ThaiPublica > เกาะกระแส > ส.ค.อ.: ส่งความสุขออนไลน์ซินโดรม โรคใหม่ผู้สูงวัยยุคประเทศไทย 4.0

ส.ค.อ.: ส่งความสุขออนไลน์ซินโดรม โรคใหม่ผู้สูงวัยยุคประเทศไทย 4.0

3 เมษายน 2017


เสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “ส.ค.อ. (ส่งความสุขออนไลน์) ซินโดรม โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0” ณ สมาคมบ้านปันรัก ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560

นักวิชาการชี้ผู้สูงอายุไทยใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น เสี่ยงเป็นโรคส่งความสุขออนไลน์ซินโดรม หรือติดการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งการใช้ที่มากหรือน้อยเกินไปจะสร้างความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุมากกว่าส่งความสุข แต่หากผู้สูงอายุใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอดีก็มีความสุข เชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นได้ และสร้างความสุขให้ผู้สูงวัยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 สมาคมบ้านปันรัก จัดเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง “ส.ค.อ. (ส่งความสุขออนไลน์) ซินโดรม โรคใหม่ของผู้สูงวัยยุค 4.0” โดยมีวิทยากรคือ ดร.วีรณัฐ โรจนประภา และอาจารย์กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง ณ สมาคมบ้านปันรัก ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัยและนายกสมาคมบ้านปันรัก กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2568 และคาดว่าอีก 15 ปีประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุยิ่งยวด คือ มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น แม้แต่ในผู้สูงอายุก็ต้องปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อลดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยและช่วยให้ผู้สูงอายุอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเห็นคุณค่าในตัวเอง

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทันสมัยมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุสามารถพูดคุยกับคนอื่นๆ โดยเฉพาะลูกหลานได้ตลอดเวลาผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้สูงอายุควรจะเรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็นและนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อได้พูดคุยกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่ได้อยู่ด้วยกันทุกวัน แต่ผู้สูงอายุบางส่วนมีปัญหาเรื่องการใช้งานเทคโนโลยี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ปฏิเสธเทคโนโลยีหรือใช้โซเชียลมีเดียน้อยเกินไป และกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป

“การติดโซเชียลมีเดียเป็นโรคของคนทั่วโลก เพราะทุกคนกลัวตัวเองไม่ทันสมัย แต่สำหรับผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้อย่างมีสติและพอประมาณ เพราะผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อครอบครัวสูงมาก ดังนั้นจึงได้วิจัยการใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอประมาณและมีความสุขในเชิงพระพุทธศาสนาของผู้สูงอายุ การใช้โซเชียลมีเดียที่มีอย่างมีความสุขมากที่สุดคือ 1. สามารถวางโทรศัพท์ได้อย่างน้อย 1.30-2 ชั่วโมงก่อนจะหยิบโทรศัพท์ใช้ในครั้งต่อไป 2. ใช้โทรศัพท์แต่ละครั้งไม่เกิน 15-30 นาที และ 3. จำนวนชั่วโมงในการใช้โทรศัพท์รวมต่อวันไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง ซึ่งหากผู้สูงอายุใช้โซเชียลมีเดียน้อยเกินไปหรือมากเกินไปกว่านี้ก็จะทำให้เกิดความทุกข์มากกว่าความสุขได้” ดร.วีรณัฐกล่าว

การจัดเวิร์กชอปโซเชียลมีเดียให้ผู้สูงอายุ ณ สมาคมบ้านปันรัก ซอยอารีย์ กรุงเทพฯ เมื่อ 29 มีนาคม 2560

ด้านอาจารย์กนกกาญจน์ บัญชาบุษบง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุเมื่อเกษียณอายุงานแล้วจะเป็นกลุ่มที่มีเวลาว่างมากจนทำให้เกิดความเหงา หรือมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ต้องการการพูดคุย การเอาใจใส่ และต้องการสื่อสารกับคนในครอบครัวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะแอปพลิเคชันไลน์ เพื่อช่วยคลายความเหงา ความคิดถึงลูกหลาน ที่มีโอกาสพบปะกันน้อย โดยส่วนใหญ่แล้วผู้สูงอายุมักถนัดส่งภาพ คลิปวีดีโอ หรือการคุยแบบเห็นหน้ากันผ่านสื่อสังคมออนไลน์มากกว่าการพิมพ์ข้อความ

“โซเชียลมีเดียทดแทนความรักไม่ได้ แต่เติมเต็มความสัมพันธ์ที่ขาดหายได้ ดังนั้นลูกหลานจึงไม่ควรละเลยการพบปะเห็นหน้าหรือละเลยการสื่อสารกับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะการไม่ตอบรับหรือการตอบกลับมาแบบห้วนๆ จากลูกหลานก็สร้างความเครียดและความทุกข์ให้กับผู้สูงอายุได้” อาจารย์กนกกาญจน์กล่าวและว่า การใช้โซเชียลมีเดียที่มากเกินไปสร้างผลเสียต่อผู้สูงอายุในเรื่องสุขภาพด้วย เช่น สายตาและอาการปวดหลัง นอกจากนี้ยังสร้างความตื่นตระหนกจากการเสพข่าวเกี่ยวกับสุขภาพที่แชร์อยู่ในโลกออนไลน์จำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือด้วย และกระทบต่อกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลืมเดินออกกำลังกาย

นางรัชนี ติ้วงามพริ้ง อายุ 68 ปี สมาชิกบ้านปันรัก กล่าวว่า โซเชียลมีเดียแรกที่เริ่มใช้คือเฟซบุ๊ก โดยใช้คุยกับลูกช่วงที่ลูกไปเรียนต่างประเทศ พอได้ใช้ก็รู้สึกดีเพราะทำให้คุยกับลูกได้ง่าย ต่อมาก็ใช้คุยกับเพื่อนๆ บ้าง จึงทำให้เห็นปัญหาจากโซเชียลมีเดียจากเพื่อนๆ คือ บางคนใช้มาก ทำให้รู้ข่าวสารมากมายจนเครียด ส่วนบางคนก็ไม่ใช้เลย เพราะกลัวโซเชียลมีเดีย ก็กลายเป็นรู้น้อย ดังนั้นจึงพยายามบอกเพื่อนๆ ให้ใช้ทางสายกลาง ใช้แต่พอดี

“ทุกวันนี้เราใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่า ใช้เวลากับมือถือมากเกินไป บางครั้งเงินหมดไปกับค่าเน็ตโดยไม่รู้ตัว ทำให้สิ้นเปลืองมาก หากไม่ได้ทำธุรกิจออนไลน์อะไร” นางรัชนีกล่าวและว่า สื่อออนไลน์ทำให้คนขาดสัจจะมากขึ้น เช่น ความตรงต่อเวลา เดิมคนจะรีบมาตามนัดเพราะกลัวคนอื่นจะรอ แต่ปัจจุบันถามไถ่ว่าอยู่ไหนกันจนวินาทีสุดท้ายถึงออกจากบ้านเพราะไม่อยากมารอตามนัด