ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 1 ปีคดีมลพิษฝุ่นถ่านหิน-ฝุ่นมันสำปะหลัง ท่าเรือนครหลวงไม่คืบ หาข้อเท็จจริงนาน 2 ปี

1 ปีคดีมลพิษฝุ่นถ่านหิน-ฝุ่นมันสำปะหลัง ท่าเรือนครหลวงไม่คืบ หาข้อเท็จจริงนาน 2 ปี

16 เมษายน 2017


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ชี้ 1 ปีที่ยื่นฟ้องคดีท่าเรือนครหลวงต่อศาลปกครองยังไม่คืบหน้ามากปัจจุบันสมาคมฯ อยู่ระหว่างยื่นคำคัดค้านต่อศาลหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องและผู้ประกอบการยื่นคำให้การต่อศาลครบแล้ว และเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีใหญ่ และถือเป็นคดีต้นแบบของกิจการท่าเรือและคลังสินค้าของไทย คาดว่าศาลปกครองต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีเพื่อแสวงหาเท็จจริงและจะสามารถพิจารณาคดีครั้งแรกได้ปลายปี 2562

ความแออัดของเรือขนถ่ายสินค้าในแม่น้ำป่าสัก อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จากกรณีที่ประชาชนอำเภอนครหลวงได้รับผลกระทบจากฝุ่นถ่านหินและฝุ่นแป้งมันสำปะหลังจากกิจการท่าเรือกว่า 26 แห่งและคลังสินค้าของบริษัทกว่า 51 แห่งในเขตอำเภอนครหลวงมานานกว่า 10 ปี ซึ่งที่นี่เป็นศูนย์ขนถ่ายถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมทั้งมันสำปะหลัง และสินค้าเกษตรอื่นๆ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อนใดๆ จากผลกระทบจากฝุ่นดำจากถ่านหิน และฝุ่นขาวจากมันสำปะหลัง ประชาชนอำเภอนครหลวง 80 คนและสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมเจ้าท่า, อธิบดีกรมอนามัย, อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการควบคุมมลพิษ, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสะแก, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปากจั่น, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ่อโพง, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลา, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอรัญญิก และนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนครหลวง ต่อศาลปกครอง เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 เรื่องละเลยการปฏิบัติหน้าที่จากการอนุญาตประกอบกิจการท่าเรือและคลังสินค้าในอำเภอนครหลวง โดยขอให้ศาลพิพากษา

1. ให้ผู้ถูกฟ้องสั่งการให้ผู้ประกอบการคลังสินค้าหรือท่าเรือ ปฏิบัติตามข้อตกลงมาตรการแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากการประกอบกิจการโรงงานทุกข้อ พร้อมรายงานให้ศาลและผู้ฟ้องทราบทุกๆ 30 วัน ตลอดอายุใบอนุญาตการประกอบกิจการ

2. ให้ผู้ถูกฟ้องที่มีอำนาจหน้าที่สั่งการให้ผู้ประกอบการคลังสินค้าหรือท่าเรือทั้งหมด ดำเนินกิจการในระบบปิด ไม่ปล่อยฝุ่นละออง น้ำเสีย หรือก่อเสียงดังมาก กระทบกระเทือนต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมโดยเด็ดขาด

3. ขอให้อธิบดีกรมเจ้าท่าสั่งผู้ประกอบการท่าเรือในอำเภอนครหลวงทั้งหมดดำเนินกิจการในระบบปิด และสั่งรื้อถอนท่าเทียบเรือในส่วนที่รุกล้ำลำน้ำป่าสักออกทั้งหมด รวมทั้งท่าเรือที่รับหรือทำการขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกที่มีน้ำหนักหรือระวางเกิน 500 ตันกรอส ให้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และให้เพิกถอนใบอนุญาตท่าเรือที่ฝ่าฝืนกับให้เอาผิดผู้ประกอบการเรือบาสที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านด้วย

4. ให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, คณะกรรมการว่าด้วยการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการควบคุมมลพิษ ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ในการออกมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม และให้สามารถตรวจสอบได้ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้ฟ้อง โดยให้รายงานการดำเนินงานให้ศาลและผู้ฟ้องทราบทุกๆ 30 วัน จนกว่าปัญหาจะหมดไป รวมทั้งให้ติดตั้งเครื่องมือวัดอากาศและเสียงในพื้นที่ทุกตำบลใน อ.คลองหลวง ตามมาตรฐานวิชาการ และรายงานผลการตรวจวัดให้สาธารณะทราบตลอดเวลา

5. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้ท้องที่อำเภอนครหลวงเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษานั้น

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า หลังจากยื่นฟ้องคดีท่าเรือนครหลวงต่อศาลปกครองเมื่อกุมภาพันธ์ปี 2559 โดยยื่นฟ้องเป็นคดีเดียวซึ่งศาลรับฟ้องไว้ในคดีหมายเลขดำที่ ส.7/2559 แต่ต่อมาศาลปกครองแบ่งผู้ฟ้องและบริษัทที่ร้องสอดออกเป็น 5 คดีตามเขตการปกครองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ คดีหมายเลขดำที่ ส.7/2559, ส.56/2559, ส.57/2559, ส.58/2559 และ ส.59/2559 โดยในทุกๆ คดีมีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นผู้ฟ้องที่ 1

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ปีที่ผ่านมาบริษัทผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้ร้องสอดที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและผู้ถูกฟ้องทุกรายได้ยื่นคำให้การต่อศาลเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานแล้วยื่นคำคัดค้านต่อศาล เพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าบริษัทเหล่านี้สร้างความเดือดร้อนจริง ซึ่งคาดว่าจะยื่นคำคัดค้านแล้วเสร็จทั้ง 5 คดีภายในเดือนมิถุนายนนี้

“หลังจากนี้ทั้งผู้ฟ้อง บริษัท และผู้ถูกฟ้อง อาจยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลได้อีกจนเพียงพอ แล้วศาลจะแสวงหาข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีถึงจะแล้วเสร็จ เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีใหญ่ ฉะนั้นเร็วที่สุดที่ศาลจะนัดสามารถพิจารณาคดีครั้งแรกได้น่าจะประมาณปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563” นายศรีสุวรรณกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากคดีฟ้องร้องดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสข่าวในพื้นที่อำเภอนครหลวงว่า บริษัทที่อยู่ในคดีความได้ซื้อตัวประชาชนให้ถอนฟ้องจากคดีต่างๆ จนทำให้ประชาชนที่ยังเป็นผู้ฟ้องคดีอยู่กังวลว่าจะทำให้คดีความหายไปนั้น นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ไม่ทราบข่าวเรื่องที่มีประชาชนถอนฟ้อง จึงตอบไม่ได้ว่ามีคนถอนฟ้องจริงหรือไม่ แต่คิดว่าศาลปกครองไม่น่าจะให้ถอนฟ้อง และถึงประชาชนจะถอนฟ้องได้คดีความก็ยังคงอยู่เพราะสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นผู้ฟ้องที่ 1 ไม่ถอนฟ้องแน่นอน

นายศรีสุวรรณกล่าวต่อว่า แม้ว่าคดีจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทต่างๆ จะสร้างความเดือดร้อนได้ต่อไป เพราะผู้ฟ้องยังสามารถขอคุ้มครองชั่วคราวได้ใหม่ถ้าเกิดความเดือดร้อนเสียหาย แม้ว่าก่อนหน้านี้ศาลจะยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อตอนยื่นฟ้องคดี