ThaiPublica > เกาะกระแส > รู้จัก “กัมพูชา” หลังยุคเขมรแดง ชูนโยบายเปิดเสรี ใช้ Big Data พัฒนาประเทศ

รู้จัก “กัมพูชา” หลังยุคเขมรแดง ชูนโยบายเปิดเสรี ใช้ Big Data พัฒนาประเทศ

13 เมษายน 2017


นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตไทย ประจำราชอาณาจักรกัมพูชา
นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตไทย ประจำราชอาณาจักรกัมพูชา

เมื่อพูดถึงกัมพูชาหรือที่เรามักจะเรียกว่าเขมร ภาพจำที่ชินตาของใครหลายคนอาจจะยังคงเป็นความยิ่งใหญ่ของอายรธรรมโบราณนับพันปีตั้งแต่ยุคสมัยของ “นครวัด-นครธม” หรือจะเป็นบ่อนกาสิโนที่ด่านปอยเปต ขณะที่สภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของกัมพูชาในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคต กลับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกสื่อสารออกมามากนัก

บทเรียนพัฒนาประเทศ 20 ปีหลัง “เขมรแดง”

จากการไปร่วมพิธีเปิดสาขาใหม่ ธนาคารกสิกรไทย ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ภายหลังจากที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการธนาคารอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตไทย ประจำราชอาณาจักรกัมพูชา เล่าถึงกระบวนการฟื้นฟูประเทศของกัมพูชาว่า กัมพูชาเพิ่งเริ่มเริ่มสร้างประเทศมาประมาณ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านั้นกว่า 40 ปีหลังจากได้รับเอกราชในปี 2498 หรือปี ค.ศ.1955 กัมพูชาต้องเผชิญทั้งความขัดแย้งภายในประเทศและสงครามมาอย่างต่อเนื่อง

เริ่มต้นจากหลังได้รับเอกราชมา 15 ปี ในปี 2513 กัมพูชาได้เข้าร่วมสงครามอินโดจีนอย่างเป็นทางการ หลังจากนายพลลอน นอล ได้รัฐประหารล้มอำนาจของรัฐบาลเจ้านโรดม สีหนุ และเข้าสู้รบกับพวกเวียดกง ต่อมาในเดือนเมษายน ปี 2518 รัฐบาลของนายพลลอน นอล ได้พ่ายแพ้ให้แก่กองทัพแห่งชาติกัมพูชาประชาธิปไตย หรือเขมรแดง ที่นำโดยนายพล พต และขึ้นปกครองกัมพูชาต่อเนื่องไป 3 ปี 8 เดือน จนถึงเดือนมกราคม ปี 2522

“การปกครองช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ทารุณโหดร้ายสำหรับคนกัมพูชา จากประชากรจำนวน 6 ล้านคน ครึ่งหนึ่งตายไป ทั้งจากการถูกฆ่าสังหารและโรคภัยไข้เจ็บ ส่วนหนึ่งหนีออกนอกประเทศ ทำให้คนกัมพูชาเกือบสูญพันธ์ ท่านจะเห็นได้ว่า ที่ปัจจุบันกัมพูชาอยู่ในวัยหนุ่มสาวเพราะส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปในระหว่างความขัดแย้งและสงคราม การสูญเสียครั้งนั้นสำคัญมาก เนื่องจากคนที่มีความรู้อย่างวิศวกร สถาปนิก แพทย์ ครูบาอาจารย์ ถูกฆ่าหรือล้มตายหมด ทำให้เกิดปัญหาทรัพยากรมนุษย์อย่างรุนแรงในกัมพูชา” นายณัฏฐวุฒิกล่าว

ต่อมาในปี 1979 กลุ่มกู้ชาติโดยการสนับสนุนจากกองทัพของเวียดนามยึดกรุงพนมเปญกลับมาได้ กลุ่มเขมรต้องถอยร่นไปอยู่แถบชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเวียดนามยังคงกำกับดูแลประเทศไปอีก 10 ปี ตั้งแต่ 2522 – 2532 (ค.ศ.1979-1989) ซึ่งเป็นช่วงนี้เกิดสงครามเย็นสู้รบกันระหว่างคนกัมพูชา เรียกว่าเขมร 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายเฮง สัมริน, สมเด็จฮุน เซน และอีก 3 ฝ่ายที่รวมตัวกัน ฝ่ายเขมรแดง ฝ่ายนายซอนซาน ฝ่ายเจ้าสีหนุ ซึ่งอยู่ตามแนวชายแดนไทย ขณะเดียวกัน ต่างชาติร่วมกันคว่ำบาตรและไม่ได้ติดต่อค้าขายกับประเทศภายนอก

กัมพูชาเริ่มมีสันติภาพและเปิดประเทศคบค้ากับประเทศต่างๆ ในโลกอีกครั้งในปี 2534 อย่างไรก็ตาม กัมพูชายังมีความขัดแย้งภายในกับกลุ่มเขมรแดงในพื้นที่ชายแดนอยู่บ้าง ก่อนที่ในปี 2541 กัมพูชาจะมีสันติภาพอย่างแท้จริง โดยปราศจากการสู้รบภายในประเทศ จากนโยบายชนะ-ชนะของสมเด็จฮุน เซน

“ถ้านับจากปี 2541 ถึงปัจจุบัน แค่เพียง 20 ปีที่กัมพูชาเริ่มต้นพัฒนาและปฏิรูปประเทศ หลังออกจากกลิ่นอายความขัดแย้งและสงคราม เพราะตราบใดที่ประเทศยังมีความขัดแย้งการสู้รบอยู่ก็ไม่ต้องพูดเรื่องพัฒนาประเทศ คุณไปสร้างสะพาน ถอยหลังออกมาสะพานถูกระเบิด ไปสร้างโรงเรียน วันรุ่งขึ้นก็อาจจะถูกเผา ถ้าคุณส่งเจ้าหน้าที่หมอเข้าไปก็ถูกสังหาร สิ่งแรกที่ต้องทำคือมีสันติภาพและเสถียรภาพ ซึ่งเริ่มต้นเพียงประมาณ 15-16 ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง สมัยที่ผมเข้ามาที่พนมเปญเมื่อ 25 ปีที่แล้ว พนมเปญ 1 ทุ่มมืดสนิท ไฟฟ้าไม่พอ พอไฟดับน้ำก็ไม่ไหล มีเคอร์ฟิว มีกองกำลัง มีทหารอยู่ หาความปลอดภัยไม่ได้ อาหารการกินก็ไม่ได้อนามัย บ้านเมืองเหมือนถูกแช่แข็งไว้เกือบ 20 ปี ไม่มีการทะนุบำรุง ไม่มีการสร้างใหม่ จนในที่สุด เมื่อมีสันติภาพ มีเสถียรภาพของรัฐบาลมากขึ้น ก็เริ่มพัฒนาประเทศได้” นายณัฏฐวุฒิกล่าว

นายณัฏฐวุฒิกล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีสันติภาพ กัมพูชาเริ่มต้นด้วยประชากรเพียงประมาณ 3 ล้านคนในช่วงปี 2534 และพัฒนาจนปัจจุบันมีประชากรประมาณ 16 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาว เป็นกำลังทำงานของประเทศและมีกำลังซื้อ โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 24 ปี และ 70% ของประชากรทั้งหมดอายุต่ำกว่า 35 ปี เทียบกับประเทศไทยที่มีประชากรสูงวัย อายุเฉลี่ย 50 กว่าปี ด้านการเมือง กัมพูชามีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  มีการเลือกตั้งทุก 5 ปี และใช้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล โดยปัจจุบันสมเด็จฮุน เซน แห่งพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party: CPP) เป็นหัวหน้ารัฐบาล

การก่อสร้างในพนมเปญ

กลยุทธ์ฟื้นฟูชาติ ชูนโยบายเปิดเสรี

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจและระบบเศรษกิจ กัมพูชาใช้ระบอบการตลาดเสรีทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นการรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจต่างชาติสามารถลงทุนได้เกือบทุกประเภทธุรกิจหรืออุตสาหกรรม, สามารถถือครองทรัพย์สินหรืออสังหาริมทรัพย์ได้ ยกเว้นถือครองที่ดินที่ต้องร่วมหุ้นกับคนกัมพูชา สัดส่วน 51:49, สามารถรับสัมปทานพัฒนาที่ดินใหญ่ๆ ได้ด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งช่วยดึงดูดเงินลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาได้ โดยเฉพาะจีนที่เข้ามาในภาคก่อสร้าง หรือนโยบายปริวรรตเงินตราแบบเสรี สามารถนำเงินดอลลาร์สหรัฐเข้าประเทศและใช้จ่ายได้ ช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินได้ เป็นต้น

การดำเนินนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้กัมพูชาสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยจีดีพีเฉลี่ยปีละ 7% ติดต่อกันมากว่า 5 ปี และคาดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้าเช่นกัน โดยภาคท่องเที่ยวถือว่าเป็นแหล่งรายได้อันดับ 1 ของกัมพูชา รองลงมาคือภาคการเกษตร การผลิต และสิ่งทอ เป็นต้น ขณะที่ภาคก่อสร้างเป็นภาคที่เติบโตได้มากที่สุด ประมาณ 30% ต่อปี

สำหรับประเทศไทยได้เข้ามาลงทุนเกือบทุกประเภท เช่น ภาคเกษตรอุตสาหกรรม มีกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP และเบทาโกร เข้ามาทำธุรกิจครบตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เริ่มจากโรงงานผลิตและจำหน่วยอาหารสัตว์ จำหน่ายพันธุ์สุกร การส่งเสริมยาในสัตว์ รับซื้อสัตว์ จนกระทั่งเป็นอาหารสำเร็จอย่างไส้กรอก ลูกชิ้น ฯลฯ, มีโรงงานกลั่นปาล์มน้ำมันของกลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีโรงงานปูนซีเมนต์ของเครือปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG กว่า 30 บริษัทเข้ามาทำทุกระบบครบวงจรตั้งแต่เสาเข็ม ระบบพื้น ระบบคอนกรีตสำเร็จ ระบบหลังคา ระบบท่อพีวีซี ระบบสุขภัณฑ์ เป็นต้น, ธุรกิจสิ่งทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ มีบริษัทต่างๆ จากทั่วโลกเข้ามาลงทุน รวมทั้งในเอเชีย เช่น จีน ไทย ฮ่องกง ประมาณ 600 โรงงาน

มีภาคบริการอย่างการประกันภัย มีเมืองไทยประกันชีวิต, กลุ่มไมโครไฟแนนซ์ มีฮอลิเดย์สวัสดี ที่ให้สินเชื่อรถ, กลุ่มโรงพยาบาล มีโรงพยายาลในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ, กลุ่มโรงแรม มีโซฟิเทล, กลุ่มการขนส่ง มีสายการบินบางกอกแอร์เวย์, แอร์เอเชีย, นกแอร์, ไทยสไมล์, กลุ่มธุรกิจการเงินและธนาคาร มีธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย เป็น 4 แห่งจากธนาคารทั้งสิ้น 36 แห่งในกัมพูชา

หากเปรียบเทียบขนาดของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด 9,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 8 ขณะที่จีนเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะในภาคก่อสร้างที่ได้สัมปทานลงทุนพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่  รองลงมาคือเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, มาเลเซีย ซึ่งลงทุนในภาคบันเทิง อาทิ กาสิโน

“เรียกว่าช่วงนั้นเขาออกมาจากสงครามใหม่ๆ ล้วงเข้าไปในกระเป๋าจะเอาเงินมาจากไหน มันไม่มี เครดิตประเทศ ฐานการผลิตต่างๆ ไม่มี แต่คุณต้องการเงินในการพัฒนาประเทศ นโยบายจึงเปิดกว้างและเป็นประเทศหนึ่งที่เปิดกว้างให้มาลงทุนได้เกือบทุกประเภท ถามไปตรงไหนก็จะมีกลุ่มทุนไทย ทุนต่างชาติ เข้ามาลงทุน นอกจากนี้ จุดแข็งของกัมพูชายังมีแรงงานวัยทำงานจำนวนมาก ซึ่งช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้ามา ข้อเสียอาจจะเป็นการขาดแรงงานฝีมือ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนขึ้นมาได้ มีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากที่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาอีก มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ อย่างไฟฟ้า น้ำประปา ถนนหนทาง สนามบิน ท่าเรือ จนอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ดี สามารถเดินทางได้ทั่วประเทศ มีความปลอดภัยทั้งกลางวันกลางคืน ต่างจาก 25 ปีก่อน” นายณัฏฐวุฒิกล่าว

นายณัฏฐวุฒิกล่าวต่อไปถึงกลุ่มทุนท้องถิ่นที่เริ่มเติบโตขึ้นมาเช่นเดียวกันในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมหลักมากกว่า 30 กลุ่ม และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยในด้านอื่นๆ อีกนับ 100 กลุ่ม จากที่ก่อนหน้านี้ไม่มีเลย โดยจะเน้นร่วมทุนกับต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ซึ่งมีหลากหลายตั้งแต่อุตสาหกรรมก่อสร้าง สิ่งทอ ธนาคาร การเกษตร ตัวอย่างเช่น ชิมงกรุ๊ปร่วมทุนกับสยามซิตี้ซีเมนต์, กลุ่มกิตเมง มีธุรกิจธนาคาร โทรคมนาคม ทางรถไฟ, กลุ่มลี ยง พัด แห่งเกาะกง, กลุ่มก๊กอาน เจ้าของปรินเซส คราวน์ กาสิโน เป็นต้น

central market พนมเปญ

เปิดเสรีตลาดการเงิน เน้น Big Data

สำหรับการประกอบธุรกิจธนาคารในกัมพูชา นางสาวมลธิชา แซ่เตียว รองผู้จัดการ ด้านการเงินและบัญชี สาขาพนมเปญ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันกสิกรให้บริการธุรกิจทุกประเภทและครบทุกรูปแบบ ตั้งแต่เงินสินเชื่อ บริการเงินฝาก การโอนเงินออกจากกัมพูชาหรือธุรกรรมข้ามประเทศ โดยเฉพาะประเภทหลังสุด เนื่องจากกัมพูชามักจะมีธุรกรรมเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าเข้าจากต่างประเทศอย่างประเทศไทยค่อนข้างมาก ขณะที่การให้บริการภายในประเทศเชื่อว่าจะเติบโตขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่เบื้องต้นจะเน้นไปที่ธุรกิจที่ทำติดต่อกันมาก่อนหน้านี้แล้ว

ส่วนการใช้สกุลเงินหลายสกุลของกัมพูชากลับไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจในกัมพูชา เนื่องจากปริมาณเงินส่วนใหญ่ในประเทศ 90-95% คือเงินดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การชำระเงินทั้งภายในและระหว่างประเทศไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ขณะที่เงินเรียลของกัมพูชามักจะใช้กับหน่วยงานราชการของรัฐมากกว่า ซึ่งเอกชนที่จะต้องทำธุรกรรมกับรัฐจะใช้วิธีตัดบัญชีเป็นเงินดอลลาร์โดยธนาคารจะแลกเปลี่ยนเงินให้โดยอัตโนมัติ ทำให้เอกชนไม่จำเป็นต้องถือเงินเรียลของกัมพูชา

สำหรับตลาดการเงินในกัมพูชา นางสาวมลธิชากล่าวว่าค่อนข้างอิสระเสรีและแข่งขันกัน โดยไม่มีการควบคุมหรือกฎระเบียบจากธนาคารกลาง ตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยสามารถประกาศเท่าไหร่ก็ได้ โดยไม่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอ้างอิงอย่างเป็นทางการ แต่ละธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยจากต้นทุนของเงินหรือแนวทางธุรกิจของตนเอง หากธนาคารใดประกาศแพงกว่าก็อาจจะเสียลูกค้าไปได้ ประกอบกับจำนวนธนาคารและประเภทของธนาคารที่หลากหลาย ยิ่งทำให้ธุรกิจการเงินในประเทศมีการแข่งขันสูงและมีความหลากหลายของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน แต่โดยทั่วไปดอกเบี้ยเงินฝากจะอยู่ระหว่าง 1-5% ต่อปี และเงินกู้ตั้งแต่ 4-10% ต่อปี ขณะที่ตลาดเงินและตลาดทุนปัจจุบันกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา แต่คาดว่าในอนาคต เนื่องจากไม่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบาย กัมพูชาอาจจะใช้บัตรเงินฝากแลกเปลี่ยนมือไม่ได้ หรือ Non-Negotiable Certificate Of Deposit  ที่ธนาคารกลางกัมพูชาใช้บริหารสภาพคล่องภายในประเทศผ่านธนาคารแทน

“ถึงแม้จะหลากหลาย หรือดูมีการแข่งขันกัน พอเข้ามาอยู่ที่นี่จริงทำให้เราเข้าใจว่าไม่ใช่แบบนั้นทีเดียว อาจจะเพราะโลกเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราอาจจะต้องแย่งลูกค้าคนอื่นมา แต่ตรงนี้เป็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันมากกว่า ตามความเป็นจริงกัมพูชาเป็นประเทศที่ต้องการใช้เงิน เมกะโปรเจกต์ลงมาเยอะ การปล่อยกู้ 1 ราย เราไม่ได้ถูกกำหนดว่าต้องปล่อยได้แค่ไหน เขาระบุแค่ว่าปล่อยได้ไม่เกิน 20% ของความมั่งคั่งของธนาคาร Net Worth ดังนั้น ถ้าลูกค้าอยากได้เงินมากกว่านี้ เราก็อาจจะร่วมมือกันกับธนาคารอื่น ไม่ใช่ว่ามาถึงแล้วจะแข่งขันกันอย่างเดียว มาถึงเราต้องสร้างคู่ค้าต่างๆด้วย” นางสาวมลธิชากล่าว

นางสาวมลธิชากล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าตลาดการเงินจะค่อนข้างเสรี โดยจะกำกับดูแลโดยใช้อัตราส่วนเกี่ยวกับการเงินบางอย่าง เช่น มีกำหนดว่ารายย่อยอาจจะปล่อยกู้ได้เพียงเท่าใด หรือธนาคารจะสามารถปล่อยกู้ได้สูงสุดเท่าใด แต่อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลของระบบการเงินกัมพูชากลับถูกเก็บไว้ทั้งหมด แม้กระทั่งการกู้เงิน 500 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 17,000 บาท ขณะที่ของประเทศไทยอาจจะเก็บข้อมูลของรายใหญ่ที่มีจำนวนสินเชื่อมากเท่านั้น และละเลยการเก็บข้อมูลของรายย่อยไปบ้าง ดังนั้น ในอนาคต หลังจากกัมพูชาพัฒนาระบบฐานข้อมูลและเครือข่ายทั้งหมดแล้วเสร็จ สุดท้ายจะมีฐานข้อมูลด้านการเงินที่ครบถ้วนและพร้อมมากกว่าประเทศไทย

“เอาตรงๆ ถ้าเทียบกับเมืองไทย กัมพูชาเหมือนเป็นเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 10 ปีที่แล้วเรามีช่องว่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่กัมพูชาจะโตได้ในระยะเวลาอันสั้นกว่า และเขาจะเติบโตเร็วมาก อย่างกว่าเราจะมีระบบคอมพิวเตอร์ยังใช้เวลาเป็น 10 ปี กว่าจะเก็บข้อมูล ยังเก็บไม่ครบเลยด้วย แล้ว ณ วันนี้กัมพูชาเริ่มพัฒนาแล้ว ปีหน้าพอลงระบบเสร็จเขาจะมีข้อมูลครบแล้ว เขาอาจจะแซงหน้าเราด้วยซ้ำ ประสบการณ์ของเราที่ทำมา เขาก็เก็บมาใช้แล้วกระโดดข้ามไปเลย” นางสาวมลธิชากล่าว

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(ที่2 จากขวา) พิธีเปิดสาขาใหม่ ธนาคารกสิกรไทย ณ กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560

กสิกรไทยตั้งเป้าปล่อยกู้ธุรกิจไทยในกัมพูชา 1,500 ล้านบาท

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจของสาขาพนมเปญ ในระยะแรกจะมุ่งเน้นการเป็นช่องทางอำนวยความสะดวกต่อนักธุรกิจไทยทั้งด้านการให้สินเชื่อเพื่อธุรกิจ พร้อมสนับสนุนการระดมทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม อาหารแปรรูป ฯลฯ นำเสนอบริการรับชำระเงินด้วยสกุลไทยบาท-กัมพูชาเรียลสำหรับการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา และบริการธุรกรรมต่างๆ รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแก่นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และโรงงานผลิต เป็นต้น

โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อในกัมพูชาจำนวน 1,500 ล้านบาท ภายในปี 2560 พร้อมตั้งเป้าหมายขยายการให้บริการทางการเงินให้แก่ธุรกิจท้องถิ่นและลูกค้ารายย่อยในกัมพูชามากขึ้นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินแตกต่างไปจากประเทศไทย โดยเฉพาะการเติบโตของบริษัทประเภท Bank Agent ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร โดยในอนาคตธนาคารกสิกรไทยมีแผนจะขยายจำนวนการปล่อยสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยและไมโครไฟแนนซ์ที่มีอัตราการเติบโตและมีความต้องการในการขยายธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตรในพื้นที่การเกษตรของกัมพูชา

นายปรีดีกล่าวตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารรายแรกที่ได้เป็นพันธมิตรกับ Wing Cambodia Limited Specialised Bank ซึ่งเป็น Bank Agent ผู้นำการให้บริการด้านการโอนเงินรายใหญ่ในกัมพูชา ในการให้บริการลูกค้าในประเทศไทยโอนเงินผ่าน K-Mobile Banking จากประเทศไทยมายังบัญชีผู้รับในประเทศกัมพูชาผ่าน Wing ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา รวมทั้งมีการให้คำแนะนำด้านการค้าการลงทุนแก่นักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่องด้วย