ThaiPublica > เกาะกระแส > คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ

คดีที่หายไป – 3 ปีคดีบิลลี่ “พอละจี รักจงเจริญ” ภรรยาระบุไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว มั่นใจระบบยุติธรรมแต่คนไม่ปฏิบัติ

10 เมษายน 2017


เป็นเวลา 3 ปีแล้ว ที่การหายตัวไปของ “พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ยังคงเป็นปริศนา

รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า มีพยานเห็นบิลลี่ครั้งสุดท้ายอยู่กับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน แต่หลังจากนั้น ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

กรณีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 หลังจากบิลลี่หายตัวไป ผู้ใหญ่บ้านบางกลอยได้ไปแจ้งความคนหายที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ต่อมาพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่า “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร” อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นำตัวบิลลี่ไป ซึ่งต่อมา “ชัยวัฒน์” ยอมรับว่า ควบคุมตัวบิลลี่ไว้จริง เพราะพบว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง จึงเรียกไปตักเตือน แต่ได้ปล่อยตัวไปแล้ว

หลังจากนั้น ตำรวจได้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดี โดยมีการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้อง และลงพื้นที่สืบสวนร่องรอยเส้นทางที่คาดว่าบิลลี่หายตัวไป ก่อนสรุปสำนวนส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินคดีกับชัยวัฒน์ข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

แต่ในส่วนคดีอาญาเกี่ยวกับการบังคับให้บิลลี่หายตัวไป ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก และดูเหมือนจะค่อยๆ เงียบหายไป

“พิณนภา พฤกษาพรรณ” หรือ “มึนอ” ภรรยาของ”พอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ. ที่หายตัวไป

ขณะที่ “พิณนภา พฤกษาพรรณ” หรือ “มึนอ” ภรรยาของบิลลี่ ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่ส่วนการหายของบิลลี่ แต่ต่อมาศาลยกคำร้อง โดยศาลระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

ต่อมา ภรรยาบิลลี่ยื่นหนังสือถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เข้ามาตรวจสอบคดีนี้เป็นคดีพิเศษ แต่หลังจากสืบสวนไปได้ระยะหนึ่ง ดีเอสไอส่งหนังสือถึงภรรยาบิลลี่เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า คณะกรรมการคดีพิเศษมีมติไม่รับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

ทว่า ความคืบหน้าล่าสุดกลับปรากฏว่า ดีเอสไอ ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธไม่รับเป็นคดีพิเศษไปแล้ว หวนกลับมาสืบคดีบิลลี่หายไปอีกครั้งหนึ่ง

“มึนอ-พิณนภา” ภรรยาบิลลี่ เปิดผยกับไทยพับลิก้าระหว่างร่วม “กิจกรรมลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน” ณ บ้านโป่งลึก บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จัดโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม – 1 เมษายน 2560 โดยบอกว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอมาตรวจสอบคดีบิลลี่เพิ่มเติมกับแม่ของบิลลี่ (นางโพโระจี รักจงเจริญ)

“เจ้าหน้าที่ที่ดีเอสไอเพิ่งลงมาสอบแม่พี่บิลลี่เมื่อวาน (30 มีนาคม 2560) ที่แก่งกระจาน สอบว่า บิลลี่เป็นลูกคนที่เท่าไหร่ แม่พี่บิลลี่มีลูกกี่คน แม่อายุเท่าไหร่ แม่รู้บ้างมั้ยว่าพี่บิลลี่มีปัญหาขัดแย้งกับใครหรือเปล่า แม่ตอบว่า ไม่มีปัญหาขัดแย้งกับใคร มีแต่ที่พี่บิลลี่ชอบทำงานเพื่อส่วนรวม ก็เลยน่าจะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่พอใจ”

ย้อนเหตุการณ์-สาเหตุ “บิลลี่” หายตัว

“มึนอ” เล่าย้อนเหตุการณ์หายตัวไปของบิลลี่ว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงสงกรานต์ เมษายน 2557 พี่บิลลี่อยู่ที่บ้าน อยู่กับครอบครัว ที่ตำบลป่าเด็ง (อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี) วันสุดท้ายที่เขาอยู่คือวันที่ 15 เมษายน ก่อนจะออกจากบ้านไป แต่ไม่ได้บอกว่าจะออกนอกบ้านไปค้างกี่คืน เขาบอกแค่ว่า เขามาทำหน้าที่ อบต. เพราะเขาเป็นสมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียงด้วย

“วันแรกที่เขาหาย ก็ไม่รู้นะ เขาหายวันที่ 17 เมษายน 2557 พอวันที่ 18 เมษายน พี่ชายพี่บิลลี่โทรถามหนูว่า เห็นบิลลี่กลับไปถึงบ้านหรือยัง หนูก็บอกว่ายังไม่เห็นเลย เพราะพี่บิลลี่บอกว่าจะไปทำหน้าที่ อบต. แล้วก็จะไปหาแม่ด้วย หนูก็ถามว่า ไม่เจอกันหรือ”

“พี่ชายพี่บิลลี่ก็บอกว่า เจอแล้วเมื่อวาน แต่พี่บิลลี่ลงมาข้างล่างแล้ว แต่มีคนบอกว่า มีคนเจอว่า พี่บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานควบคุมตัว ข้อหาที่เอาน้ำผึ้ง แล้วพี่ชายพี่บิลลี่ก็โทรหาพี่บิลลี่ไม่ติด ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เอาไปไว้ที่ไหน”

ถึงวันนี้ “มึนอ” เชื่อว่า การหายตัวไปของบิลลี่ไม่ใช่เรื่องน้ำผึ้งแน่นอน เธอเชื่อว่า เหตุของการหายตัวไปน่าจะเป็นเพราะบิลลี่ช่วย “ปู่คออี้” (นายโคอิ มีมิ) และชาวบ้าน ที่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เผาบ้าน เผายุ้งข้าว เมื่อปี 2554 พี่บิลลี่จึงเข้ามาช่วยเหลือปู่ พาปู่ไปฟ้องที่ศาลปกครอง น่าจะเป็นจากเรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องน่าจะไม่พอใจจากเรื่องนี้ ก็เลยจับตัวไป “เขา (บิลลี่) เคยบอกว่า เขาทำงานเพื่อปู่ ช่วยเหลือปู่ เขาทำเพื่อส่วนรวม และเขารักครอบครัวมาก ตอนนี้ถ้าพี่บิลลี่จะกลับมา หนูไม่เชื่อว่าจะมีวันนั้นแล้ว คือต้องทำใจตั้งแต่ที่พี่บิลลี่อยู่ที่บ้าน”

“พี่บิลลี่เคยบอกว่า ถ้าวันใดวันหนึ่งเขาเดินทางออกมาจากป่าเด็งมาถึงบางกลอยแล้วเขาหายไป ไม่ต้องเป็นห่วงเขานะ ไม่ต้องตามหาเขานะ ให้รู้เลยว่าเขาถูกฆ่าตาย เขาพูดให้ฟังนะ เพื่อนสนิทเขาก็พูดให้ฟังอย่างนี้”

“พอพูดให้ฟังแบบนี้ ก็เลยต้องทำใจตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งวันที่เขาหายไป ก็ไม่ได้รู้สึกตกใจนะ คิดในใจว่า พี่บิลลี่บอกไว้ก่อนแล้ว แล้วก็คิดอีกอย่างหนึ่งว่า ในเมื่อปัญหาเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีทางแก้ไขได้”

ภรรยาบิลลี่(ถือภาพ) และปู่คออี้ (ไม่ใส่เสื้อ) ถ่ายภาพร่วมกับมูลนิธิวัฒนธรรม แอมเนสตี้ ประเทศไทย และสื่อมวลชน ในกิจกรรมลงพื้นที่ส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน ณ บ้านโป่งลึกบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อ31 มี.ค.-1 เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา

การเรียกร้องความยุติธรรมของผู้หญิงตัวเล็กๆ

“มึนอ” เล่าว่า 3 ปีมานี้ที่บิลลี่ไม่อยู่ ชีวิตครอบครัวค่อนข้างลำบาก ต้องหาเลี้ยงชีพเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ 5 คน ต้องดูแลพ่อแม่ของเธอที่เจ็บป่วยบ่อยครั้ง รวมทั้งลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับสามี ท่ามกลางความยากลำบากในฐานะผู้หญิงชาวกะเหรี่ยงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง

ที่ผ่านมา “มึนอ” เดินสายไปยื่นหนังสือเรื่องคดีบิลลี่หลายครั้ง ทั้งกับเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้มีอำนาจ สถานทูต กระทั่งองค์การสหประชาชาติ ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ช่วยกระตุ้นและผลักดันความจริงเรื่องสามีของเธอให้ปรากฏ

“หนูไปยื่นหนังสือหลายครั้งจนจำไม่ได้ น่าจะมากกว่า 10 ครั้ง ไปหลายที่ด้วย ยูเอ็นก็เคยไปสถานฑูตเยอรมันก็เคยไป ที่สถานฑูตเยอรมันไปมาแล้ว 2 ครั้ง ไปเรียกร้องว่าคดีไม่คืบหน้า ก็ไปขอให้เขาช่วยกระตุ้นให้หน่อย ให้ผลักดันให้หน่อย”

ไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว

“แต่หนูก็เรียกร้องตามขั้นตอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้มาข่มขู่อะไร จะมีแต่ชาวบ้านด้วยกันในหมู่บ้าน เหมือนกับเขาเตือนว่า อย่าไปเดินเรื่องบิลลี่ เดี๋ยวจะหายเหมือนบิลลี่อีก บางครั้งโดนพูดมาอย่างนั้น ก็รู้สึกไม่พอใจ เพราะรู้สึกว่าตัวเองมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็เลยบอกชาวบ้านบางคนที่ไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับหนูนะว่า เราก็ไม่ได้ไปเรียกร้องนอกกฎหมาย ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ในใจคิดว่า ไม่มีความผิดอะไรที่จะต้องกลัว”

“ส่วนครอบครัวก็ลำบากค่ะ ตอนนี้หนูทำทุกสิ่งที่ทำได้ ทำไร่ ปลูกผัก ปลูกข้าว ทอผ้า แต่ปีนี้ไม่มีข้าว ก็ต้องซื้อข้าวกิน แล้วบ้านหนูอยู่ป่าเด็ง อยู่ในเขตอุทยานเหมือนกัน ต้องไปทำไร่อยู่ในเขตอุทยาน แล้วต้องแบกของเดินขึ้นเขา ก็ลำบาก”

“คือตอนที่พี่บิลลี่อยู่ก็ช่วยกันทำมาหากิน ช่วยกันปลูกพืชผักขาย ช่วนกันเก็บขาย ตอนนี้เหลือหนูกับลูก 5 คน แล้วก็พ่อกับแม่หนู ก็ไม่ค่อยสบายทั้ง 2 คน ถ้าทำคนเดียว รายได้ครอบครัวมันก็ไม่พอ”

“แต่ยังดีที่ลูกๆ มีเพื่อนๆ ของพี่บิลลี่ที่รู้จัก เขาก็ช่วยให้ทุนการศึกษา ทำให้ดีขึ้นหน่อย หนูก็ส่งเขาเรียนทุกคน เท่าที่ส่งได้นะ ถ้าส่งไม่ได้ ค่อยหาทางใหม่” มึนอเล่าถึงความเป็นอยู่ของครอบครัว

แม่ของบิลลี่

ความยุติธรรมมีอยู่จริง แต่มีคนไม่ได้ปฏิบัติตาม ไม่ได้ทำให้มีจริง

หลังจากดีเอสไอกลับมาสืบสวนคดีบิลลี่อีกครั้ง “มึนอ” ได้แต่หวังว่า ดีเอสไอจะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ เธอยังเชื่อลึกๆ ว่า ความยุติธรรมสำหรับเรื่องนี้ยังมีอยู่จริง

“ที่ผ่านมา ตั้งแต่ศาลเพชรบุรียกฟ้องโดยบอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ยังรู้สึกว่าความยุติธรรมมีจริง แต่ขึ้นอยู่กับคนที่ทำไม่ได้ปฏิบัติตาม ไม่ได้ทำให้มันมีจริง มันรู้สึกอย่างนั้น พอคิดมากๆ เข้าก็รู้สึกว่า บนโลกนี้ความยุติธรรมไม่มีจริง”

“มึนอ” กล่าวว่า หลังจากนี้ ในทางกฎหมายเธอไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรได้อีก เพราะเขา (ดีเอสไอ) บอกว่าหนูไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็เลยต้องอยู่ที่แม่พี่บิลลี่ว่าจะมอบอำนาจให้หนูไปเดินเรื่องต่อ ถึงตอนนั้นหนูถึงจะเดินเรื่องต่อได้ แต่ตอนนี้ทางดีเอสไอ ก็ลงมาสอบปากคำแม่พี่บิลลี่เอง เขาบอกว่า ตามกฎหมายต้องสอบที่แม่ สอบที่หนูไม่ได้ ก็ไม่อึดอัดนะ แต่ก็คิดว่า โลกนี้ความยุติธรรมมีไม่จริง ถ้ามีจริง คงไม่เกิดเรื่องอย่างนี้ขึ้น

ร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย ความหวังที่ยังไม่เป็นจริง

“สุรพงษ์ กองจันทึก” ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อดีตประธานคณะอนุกรรมาการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ นักกฎหมายที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือคดีอย่างต่อเนื่อง กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วยความหวังว่า ดีเอสไอจะรับคดีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

“ผมไม่คิดไกลว่ารับแล้วจะทำอะไรต่อ แต่ขอให้รับก่อน เพราะขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่าจะรับหรือไม่ ขอแค่ว่าให้รับก่อน พอรับแล้วจะทำงานร่วมกันอย่างไร เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องมาทำงานร่วมกันกับหลายๆ ฝ่ายที่จะต้องช่วยกัน ช่วยกันนำความจริงออกมา”

“สุรพงษ์” บอกว่า ไม่อยากให้บิลลี่หาย และหวังลึกๆ แบบลมๆ แล้งๆ ว่าบิลลี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ก็ยอมรับในข้อเท็จจริงขณะนี้ว่า เมื่อระยะเวลานานขึ้น โอกาสที่บิลลี่จะเสียชีวิตก็สูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นอย่างนั้น ความหวังก็คือการได้เจอร่างของบิลลี่ เพื่อนำมาทำพิธีทางศาสนา

“ตราบใดที่เรายังไม่เห็นว่าบิลลี่เสียชีวิต ก็ยังมีความหวังลึกๆ ขณะเดียวกันเราอยากให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏออกมา และเชื่อว่าสักวันความจริงต้องออกมา หวังว่าสังคมไทยจะช่วยกันทำให้ความจริงเรื่องนี้ปรากฏออกมา โดยเฉพาะรัฐบาลและข้าราชการ และหวังว่ากรณีของบิลลี่จะเป็นกรณีสุดท้ายในการอุ้มหายแบบนี้”

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังหวังว่า ในอนาคตร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. จะมีผลบังคับใช้ในประเทศไทย แม้เมื่อเร็วๆ นี้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะไม่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม

“การอุ้มหายไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย เกิดมานานแล้วทั่วโลก และทั่วโลกก็ตกลงกันที่จะออกเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศร่วมกัน ประเทศไทยก็ยอมรับในหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งวันนี้ประเทศไทยคบหากับทั่วโลก มีรายได้สูงสุดจากการท่องเที่ยว ดังนั้น เมื่อประเทศไทยคบค้ากับทั่วโลก ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีต่อทั่วโลก”

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหน คำนึงถึงการมองของต่างประเทศ เพราะเรายังต้องค้าขาย ยังต้องทำเรื่องท่องเที่ยว เรายังหวังตลอดเวลาว่า รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เพราะต้องมีการชี้แจงกับต่างประเทศมากขึ้น”

“หากกฎหมายอุ้มหายผ่านและมีผลออกมา จะช่วยได้มากในกรณีของบิลลี่ และกรณีทนายสมชาย นีละไพจิตร กฎหมายฉบับนี้จะช่วยในการค้นหาเรื่องของคนหาย ช่วยให้คดีทรมานและคนหาย ได้รับการคลี่คลาย”

ทุกวันนี้ “มึนอ-พิณนภา” ภรรยาบิลลี่ และผู้ร่วมอุดมการณ์ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเธอ ยังคงเดินหน้าต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป ท่ามกลางความหวังว่า สักวันหนึ่งความจริงเรื่องนี้จะปรากฏ