ThaiPublica > คอลัมน์ > Hidden Figures เบื้องหลังตัวเลขที่ซ่อนอยู่ คือ การต่อสู้กับอคติ

Hidden Figures เบื้องหลังตัวเลขที่ซ่อนอยู่ คือ การต่อสู้กับอคติ

13 เมษายน 2017


Hesse004

การประกาศผลรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของเวทีออสการ์ปีนี้ ไฮไลต์กลับไปอยู่ที่จังหวะ “ผิดคิว” ของ Warren Beatty ผู้ประกาศรางวัล หยิบซองรางวัลผิดและประกาศชื่อ La La Land คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีไป ทั้งที่รางวัลดังกล่าวเป็นของ Moonlight

…เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็เป็นสีสันดึงดูดความสนใจคอหนังได้ไม่น้อย

ปีนี้ ภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลอคาเดมี อวอร์ด (Academy Awards) ครั้งที่ 89 มีทั้งหมด 9 เรื่อง ได้แก่ Moonlight, Arrival, Fences, Hacksaw Ridge, Hell or High Water, Hidden Figures, La La Land, Lion และ Manchester by the Sea

ทั้ง 9 เรื่องนี้ ล้วนโดดเด่น มีประเด็นชัดเจนในการนำเสนอ ที่สำคัญ คือ มีทีมงานคุณภาพที่ช่วยทำให้หนังเหล่านี้มีคุณค่าในตัวของมันเอง

ออสการ์ปีนี้มีหนังอยู่ 2 เรื่อง ที่นำประเด็นการเหยียดผิว (Racism) มานำเสนอ คือ Fences ผลงานกำกับของ Denzel Washington และ Hidden Figures ผลงานกำกับของ Theodore Melfi

ประเด็นเหยียดผิวยังคงเป็นพล็อตเรื่องที่ถูกใจคอหนังและกรรมการเวทีออสการ์เรื่อยมา ทั้งนี้หนังแนว Racism ยังเป็นตัวสะท้อนสภาพสังคมอเมริกันที่แม้จะดูยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้ แต่ปมภายในลึกๆ แล้วยังซ่อน “บาดแผล” จากการเหยียดที่ไม่มีวันลบเลือนไปง่ายๆ

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ที่สะท้อนการเหยียดผิวต่างพาเหรดเข้าชิงออสการ์หลายเรื่อง เช่น Selma (2014) ผลงานของ Ava DuVernay ที่ว่าด้วยเหตุการณ์รณรงค์เคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมด้านสิทธิมนุษยชนของ Dr.Martin Luther King Jr. ซึ่งเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกา

นอกจาก Selma แล้ว เวทีออสการ์ครั้งที่ 86 ปี 2013 ได้มอบรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปีให้กับ 12 Years a Slave ผลงานกำกับของ Steve McQueen ผู้กำกับผิวสีที่นำเรื่องราวของ Solomon Northup คนแอฟริกัน-อเมริกัน (African-American) ที่ถูกลักพาตัวไปขายเป็นทาสนานถึง 12 ปี

หนังเหล่านี้สะท้อนความโหดร้ายของมนุษย์ที่เกิดจาก “อคติ” เรื่องสีผิวและแบ่งแยกความเป็นเขา ความเป็นเรา

สำหรับออสการ์ปีนี้ ภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ยังหยิบประเด็นการเหยียดผิวมานำเสนอ แต่เป็นการเหยียดที่มีรูปแบบการต่อสู้แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคย

โดยทั่วไป การต่อสู้กับ “อคติ” มีตั้งแต่หลบหนีไม่เผชิญหน้า เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นคนกลุ่มน้อย สู้ไปก็ไม่มีประโยชน์ รังแต่จะเจ็บตัวเปล่าๆ

ในทางกลับกัน การต่อสู้กับอคติเรื่องเชื้อชาติ อาจลุกขึ้นสู้ โดยปราศจากความกลัว เพราะอย่างไรเสียก็แก้ไขหรือลบล้างอคติกันไม่ได้ ภาพยนตร์ที่สะท้อนการลุกขึ้นสู้ของคนผิวสีได้ดี คือ The Birth of Nation (2016) ผลงานกำกับของ Nate Parker ที่เล่าถึงการลุกขึ้นสู้ของกลุ่มทาสผิวดำในเวอร์จิเนีย

แต่ Hidden Figures นั้น เป็นการต่อสู้โดยใช้สติปัญญาและความสามารถในการพิสูจน์ตัวเอง ที่คนผิวสีไม่มีอะไรเป็นแต้มต่อเลย

Hidden Figures เป็นผลงานกำกับของ Theodore Melfi ผู้กำกับหนุ่มจากนิวยอร์ก ที่หยิบเรื่องราวการพิสูจน์ตัวเองของกลุ่มนักคณิตศาสตร์หญิงผิวสี 3 คน ในองค์การ NASA

ที่มาภาพ : http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcRqU2FbN7Zp0ELl-sX4lO8XO0pTjpmdJcpos_fnP9wM9DQHYgFq

หนังเรื่องนี้ตั้งชื่อตามหนังสือของ Margot Lee Shetterly ที่ถ่ายทอดชีวิตจริงของ Katherine Johnson นักคณิตศาสตร์หญิงผิวสีที่คำนวณวิถีการปล่อยกระสวยอวกาศโคจรรอบโลกใน Project Mercury

การพิสูจน์ตัวเองของ Katherine ใน NASA เป็นเรื่องที่หนักหนาเอาการ เพราะกว่าจะทำให้เพื่อนร่วมงานที่เป็น “ชายผิวขาว” ฉลาดระดับหัวกะทิของประเทศ “ยอมรับ” ในความสามารถของเธอนั้น…ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

หนังนำเสนอถึงความไม่เท่าเทียมกันในประเทศที่บอกชาวโลกว่าเป็น “ผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย” โดยเฉพาะฉากแบ่งแยกระหว่างคนดำและคนขาว ตั้งแต่ห้องน้ำสาธารณะ ที่นั่งบนรถเมล์ หรือแม้แต่กระติกน้ำร้อนชงกาแฟ

นี่แค่เรื่องธรรมดาสามัญในการใช้ชีวิตประจำวัน ยังแบ่งแยกกันขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างคำนวณระยะของวิถีการปล่อยกระสวยอวกาศแล้ว ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่คนขาวจะมายอมรับฝีมือคนผิวดำ

นอกจากชีวิตของ Katherine แล้ว เพื่อนเธออีก 2 คน คือ Dorothy Vaughan และ Mary Jackson ต่างก็ประสบชะตากรรมการถูกเหยียดคล้ายๆ กัน

… แม้จะเรียนเก่งระดับท็อปของประเทศ มีสติปัญญาปราดเปรื่องกว่าคนผิวขาว แต่ด้วย “อคติ” ที่บังตาทำให้พวกเธอต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าคนอื่นหลายเท่า

การรณรงค์ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของคนผิวสีในสหรัฐอเมริกานั้นเข้มข้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 50 แล้ว การถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสองหยั่งรากลึกมาตั้งแต่ครั้งสงครามกลางเมืองที่มีประเด็นมาจากการเลิกทาส

การไล่ล่าทำร้ายคนผิวสีของกลุ่ม Ku Klux Klan นับเป็นรอยด่างของประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ภายใต้ผิวสีที่ต่างกัน

ภาพยนตร์แนว Racism จำนวนมาก สะท้อนให้เห็นปัญหาทางจิตใจของคนผิวขาว (บางกลุ่ม) ที่มักแสดงออกด้วยการดูถูกดูแคลนคนผิวสีอื่นว่า อ่อนแอกว่า สกปรก โง่ และขาดความเป็นอารยะ

โดยกลุ่มที่ถูกโดนเหยียดผิวมากที่สุดคือ คนผิวดำ (African-American) หรือที่คำดูถูกใช้ว่าพวก Negro รองลงมา คือ พวกยิวที่ถูกตั้งข้อรังเกียจเสมอในยุโรป

ท่านใดที่สนใจหนังแนวนี้ ลองเข้าไปค้นฐานข้อมูลภาพยนตร์ของเว็บไซต์ IMDB แล้วคีย์คำว่า Racism จะพบรายชื่อภาพยนตร์ที่ว่าด้วยอคติเกี่ยวกับเชื้อชาติ/สีผิว มากกว่า 500 เรื่อง

…หลายเรื่องสะท้อนให้เห็นความโหดร้าย ป่าเถื่อน ของคนที่บอกว่าตัวเองมีอารยธรรมที่สูงกว่า

…หลายเรื่องพูดถึงตอนจบที่ผู้ถูกเหยียดพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า สีผิวไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถ เช่น Race (2016) ที่ว่าด้วยเรื่องของ Jesse Owen นักวิ่งผิวสีชาวอเมริกัน ผู้โด่งดังในต้นศตวรรษที่ 20

…หลายเรื่องแสดงถึงการอดทนต่อคำดูถูกเหยียดหยามในชาติกำเนิด แต่ท้ายที่สุด พวกเขาก็ได้รับการยอมรับอย่างสูง เช่น Hidden Figures หรือ The Butler (2013) ที่เล่าเรื่องของ Cecil Gaines พ่อบ้านผิวดำในทำเนียบขาวที่รับผิดชอบงานเป็นอย่างดี จนถูกอกถูกใจประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลายคน

การเหยียดผิว หรือเหยียดเพศ นับเป็น “อคติ” ที่ไม่น่าจะปรากฏอีกแล้วในยุคที่มนุษย์มีวิวัฒนาการทางความคิดเสรีขึ้น ยอมรับในความแตกต่างหลากหลายได้มากขึ้น

… แต่เราก็ยังพบเห็นเรื่องแบบนี้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน