ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. แถลงผลงาน 6 เดือน พบรวยผิดปกติ 4 ราย เสียหาย 826 ล้าน-คดีสินบนข้ามชาติ คาดไต่สวนเสร็จ ก.ย. นี้

ป.ป.ช. แถลงผลงาน 6 เดือน พบรวยผิดปกติ 4 ราย เสียหาย 826 ล้าน-คดีสินบนข้ามชาติ คาดไต่สวนเสร็จ ก.ย. นี้

24 เมษายน 2017


วันที่ 22 เมษายน 2560 พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมนายปรีชา เลิศกมลมาศ, นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ณ โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จังหวัดชลบุรี

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2560 พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมนายปรีชา เลิศกมลมาศ, นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงข่าวผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ว่าผลงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1. ผลงานด้านปราบปรามทุจริต 2. ผลงานด้านตรวจสอบทรัพย์สิน และ 3. ผลงานด้านการป้องกันการทุจริตด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2-3 ผ่าน 5 กลไก คือ กลไกภาครัฐ ภาคเอกชน การศึกษา ศาสนา ประชาสังคม และสื่อมวลชน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ผลงานด้านปราบปรามทุจริต ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องที่อยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้ว 1,677 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด 1,370 เรื่อง ส่วนกลาง 307 เรื่อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่อยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีก 1,102 เรื่อง และอยู่ระหว่างการเสนออนุกรรมการกลั่นกรองเรื่องกล่าวหาอีก 556 เรื่อง รวมครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องอยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น 3,335 เรื่อง

สำหรับเรื่องที่อยู่ในชั้นของการไต่สวนข้อเท็จจริง และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้ว 193 เรื่อง อยู่ระหว่างรอเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. 27 เรื่อง หากนำไปรวมกับเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไปแล้ว ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 ป.ป.ช. ได้ดำเนินการไต่สวนเรื่องกล่าวหาทั้งสิ้น 220 เรื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 มีคดีที่อยู่ในชั้นไต่สวน ซึ่ง ป.ป.ช. ชี้มูลร่ำรวยผิดปกติแล้ว 4 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 825.65 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2559 มี 5 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1,160.79 ล้านบาท

พล.ต.อ. วัชรพล กล่าวว่า สำหรับคดีสินบนข้ามชาติ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการไต่สวนมีทั้งหมด 15 เรื่อง ในจำนวนนี้มี 1 เรื่องคาดว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560

จากข้อมูลในช่วงปีงบประมาณ 2557-2560 เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูก ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งที่อยู่ในชั้นของการแสวงหาข้อเท็จจริง และการไต่สวนข้อเท็จจริง โดยมีเหตุผลดังนี้

1.ในปี 2556 มีการจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดครบทุกแห่ง ปี 2558 ได้รับการจัดสรรอัตรากำลังข้าราชการเพิ่มขึ้นอีก 815 อัตรา ได้มีการสอบบรรจุแต่งตั้ง 2 ระยะ คือ ระยะแรก 335 อัตรา ระยะที่สอง 480 อัตรา บรรจุครบไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2558 เป็นตำแหน่งทั่วไป 55 อัตรา และตำแหน่งวิชาการ 760 อัตรา (ผู้ช่วยพนักงานไต่สวน 462 อัตรา เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สิน 119 อัตรา เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริต 55 อัตรา และอื่นๆ 124 อัตรา)

2. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีนโยบายด้านการปราบปรามทุจริตดังนี้

    1) ปรับปรุงกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง และไต่สวนข้อเท็จจริงให้เป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้

    2) สำนักไต่สวนทุจริตในส่วนกลางจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายเรื่องสำคัญที่แล้วเสร็จในแต่ละเดือน

    3) ให้กรรมการ ป.ป.ช. ที่กำกับเขตพื้นที่ทั้ง 9 ภาค กำกับดูแลแก้ปัญหาในเขตพื้นที่ โดยให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการกลั่นกรองในเขตพื้นที่ เพื่อพิจารณาเรื่องแสวงหาข้อเท็จจริง และเรื่องไต่สวนข้อเท็จจริงในเขตพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การทำงานด้านการปราบปรามการทุจริตมีความรวดเร็วมากขึ้น

    4) เร่งดำเนินการเรื่องค้างเก่าให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

    5) ลดปริมาณงานลง โดยส่งเรื่องกล่าวหาที่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการตามมาตรา 89/2 ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งที่ 644-16/2558 เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558

    6) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ฉบับที่ 4 แก้ไขนิยามพนักงานไต่สวน ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ผ่านการฝึกอบรมสามารถถือสำนวนได้ ทำให้งานคดีเร็วขึ้น

    7) มีการแก้ไขและประกาศใช้ระเบียบการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้

ผลงานด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน ในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2560 มีเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติแล้ว 10,756 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด 10,022 เรื่อง ส่วนกลาง 734 เรื่อง โดยมีจำนวนบัญชีทรัพย์สินที่ตรวจสอบเสร็จแล้วและรอเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. 3,227 บัญชี และรอเสนอคณะอนุกลั่นกรองตรวจสอบทรัพย์สิน 13,846 บัญชี หากนำไปกับรวมบัญชีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไปแล้ว ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2560 ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินไปแล้วทั้งสิ้น 27,829 บัญชี โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดกรณีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน 49 ราย และชี้มูลกรณีจงใจยื่นเท็จหรือปกปิด 1 ราย

จากข้อมูลการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินที่นำมาแสดงจะเห็นว่า ในช่วง 3 ปี คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตรวจสอบยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยดังนี้

1. มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินเพิ่มจำนวน 106 อัตรา

2. สำนักงาน ป.ป.ช. มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สินจำนวนหนึ่งไปช่วยราชการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดที่มีปริมาณบัญชีค้างสะสมเป็นจำนวนมาก ตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ในการพิจารณาเรื่อง “มาตรการในการแก้ไขปัญหาบัญชีแสดงทรัพย์สินและหนี้สินค้างตรวจ”

3. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้บัญชี กรณีเข้ารับตำแหน่ง เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรวจสอบเสร็จแล้วให้เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเก็บเป็นข้อมูลไว้เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สิน โดยไม่ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการทำงาน เป็นผลให้บัญชีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยตรง

สำหรับการตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจพบเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติในปี 2559 ดังนี้

    1. นายเกษม นิมมลรัตน์ ที่ปรึกษานายก อบจ.เชียงใหม่ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตัดสินให้ยึดทรัพย์สินทั้งหมด 186.62 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน

    2. นายประสิทธิ์ ชัยเขื่อนขันธ์ เจ้าหน้าที่ประเมินอากร 4 กรมศุลกากร ป.ป.ช. ตรวจพบร่ำรวยผิดปกติ 3.8 ล้านบาท

    3. นายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 ป.ป.ช. ตรวจพบ ร่ำรวยผิดปกติ 31.75 ล้านบาท

    4. นายสุวัฒน์ จารุมณีโรจน์ นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ร่ำรวยผิดปกติ 591.97 ล้านบาท

    5. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่ำรวยผิดปกติ 346.65 ล้านบาท

ปี 2560 มีรายละเอียดดังนี้

    1. พ.ต.ต.หญิง ดารารัตน์ มูลเมือง สารวัตรฝ่ายอำนวยการภูมิภาค จังหวัดเชียงใหม่ ร่ำรวยผิดปกติ 15.53 ล้านบาท

    2. นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร ร่ำรวยผิดปกติ 714.94 ล้านบาท

    3. นางทิพาพัชร์ เมฆะอำนวยชัย นักวิชาการ การเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่ำรวยผิดปกติ 29.88 ล้านบาท

    4. นางจุฑามาศ ศิริวรรณ ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่ำรวยผิดปกติ 65.61 ล้านบาท

    5. นายเกษม นิมมลรัตน์ รองนายก อบจ.เชียงใหม่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตัดสินให้ยึดทรัพย์สินของนายเกษม 21.14 ล้านบาท ตกเป็นของแผ่นดิน คิดเป็นมูลค่าตามราคาตลาด 218.40 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วง พ.ศ. 2559-2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศฯ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเพิ่มขึ้นอีก 123 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ศาล 13 ตำแหน่ง, องค์กรอิสระ 9 ตำแหน่ง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 42 ตำแหน่ง, สถาบันอุดมศึกษา 1 ตำแหน่ง ส่วนราชการระดับกระทรวง 20 ตำแหน่ง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 38 ตำแหน่ง

ผลงานด้านการป้องกันการทุจริตด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ระยะที่ 2-3 ผ่าน 5 กลไก มีรายละเอียดดังนี้

1. การทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำ MOU กับองค์กร หน่วยงาน ภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งในการทำ MOU ดังกล่าวส่งผลต่ำการปลุกจิตสำนึกการต่อต้านทุจริต และสร้างสังคมไม่ให้อดทนต่อการทุจริต

2. การป้องกันการทุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกศาสนา มีการขับเคลื่อนภารกิจร่วมกับศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม เช่น มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) คือ ผลิตคู่มือหลักสูตรการป้องกันการทุจริตตามแนวทางพระพุทธศาสนา ผลิตภัณฑ์เทศน์ป้องกันการทุจริต 60,000 ผูก และกิจกรรมการเทศน์ป้องกันการทุจริตตามแนวทางพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอย่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 65 พรรษา 28 กรกฎาคม 2560 กำหนดจัดในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม 2560 พร้อมกันทุกวัดทั่วประเทศกว่า 40,000 วัด, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) จัดทำหลักสูตรป้องกันการทุจริตสำหรับพระผู้สอน และพระนักเรียน พระนิสิต นักเรียน และนิสิตสังกัด มมร., ศาสนาอิสลาม มีเครือข่ายหลัก ได้แก่ สำนักจุฬาราชมนตรี เช่น ผลิตเอกสารหนังสือ “สินบน-การทุจริตและประพฤติมิชอบกับข้อชี้ขาดทางศาสนาอิสลาม”, จัดทำแผ่นพับ “การทุจริต-คอร์รัปชัน วิกฤติชาติที่มุสลิมไทยต้องร่วมต้าน” และจัดส่งให้สำนักจุฬาราชมนตรี เพื่อใช้เผยแพร่หลักคำสอนของศาสนาอิสลามในกิจกรรมทางศาสนาอิสลามต่อไป ร่วมจัดกิจกรรมออกบูทประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช. ในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย ประจำปี ฮ.ศ. 1437 สำหรับศาสนาคริสต์ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในสถานศึกษาด้วยหนังสือ “การป้องกันการทุจริต โดยใช้ศาสนธรรม: มุมมองคริสตศาสนศาสตร์” หรือการดำเนินการในลักษณะทำนองเดียวกัน

3. การป้องกันการทุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกการศึกษา ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนในสังกัดคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีการจัดทำเป็นตำราเรียนเรื่องการป้องกันการทุจริตและนำไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับชั้นการศึกษาต่างๆ

4. การป้องกันการทุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน เช่น โครงการหมู่บ้านช่อสะอาด เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศ คือ หมู่บ้านท่าคอยนาง ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ และอยู่ระหว่างดำเนินการในจังหวัดอื่นๆ นอกจากนี้ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม กทม. เพื่อเฝ้าระวังการทุจริตในชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในรูปแบบของการเข้าร่วมประชุมร่วมกับสำนักงานเขตฯ เพื่อให้ความรู้ สนับสนุน และสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุตริต รวมทั้งแนะนำภารกิจและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภารกิจด้านการป้องกันการทุจริต ช่องทางการร้องเรียน การตรวจสอบ การเฝ้าระวัง และการแจ้งเบาะแสการทุจริตในพื้นที่ชุมชน ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. 31 เขตใน กทม.

5. การป้องกันการทุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกภาคเอกชน เช่น การสมัครใจของบริษัทเอกชนที่ประกาศตนว่าบริษัทเอกชนแห่งนี้ปฏิเสธ ไม่ให้ ไม่จ่ายสินบน จะทำธุรกิจอย่างสะอาด โปร่งใส ปลอดคอร์รัปชัน และต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โครงการนี้เรียกว่า “โครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต” (Collective Action Coalition Of The Private Sector Against Corruption :CAC) ปัจจุบันมีบริษัทสมัครใจเข้าร่วมโครงการนี้ 731 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2559) ในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองว่ามีระบบป้องกันการทุจริต 177 บริษัท และการบูรณาการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ผลักดันให้เกิดข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ การออกฎหมายป้องปรามการให้สินบน และการออกคู่มือสำหรับนิติบุคคลให้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการให้สินบน

6. การป้องกันการทุจริต ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ โดยใช้กลไกภาครัฐ ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่เข้ารับการประเมิน อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้นจะส่งผลสะท้อนไปถึงการยกระดับคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ของประเทศได้จะต้องตอบโจทย์และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 8 แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณหาค่าคะแนน CPI ของประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินการป้องกันการทุจริตในบทบาทของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ต้องมุ่งเน้นในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้กับหน่วยงานที่ดำเนินการ ตามแผนบูรณาการการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในภาครัฐ และหน่วยงานที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกัน ซึ่งต้องสร้างภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการรณรงค์เสริมสร้างวัฒนธรรมสุจริต ได้แก่ กลุ่มบุคคล ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน หรือประชาสังคม องค์กรภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้การดำเนินการป้องกันการทุจริตจะไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ได้เลย หากไม่สามารถสร้างความตระหนักหรือปรับเปลี่ยนทัศนคติ หรือพฤติกรรม และการรับรู้ ให้แก่ประชาชนทุกภาคส่วนในการต่อต้านทุจริต นับว่าเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา

อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์ในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อเสริมสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นเครื่องมือช่วยในการยกระดับคะแนนดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศด้วย

7. การเสนอมาตรการ ความเห็น และข้อเสนอแนะการป้องกันการทุจริตต่อคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลไปทั้งหมด 3 เรื่อง ดังนี้

1) มาตรการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ครม. มีมติรับทราบมาตรการดังกล่าว และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก รับข้อเสนอของ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ สำนักงาน กพ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการฯ และให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำรายงานผลการพิจารณา หรือผลการดำเนินการในเรื่องนี้ เสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป

2) ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริตในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ครม. มีมติรับทราบและมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการรับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สภาพัฒน์ฯ สำนักงบประมาณ การยางแห่งประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมและให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำรายงานผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ ส่งให้สำนักเลขาธิการ ครม. ภายใน 30 วัน นับจากที่ได้รับแจ้ง และเมื่อ ครม. พิจารณาและมีมติแล้ว ให้แจ้งผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการของ ครม. ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

3) ข้อเสนอแนะ เพื่อยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต หลังจาก ป.ป.ช. ทำหนังสือไปถึงเลขาธิการ ครม. เพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นหน่วยงานหลักในการรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมแล้วส่งให้สำนักเลขาธิการ ครม. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง เพื่อนำเสนอ ครม. ต่อไป

ในปีงบประมาณ 2560 สำนักงาน ป.ป.ช. มีแผนการดำเนินงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติฯ ดังนี้

    1. ได้นำยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ดังนี้ 1. สร้างกลไกป้องกันการทุจริตให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ 2. การสร้างความตระหนักในการป้องกันและปราบปรามทุจริต 3. การสร้างเสริมความเข้มแข็งในการปราบปรามทุจริต

    2. การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ไปสู่การปฏิบัติ

    3. พัฒนาปรับปรุงระบบและกลไกการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564)

    4. จัดทำโครงการ กิจกรรม ป้องกันการทุจริตสหยุทธ์ เป็นต้นแบบให้ส่วนราชการนำไปดำเนินโครงการสู่ผลผลิต ผลลัพธ์ในทิศทางเดียวกันตาม 3 แนวทาง คือ การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือภาคประชาชนให้มีส่วนร่วมในการป้องกันทุจริต การบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการกำหนดมาตรฐานแนวทางการป้องกันการทุจริตในหน่วยงาน การปฏิรูประบบงาน การดำเนินคดีทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน

    5. จัดสัมมนาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ “มิติใหม่ในการสร้างสังคมไทยไม่ทนต่อการทุจริตและปลอดทุจริต” ทุกภาคส่วน

สุดท้ายเป็นผลการดำเนินงานด้านอื่นๆ ของ ป.ป.ช. มีรายละเอียดดังนี้

1. จัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9

2. ก่อสร้างที่ทำการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดชลบุรี สร้างเสร็จแล้ว ส่วนจังหวัดเชียงใหม่, พิษณุโลก, นครราชสีมา, นครปฐม, ลำปาง, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด อยู่ระหว่างการก่อสร้าง

3. พัฒนาปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจ และเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่า การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งนี้โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลงาน

4. จัดตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อติดตามทรัพย์สินคดีทุจริตระหว่างประเทศ ประสานงานติดตามทรัพย์สินคืนร่วมกับองค์กรนานาชาติ เช่น STAR/INTERPOL Global Focal Point On Asset Recovery ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือของธนาคารโลก สำนักงานป้องกันยาเสพติด และปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ และองค์การตำรวจสากล

5. กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือขอความร่วมมือ ป.ป.ช. ในการร่วมป้องปรามมิให้เกิดการทุจริตโครงการแผนบูรณาการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศในปีงบประมาณ 2560 โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลางปีวงเงิน 75,000 ล้านบาท หน่วยงานที่ใช้งบประมาณแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจังหวัด กลุ่มกระทรวง และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเมืองพัทยา โดยคณะกรรรมการ ป.ป.ช. ยินดีให้ความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริต เช่นเดียวกับที่เคยร่วมมือกันมาแล้วในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งประสบผลในการป้องกันการทุจริตได้เป็นอย่างดี

อ่าน แถลงข่าวผลงาน 6 เดือนของ ป.ป.ช. ที่นี่