ThaiPublica > เกาะกระแส > “ป่าในเมือง” พื้นที่สีเขียวที่มากกว่าเป็นสวนสาธารณะ

“ป่าในเมือง” พื้นที่สีเขียวที่มากกว่าเป็นสวนสาธารณะ

11 เมษายน 2017


รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ(ที่4 จากขวา), ผศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ(ที่2 จากขวา), ดร.วิจารย์ สิมาฉายา, นายสากล ฐินะกุล(ที่2 จากซ้าย), นายประเสริฐ สลิลอำไพ (ที่3 จากขวา)และนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง(ที่ 3 จากซ้าย) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา “ป่าในเมืองกับความยั่งยืนสู่ไทยแลนด์ 4.0” และนิทรรศการภาพถ่าย “ป่า-คน-เมือง” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อสาธารณชนให้เห็นความสำคัญของป่าในสังคมเมืองและการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติที่รวมกันเป็นระบบนิเวศ สู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โดยมีวิทยากร คือ รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ, ผศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ, ดร.วิจารย์ สิมาฉายา, นายสากล ฐินะกุล, นายประเสริฐ สลิลอำไพ และนางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560

รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัย สกว. ภายใต้งานวิจัยเรื่องโครงการความไม่เต็มใจจ่ายเพื่อพื้นที่ป่าไม้ของชาวกรุงเทพฯ กล่าวว่า คนกรุงเทพฯ ยังไม่เข้าใจว่าป่าในเมืองคืออะไร ดังนั้นต้องอธิบายความหมายให้เข้าใจตรงกันก่อนว่า ป่าในเมือง คือ พื้นที่สีเขียวที่มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และคนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกสบาย สะอาด ร่มรื่น นั่นคือ ต้องมีต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่รูปแบบของป่าจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ประโยชน์ของเมืองนั้นๆ โดยการสร้างความเข้าใจเรื่องป่านี้ภาครัฐต้องเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนผ่านสื่อต่างๆ

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างป่าในกรุงเทพฯ เช่น สวนลุมพินี สวนรถไฟ เพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น และเกิดระบบนิเวศ คือมีสัตว์มาพึ่งพาอาศัย เช่น นก ซึ่งแนวทางในการสร้างป่าในกรุงเทพฯ ก็คือ พัฒนาพื้นทีสีเขียวเดิมให้เป็นป่า เช่น เปลี่ยนสวนหย่อมที่มีแต่ต้นไม้เล็กๆ ให้เป็นป่าโดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาได้ นกก็สามารถมาอาศัยอยู่ได้

“ทุกวันนี้สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวทั่วๆ ไปอาจจะเพียงพอต่อความต้องการของคนเมือง แต่ถ้าพื้นที่สีเขียวนั้นมีต้นไม้ก็จะดีกว่า คนเมืองก็จะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น พื้นที่อเนกประสงค์มากขึ้น มีความหลากหลายในการทำกิจกรรมต่างๆ สำหรับบางพื้นที่ที่ไม่มีพื้นที่สีเขียวก็อาจใช้พื้นที่ว่างของวัด โรงเรียน หรืออำเภอ มาจัดสรรการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกคน และปลูกฝังให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและมีสวนร่วมในการอนุรักษ์ก็จะทำให้เกิดป่าในเมืองขึ้นมาได้” รศ. ดร.นิรมลกล่าว

รศ. ดร.นิรมลกล่าวต่อว่า จากงานวิจัยสำรวจความต้องการของคนกรุงเทพฯ 2,000 คนพบว่า คนกรุงเทพฯ เห็นความสำคัญของป่าในเมือง แต่ไม่ยอมเสียเงิน แต่หากเป็นการซื้อสินค้าแล้วเงินส่วนหนึ่งบริจาคเพื่อป่าในเมืองสามารถยอมได้ ฉะนั้น การสร้างป่าในเมืองจะเกิดขึ้นได้หากเอกชนหรือมหาวิทยาลัยมีกำลังเงินมากพอ หรือระดมทุนจากกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย ส่วนประชาชนจะมีส่วนร่วมน้อยมาก ในขณะที่พื้นที่ป่าบางส่วนก็ไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานไหนโดยตรง ทำให้พื้นที่ดังกล่าวขาดคนดูแล ซึ่งงานวิจัยนี้จะช่วยให้เกิดองค์กรหนึ่งขึ้นมาดูแลต้นไม้หรือป่าที่ลงทุนสร้างไปแล้วในระยะยาวได้

ผศ. ดร.จิตติศักดิ์ ธรรมาภรณ์พิลาศ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองและการผังเมือง กล่าวว่า ป่าและพื้นที่สีเขียวไม่เหมือนกัน พื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะ เป็นสิ่งที่เมืองต้องมี คนสามารถเข้าใช้ได้โดยง่าย และพื้นที่สีเขียวอยู่ได้ทุกที่แค่ปลูกต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นดาดฟ้า หลังคา กำแพง แต่ป่ามีวัฏจักรที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล หน้าแล้งใบไม้ต้องเหลือง ไม่ใช่เขียวตลอดทั้งปี ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับคนเมืองก่อนว่ารับได้ไหมหากจะมีป่าในเมือง เพื่อใช้พักผ่อนหย่อนใจและเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติด้วย หรือต้องการเพียงพื้นที่ที่เขียวชอุ่มทั้งปี ที่พื้นสะอาดไม่มีเศษใบไม้ร่วง

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า พันธุ์ไม้ที่จะปลูกต้องเป็นไม้ของไทย ไม่มีโรค แต่มีปัญหาทางกฎหมายในไม้บางพันธุ์ เช่น สัก พะยูง ว่าสามารถปลูกเป็นป่าในเมืองได้หรือไม่ ซึ่งเป็นอีกเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องคุยกันเพื่อทำความเข้าใจเรื่องป่าในเมือง

“สวนสาธารณะที่ไหนต่างก็มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างอุทยานจุฬาฯ 100 ปีก็มีค่าใช้จ่ายปีละ 8 ล้านบาท โดยสวนนี้มีแนวคิดในการปลูกป่า ฉะนั้น ต้นไม้ทุกต้นจะปลูกจริงทั้งหมด ไม่ได้ล้อมมาจากที่อื่น เพื่อให้เป็นสวนป่าอย่างแท้จริง โดยปัจจุบันสวนนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ต้องใช้เวลาในการสร้างไปเรื่อยๆ” ผศ. ดร.จิตติศักดิ์กล่าว

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในอดีตแนวคิดเรื่องป่ากับความเป็นเมืองแยกออกจากกัน แต่ปัจจุบันเกิดมุมมองใหม่ที่ป่าสามารถอยู่ในเมืองได้ เพราะคนเมืองจะมีความสุขมากขึ้นได้หากมีสิ่งแวดล้อมที่ดี อีกทั้งป่ายังเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญและเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่า 102.2 ล้านไร่ ซึ่งมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่าอีกให้ถึง 129 ล้านไร่ใน 20 ปีข้างหน้า และพื้นที่เมืองก็สามารถเสริมให้เกิดพื้นที่สีเขียวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะ 12 แห่งรวมพื้นที่ 3,712 ไร่ เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว 3 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ค่ามาตรฐานอยู่ที่ 16 ตารางเมตรต่อคน โดยป่าในเมืองต้องประกอบด้วยความหลากหลายด้านชนิดพันธุ์ไม้ มีต้นไม้สภาพดีที่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ และมีพันธ์ไม้ธรรมชาติหรือองค์ประกอบของต้นไม้พื้นถิ่น ตัวอย่างเช่น สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ บางกะเจ้า แต่เนื่องจากไม่มีพื้นที่ปลูกป่าในกรุงเทพฯ แล้ว ดังนั้น คนเมืองต้องสนับสนุนการปลูกป่าในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น พื้นที่สาธารณะชานเมือง

นายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยปลูกป่าเศรษฐกิจ แต่สำหรับพื้นที่เมืองทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันพื้นที่สีเขียวผ่านองค์กรหรือกลุ่มต่างๆ ที่ทำในเรื่องนี้ หรือเอกชนจะทำเองก็ได้ เช่น เปลี่ยนพื้นที่รกร้างในเมืองให้กลายเป็นป่า องค์กรหรือโรงงานต่างๆ สร้างพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่ตนเอง หรืออย่างที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีกิจกรรม Green Office ร่วมกับบุคลากร

“ป่าที่ยั่งยืน คือ การปลูกป่านิเวศ ปลูกต้นไม้ลงดินโดยมีรากแก้วอยู่ ไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ที่ล้อมมา โดยพื้นที่ป่าอาจเป็นพื้นที่ใต้ทางด่วน หรือบริเวณข้างถนนก็ได้ หรือเปลี่ยนสนามหญ้ามาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ และสร้างระบบนิเวศในบริเวณนั้นๆ” นายสากลกล่าวและว่า ป่าสาธารณะเป็นโอกาสที่จะทำให้คนรู้จักป่าได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพื่อสร้างจิตสำนึกในการร่วมกันรักษาป่าที่เชื่อมโยงไปสู่ป่าต้นน้ำได้จริง

นายประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ใช้งบประมาณในการปลูกป่าไปแล้วทั่วประเทศ 3,000 ล้านบาท ซึ่งป่าปลูกส่วนใหญ่รอดมากกว่าร้อยละ 80 นอกจากจะช่วยลดสภาวะโลกร้อนแล้วยังช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบด้วย แต่สำหรับกรุงเทพฯ ไม่เคยปลูกป่าเพราะว่าไม่มีพื้นที่ จนกระทั่ง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีพื้นที่ 12 ไร่ว่างอยู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทิ้งขยะแถวสุขาภิบาล 2 จึงพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าในโครงการ “ป่าในกรุง”

“ป่าในกรุงเป็นการพัฒนาเปลี่ยนที่ทิ้งขยะเป็นพื้นที่สีเขียว โดยเริ่มต้นตั้งแต่การสำรวจคุณภาพดิน และปรับปรุงพัฒนาจากดินเค็มจนสามารถเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์และสามารถปลูกต้นไม้ได้ โดยใช้พื้นที่ในการปลูกต้นไม้รวม 9 ไร่ และพื้นที่ส่วนหนึ่งใช้สำหรับสร้างอาคารจากดิน” นายประเสริฐกล่าว

นางสุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครลงทุนพัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่สูงมาก ประมาณ 3 ล้านบาทต่อไร่ แต่ในสวนสาธารณะบางแห่งก็ไม่คุ้มค่าเพราะว่ามีประชาชนมาใช้บริการไม่มาก เนื่องจากระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครที่ยังไม่เป็นระบบ อย่างไรก็ตาม การทำงานมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองมาโดยตลอด แต่ทุกปีพื้นที่สีเขียวก็จะหายไปด้วยเนื่องจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า พื้นที่สีเขียวแบ่งเป็น 7 ประเภท คือ สวนหย่อมขนาดเล็ก (ไม่เกิน 2 ไร่) สวนหมู่บ้าน (2-25 ไร่) สวนชุมชน (25-125 ไร่) สวนระดับย่าน (125-500 ไร่) สวนระดับเมือง (500 ไร่ขึ้นไป) สวนถนน และสวนเฉพาะทาง โดยกรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหลัก 35 แห่ง พื้นที่รวม 3,584 ไร่ และมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรที่ 6.17 ตารางเมตรต่อคน จากพื้นที่สีเขียวทั่วกรุงเทพรวม 22,015 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เช่น สร้างสวนสาธารณะใหม่ 10 แห่ง ส่งเสริมสวนบนอาคารสูงและแนวกำแพง สร้างสวนสุนัข ฯลฯ และปี 2560 มีเป้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 950 ไร่ สร้างสวนสาธารณะ 4 แห่ง เชื่อมสวนจตุจักร สวนรถไฟ และสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์เข้าด้วยกัน และสร้างความร่วมมือกับการไฟฟ้าเรื่องการตัดต้นไม้ริมทาง