ThaiPublica > คอลัมน์ > การแปลงข้อมูลรัฐเป็น “ข้อมูลเปิด” (open data): บางบทเรียนจากทั่วโลก

การแปลงข้อมูลรัฐเป็น “ข้อมูลเปิด” (open data): บางบทเรียนจากทั่วโลก

11 เมษายน 2017


สฤณี อาชวานันทกุล

วันนี้คงไม่ต้องอธิบายแล้วว่า “ข้อมูลเปิด” หรือ open data โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ นั้น สำคัญเพียงใดต่อการพัฒนาประชาธิปไตยสมัยใหม่ซึ่งไม่ได้ขับเคลื่อนแต่ในสภา หากแต่ต้องอาศัยการเพิ่มพลังประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็หมายความว่ารัฐจะต้องโปร่งใสกว่าที่เป็นมาทุกยุค

รัฐบาลทั่วโลกทยอยขานรับ “ข้อมูลเปิด” ไม่ใช่เพราะประชาชนเรียกร้องอย่างเดียว แต่เพราะมองเห็นประโยชน์นานัปการต่อตัวรัฐเอง บางประเทศมองเห็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วย ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลเม็กซิโกประกาศว่า ข้อมูลเปิดเป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ขาดไม่ได้ในการบรรลุเป้าหมายต่างๆ อาทิ การปฏิรูปบริการสาธารณะ เศรษฐกิจดิจิทัล การศึกษาคุณภาพ ระบบประกันสุขภาพที่มีประสิทธิผล และความปลอดภัยของพลเรือน รัฐบาลเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและสะท้อนความคิดเห็นต่อนโยบายข้อมูลเปิดตั้งแต่เนิ่นๆ และบูรณาการข้อมูลเปิดเข้ากับเป้าหมายการพัฒนาระดับชาติ โดยมีกรณีที่ประสบความสำเร็จจากการแปลงข้อมูลเป็นข้อมูลเปิดมากมาย เช่น การค้นพบวิธีใหม่ๆ ในการบรรเทาอัตราการตายของมารดา (อ่านรายละเอียดได้จากเว็บนี้)

ในอินเดีย เวทีข้อมูลเปิดระดับชาติเปิดตัวพร้อมกับนโยบายรัฐ (เขียนขึ้นโดยผ่านการปรึกษาหารือกับประชาชน) ที่กำหนดให้ทุกกระทรวงต้องเปิดเผยชุดข้อมูล (datasets) ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ต่อมาในชั้นปฏิบัติการ รัฐบาลก็เน้นการส่งเสริมให้ฝ่ายต่างๆ ภายในแต่ละหน่วยงานราชการแสดงตัวเป็นเจ้าของข้อมูล และเข้ารับการพัฒนาทักษะ ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้ประชาชนเสนอ ให้คะแนน แชร์ หรือเข้ามาค้นดูชุดข้อมูล ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 15,000 ชุดที่เผยแพร่แล้วสู่สาธารณะ

รัฐบาลเกาหลีใต้ก็จัดตั้งเวทีข้อมูลเปิดระดับชาติเช่นกัน แต่มองแง่มุมทางเศรษฐกิจมากกว่าอินเดีย โดยรัฐบาลประกาศว่าเป้าหมายหลักของเวทีข้อมูลเปิด คือ การสร้างอุตสาหกรรมและงานใหม่ๆ ผ่านการให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้ข้อมูลสาธารณะ (โดยเฉพาะข้อมูลที่ภาครัฐไม่เคยเปิดเผย) ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงตั้งเป้าที่ประมาณข้อมูล กระตุ้นอุปสงค์จากภาคเอกชน เปลี่ยนผ่านไปสู่การให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการมากขึ้น และสนับสนุนบริษัทเกิดใหม่หรือสตาร์ทอัพ

ไม่ว่าขบวนการผลักดัน “ข้อมูลเปิด” จะเกิดในทวีปไหน ประเทศใด ภายใต้บริบททางการเมืองและวัฒนธรรมแบบไหนก็ตาม ความก้าวหน้าของทุกประเทศในเรื่องนี้ รวมทั้งตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น ล้วนแต่เกิดจากปัจจัยเกื้อหนุนสามประการ นั่นคือ การแสดงภาวะผู้นำของรัฐ การได้รับความสนับสนุนอย่างแข็งขันและต่อเนื่องจากผู้มีอำนาจทางการเมือง รวมถึงการเปิดให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนและสื่อ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตั้งแต่เนิ่นๆ ตลอดจนสร้างกระบวนการเรียนรู้จากพวกเขาว่าอยากได้ข้อมูลประเภทไหนและเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง

ดร. โจนาธาน เกรย์ (Jonathan Gray) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลแถวหน้าของโลกและผู้บุกเบิกโครงการข้อมูลเปิดมากมาย (โครงการหนึ่งที่ผู้เขียนชอบมากคือ Open Data for Tax Justice) สรุปบทเรียนที่เขาได้รับจากการเข้าไปช่วยภาครัฐปลุกปล้ำกับข้อมูลและจัดทำโครงการข้อมูลเปิดมากมาย ไว้ในบล็อกตังแต่ปี ค.ศ. 2010 (อ่านต้นฉบับ) อย่างน่าคิดอย่างยิ่ง ผู้เขียนจึงอยากสรุปบางตอนมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้

“นักเทคโนโลยีชอบเน้นเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งผมก็ผิดพอๆ กับอีกหลายคน ตอนที่เราทำโครงการ Open New Zealand [โครงการข้อมูลเปิดของรัฐบาลนิวซีแลนด์] เราก็วิ่งตรงไปสร้าง “แคตาล็อก” ทันที …ฐานข้อมูลที่อยู่บนเว็บ เราบอกว่าเอาล่ะ มาคิดกันว่า user interface จะไหลยังไง เราต้องการลักษณะข้อมูลแบบไหน เอาโฮสติ้งที่ไหนดี ฯลฯ เรากังวลเรื่องโค้ด CSS มากกว่าคิดถึงคนที่จะมาใช้งานมันจริงๆ

“เรื่องนี้คล้ายกันมากกับความล้มเหลวของบริษัทซอฟต์แวร์โค้ดเปิด (open source) …หลายบริษัทคิดเอาเองว่าจะได้ประโยชน์เต็มที่จากโค้ดเปิด ถ้าเพียงแต่จะเผยแพร่โค้ดนั้นต่อสาธารณะ [แต่คิดแบบนั้นผิดมหันต์] โค้ดเปิดจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ คุณสร้างมันได้ แต่คนอาจไม่มา …โครงการโค้ดเปิดที่ประสบความสำเร็จทุกโครงการสร้างชุมชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นกองหนุน คนที่ชื่นชอบโครงการนี้และลงแรงปรับปรุงให้มันมีประโยชน์เสมอ

“ทั่วโลกวันนี้เราได้เห็นแคตาล็อกข้อมูลมากมาย เสร็จแล้วคนทำก็คิดขึ้นมาได้ว่าจะต้องสร้างชุมชนของผู้ใช้ข้อมูล จริงอยู่ที่ว่า ข้อมูลภาครัฐมีคุณค่าอยู่ภายใน แต่คุณจะมองเห็นคุณค่านั้นจริงๆ ก็ต่อเมื่อชุดข้อมูลถูกนำไปใช้ ทันทีที่คุณสร้างแคตาล็อกเสร็จ คุณก็ต้องคิดเรื่องการตลาด ให้คนรู้ว่ามันอยู่ตรงนี้นะ ไม่ใช่แค่บอกกับนักพัฒนาอินเทอรเน็ตที่ไหนก็ไม่รู้ แต่บอกทุกคนที่สามารถปลดล็อกคุณค่านั้นออกมาได้ คนประเภทที่ “สามารถใช้ข้อมูลเปิดในการทำงานของพวกเขา” รวมถึงนักวิจัย สตาร์ทอัพ บริษัทผู้ครองตลาด หน่วยงานรัฐหน่วยอื่น และแน่นอน รวมถึงแฮ็กเกอร์อินเทอร์เน็ตด้วย แต่คนประเภทนี้ไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ และไม่มีวิธีไหนที่คุณจะติดต่อพวกเขาได้ง่ายๆ

“เรื่องนี้สำคัญมากเพราะการแปลงข้อมูลให้เป็นข้อมูลเปิดนั้นต้องใช้เงิน เรื่องนี้ฟังเหมือนเป็นข้ออ้างและหลายคนก็ชอบอ้าง แต่มันก็เป็นปัญหาจริงๆ – ขั้นตอนต่างๆ และตัวชุดข้อมูลดั้งเดิมนั้นไม่ได้ถูกออกแบบ จัดการ หรือเผยแพร่ด้วยวิธีเปิด ซึ่งก็หมายความว่าข้อมูลนั้นน่าจะไม่สมบูรณ์ ระบบจัดเก็บไม่ค่อยดี ระบบที่รองรับมันถูกสร้างมาใช้งานภายในเท่านั้น และก็ไม่เคยมีใครวางกระบวนการอย่างเป็นทางการที่จะจัดการและอัพเดทข้อมูล การค้นหากระบวนการใหม่ๆ [ที่สอดรับกับข้อมูลเปิด] การสร้างหรือซื้อระบบใหม่ๆ และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ล้วนแต่ใช้เงินและเวลาทั้งสิ้น

“ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้การปล่อยและแปลงข้อมูลทั้งหมดเป็นข้อมูลเปิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องจากมุมมองเชิงปรัชญา มันก็ต้องใช้เงิน รัฐบาลจึงอยากระบุให้ชัดว่า “ชุดข้อมูลคุณค่าสูง” (high-value datasets) มีอะไรบ้าง ชุดข้อมูลอะไรจะสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ ปรับปรุงประสิทธิภาพของรัฐ ให้ข้อมูลที่ยิ่งใหญ่แก่ประชาชน หรือปลดล็อกมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ดีที่สุด? หน่วยงานด้านนโยบายของรัฐไม่มีทางรู้เลยว่าพวกเขามีข้อมูลอะไร และคนต้องการข้อมูลอะไร ถ้าหากไม่ได้สร้างหรือมองไม่เห็น “ชุมชนผู้ใช้ข้อมูล” ที่สามารถให้คำตอบได้.”

ป้ายคำ :