ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > นครดูไบ จากหมู่บ้านประมงสู่มหานครโลก และเมืองที่จะมีความสุขมากสุดของโลกในปี 2021

นครดูไบ จากหมู่บ้านประมงสู่มหานครโลก และเมืองที่จะมีความสุขมากสุดของโลกในปี 2021

18 เมษายน 2017


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/b/b8/Deira_on_18_October_2007_Pict_3.jpg

เมื่อ 30-40 ปีมาแล้ว คนในประเทศต่างๆ แทบจะไม่มีใครเคยได้ยินหรือรู้จักเมืองที่ชื่อดูไบ ถ้ามีคนถามว่าดูไบอยู่ที่ไหน บางคนอาจจะคิดว่าอยู่ในแอฟริกา เพราะแทบไม่มีข่าวอะไรเกี่ยวกับเมืองนี้เลย ในอดีต ดูไบเป็นหมู่บ้านประมง และเมืองท่าเรือค้าขายเล็กๆ ของอ่าวเปอร์เซีย ไม่มีธุรกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากนี้เลย เพราะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทะเลทราย

แต่ทุกวันนี้ คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรู้สึกได้ว่า ดูไบไม่ได้อยู่ไกลจากประเทศตัวเองเลย การมีที่ตั้งอยู่ในตะวันออกกลาง แม้จะเป็นภูมิภาคที่มีเหตุการณ์ร้อนแรงทางการเมืองเกิดขึ้นไม่ได้หยุด แต่ก็เป็นจุดศูนย์กลางด้านภูมิศาสตร์โลก ลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวกลับสร้างจุดแข็งและความได้เปรียบให้แก่ดูไบ โดยเฉพาะในเรื่องการขนส่งทางอากาศ

ปัจจุบัน ดูไบกลายเป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องการพัฒนา จากอดีตที่เคยเป็นเมืองท่าเรือ ประเทศที่เศรษฐกิจอาศัยรายได้จากน้ำมัน แล้วก็สามารถหลุดพ้นจากการพึ่งพาน้ำมัน มาเป็นประเทศที่เศรษฐกิจมีความหลากหลาย สามารถสร้างความมั่งคั่งที่ทดแทนอุตสาหกรรมเก่าๆ และกำลังจะกลายเป็น “มหานครโลก” แบบเดียวกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ในรายงาน World Happiness Report 2017 ของสหประชาชาติ ที่จัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ระบุว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งดูไบเป็นรัฐสมาชิกหนึ่ง อยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก แต่เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

การพัฒนาที่ไม่พึ่งพาน้ำมัน

ดูไบนำความมั่งคั่งที่ได้จากน้ำมันในระยะแรก คือช่วงทศวรรษ 1960-1970 ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมด้านพาณิชย์ต่างๆ ที่ต่อมาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็วในทศวรรษ 1970 และ 1980 ทุกวันนี้ ดูไบกลายเป็นตัวอย่างโมเดลการพัฒนาของประเทศที่มีทรัพยากรด้านพลังงาน แต่ไม่อิงอาศัยน้ำมันเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ เมื่อถึงกลางทศวรรษ 1990 แหล่งน้ำมันดิบสำรองของดูไบลดลงไปมาก แต่ดูไบก็ได้กระจายธุรกิจออกไปด้านต่างๆ จนธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับน้ำมันมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของ GDP

ดูไบค้นพบน้ำมันครั้งแรกในปี 1966 และเริ่มมีรายได้จากน้ำมันในปี 1969 ปริมาณน้ำมันดิบสำรองของดูไบมีประมาณ 4 พันล้านบาร์เรล ปี 1991 การผลิตน้ำมันดิบมีปริมาณสูงสุดถึงวันละ 4 แสนบาร์เรล ทุกวันนี้ ดูไบผลิตน้ำมันดิบแค่ 5-7 หมื่นบาร์เรลต่อวันเท่านั้น มีการคาดหมายกันว่าปริมาณน้ำมันดิบสำรองของดูไบจะหมดไปในอีก 20 ปีข้างหน้า เปรียบเทียบกับอาบูดาบี รัฐเพื่อนบ้าน ที่สามารถผลิตน้ำมันดิบวันหนึ่ง 2.5 ล้านบาร์เรล ดูไบจึงต้องเสี่ยงที่จะนำรายได้จากน้ำมันไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนที่น้ำมันดิบจะหมดไป

กลยุทธ์การกระจายธุรกิจของดูไบคือ การสร้างเศรษฐกิจที่มีองค์ประกอบที่สมดุล ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านพาณิชย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมเบา การสร้างเขตเศรษฐกิจ “ฟรีโซน” สำหรับธุรกิจเฉพาะ การส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว “ระดับหรูหรา” และอสังหาริมทรัพย์สำหรับนักลงทุนต่างชาติ กลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ดูไบเป็นประเทศที่มีการลงทุนต่างประเทศต่อหัวประชากร มากกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาหรับ ทุกวันนี้ หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้นำกลยุทธ์เดียวกันนี้ไปใช้ เช่น อาบูดาบี กาตาร์ เป็นต้น

โครงสร้างพื้นฐานด้านพาณิชย์

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/ea/Jebel_Ali_Port_1_Imresolt.jpg

ปี 1972 ดูไบตัดสินใจลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญโครงการแรก คือ การสร้างท่าเรือน้ำลึก Port Rashid ให้เป็นหนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่สุดของโลก และเปิดดำเนินการในปี 1979 ทุกวันนี้ Dubai Ports World เป็นบริษัทที่บริหารท่าเรือใหญ่อันดับ 4 ของโลก และยังไปร่วมลงทุนในท่าเรือของหลายประเทศ ต่อมาในปี 1985 ดูไบได้ตั้งเขตเศรษฐกิจฟรีโซนบริเวณท่าเรือ เพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยสามารถนำเข้าแรงงานและเงินทุนได้ไม่จำกัด

การลงทุนที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทางอากาศ ในปี 1985 ดูไบตัดสินใจตั้งสายการบินของตัวเองขึ้นมา คือ สายการบิน Emirates เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ดูไบเป็นศูนย์กลางการบินโลก (global hub) ส่วนการลงทุนปรับปรุงสนามบินนานาชาติดูไบก็ทำอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน สนามบินนานาชาติดูไบ (DXB) มีผู้โดยสารปีหนึ่งกว่า 70 ล้านคน ในปี 2010 ดูไบเปิดใช้งานเฟสแรกของสนามบินใหม่แห่งที่ 2 ชื่อ Al Maktoum International Airport เมื่อสนามบินใหม่นี้เสร็จสมบูรณ์ จะเป็นสนามบินใหญ่สุดของโลก มีทางขึ้นลงเครื่องบิน 5 เส้นทาง อาคารผู้โดยสาร 4 แห่ง และรองรับผู้โดยสารปีหนึ่ง 160 ล้านคน สายการบิน Emirates จะย้ายมาที่สนามบินใหม่ทั้งหมดในปี 2025

การเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินในตะวันออกกลางอย่างเช่น Emirates, Qatar Airways และ Etihad เกิดจากการใช้ประโยชน์จากลักษณะพิเศษทางภูมิศาสตร์ ทำให้ศูนย์กลางการบินของหลายประเทศในภูมิภาคนี้สามารถแย่งชิงการเดินทางของผู้โดยสารของประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต เพราะจากศูนย์กลางการบินในตะวันออกกลาง เครื่องบินสามารถบินตรงไปยังปลายทางต่างๆ ในโลกโดยไม่ต้องหยุดพัก จุดได้เปรียบดังกล่าวจึงช่วยส่งเสริมให้สนามบินในดูไบหรืออาบูดาบี กลายเป็นศูนย์กลางการบินโลก สนามบินนานาชาติดูไบจึงมีคำขวัญว่า Where the World Connects

ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/2/26/Ski_Dubai_Slope.jpg/1280px-Ski_Dubai_Slope.jpg

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพาณิชย์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของดูไบ คือ การสร้างศูนย์การค้า ที่มีการลงทุนมานับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ปัจจุบัน ดูไบมีศูนย์การค้ามากกว่า 70 แห่ง ศูนย์การค้าจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของดูไบในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ การแข่งขันที่ดุเดือดของธุรกิจศูนย์การค้าทำให้ศูนย์การค้าเปิดใหม่ต้องมีนวัตกรรมที่แตกต่างออกไปเพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น ศูนย์การค้า Mall of Emirates มีสกีหิมะ ส่วน Mall of Dubai มีการแสดงสัตว์น้ำทะเล

ธุรกิจท่องเที่ยว

ในเรื่องธุรกิจท่องเที่ยว ความสำเร็จที่โดดเด่นมากของดูไบคือ การดึงการลงทุนจากต่างประเทศในด้านธุรกิจท่องเที่ยวระดับหรูหรา ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 อาศัยประโยชน์จากประเทศในยุโรปที่มีฤดูหนาวยาวนาน สำหรับนักท่องเที่ยวยุโรปที่หนีฤดูหนาว ดูไบจึงกลายเป็นทางเลือกใหม่แทนทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือประเทศแถบทะเลแคริเบียน ปัจจุบัน ดูไบยังกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพและการศึกษาด้วย

ธุรกิจท่องเที่ยวของดูไบประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว นับเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง ในทศวรรษ 1950 ดูไบยังไม่มีโรงแรมเลยสักแห่งหนึ่ง โรงแรมแห่งแรกชื่อ Airport Hotel สร้างติดกับสนามบินดูไบ เพื่อให้ลูกเรือของสายการบินได้พัก เมื่อเครื่องบินมาดูไบ ในปี 2010 ดูไบมีโรงแรมที่มีห้องพักทั้งหมดกว่า 67,000 ห้อง อัตราการเข้าพักสูงสุดในโลก ปลายทศวรรษ 1990 ดูไบเริ่มเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นตลาด high-end โดยลงทุนสร้างโรงแรมที่หรูหราที่สุดของโลก ชื่อ Jumeirah Beach Hotel ที่เปิดบริการในปี 1997 ในปี 1999 โรงแรมระดับ 7 ดาวที่มีรูปทรงคล้ายเรือใบชื่อ Burj Al-Arab เปิดให้บริการ

โรงแรม 7 ดาว Burj Al Arab อาคารสร้างมีรูปร่างเรือใบ ที่มาภาพ : https://www.jumeirah.com/en/hotels-resorts/dubai/burj-al-arab/
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/9/98/Entrance_to_the_Burj_Al_Arab.jpg/1024px-Entrance_to_the_Burj_Al_Arab.jpg

การท่องเที่ยวของดูไบยังอาศัยกลยุทธ์การสร้างดูไบให้เป็นศูนย์กลางความบันเทิง ธุรกิจความบันเทิงในดูไบเติบโตรวดเร็วมากแบบเดียวกับธุรกิจโรงแรม ในทศวรรษ 1960 ดูไบมีร้านอาหารและโรงภาพยนตร์อยู่ไม่กี่แห่ง ในปี 2003 ดูไบประกาศลงทุนสร้างสวนสนุกใหญ่สุดในโลกมีชื่อว่า Dubailand ที่ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างจำลอง เช่น หอไอเฟล พีระมิด และจูราสสิกปาร์กที่จะมีไดโนเสาร์เดินเพ่นพ่าน สวนสนุกใช้เงินลงทุน 62 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะเปิดในปี 2020

กลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จมากอีกอย่างคือ เทศกาลช็อปปิ้งประจำปีของดูไบที่มีขึ้นครั้งแรกในปี 1996 ในปีแรกของการจัดงานก็สร้างรายได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ดูไบยังใช้กลยุทธ์การจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก เช่น การแข่งม้า กีฬากอล์ฟเรียกว่า Dubai Desert Classic และการแข่งเทนนิส ATP Tour กิจกรรมกีฬาระดับโลก ทำให้นักกีฬาระดับนำของโลกเดินทางมาดูไบ ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมสูงขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

เกาะอสังหาริมทรัพย์ Palm Jumeirah ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/06/Palm_Island_Resort.jpg
ที่มาภาพ : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/5/50/Dubai_Wingsuit_Flying_Trip_%287623566780%29.jpg

การลงทุนของดูไบด้านอสังหาริมทรัพย์สำหรับคนต่างชาติเพิ่งจะเริ่มขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อกลางทศวรรษ 1990 ดูไบยังไม่มีตลาดอสังหาริมทรัพย์เลย การลงทุนด้านนี้มีเป้าหมายต้องการให้นักท่องเที่ยวซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับเป็นที่พักเพื่อการพักผ่อน หรือซื้อเพื่อให้เช่าต่อ ตึก Burj Khalifa ที่สูง 828 เมตร เปิดในปี 2010 และเป็นตึกที่สูงสุดของโลก ทุกวันนี้ Burj Khalifa เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของดูไบ แบบเดียวกับตึก Empire State ของนิวยอร์ก ที่ดูวิวของ Burj Khalifa มีนักท่องเที่ยวขึ้นไปดูวิวปีหนึ่งล้านกว่าคน

แต่โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียงมากคือ Palm Jumeirah อสังหาริมทรัพย์บนเกาะที่สร้างขึ้นมาใหม่ในอ่าวเปอร์เซีย โครงการประกอบด้วยบ้านพักแบบวิลลา และอพาร์ตเมนต์ บริษัท Trump Organization ของโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ร่วมลงทุนด้วย โครงการนี้เป็น 1 ใน 3 ของโครงการ Palm Islands คนที่มีชื่อเสียงหลายคนซื้อบ้านพักใน Palm Jumeirah เช่น David Beckham, Michael Schumacher และ Rod Stewart เป็นต้น ความสำเร็จของดูไบทำให้รัฐอื่นๆ ของ UAE หันมาลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาบูดาบี

กระทรวงความสุข

ในปี 2016 UAE ตั้งกระทรวงความสุขขึ้นมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแผนงาน UAE Vision 2021 ที่กำหนดให้การตัดสินใจของรัฐบาลมีศูนย์กลางอยู่ที่การทำให้ความเป็นอยู่และความสุขของประชาชนดีขึ้น UAE มีเป้าหมายที่จะเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดของโลก แม้องค์กรเช่น Human Right Watch หรือ Amnesty International จะวิจารณ์ว่า กระทรวงความสุขของ UAE เป็นการพูดอย่างทำอย่าง แต่ Mark Wiking จากสถาบัน Happiness Research Institute ของเดนมาร์ก กล่าวกับ CNN ว่า เป็นเรื่องที่จำเป็นที่ความสุขจะเป็นหัวใจของนโยบายสาธารณะและเป็นเป้าหมายของรัฐบาล

ปีที่แล้ว ดูไบเริ่มโครงการ Smart City เพื่อให้ดูไบเป็นนครที่มีความสุขที่สุดในโลก เจ้าหน้าที่ของดูไบกล่าวว่า ขณะนี้ ดูไบกำลังดำเนินการตามแผนงาน UAE Vision 2021 ที่ประกอบด้วย (1) เป็นนครที่มีความสุข ประชาชนสร้างสรรค์ และมีอิสระกำหนดชีวิตตัวเอง (2) สังคมที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นหนึ่งเดียว (3) เป็นเมืองที่คนนิยมจะมาอาศัยอยู่ ทำงาน และมาเที่ยว (4) เมืองที่ยั่งยืนและฉลาด (5) เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก และ (6) รัฐบาลที่มีการริเริ่มและความเป็นเลิศ

ที่มาภาพ :http://static.gulfnews.com/polopoly_fs/1.1920877!/image/3395475988.jpg_gen/derivatives/box_620347/3395475988.jpg

การดำเนินการของ UAE ที่จะเป็นประเทศมีความสุขที่สุดของโลกภายในปี 2021 มีความคืบหน้าอย่างมากในการจัดอันดับประเทศที่มีความสุขมากสุดของ The World Happiness Report 2017 UAE เลื่อนจากอันดับที่ 28 มาอยู่ที่ 21 รายงานนี้จัดอันดับความสุขประเทศต่างๆ โดยใช้ดัชนีวัด 6 อย่าง คือ รายได้ต่อหัว สวัสดิการสังคม การมีสุขภาพที่ดีของประชากร เสรีภาพทางสังคม การเอื้อเฟื้อ และการไม่มีคอร์รัปชัน

การที่รัฐบาล UAE มีโยบายชัดเจนให้ประเทศตัวเองมีความสุขมากที่สุดในโลก สะท้อนอิทธิพลด้านความคิดของสหประชาชาติเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาประเทศไม่ได้มีเป้าหมายที่แคบๆ ในเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังต้องมีโยบายที่ส่งเสริมให้เกิดสังคมที่รุ่งเรือง ยุติธรรม และยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย