ThaiPublica > เกาะกระแส > คปภ. เผยสัญญา ‘รพ.กรุงเทพ-สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ” ไม่เข้าข่ายสัญญาประกันภัย แต่ให้กฤษฎีกาตีความระบุคู่กรณีอ้างกม.ต่างกัน

คปภ. เผยสัญญา ‘รพ.กรุงเทพ-สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับ” ไม่เข้าข่ายสัญญาประกันภัย แต่ให้กฤษฎีกาตีความระบุคู่กรณีอ้างกม.ต่างกัน

27 เมษายน 2017


สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผย เบื้องต้นเห็นว่าสัญญาระหว่างโรงพยาบาลกรุงเทพกับสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับนั้นไม่เข้าขายสัญญาการประกันภัย แต่เหตุผลที่ต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาด้วย เพราะคู่กรณีอ้างอิงข้อมูลทางกฎหมายต่างกัน ด้านโรงพยาบาลกรุงเทพอ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ว่าสัญญาเข้าข่ายประกันภัย ในขณะที่สมาชิกอ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่าสัญญาไม่เข้าข่ายประกันภัย

จากกรณีที่สมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับของโรงพยาบาลกรุงเทพร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรณีผิดสัญญาการให้บริการรักษาพยาบาลตลอดชีพเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 และ คปภ. ชี้แจงข้อมูลเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ว่าขอเวลาพิจารณาข้อกฎหมายก่อนนั้น

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.

ล่าสุด นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า เบื้องต้นทาง คปภ. เห็นว่าสัญญาที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่ายสัญญาการประกันภัย และได้เชิญคู่กรณีคือโรงพยาบาลกรุงเทพและสมาชิกไลฟ์พริวิเลจคลับเข้ามาชี้แจง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างอ้างข้อมูลที่สนับสนุนฝ่ายตัวเอง โดยโรงพยาบาลกรุงเทพอ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่บอกว่าสัญญาดังกล่าวเป็นประกันภัย ในขณะที่ฝ่ายสมาชิกฯ อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่าสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่ายการประกันภัย ดังนั้น เมื่อมีการตีความต่างกัน ทาง คปภ. จึงยื่นเรื่องนี้ไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเพื่อความชัดเจน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ไม่ว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นประกันภัยหรือไม่ แต่ความผูกพันทางสัญญายังอยู่ และหากกรณีนี้ไม่ใช่ประกันภัยก็อยู่นอกเหนืออำนาจของ คปภ. ซึ่งคปภ.คิดว่าไม่น่าใช่ประกันภัยเพราะเป็นลักษณะสัญญาระหว่างสองฝ่าย ที่ไม่ได้จ่ายเบี้ยแบบการประกันภัย แต่ก็ต้องรอดูความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อน

“ก่อนหน้านี้มีสำนักกฎหมายเข้ามาขอคำปรึกษากับทาง คปภ. อย่างไม่เป็นทางการว่าสัญญาดังกล่าวเข้าข่ายการประกันภัยหรือไม่ แต่ทาง คปภ. ไม่เคยเคาะ ฟันธง หรือออกหนังสือตอบอย่างเป็นทางการให้” นายสุทธิพลกล่าว

สำหรับคำพิพากษาศาลฎีกาที่สมาชิกไลฟ์พริวิลเลจคลับอ้างอิงคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2482 มีใจความโดยย่อว่า “พ.ร.บ.ควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบกระเทือนความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2471 มาตรา 7, 8 สัญญาประกันภัยที่ทำขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยไม่ทราบถึงความสมบูรณ์ของผู้รับประกันภัยนั้นไม่ตกเป็นโมฆะประกอบการประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ใช่นับอายุความตั้งแต่วันทำสัญญา ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันสิ้นสัญญา”

ด้านโรงพยาบาลกรุงเทพอ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจตามโครงการสุขภาพไทย ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2521 ใจความโดยย่อว่า “กิจการของบริษัท การแพทย์และสุขภาพประเทศไทย จำกัดและบริษัท ศูนย์สุขภาพประเทศไทย จำกัด ไม่เป็นการประกันชีวิต แต่เป็นการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 เพราะมีการเรียกเก็บเงินอันมีลักษณะเป็นเบี้ยประกันภัย”

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตุว่าโครงการไลฟ์พริวิลเลจคลับของโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่ขายให้กับสมาชิกนั้น เกิดขึ้นในปี 2544 แต่โรงพยาบาลอ้างความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2521 ว่าเข้าข่ายประกันภัย ซึ่งเป็นลงความเห็นไว้ก่อนมีโครงการไลฟ์พริวิลเลจคลับ 23 ปี