินการ การจัดให้ขายทอดตลาดในวันหยุดและการจัดมหกรรมการขายทอดตลาดนอกสถานที่ทำการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และการส่งคำสั่งซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์

“ในเดือนมีนาคม สามารถผลักดันได้สูงถึง 12,589.40 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นยอดผลักดันสูงสุดในรอบ 16 เดือนที่ผ่านมา โดยกรมบังคับคดีมีแผนการจัดมหกรรมขายทอดตลาดนอกสถานที่ โดยเป็นการนำทรัพย์รอการขายของสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1-6 กองบังคับคดีล้มละลาย 1-5 สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดปทุมธานี สาขาธัญบุรี ออกขายทอดตลาด ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนพฤษภาคมนี้”

2. การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ภายใต้กลยุทธ์ “เชิงรุก เชิงลึก และครอบคลุม” ได้มีการประสานเจ้าหนี้กลุ่มใหม่ร่วมมือกับสถาบันการเงินและหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีแก่ประชาชนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 ได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมจำนวน 16 หน่วยงานทั่วประเทศ ดำเนินการเชิงรุกและลงพื้นที่เพื่อจัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 4 ครั้ง มีลูกหนี้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งสิ้น 286 ราย ทุนทรัพย์รวม 181.41 ล้านบาท และไกล่เกลี่ยสำเร็จ 236 ราย ทุนทรัพย์รวม 124.54 ล้านบาท คิดเป็นผลสำเร็จ 82.51% และจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา สงขลา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต พัทลุง ตรัง สตูล ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม – 4 เมษายน 2560 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยรวม 1,859 เรื่อง ทุนทรัพย์ 250.21 ล้านบาท และไกล่เกลี่ยสำเร็จรวม 1,853 เรื่อง ทุนทรัพย์ 249.61 ล้านบาท คิดเป็นผลสำเร็จ 99.68% ของเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย รวมทั้งได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้และอำนวยความเป็นธรรม

“การดำเนินการเชิงรุกดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ผลการไกล่เกลี่ยในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดีสูงกว่าไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ 2559 ถึง 176.18% และในรอบ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – เดือนมีนาคม 2560 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี จำนวน 9,974 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จ จำนวน 8,965 เรื่อง คิดเป็น 89.88 % ของเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และกรมบังคับคดีมีแผนการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ครัวเรือน/หนี้บัตรเครดิตชั้นบังคับคดีร่วมกับสถาบันการเงินและบริษัทต่างๆ ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนพฤษภาคม 2560”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี

3.การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการบังคับคดี ได้แก่

    1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (ภาคบังคับคดี) สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในวาระที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2560 ซึ่งการปรับปรุงและแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับนี้ถือว่าเป็นการปฏิรูปการบังคับคดีทั้งระบบเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการและลดโอกาสของการประวิงคดี ทั้งนี้ เพื่อการบังคับคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กรมบังคับคดีได้วางแผนการสร้างความรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั่วประเทศ และยกร่างกฎหมายในลำดับรอง ได้แก่ 1) ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติการแทนเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. …. 2) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาด พ.ศ. …. และ 3) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขายทอดตลาดด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ด้วยแล้ว

    2. ร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยทั้งนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 21/2560 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ โดยข้อ 12-16 ได้ประกาศใช้ร่างมาตรา 20 มาตรา 23 มาตรา 35/1 และมาตรา 39 ของร่างพระราชบัญญัติล้มละลายฯ ดังกล่าวด้วยแล้ว ทั้งนี้ กรมบังคับคดีอยู่ระหว่างการประกาศเรื่อง กำหนดเว็บไซต์เพื่อโฆษณาคำสั่งในคดีล้มละลาย โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป ซึ่งประชาชนสามารถตรวจสอบประกาศหรือคำสั่งของศาล ประกาศหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผ่านทาง เว็บไซต์ของกรมบังคับคดี โดยการลงทะเบียนแจ้ง ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวประชาชน และเลือกยอมรับเงื่อนไขที่กรมบังคับคดีกำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และการรวบรวมและจัดทำสถิติข้อมูลจำนวนบุคคลที่เข้ามาตรวจสอบต่อไป

4. การบริหารจัดการคดี (Case Management) กรมบังคับคดีได้เร่งรัดการดำเนินการสำนวนคดีค้างดำเนินการเกิน 10 ปีที่มีอยู่จำนวน 12,880 เรื่อง โดยผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 – เดือนมีนาคม 2560 รวม 6 เดือน สามารถดำเนินการสำเร็จจำนวน 1,889 เรื่อง คิดเป็น 14.67% ของปริมาณคดีทั้งหมดจำนวน 12,880 เรื่อง คิดเป็นค่าเฉลี่ยดำเนินการเสร็จเดือนละ 315 เรื่อง ทำให้คาดการณ์จากค่าเฉลี่ยดำเนินการเสร็จได้ว่าทั้งปีงบประมาณ 2560 จะสามารถดำเนินการเสร็จได้จำนวน 3,780 เรื่อง คิดเป็น 29.35% ของปริมาณคดีทั้งหมดจำนวน 12,880 เรื่อง

5. การพัฒนาการให้บริการด้านการบังคับคดีแพ่งและล้มละลาย กรมบังคับคดีได้มุ่งมั่นในการพัฒนาการให้บริการด้านการบังคับคดีแพ่งและล้มละลายอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความและผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในไตรมาส 2 ประจำปีงบประมาณ 2560 มีการพัฒนาด้านต่างๆ ดังนี้

    1) การวางเงินหลักประกันด้วยบัตรเดบิต/เครดิตในระบบ EDC Payment โดยไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2560 มีผู้ใช้จำนวน 338 ราย เป็นเงิน 46.08 ล้านบาท โดยมีการให้บริการทุกสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ

    2) การติดตั้งระบบบัตรคิวอัตโนมัติให้บริการงานบังคับคดีแก่ประชาชนในสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1-6 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ที่ผ่านมา และจะมีการติดตั้งระบบบัตรคิวอัตโนมัติ ในสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศภายในปี 2560

    3) การเชื่อมโยงข้อมูลหมายบังคับคดีโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์กับศาลแพ่งธนบุรี กรมบังคับคดีเริ่มรับข้อมูลหมายบังคับคดีตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2560 และสามารถนำข้อมูลไปดำเนินการได้แบบ real-time ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายกรอบความร่วมมือกับศาลต่างๆ และพัฒนาเข้าสู่ Thailand 4.0 ต่อไป ปัจจุบันได้รับหมายบังคับคดีจากศาลแพ่งธนบุรีแล้ว รวมจำนวน 126 เรื่อง

    4) การเร่งรัดการทำบัญชีรับจ่าย กรมบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานในสังกัดกรมบังคับคดี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2560 เรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินในคดีแพ่ง สำหรับกรณีไม่มีเหตุขัดข้องในการทำบัญชี กำหนดระยะเวลาตั้งแต่วันที่รับเงินเพื่อทำบัญชีถึงวันที่ออกหนังสือแจ้งให้มาตรวจรับรองบัญชี หรือวันที่ส่งเงินไปยังสำนักงานบังคับคดีเจ้าของเรื่อง (กรณีบังคับคดีแทนศาลอื่น) ไม่เกิน 45 วัน

6. การดำเนินการตามกรอบความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) ของธนาคารโลก กรมบังคับคดีได้จัดประชุมให้กับภาคเอกชนผู้ตอบแบบสอบถาม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 เพื่อชี้แจงรายละเอียดของแบบสอบถามและผลความคืบหน้าของการดำเนินการด้านต่างๆ ของกรมบังคับคดี และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ได้จัดส่งคำตอบของแบบสอบถามตัวชี้วัดที่ 9 การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contract) และตัวชี้วัดที่ 10 การแก้ไขปัญหาล้มละลาย (Resolving Insolvency) ไปยังธนาคารโลก รวมทั้งได้นำเสนอเรื่อง การปรับปรุงการยกระดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจที่โดดเด่นด้านการแก้ไขปัญหาล้มละลาย และการบังคับคดีให้เป็นไปตามข้อตกลง ในการประชุมเพื่อชี้แจงและสร้างการรับรู้ในการดำเนินการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจ ซึ่งจัดโดยสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 โดยมี ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดการประชุม

7. การพัฒนาเป็นศูนย์กลางวิชาการด้านการบังคับคดีแพ่งและคดีล้มละลายอาเซียน กรมบังคับคดีได้จัดให้มีโครงการประชุมด้านการบังคับคดีร่วมกับหน่วยงานการบังคับคดีแพ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) โดยในปีงบประมาณ 2560 จะมีการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการบังคับคดีแพ่ง: การแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อนำไปสู่แนวปฏิบัติที่ดีเลิศ (International Conference on Enforcement of Civil Judgment: Sharing Experiences towards Best Practices) ในวันที่ 7-9 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมเบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร และได้เสนอรายละเอียดของการจัดการประชุมดังกล่าวไปยังกระทรวงยุติธรรม เพื่อกระทรวงยุติธรรมจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านกฎหมาย (ASLOM) ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 14-17 พฤษภาคม 2560 ประเทศมาเลเซีย เรียนเชิญให้ประเทศสมาชิกอาเซียนส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกันต่อไป

นางสาวรื่นวดีกล่าวว่า นอกเหนือจากภารกิจหลักข้างต้น ยังได้ดำเนินการเชิงรุกและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความเป็นธรรม ให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน และคุ้มครองสิทธิของประชาชน ได้แก่

1. การไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในชั้นบังคับคดี กรมบังคับคดีได้ร่วมงานเปิดตัวการแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “ขจัดหนี้นอกระบบเป็นศูนย์” กรมบังคับคดีได้บูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบชั้นบังคับคดี โดยผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศร่วมเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด

“เพื่อให้การดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบชั้นบังคับคดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กรมบังคับคดีได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อเจ้าหนี้บุคคลธรรมดาที่สำนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือเชิญเข้าร่วมการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี แต่ไม่ได้มาร่วมการไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี ซึ่งมีทั้งสิ้นรวม 565 คดี ทุนทรัพย์รวม 229.35 ล้านบาท และให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการเชิงรุกเพื่อไปพบเจ้าหนี้เพื่อชี้แจงรายละเอียดของการไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดี สอบถามถึงข้อจำกัด และเชิญชวนให้เจ้าหนี้บุคคลธรรมดาดังกล่าวเห็นประโยชน์ของการไกล่เกลี่ยหนี้และเข้าร่วมกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นบังคับคดี รวมทั้งประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงและชี้แจงรายละเอียดกับเจ้าหนี้ต่อไป”

นอกจากนี้ กรมบังคับคดียังร่วมบูรณาการกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรใน “คลินิกให้คำปรึกษาแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ”ด้วย

2. การสร้างความรับรู้ด้านกฎหมาย กรมบังคับคดีได้ดำเนินการเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความรับรู้ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับการค้ำประกัน จำนอง จำนำ และขายฝาก และการบังคับคดีแพ่งและล้มละลาย ให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ พี่น้องเกษตรกร ลูกหนี้ครัวเรือน และผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยช่วงไตรมาส 2 ปีงบประมาณ 2560 ได้มีการสร้างความรับรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชนโดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทั่วประเทศร่วมมือกับสภาเกษตรกรจังหวัดทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง

3. งานตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ได้มีการจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชนตามแผนการดำเนินการของกรมบังคับคดีตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี กรมบังคับคดีได้มีแนวทางในการจัดตั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ซึ่งเป็นโครงการตามยุทธศาสตร์ 20 ปีของกรมบังคับคดี และได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น และเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2560 คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ได้มีมติเห็นชอบกับการพัฒนาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน และมีกำหนดเป็นวาระการประชุมของ สปท. ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2560