ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ หวังมี รธน. ใหม่แล้วสถานการณ์ดีขึ้น-ไฟเขียวงบกลาง 6,281.5 ล้านสร้างความเข้มแข็งศก.ในประเทศฯ – ยกเลิก 5 พ.ค. วันหยุดราชการ

นายกฯ หวังมี รธน. ใหม่แล้วสถานการณ์ดีขึ้น-ไฟเขียวงบกลาง 6,281.5 ล้านสร้างความเข้มแข็งศก.ในประเทศฯ – ยกเลิก 5 พ.ค. วันหยุดราชการ

11 เมษายน 2017


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน

หวังมี รธน. ใหม่แล้วสถานการณ์ดีขึ้น

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีฝ่ายการเมืองเรียกร้องให้งดใช้คำสั่งตามมาตรา 44 หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ว่า ทำไมเขาถึงไม่อยากให้ใช้ ที่ผ่านมาตนใช้เพื่อแก้ปัญหา หากไม่มีปัญหาจะไปใช้ทำไม ไปกลัวมาตรา 44 กันทำไม ซึ่งคนทั่วไปไม่ได้เดือดร้อน มีแต่นักการเมืองที่เดือดร้อน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าตนจะใช้อำนาจดังกล่าวเท่าที่จำเป็น และพยายมอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ และในช่วงสงกรานต์ยังไม่มีการพิจารณาที่จะยกเลิกคำสั่ง คสช. ฉบับใด ทุกอย่างยังเหมือนเดิม

ต่อคำถามที่ให้นายกรัฐมนตรีประเมินสถานการณ์บ้านเมืองหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นสิริมงคลและเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันจักรี ดังนั้น คาดหวังว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วทุกคนจะใจเย็นลงบ้าง เพราะอย่างน้อยได้เริ่มนับหนึ่งให้แล้ว เป็นไปตามขั้นตอนเดิมทั้งสิ้น แต่อาจจะมีคลาดเคลื่อนเล็กน้อยในเรื่องของการมี 2 พระราชพิธีเกิดขึ้น ซึ่งการหาเสียงหรืออะไรต่างๆ ก็ควรจะเป็นไปหลังจากนี้

ยังไม่สรุปความเห็น สปท. – ขอกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อยู่ในความสงบ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาต้านข้อเสนอสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) ให้อยู่ในวาระได้ 5 ปี ว่า เรื่องนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นของคน 2 กลุ่ม คือ สปท. ที่เห็นว่าควรปรับปรุงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาวันข้างหน้า ซึ่งเขาสามารถคิดหรือเสนออะไรก็ได้ แต่ทั้งหมดต้องมาทบทวน ส่วนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตนก็เคารพในการทำงาน เพราะเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดประชาชนมาตลอด ก็ต้องมาดูว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน

“ที่ผ่านมาผมยังไม่ได้มีดำริอะไรกับเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าผมต้องการให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ระหว่างนี้ ในเมื่อยังไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ก็ขอให้ทางสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยช่วยดูแลบุคลากรของท่าน เราคนไทยด้วยกัน และถ้าเราเคลื่อนไหวกันมากๆ ก็จะกลายเป็นว่าประชาชนไม่ไว้วางใจ ก็จะมองว่าเคลื่อนไหวเป็นการส่วนตัว ผมว่าเอาประเทศชาติมาก่อนดีกว่า อยู่กันเฉยๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ขั้นตอนการพิจารณาต่างๆ ก็ขอให้เป็นขั้นตอนไป เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอน รัฐบาลรับมาแล้วก็ต้องมาศึกษา เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็อีกเรื่อง อาจจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาก่อนที่จะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ชี้ไทยแก้ปัญหาเองได้ ไม่ต้องพึ่งองค์กรระหว่างประเทศ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีกลุ่มบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ประกาศพร้อมเข้าร่วมเจรจาสันติภาพชายแดนใต้และตั้งเงื่อนไขต่างๆ ว่า ขออย่าขยายความการเผยแพร่ข่าวของกลุ่มต่างๆ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งไม่ว่าใครที่อยากจะออกมาพูดคุยต้องประสานมาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวก เพราะรัฐบาลไม่สามารถพูดคุยกับคนที่มีรายชื่อในกลุ่มก่อความไม่สงบภายในประเทศได้ โดยกลุ่มดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มเห็นต่างที่มีส่วนน้อยเท่านั้น ทั้งนี้สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ และไม่จำเป็นต้องใช้องค์กรต่างประเทศ

ต่อคำถามเรื่องการเฝ้าระวังสถานการณ์หลังเกิดเหตุระเบิดขึ้นที่หน้ากองสลาก ถ.ราชดำเนิน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า จากเหตุดังกล่าวก็ขอให้มีครั้งเดียวพอ ต้องติดตามตัวคนร้ายให้ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้มงวดขึ้น แม้การจับกุมดำเนินคดีจะไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเฝ้าระวังและสังเกต จะช่วยให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลเพิ่มเติม เพราะเพียงข้อมูลจากกล้องวงจรปิดนั้นไม่เพียงพอ

กำชับบันทึกสถิติอุบัติเหตุให้ชัด – ติดวงจรปิดที่จุดตรวจ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีการออกมาตรการความปลอดภัยในการโดยสารรถสาธารณะ รวมถึงการนั่งท้ายรถกระบะว่า มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่จะใช้ต่อเนื่อง ต้องเริ่มจากการเตรียมการ เพราะออกมาแล้วทุกคนก็ตื่นตัวพอสมควร ถึงแม้จะยังปฏิบัติไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทุกคนก็ควรเพิ่มความระมัดระวัง

รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่า กฎหมายที่ออกมากว่า 20 ปีแล้วนั้นไม่สามารถยกเลิกได้ ซึ่งตนก็เข้าใจถึงความยากลำบากในการเดินทาง รัฐบาลเองก็เร่งที่จะพัฒนาและใช้เวลาในการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและขนส่งมวลชนต่างๆ ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำในที่ประชุมให้บริเวณที่มีการตั้งจุดตรวจต่างๆ มีการตั้งกล้องวงจรปิดบันทึกการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ไว้ด้วย

“ผมได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยกันดูและบันทึกสถิติให้ชัดเจน และแยกประเภทว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและสูญเสีย แยกประเภทให้เห็นชัดว่าตายจากอะไรมาเป็นพิเศษ ปีนี้ยังไม่เริ่มสงกรานต์เลยก็มีเสียชีวิตแล้วกว่า 3 พันราย ถนนดีขึ้นทำให้ตายมากขึ้น เพราะไม่รักษากฎจราจร และดื่มสุรา” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ได้กล่าวทิ้งท้ายเป็นการอวยพรเนื่องในวันสงกรานต์ว่า “ขอให้สงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นให้มีความสุข ให้ทุกคนเดินทางกลับภูมิลำเนาโดยสวัสดิภาพ อย่านั่งกระบะท้าย เพราะถ้าบาดเจ็บ สูญเสีย ก็จะเกิดความเสียใจ คาดหวังว่าทุกคนคงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรืออันตรายจากการพักผ่อน สัปดาห์หน้ากลับมาเจอกัน อย่าป่วย อย่าเจ็บ เพราะถ้ามีใครบาดเจ็บ ตนก็เสียใจ เพราะคนไทยทุกคนถือเป็นคนในครอบครัว”

มติ ครม. ที่น่าสนใจอื่นๆ มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ไฟเขียวงบกลาง 6,281.5 ล้านบาท สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจในประเทศ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมติงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 6,281.52 ล้านบาท 35 โครงการ 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ 7 โครงการ วงเงิน 2,092.05 ล้านบาท, กระทรวงสาธารณสุข 1 โครการ วงเงิน 1,258.01 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา 14 โครงการ 1,422.99 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา 1 โครงการ วงเงิน 694.46 ล้านบาท, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 5 โครงการ วงเงิน 246.35 ล้านบนาท, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 1 โครงการ วงเงิน 161.42 ล้านบาท, การประปาส่วนภูมิภาค 2 โครงการ 92.2 ล้านบาท, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ 1 โครงการ 70.55 ล้านบาท และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย 3 โครงการ 243.47 ล้านบาท

อนึ่ง ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดกรอบวงเงินงบกลางรายการดังกล่าวไว้จำนวน 19,942.79 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสอดคล้องเชื่อมโยงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ซึ่งไม่สามารถเสนอรายละเอียดเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากมีรูปแบบงานที่ซับซ้อน ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการนาน หรือเป็นโครงการตามมติ ครม. หรือตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี หรือโครงการจากการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินการงานของส่วนราชการมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“การเสนอครั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองโครงการในการขอรับการสนับสนุนงบกลางฯ ได้ประชุมไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา โดยเสนอเข้ามา 10,156.42 ล้านบาท 35 โครงการ 9 หน่วยงาน โดย ครม. เห็นชอบเพียง 6,281 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 13,661.27 ล้านบาท รัฐก็จะขอให้หน่วยงานเร่งดำเนินการภายใน 30 เมษายน 2560 ต่อไป” นายกอบศักดิ์กล่าว

ดึงงบประมาณคืน 11,866.51 ล้านบาท หลังจากเบิกจ่ายไม่ทัน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. …. เพื่อนำเงินงบประมาณที่ไม่สามารถลงนามจัดซื้อจัดจ้างได้ภายในวันที่  31 มีนาคม 2560 กลับมาเป็นงบกลางสำหรับรัฐบาลที่จะนำไปจัดสรรในโครงการอื่นๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงานตามภารกิจของส่วนราชการหรือเกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้รับบริการ จะอุทธรณ์ขอรับการจัดสรรงบประมาณคืนได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2560 นอกจากนี้ สำหรับโครงการที่ทราบผลการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนลงนามและสามารถลงนามได้ภายใน 28 เมษายน 2560 เห็นสมควรให้ยกเว้น โดยคิดเป็นวงเงินประมาณ 2,024.83 ล้านบาท

“การเรียกคืนงบประมาณที่ไม่สามารถใช้จ่ายได้เรียกว่าเป็นครั้งที่ 4 ของประเทศไทย โดยมีครั้งแรกในปี 2517 และต่อเนื่อง 3 ปีให้หลังที่ผ่านมาคือปี 2558-2560 ถือว่าเป็นการสร้างวินัยทางการคลังให้กับภาครัฐ ซึ่งต่อไปจะไม่สามารถตั้งงบประมาณมาก่อนแต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง ต่อไปรัฐบาลก็จะสามารถเรียกเงินคืนไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้” นายกอบศักดิ์กล่าว

ตีกลับกฎหมาย EEC รอบ 3 แบ่งงานใหม่ – ชง ม.44 แก้ปัญหาไปพลาง

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) อีกครั้งภายหลัง จากเคยเห็นชอบในหลักการครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2559 ก่อนจะส่งข้อคิดเห็นต่อๆ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจสอบ โดยในครั้งนี้ สคก. ได้ส่งเรื่องกลับเข้ามาและ ครม. มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมให้ สคก. นำกลับไปปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน 1-2 เดือน

โดยสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

1) เปลี่ยนชื่อ พ.ร.บ. เป็นร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (จาก พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และในอนาคตสามารถเพิ่มเติมพื้นที่จังหวัดอื่นเข้ามาได้

2) จัดตั้งคณะกรรมการนโยบาย หรือซูเปอร์บอร์ด มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีอีก 11 กระทรวงเป็นกรรมการ และกำลังพิจารณาว่าจะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาเป็นกรรมการด้วยหรือไม่

3) ให้อำนาจซูเปอร์บอร์ดพิจารณากำหนดพื้นที่ที่จะได้รับการส่งเสริมโดยเฉพาะ เนื่องจากพื้นที่ของ 3 จังหวัดมีมากถึง 13,000 ตารางกิโลเมตรและไม่สามารถให้สิทธิประโยชน์ทุกพื้นที่ได้

4) ให้ สคก. ไปปรึกษากับหน่วยงานราชการต่างๆ เรื่องการแบ่งอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของซูเปอร์บอร์ดและหน่วยราชการต่างๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

5) ตั้งกองทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อใช้จ่ายเยียวยาและสนับสนุนชุมชนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของเอกชนต่างๆ โดยให้ซูเปอร์บอร์ดมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์การสมทบเงินของเอกชนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ากองทุน

ทั้งนี้ พล.ท. สรรเสริญ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นรัฐบาลจะใช้อำนาจตาม ม.44 ออกเป็นคำสั่งเพื่อดำเนินการบางส่วนของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานในปัจจุบันที่ใช้อำนาจตาม ม.44 เดินหน้าการจัดตั้งอีอีซีไปพร้อมกับการร่างพระราชบัญญัติ

อนุมัติ 25,871 ล้านบาท ยกระดับการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร

นายณัฐพร จาตุศรีพิทกษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม. ได้เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปี 2560/61 โดยมีระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2561 รวม 3 โครงการ วงเงิน 25,871.15 ล้านบาท ได้แก่

1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ระยะเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคม-ตุลาคม 2560 วงเงิน 57 ล้านบาท โดยกรมการข้าว มีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรในพื้นที่ 21 จังหวัด 2,000 กลุ่ม กลุ่มละ 30 ครัวเรือน รวม 600,000 ครัวเรือน พื้นที่ 300,000 ไร่ ตามพื้นที่เพาะปลูก อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ รายละไม่เกิน 5 ไร่

“วิธีดำเนินการจะคัดเลือกเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและจำหน่วยเมล็ดพันธุ์ได้ ซึ่งส่งผลให้การปลูกข้าวไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเกษตรกรที่มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองต่อเนื่อง 3 ปีขึ้นไป โดยกรมการข้าวจะจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ (มูลค่า 22 บาทต่อกิโลกรัม) แก่เกษตรเพียง 10 บาทต่อกิโลกรัมและรัฐสมทบอีก 12 บาทต่อกิโลกรัม” นายณัฐพรกล่าว

2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่ หลักเกณฑ์ใหม่) ระยะการดำเนินงาน 5 ปี วงเงิน 16,117.62 ล้านบาท โดยกรมการข้าว มีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ 70 จังหวัด จำนวน 1,504,000 ราย พื้นที่ 19.38 ล้านไร่ (18,800 แปลง) ภายในปี 2564 มีเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกร ต้องมีการรวมตัวกัน 30 คนขึ้นไป และมีพื้นที่รวมกันมากกว่า 300 ไร่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแปลงติดกันเป็นผืนเดียวกัน แต่ควรอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2560-2564 ระยะเวลา 5 ปี วงเงิน 9,696.522 ล้านบาท โดยจะรับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรที่รวมกลุ่ม 5 คนขึ้นไป พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่ รัฐจะสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว 15 กิโลกรัมต่อไร่ และอุดหนุนเงินให้แก่เกษตรกรเพื่อชดเชยรายได้รายละไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 9,000 ล้านบาท แบ่งจ่าย 3 ปี ภายหลังจากผ่านการประเมินในแต่ละได้ ได้แก่ ตามหลักเกณฑ์เตรียมความพร้อมในปีแรก ผ่านการรับรองเป็นระยะปรับเปลี่ยนในปีที่ 2 และได้รับรองมาตรฐานการผลิตข้าวอินทรีย์ (Organic Thailand)ในปีที่ 3 วงเงิน 2,000 บาท 3,000 บาท และ 4,000 บาท ตามลำดับ

“ท่านนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเสริมว่า แต่ละโครงการจะต้องมีการประเมินในทุกๆ ปีและหากไม่ผ่านการประเมินก็จะถูกยกเลิกการสนับสนุนจากรัฐทันที” นายณัฐพรกล่าว

อนุมัติ 2,878 ล้านบาท ซ่อมแซมทางภาคใต้หลังน้ำท่วม

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 2,878.67 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วยกรมทางหลวง 1,773.63 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 430.68 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน 88.14 ล้านบาท และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 586.22 ล้านบาท

เห็นชอบ ม.44 ตั้ง ร.ร.เอกชน-อุดมศึกษาในพื้นที่ EEC

พล.ท. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบให้มีคำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ และเรื่องการให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้ามาจัดตั้งในพื้นที่อีอีซีได้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ

“สำหรับการดึงดูดสถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ จะเป็นการเชิญชวนให้มาเปิดสาขาในไทย ในพื้นที่อีอีซี โดยต้องสอดต้องสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีเฉพาะ เพื่อขจัดระเบียบที่ไม่คล่องตัว แก้ปัญหาโดยหยิบมาเป็นคำสั่งตามมาตรา 44 จนกว่า พ.ร.บ. EEC ฉบับเต็มจะออก ก็จะมีคำสั่งยกเลิกการใช้ มาตรา 44 มาเป็น พ.ร.บ. อีกครั้ง” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ยกเลิกพื้นที่ควบคุม “วัดพระธรรมกาย”

พล.ท. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. เห็นชอบให้ยกเลิกการกำหนดพื้นที่ควบคุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 5/2560 ในพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย

“สาระสำคัญของคำสั่งคือ พื้นที่ใดๆ ก็แล้วแต่ในประเทศไทยที่เห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น คสช. สามารถประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมได้ ซึ่งพื้นที่ควบคุมที่ว่านั้นมีหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่วัดพระธรรมกาย แต่ขณะนี้ สถานการณ์บริเวณพื้นที่วัดพระธรรมกายคลี่คลายลงแล้ว วันนี้จึงยกเลิกพื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม แต่พื้นที่อื่นๆ ตามคำสั่งมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่” พล.ท. สรรเสริญ กล่าว

ดูคำสั่งยกเลิกได้ที่นี่

ยกเลิก 5 พ.ค. – เพิ่ม 28 ก.ค. และ 13 ต.ค. เป็นวันหยุดราชการ

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้กำหนดให้มีวันหยุดราชการประจำปีอีก 2 วัน คือ วันที่ 28 กรกฎาคม เนื่องจากเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และวันที่ 13 ตุลาคม เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2500 เรื่องประกาศกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2550 ในส่วนที่กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันหยุดราชการ

ทั้งนี้ พล.ท. สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เนื่องจากวันที่ 5 พฤษภาคม ถือเป็นวันฉัตรมงคล อันเป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งแต่ละรัชกาลจะมีวันฉัตรมงคลแตกต่างกันไป ส่วนจะกำหนดวันฉัตรมงคลใหม่เป็นวันที่เท่าไรนั้นต้องรอฟังรายละเอียดต่อไป โดยการกำหนดวันหยุดจะมีผลตั้งแต่วันนี้ (11 เมษายน 2560) และสำหรับวันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ที่อยู่ระหว่างวันพืชมงคล และวันเสาร์ ครม. ไม่มีมติกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ”