ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ประเมินผล “Integrity Pact” โครงการซื้อรถเมล์ NGV ชี้เป็นกรณีตัวอย่าง ศึกษาปิดรูรั่วรองรับ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฉบับใหม่

ประเมินผล “Integrity Pact” โครงการซื้อรถเมล์ NGV ชี้เป็นกรณีตัวอย่าง ศึกษาปิดรูรั่วรองรับ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ฉบับใหม่

22 เมษายน 2017


วันที่ 30 กันยายน 2559 นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน พร้อมระบบซ่อมบำรุง กับนายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธาน บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด

3 ปี นับจากวันที่ ครม. มีมติ ให้บรรจุโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นโครงการนำร่องของรัฐบาล ในการนำระบบข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact: IP) มาบังคับใช้ โดยกำหนดให้ 3 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย ขสมก., เอกชนที่เข้าประมูลงานทุกราย และผู้สังเกตการณ์ (Observer) ต้องลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน ว่า “จะไม่กระทำการใดๆ ที่ส่อไปในทางทุจริต เช่น ไม่เรียกรับสินบนหรือผลประโยชน์อื่นใด และจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม โดยยอมให้มีบุคคลที่ 3 ที่มาจากภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ ตั้งแต่เริ่มยกร่างขอบเขตของงาน (TOR) จนถึงสิ้นสุดสัญญา”

บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล โดยครั้งนั้นคณะผู้สังเกตการณ์ไม่พบความผิดปกติใดๆ จึงทำรายงานเบื้องต้นถึง ขสมก. รับรองการประมูลครั้งนี้ว่าโปร่งใส จากนั้นทาง ขสมก. ได้มีการลงนามในสัญญาจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีกับบริษัทเบสท์รินฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2559 ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ระบุว่า บริษัทเบสท์รินฯ ต้องนำรถเมล์เอ็นจีวีผลิตจากประเทศจีน ประกอบที่โรงงานประเทศมาเลเซียจำนวน 489 คัน มาส่งมอบให้ ขสมก. ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2559

ระหว่างที่บริษัทเบสท์รินฯ กำลังนำรถเมล์มาส่งมอบให้ ขสมก. ปรากฏว่าบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีให้บริษัทเบสท์รินฯ ถูกกรมศุลกากรสั่งอายัดรถเมล์เอ็นจีวี 100 คัน พร้อมกับแจ้งข้อหาสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) เป็นเท็จ เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษี ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบหลักฐานรถเมล์ลอตนี้นำเข้าจากจีน ไม่ได้ผลิตจากมาเลเซียตามที่ระบุในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ส่วนการนำเข้ารถเมล์เอ็นจีวีที่เหลืออีก 389 คัน บริษัทซุปเปอร์ซาร่าแจ้งในใบขนสินค้าเป็นรถที่มีถิ่นกำเนิดมาเลเซีย แต่ขอสงวนสิทธิ์นำหลักฐานมาโต้แย้งกับกรมศุลกากรภายหลัง และยอมจ่ายภาษีอัตรา 40% ของมูลค่า เพื่อนำรถออกจากด่านศุลกากรไปส่งมอบให้ ขสมก.

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 กรมศุลกากรนำสำนวนคดีพร้อมหลักฐานทั้งหมดส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ดำเนินคดีในชั้นศาล ขณะที่นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก. ส่งหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาซื้อรถเมล์เอ็นจีวีถึงบริษัทเบสท์รินฯ เนื่องจากบริษัทไม่สามารถส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวี 489 คันได้ตามสัญญา

นับจากวันที่มีการลงนามในข้อตกลงคุณธรรม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นกับโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง จากโครงการที่ถูกคัดเลือกขึ้นมาเป็นโครงการนำร่องที่มีความโปร่งใส ถึงวันนี้กลายเป็นโครงการที่ถูกดำเนินคดีข้อหาสำแดงเท็จ หลบเลี่ยงภาษี และถูกยกเลิกสัญญา เพราะไม่สามารถส่งมอบรถได้ตามสัญญา

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้สอบถามเรื่องนโยบายนำร่องข้อตกลงคุณธรรมต่อนายต่อตระกูล ยมนาค หนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์ของโครงการนี้อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำรายงาน รับรองการประมูลมีความโปร่งใส ถึงวันนี้คณะผู้สังเกตการณ์ดำเนินอย่างไรต่อไป เนื่องจากในคู่มือการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม กำหนดให้คณะผู้สังเกตการณ์มีหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงในการทุจริตคอร์รัปชันของโครงการนี้ไปจนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด

รศ.คร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ
นายต่อตระกูล ยมนาค หนึ่งในคณะผู้สังเกตการณ์ของโครงการนี้

นายต่อตระกูลเปิดเผยว่า ความจริงผู้สังเกตการณ์จะมีหน้าที่กำกับดูแลความเสี่ยงในเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน เริ่มตั้งแต่ก่อนประมูล และหลังการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว หน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ก็ยังไม่จบ ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา คณะผู้สังเกตการณ์ได้ทำรายงานถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้สรุปผลการประเมินโครงการ เพราะเรื่องนี้ยังไม่จบ เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องและยอมรับโครงการนี้เป็นปัญหาใหญ่มาก ทางคณะผู้สังเกตการณ์จึงตั้งใจที่ทำการศึกษาอย่างละเอียด เพื่อใช้เป็นกรณีตัวอย่าง ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่างๆ เหล่านี้อีกต่อไป

นายต่อตระกูลกล่าวต่อว่า “ถ้าคิดในแง่ร้าย ก็ยอมรับว่าไม่ได้ผล แต่ถ้าคิดในแง่ดี การที่รัฐบาลให้ทั้ง 3 ฝ่ายมาร่วมลงนามในข้อตกลงคุณธรรม (IP) ก็ยังดีกว่าไม่มี เพราะหากไม่มี IP ก็อาจจะมีการเขียนสเปกกันไปจนเกิดการฮั้วประมูลได้ และถ้าไม่มี IP กรมศุลกากรก็อาจจะไม่มีข้อมูลบางอย่าง สำหรับหน่วยงานปกติที่มีความจริงใจ การทำข้อตกลงคุณธรรมถือเป็นเกราะป้องกันตัวผู้บริหารของหน่วยงานนั้นๆ ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ แต่คงป้องกันไม่ได้ 100% ส่วนหน่วยงานที่มีปัญหามีพ่อค้าเข้าไปรุมล้อม ก็อาจจะป้องกันไม่ได้ผล 100% แต่ตนเชื่อยังดีกว่าไม่มี IP แน่นอน การทำข้อตกลงคุณธรรมไปแล้วมีเรื่องขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายความว่า IP ใช้ไม่ได้ผล แต่เมื่อทำ IP ไปแล้ว มีคนเห็น และมีคนกล้าที่จะให้ข้อมูล ผู้ใหญ่ก็ไม่กล้าเอาด้วย ตนคิดว่ามี IP ดีกว่าไม่มี อย่างโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่ทำ IP ปรากฏว่าเรื่องเงียบ ก็อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ไม่เปิดเผยข้อมูล จึงไม่เป็นข่าว”

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้สังเกตการณ์ทำรายงานถึงองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริตอย่างไรนายต่อตระกูลกล่าวว่า”ประเด็นนี้ต้องไปสอบถามองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ”

จากข้อมูลสรุปผลการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันทุจริต (Anti-Corruption Cooperation Commitee) ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 10 เมษายน 2560 ที่มีนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติว่า “เนื่องจากมีข้อพิพาทเกี่ยวกับการสำแดงการนำเข้าเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และ ขสมก. ได้มีข้อหารือไปยังอัยการสูงสุดและได้รับคำตอบว่า หากปรากฏว่าในชั้นที่สุด ผู้ขายไม่สามารถชำระภาษีและค่าปรับ รถดังกล่าวอาจถูกริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร อันจะทำให้ ขสมก. เสียหาย จึงเสนอแนะให้ ขสมก. รอผลการพิจารณาของกรมศุลกากรให้ได้ข้อยุติก่อน และไม่ควรจะดำเนินการอะไรต่อไป จนกว่าจะทราบผลการพิจารณาของกรมศุลกากร”

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันทุจริต ยังมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการยกร่างประกาศและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรม ภายหลัง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคาดว่ามีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2560 โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบดังนี้

    1.แนวทางดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบาย

    2.ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบาย

    3.ร่างแผนงานการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม มาตรฐานขั้นต่ำ และแนวทางการป้องกันการทุจริต

    4.นำแนวทางการดำเนินงานตามข้อตกลงคุณธรรม และมาตรฐานขั้นต่ำของนโยบาย และแนวทางป้องกันการทจริตเสนอคณะอนุกรรมการ และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเห็นชอบ ก่อนจะนำประกาศใช้ต่อไป

สำหรับผลการดำเนินงานโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2560) มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 34 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 140,465 ล้านบาท โดยมีผู้สังเกตการณ์ทั้งสิ้น 180 คน และได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 23 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 32,201 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณไปได้ 6,162 ล้านบาท